7 Myth-Busting ที่มีต่อ Work From Home

7 Myth-Busting ที่มีต่อ Work From Home

ท่ามกลางกระแสแง่ลบที่เริ่มมีต่อการ Work From Home แต่การทำงานที่บ้าน (หรือที่ไหนๆ ก็ตาม) ยังคงมีแง่ดีที่ยากจะปฏิเสธ

เราลองมาสำรวจมายาคติ (Myth) ทั้ง 7 ของการ Work From Home กัน…บางที มันอาจไม่ได้แย่อย่างที่หลายคนคิด

1. WFH ไม่ Productive เท่ามาทำที่ออฟฟิศ 

Myth สุดคลาสสิกที่หลายคนยังเชื่อฝังใจ มักเกิดจากความคิดที่ว่า ถ้าหัวหน้าไม่คอยสอดส่อง ลูกน้องก็มักขี้เกียจอู้งาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงในที่สุด

Mercer บริษัทที่ปรึกษาด้าน HR ทำการสำรวจบริษัทมากถึง 800 แห่งที่ให้พนักงาน WFH พบว่า “กว่า 94% การ WFH ไม่มีผลต่อความ Productive ในการทำงานอย่างมีนัยยะสำคัญเลย”

อันที่จริง อาจเกิดขึ้นแค่ช่วงแรกๆ ที่พนักงานยังต้องปรับตัว แต่เมื่อทุกอย่างลงตัว พนักงานน้อมรับรูปแบบการทำงานใหม่ได้แล้ว (ซึ่งใช้เวลาไม่นาน) ประสิทธิภาพก็กลับมาเหมือนเดิม และมากกว่าเดิมด้วยซ้ำในบางช่วง

การ WFH ไม่ได้แค่ประหยัด “เวลา” ในการโดยสารเดินทาง แต่ประหยัดเวลาการเตรียมตัวสำหรับการออกเดินทางนั้นด้วย (เช่น แต่งหน้าทำผม) เราเอาเวลาตรงนี้ไปนอนให้เต็มอิ่มสมองแล่นได้มากขึ้น หรือ เอาไปทำงานได้มากขึ้นนั่นเอง

และพนักงานแต่ละคนมีความ ”ยืดหยุ่น” (Flexibility) ในการบริหารจัดการตัวเองมากขึ้น ตัวอย่างง่ายๆ เลย เช่น คุณทำงานแต่เช้ายิงยาวไม่ได้พักจนถึงบ่าย 3 เมื่ออยู่บ้านและเหนื่อยล้าเต็มที จึงขอทิ้งตัวนอนลงบนโซฟา พักสายตา 15 นาทีให้เต็มที่ ก่อนกลับมาลุยงานใหม่ 

เป็นเทคนิคการพักผ่อนแบบ Biphasic Sleep: นอนกลางคืน-งีบกลางวัน…ซึ่งเรื่องนี้อาจทำไม่ได้เลยเมื่ออยู่ออฟฟิศ

2. พนักงานไม่ได้ Interact มีปฏิสัมพันธ์กัน 

ใช่…Interact น้อยลงในแง่ปฏิสัมพันธ์การคุยเล่น สานสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน

แต่ในแง่การทำงานจริง อาจให้ผลตรงกันข้าม เพราะยิ่งอยู่ห่างไกลกัน ยิ่งต้องสื่อสารกันตลอดเพื่ออัพเดททุกสถานการณ์ พนักงานทุกคนจึงถูกเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยีสื่อสารแทบทุกรูปแบบ 

การ WFH กลับกลายเป็นว่าพนักงานต้องติดต่อสื่อสาร-ประสานงานกันมากกว่าตอนอยู่ออฟฟิศด้วยซ้ำ! 

อย่างไรก็ตาม “ความสัมพันธ์คนในองค์กร” ยังเป็นเรื่องสำคัญ 

HR หลายบริษัทที่ WFH (เกือบ)เต็มเวลา จึงออกแบบกลไกที่ให้พนักงานได้มีเวลามาพูดคุยเล่นกัน ผ่อนคลายเบาสมอง รู้จักกันมากขึ้น โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการสนทนาอย่างเป็นกันเองหน้าตู้กดน้ำในบริษัท (Water Cooler Talk) 

เช่น เปิดห้องสนทนาผ่าน ZOOM กำหนดเวลาเป็นช่วงๆ ละ 15 นาที เช่น 11:00-11:15 / 13:00-13:15 / 15:00-15:15 

ในช่วงเวลาสั้นๆ นี้ พนักงานทุกคนสามารถ “คุยเล่น” เรื่อยเปื่อยอย่างเป็นกันเองได้ตามอัธยาศัย

3. ค่าใช้จ่ายแฝงเยอะ 

หลายคนมักคิดว่าการ Work From Home ต้องมี Tech ซัพพอร์ต มีค่าใช้จ่ายซอฟต์แวร์มหาศาล…เรื่องนี้อาจจริงเฉพาะตำแหน่งด้าน IT 

แต่สำหรับคนทำงานทั่วไป ลำพังเพียง Laptop และ Wi-Fi แรงๆ ก็เพียงพอต่อเนื้องานที่ต้องรับผิดชอบแล้ว!! 

อันที่จริง ถ้าต้อง WFH ระยะยาว เก้าอี้นั่งดีๆ (Ergonomic chair) ซักตัวที่เป็นมิตรกับหลังของเรา อาจสำคัญกว่าความแรงอินเตอร์เน็ตซะอีก

4. WFH ติดตามผลงานได้ยาก 

นี่เป็น Myth ที่ยังฝังแน่นอยู่ในใจโดยเฉพาะหัวหน้ารุ่นเก่า มักคิดว่าการไม่ได้ “เห็น” พนักงานทำงานต่อหน้าต่อตา ก็พลอยนึกไปเองว่าติดตามผลงานได้ยาก (ไม่มี Accountability)

สิ่งที่สำคัญกว่าการมานั่งสำรวจพฤติกรรมคือการตั้ง “ผลลัพธ์เป้าหมาย” ที่ชัดเจน จับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน รวมถึง Deadline/บทลงโทษ ที่เข้มงวด

แม้ลูกน้องอาจแสดงออกถึงความไม่ขยันเอาการเอางานในมุมมองของคุณ ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรตราบใดที่ผลลัพธ์ปลายทางออกมาตามเป้าที่วางไว้

5. WFH ได้ค่าจ้างน้อยลง 

ทั่วโลกเปลี่ยนผ่านสู่การ Work From Home อย่างฉับพลันในห้วงเวลาเดียวกับการเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจโดยตรง และกระทบต่อรายได้ค่าจ้างที่น้อยลงในหลายภาคส่วน 

พลอยทำให้คนมองว่า การ Work From Home จึงได้ค่าจ้างน้อยลงไปโดยปริยาย ทั้งที่ความจริงแล้วไม่เกี่ยวกันขนาดนั้น…แม้ WFH แต่พนักงานก็อาจยังได้ค่าจ้างเท่าเดิม 

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาในมุมบริษัทว่า การ WFH ทำให้ค่าเช่าออฟฟิศน้อยลง / ค่าน้ำ-ค่าไฟน้อยลง / ค่าจ้างแม่บ้านน้อยลง / จนไปถึงสวัสดิการเบี้ยเลี้ยงค่าเดินทางที่น้อยลง

เมื่อค่าใช้จ่ายเหล่านี้น้อยลง เปิดโอกาสให้นำไปเพิ่มเป็นค่าจ้างพนักงานได้มากขึ้น
(ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองและเงื่อนไขต่างๆ)

ท้ายที่สุด แม้ค่าจ้างจะเท่าเดิม แต่พนักงานก็สามารถประหยัดเวลาและค่าเดินทางในแต่ละวันไปได้เช่นกัน

6. WFH ไลฟ์สไตล์คนมีแนวโน้มสุขภาพแย่ลง 

เรื่องสุขภาพเรียกได้ว่าขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ปัจเจกชนแล้ว 

  • ทำงานที่ออฟฟิศก็อ้วนได้ 
  • ทำงานที่บ้านก็อ้วนได้เช่นกัน

แต่ต้องไม่ลืมว่า การทำงานที่บ้าน…เราไม่ต้องเสียเวลาเดินทางเลย 

ผลวิจัยจาก Urban Design and Development Center (UDDC) เผยว่า 

  • คนไทยใช้เวลาขับรถ ไปทำงาน-กลับบ้าน 2-4 ชั่วโมง/วัน 
  • คนไทยใช้เวลานั่งรถไฟฟ้า ไปทำงาน-กลับบ้าน 1-1.5 ชั่วโมง/วัน 

ถ้าเราเอาเวลาเดินทางที่สั้นที่สุด อย่างน้อยเราจะมีเวลาเพิ่มขึ้นทันทีวันละ 1 ชั่วโมงกว่าๆ เมื่อ Work From Home และเอาเวลาตรงนี้ไปออกกำลังกายแทนได้นั่นเอง เช่น วิ่งจ๊อกกิ้ง 1 ชั่วโมง ซึ่งเพียงพอในการรักษาสุขภาพสำหรับคนทั่วไปแล้ว

นอกจากนี้ด้านอาหาร เมื่อทำงานที่บ้าน ก็ทำอาหารกินเองที่บ้านได้ จึงเลือก “โภชนาการ” ที่อยากทานเองได้มากกว่าหาร้านกินข้างนอกเวลาเข้าออฟฟิศ

7. ระยะยาว คนส่วนใหญ่ไม่ชอบ WFH

เร็วเกินไปที่จะสรุป เรื่องนี้อาจต้องให้เวลาเป็นตัวตัดสิน เพราะในภาพรวมทั่วโลก การ Work From Home ทำงานที่บ้านยังคงเป็น “เรื่องใหม่” ที่อาจต้องใช้เวลาสร้างความเคยชินมากกว่านี้เพื่อไปสู่วัฒนธรรมการทำงานใหม่

อย่างไรก็ตาม Work From Home อาจเป็นสวรรค์ของกลุ่มคนบางประเภท-บางสายงาน เช่น วิศวกรด้านไอทีที่เป็น Introvert ซึ่งทำงานได้มีประสิทธิภาพที่สุดเมื่ออยู่เงียบๆ คนเดียว

นอกจากนี้ หลายบริษัทก็ยืดหยุ่นมากพอ ได้เสนอทางเลือก (Option) ให้พนักงานว่าจะทำที่บ้าน/ออฟฟิศ สัปดาห์ละกี่วัน-วันไหนบ้าง เป็นการสร้างสมดุลให้กับชีวิตการทำงาน 

WFH ตลอดทุกวันก็คงไม่ไหว…แต่จะให้เข้าออฟฟิศทุกวันก็อาจไม่ดีเช่นกัน

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง