Failure-Tolerant Leader: ผู้นำที่ไม่ยอมแพ้ต่อความล้มเหลว

Failure-Tolerant Leader: ผู้นำที่ไม่ยอมแพ้ต่อความล้มเหลว
  • Tim Cook ที่บริหาร Apple ให้ล้มเหลวภายใน 
  • Jeff Bezos ยินดีกับความล้มเหลวของพนักงาน Amazon 
  • Howard Schultz เอาชนะความกลัวเพื่อกู้ชีพให้ Starbucks 

นี่คือ Failure-Tolerant Leaders เหล่าผู้นำที่ไม่ยอมแพ้ต่อความล้มเหลว ทั้งความผิดพลาดของตัวเอง / ของพนักงาน / หรือคนที่เอาชนะความกลัวการล้มเหลวและกลับมาเริ่มใหม่ 

ท่ามกลางโลกธุรกิจที่หมุนอย่างรวดเร็วและการแข่งขันชนิดแพ้คัดออก ความล้มเหลวแทบจะเป็นเงื่อนไขที่ต้องมี (Prerequisite) ก่อนสร้างนวัตกรรมสำเร็จไปแล้ว

ยากมากที่จะหลีกเลี่ยงได้ แต่การได้มาซึ่งนวัตกรรมอันก้าวหน้ามักต้องแลกมาพร้อมความล้มเหลว เนื่องมาจากการลองผิดลองถูก การท้าทายความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำ

“ความสำเร็จ x ความล้มเหลว” เป็นเหมือน “หยิน x หยาง” ที่ยากจะแยกขาดจากกันได้

การมี Mindset ที่โอบกอดความล้มเหลวจึงเป็นอีกทัศนคติที่ผู้นำทุกคนต้องมี Thomas Watson อดีตซีอีโอ IBM ยังเผยว่า วิธีที่จะสำเร็จได้เร็วที่สุด คือ “รีบล้มเหลวให้มากขึ้นเป็น 2 เท่า”

เราลองมาดูตัวอย่างผู้นำองค์กรระดับโลกเหล่านี้กันว่าเขามีวิธีคิดต่อความล้มเหลวอย่างไรบ้าง?

Tim Cook x Apple 

Tim Cook มองความล้มเหลวได้น่าสนใจมากว่า ยิ่งทีมงานบริษัทเจอกับล้มเหลวเร็วและใหญ่เท่าไร…ยิ่งดี เพราะจะได้รีบแก้ไขทัน เพื่อไม่ให้ลูกค้าต้องเป็นคนประสบพบเจอเอง (Not involving customers in failure) ซึ่งนั่นอาจหมายถึงหายนะได้ 

“ล้มเหลวภายในองค์กร แทนที่จะ ล้มเหลวภายนอก” นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผู้บริโภคทั่วไปแทบไม่เคยสัมผัสความล้มเหลวของ Apple กับตัวเลย

แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า Apple จะไม่เคยล้มเหลวภายนอก

ปี 2016 Apple ได้เปิดตัวแป้นพิมพ์ผีเสื้อ (Butterfly keyboard) ที่มาคู่กับ MacBook Pro ก่อนจะพบกับปัญหาการใช้งานจริงมากมาย มีปัญหาส่งเคลมทั่วโลก จนต้องยุติและเปลี่ยนกลับมาใช้แบบเดิมในอีก 3 ปีต่อมา

เรื่องนี้ Tim Cook ก็ได้กล่าวในเชิงปรัชญาว่า ความล้มเหลวก็เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิต คนเราเกิดมาไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ต้องมีล้มเหลวบ้างเป็นธรรมดา…บริษัทเกิดใหม่หรือบริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ก็เช่นเดียวกัน

Jeff Bezos x Amazon 

ผู้นำอาณาจักร Amazon อย่าง Jeff Bezos มีมุมมองต่อความล้มเหลวที่ดีมาก เขามองว่า ยิ่งบริษัทโตขึ้นมากเท่าไร ความล้มเหลวยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว มันคุ้มที่จะเสี่ยง-คุ้มที่จะล้มเหลว เพราะถ้าสำเร็จขึ้นมา หลายครั้งมันทดแทนความล้มเหลวที่เกิดขึ้นไปทั้งหมด

กรกฎาคม ปี 2014 Amazon เปิดตัว “Fire Phone” หวังมาสู้กับ iPhone จากฝั่ง Apple แต่ปรากฎว่าผลตอบรับเลวร้ายกว่าที่คิดมาก ผู้บริโภคไม่ให้การยอมรับ โดยเฉพาะปัญหาระบบการใช้งาน จนทำให้ยอดขายย่ำแย่ และต้องยุติการขายลงในเดือนพฤศจิกายน ปี 2015

ความเสียหายโปรเจคท์นี้อยู่ที่ราว 3,000 ล้านบาท และคนที่ทุกข์ร้อนไม่แพ้กันก็คือคุณ Ian Freed หัวหน้าที่ดูแลโปรเจคท์นี้โดยตรง ความล้มเหลวครั้งนี้อาจตัดเส้นทางการเติบโตอาชีพของเขาเลย แต่ก่อนที่อะไรจะบานปลาย Jeff Bezos รีบเข้าไปบอก Ian Freed ว่า 

“You can’t, for one minute, feel bad about the Fire Phone. Promise me you won’t lose a minute of sleep.” คุณห้ามรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Fire Phone แม้แต่นาทีเดียวเลยนะ และสัญญากับผมนะว่าคุณจะนอนเต็มอิ่มเหมือนเดิม

แม้จะล้มเหลว แต่ระหว่างทางที่พัฒนา Fire Phone ทางคุณ Ian Freed ได้วางรากฐานระบบซอฟต์แวร์จดจำเสียง (Voice recognition software) ซึ่ง Jeff Bezos เล็งเห็นศักยภาพตรงนี้และให้เขานำไปพัฒนาต่อ 

จนในที่สุดออกมาเป็น “Alexa” ลำโพงอัจฉริยะที่รับฟังคำสั่งและตอบสนองได้ตลอดเวลา และเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมของ Amazon ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่

Howard Schultz x Starbucks 

ปี 2008 Starbucks เจอกับวิกฤติการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์บริษัท ราคาหุ้นร่วงลงไปถึง 42% เป็นหนึ่งในหุ้นรั้งท้ายที่ Performance ต่ำที่สุดในตลาด NASDAQ

ผู้บริหาร Starbucks ได้เรียกตัว Howard Schultz ให้กลับมาช่วย (แทนที่ Jim Donald ซีอีโอในขณะนั้น) เป็นที่กล่าวขานว่า Howard Schultz คือผู้ปลุกปั้น Starbucks ให้เป็นแบรนด์ระดับโลก เขาเป็น CEO Starbucks มาหลายทศวรรษและก้าวลงจากตำแหน่งไปในปี 2000

อันที่จริงแล้ว เขาไม่จำเป็นต้องกลับมารับตำแหน่งก็ได้…แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจทำ

เรื่องนี้อาศัยความ “กล้าหาญ” ไม่น้อย เพราะ Howard Schultz ได้ก้าวลงจากตำแหน่งอย่างสวยงามไปแล้ว ผลงานสุดท้ายเป็นที่น่าชื่นชม ภาพลักษณ์ที่เคยสร้างมามีแต่เรื่องดีงาม

การกลับมาคุมบังเหียน CEO  อีกครั้งในปี 2008 ท่ามกลาง “วิกฤติ” ทั้งของบริษัทและของประเทศ (Hamburger crisis) อาจมาลบล้างภาพจำความสำเร็จที่ทำมาทั้งหมดได้กรณีถ้าสุดท้ายล้มเหลว?

แต่แรงปรารถนาของเขาที่อยากกู้สถานการณ์ให้สิ่งที่สร้างมากับมือ…อยู่เหนือความกลัวการล้มเหลว และสุดท้ายการกลับมาครั้งนี้ ยิ่งทำให้ Starbucks ยิ่งใหญ่กว่าเดิมด้วยซ้ำ

  • ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นได้มหาศาล
  • ออก Starbucks Customer Loyalty Program
  • ปรับมาตรฐานการทำงานของบาริสต้า
  • สร้างมาตรฐาน Fair Trade ในวงการซื้อขายกาแฟ
  • วางรากฐานแบรนด์ที่เพื่อเตรียมต้อนรับ 4th Wave of Coffee (ต่อมาคือ Starbucks Reserve and Roastery)

Mindset ที่ผู้นำต้องสื่อสารในเรื่องนี้

สร้างทัศนคติกล้าเผชิญหน้ากับความล้มเหลว ผ่านการพูดคุย ยกประเด็นขึ้นมาถกเถียงอย่างเปิดเผย Michael Kahn นักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญด้านความเป็นอยู่ของพนักงานในองค์กรแนะนำว่าให้ทำสิ่งที่เรียกว่า “Barn Raising” 

  • ให้พนักงานทุกคนมารวมกัน และกระตุ้นให้วิพากษ์วิจารณ์ “ความคิดเห็นของทุกคน” 
  • ไอเดียของทุกคนมีความหมาย โดยทุกคนในที่นี้ “ทุกคน” ในระดับชั้นองค์กรจริงๆ ตั้งแต่ผู้บริหารจนไปถึงแม่บ้าน-รปภ.
  • เพื่อไม่ให้เผลอ “มองข้าม” พนักงานบางคนที่ไม่มีบุคลิกโดดเด่น พูดไม่เก่ง…ไอเดียดี  
  • ขณะเดียวกัน ก็ไม่ให้เผลอโฟกัสทั้งหมดไปที่ คนเก่งที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น (One-upmanship)

นอกจากนี้ ควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย (Safe environment) ที่ทำให้พนักงานกล้าเสี่ยง เรื่องนี้เป็น “อำนาจ” หน้าที่โดยตรงของผู้นำองค์กรที่สามารถออกแบบให้เกิดขึ้นจริงได้

.

ที่สำคัญ ล้มเหลวได้แต่ต้องเรียนรู้จากความล้มเหลวนั้นด้วย ไม่อย่างนั้นก็ผิดซ้ำซาก เหล่าผู้บริหาร Microsoft เผยว่าตั้งใจปั้นให้เป็นบริษัทที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา (A learning-all company) ไม่ใช่บริษัทที่รู้ทุกเรื่องตลอดเวลา (A know-it-all company)

.

ในยุคที่การแข่งขันดุเดือนเช่นนี้ การมี Mindset ที่โอบกอดความล้มเหลวเป็นทัศนคติที่ผู้นำองค์กรทุกคนต้องมีจริงๆ

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง