Career Design Shade 5

Career Design Shade 5

“รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมาย ทุกเช้าไม่มีแรงจะตี่นไปทำงาน
เมื่อฉุดตัวเองออกจากเตียงได้ ระหว่างขับรถ ก็คิดอยู่ทุกวันว่านี่เราทำอะไรอยู่”

เมื่อเดือนที่แล้วเอ็มมีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้สมัครงาน
และเอ็มได้พบกับผู้สมัครคนหนึ่งที่เป็นโรคซึมเศร้า ถึงขนาดต้องไปพบจิตแพทย์
และทานยาเป็นประจำ ก็เลยถามถึงสาเหตุ และนั่นคือคำตอบของเขา
“รู้สึกว่างานที่ทำปัจจุบันนี้ไม่ fulfilling ไม่ได้ทำประโยชน์ให้ใครนอกจากผู้ถือหุ้นของบริษัท
เลยคิดว่าตัวเองก็ไม่ได้มีค่าอะไรกับสังคม กับโลกใบนี้”
“ก็เลยมาทบทวน ตัวเองว่าที่ผ่านๆมา เรามีความสุขกับการทำอะไรบ้าง
แล้วพบว่าชอบออกค่ายอาสา เป็นอาสาสมัคร ช่วยเหลือสังคม เลยอยากทำงานกับกิจการเพื่อสังคม”

สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคุณ คืออะไร?

เคยถามตัวเองกันไหมคะ? หลายๆ คนอาจจะบอกว่า ครอบครัว เงินทอง ชื่อเสียง หรือการเป็นที่ยอมรับของสังคม แน่ใจหรือคะ? ถ้าแน่ใจ อธิบายได้มั้ยว่าคำว่าครอบครัว คือ การมีเวลาให้ครอบครัว หรือการหาเงินให้ครอบครัวได้ใช้อย่างสุขสบายกันแน่ เพราะคนส่วนมากต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้เท่านั้น จาก Shade 3: Working condition หากเราไม่สามารถรับสภาพการทำงานที่มีเวลาการทำงานยาวนาน หรือรับแรงกดดันได้มากล่ะก็ โอกาสที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถของตัวเอง หรือเติบโตไปเป็นผู้บริหารระดับสูงที่สามารถวางมือให้ลูกน้องทำแทนได้บ้าง จนสามารถปลีกเวลามาใช้กับครอบครัวในขณะที่ยังได้เงินเดือนสูงจนเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างสุขสบาย ได้ทั้งสองอย่างนั้นคงเป็นไปได้ยาก หลังจากนั้น เมื่อคุณตอบได้แล้วว่าอย่างไหนกันแน่ที่สำคัญกว่า ขั้นต่อไป คือ การหันมามองตัวเองว่าเรากำลังทำงานที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตนั้นได้หรือไม่

Career Design คือ หลักสูตรที่กิจการเพื่อสังคม CareerVisa ออกแบบขึ้น เพื่อช่วยในการออกแบบ และเลือกอาชีพที่ใช่ ประกอบไปด้วย Framework ชื่อ 5 Shades of life ที่จะช่วยให้เราทบทวนตัวเอง และวิเคราะห์อาชีพใน 5 ด้าน

  1. Skill and Interest ทักษะและความสนใจ
  2. Personality and people to work with บุคลิกภาพ และคนที่เราเหมาะจะทำงานด้วย
  3. Working condition สภาพแวดล้อมในการทำงาน
  4. Lifestyle รูปแบบการใช้ชีวิต
  5. Value ค่านิยมของตัวเรา สิ่งที่เราให้ความสำคัญในชีวิต

ในฉบับที่แล้ว เอ็มได้กล่าวถึง Lifestyle รูปแบบการใช้ชีวิต ซึ่งจะไปเกี่ยวข้องกับเงินเดือนและสวัสดิการของแต่ละอาชีพ และองค์กรแล้ว ฉบับนี้เรามาปิดท้าย Career Design ให้ครบ จบสมบูรณ์ด้วย Personal Core Values กันเลย

ถึงแม้ว่า Personal Core Values จะมาเป็น shade สุดท้าย แต่กลับเป็น shade ที่สำคัญที่สุด เพราะเราจะมาหาสิ่งที่เราให้คุณค่า ให้ความสำคัญที่สุดในชีวิต และพิจารณาว่าอาชีพไหนที่จะสามารถตอบโจทย์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเราได้

แล้วอะไร คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเราล่ะ? เราจะรู้ได้ยังไง?

สิ่งที่เอ็มทำประจำ คือการให้นักศึกษาเลือกระหว่าง 2 ทางเลือก ที่ไม่ได้เลือกได้ง่ายดายนัก เช่น
ชื่อเสียงระดับโลก หรือ ความร่ำรวยระดับมหาเศรษฐี
เพื่อนร่วมงานที่ ไอเดียบรรเจิดความคิดสร้างสรรค์เป็นเลิศ หรือ มีประสิทธิภาพสูงสุดทำงานเสร็จเร็ว
เมื่อเพื่อนสนิททำผิดกฎมหาวิทยาลัย เราจะปกปิดความผิดให้เพื่อน หรือบอกความจริงกับอาจารย์และเลิกคบเพื่อน
เมื่อพ่อแม่ไม่ชอบแฟนของคุณ คุณจะเลิกกับแฟนเพื่อพ่อแม่ หรือ คบกับแฟนต่อไปโดยไม่สนใจความเห็นของพ่อแม่
คุณอยากให้คนอื่นมองคุณเป็นคนฉลาด ความสามารถสูง หรือ คนนิสัยดี จิตใจงดงาม
ในโลกแห่งการทำงาน คุณจะเลือกความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือ มิตรภาพกับเพื่อนร่วมงาน
งานที่ได้เดินทางบ่อย เบี้ยเลี้ยงเยอะ กับ งานที่ให้เรามีเวลาอยู่กับคนที่เรารัก
หากเจ้านายทำผิดวินัยบริษัท คุณจะเลือกความถูกต้อง หรือ ความสัมพันธ์อันดีกับเจ้านาย
เวลาไป business trip คุณเลือกที่จะประหยัดงบให้บริษัท หรือ ใช้งบประมาณนั้นซื้อความสะดวกสบายให้ตนเอง
ถ้าเลือกได้ อยากมีเจ้านายเก่ง ฉลาด อ่านเกมส์ขาด แต่คาดหวังสูง หรือ เจ้านายที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักลูกน้อง แต่ไม่ได้มีความสามารถโดดเด่น
เมื่อเลือกได้แล้ว ก็เรียงลำดับสิ่งเหล่านี้ตามความสำคัญในมุมมองของตนเองจาก 1-10

แต่ในความเป็นจริง Personal Core Values ของคนเรามีอีกมาก หลากหลาย ที่ถามไปคงไม่ครอบคลุม

ถ้าอยากรู้ให้ลึก ตอนที่เอ็มเรียน MBA ที่ Kellogg School of Management, Northwester University อาจารย์คนโปรด Harry Kraemer ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ Value-based Leadership ให้การบ้านเป็นการสะท้อนความคิดตัวเองลงในบันทึกว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีอะไรที่เราวางแผนว่าจะทำบ้าง มีอะไรที่เราได้ลงมือทำจริงๆ ในสิ่งเหล่านี้ มีอะไรที่เราภาคภูมิใจ อะไรที่เราไม่ภูมิใจ และหากย้อนเวลากลับไปได้ เราจะแก้ไขสิ่งที่เราไม่ภาคภูมิใจอย่างไร พอทำไปเรื่อยๆ ทุกสัปดาห์ เราจะมองเห็น pattern ของต้นเหตุที่ทำให้เราภาคภูมิใจ ซึ่งแก่นของมันมักเป็น personal core values ของเรา และต้นเหตุที่ทำให้เราไม่ภาคภูมิใจมักเกิดจากการทำอะไรที่ขัดกับ personal core values ของเรา และการคิดวิธีการแก้ไขจะช่วยให้เราสามารถพัฒนาตนเองได้ไม่สิ้นสุด ถ้าใครตั้งใจจริง เอ็มขอแนะนำวิธีนี้เลย ทำซ้ำๆ สัก 10 สัปดาห์ แล้วลองมองหา pattern ดู สิ่งที่ซ้ำๆ คล้ายๆ กัน นั่นแหละคือ Personal Core Values ของเรา

หลังจากที่เรารู้ว่า personal core values ของเรามีอะไรบ้าง เราก็ต้องมาเรียงลำดับความสำคัญในแต่ละข้อนั้น เพื่อไม่ให้ยุ่งยากจนเกินไป เอ็มขอให้เลือกมาแค่ 3 ข้อที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาประกอบกับอาชีพ เพื่อหาอาชีพที่ใช่ อย่างที่ได้บอกไปในข้างต้นว่าให้เลือกไว้ 3 อาชีพ แล้วจะเลือกอย่างไร? ว่าอาชีพไหนตรงกับ values เรา? บางคนอาจจะคิดว่า ก็ไม่ได้ยากนะ search เลยว่า บริษัทที่เราอยากทำ มี values อะไรบ้าง (นั่นคือ corporate values) ซึ่งไม่ผิด แต่ไม่ถูกซะทีเดียว จริงๆ สิ่งที่ตรงกว่า คือวิเคราะห์งานนั้นๆ ใน 4 Shades ที่ผ่านมา แล้วบอกว่ามันตอบเราได้มั้ย เช่น หาก values ของเรา คือ ความมั่นคง การทำงานใน Tech startup เกิดใหม่ ที่มีโอกาสเติบโตสูง แต่ก็มีโอกาสล้มเหลวถึง 95% อาจไม่ตอบโจทย์เท่าการรับราชการ หรือในรัฐวิสาหกิจ หาก value คือ การลงมือทำด้วยตัวเองและเห็นความเปลี่ยนแปลงจากฝีมือตัวเอง อาชีพที่ปรึกษา ซึ่งให้คำแนะนำเป็นหลัก อาจไม่ตอบโจทย์เท่าการทำธุรกิจของตนเอง ซึ่งจะได้ตัดสินใจเอง ลงมือทำเองตั้งแต่ต้น จนจบ เป็นต้น

จากวิธีการนี้ เอ็มค้นพบว่าสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเอ็มคือการสร้าง impact หรือผลกระทบในทางบวกให้กับสังคม และโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบเล็กๆน้อยๆ กับคนจำนวนมาก หรือเปลี่ยนชีวิตคนไม่กี่คน ก็ถือว่าตอบโจทย์ทั้งนั้น และนั่นก็ทำให้เอ็มได้ทบทวนอีกครั้งว่างานบริษัทใหญ่ที่มั่นคงที่ทำอยู่นั้น ไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิต จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้ออกมาทำกิจการเพื่อสังคมแคเรียร์วีซ่า กับเพื่อนๆในที่สุด

เนื่องจากนี่เป็นบทความสุดท้าย เอ็มจึงขอย้ำว่า ให้ออกไปพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์การทำงานในหน้าที่ที่เราอยากทำ หลายๆ คน เก็บข้อมูลมาให้มาก แล้วนำมาวิเคราะห์ตามหลัก 5 Shades เพราะหากมโนเอาเอง หรือ search หาข้อมูลใน Google อาจไม่ได้คำตอบที่ตรงความเป็นจริง หรือลึกซึ้งพอที่จะสามารถแยกแยะความแตกต่างของแต่ละตำแหน่ง แต่ละองค์กรได้

และหลังจากเราได้อาชีพที่เหมาะกับ 5 Shades ของเราที่สุดแล้ว ก็ต้องตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับอาชีพนั้น และออกไปทดสอบสมมติฐาน เพื่อให้แน่ใจว่าหลังเจอปัญหาและอุปสรรค์แล้ว คุณยังอยากทำอาชีพนั้นอยู่ หากไม่ คุณก็อาจจะได้งานอดิเรกดีๆ ขึ้นมาอีกอย่าง และทดสอบสมมติฐานอาชีพถัดไป อาจจะต้องพยายามหน่อย แต่มันจะคุ้มค่าแน่นอน เพราะว่า “Choose a job you love, and you will never have to work a day in your life.” – Confucius ปรัชญาขงจื๊อกล่าวไว้ว่า เมื่อเราได้ทำอาชีพที่ใช่แล้วเราก็จะไม่รู้สึกเหมือนต้องทำงานอีกต่อไป

หากต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม ก็สามารถ inbox มาได้ที่ Facebook Fanpage: CareerVisa Thailand และติดตามกิจกรรมดีๆของเราได้ที่นี่อีกด้วยนะคะ