ศรีจันทร์ ปั้นองค์กรอย่างไร? จากแบรนด์ใกล้เจ๊งจนโกอินเตอร์

ศรีจันทร์ ปั้นองค์กรอย่างไร? จากแบรนด์ใกล้เจ๊งจนโกอินเตอร์
  • ศรีจันทร์มีรายได้กว่า 500 ล้านบาทต่อปี
  • วางขายกว่า 10 ประเทศทั่วโลกเช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์

น่าสนใจไม่น้อยว่าจากแบรนด์ไทยเล็กๆ ที่ใกล้เจ๊ง และเดิมวางขายแค่ภาคใต้ของเมืองไทย จะเติบโตจนโกอินเตอร์แบบนี้ในเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษ

ศรีจันทร์ยุคใหม่…มีวิธีการปั้นองค์กรอย่างไร?

ศรีจันทร์ since 1948

แบรนด์ศรีจันทร์เริ่มจากการเป็นร้านขายยา ก่อตั้งโดยคุณพงษ์ หาญอุตสาหะ เมื่อปี 1948 และต่อมาวางจำหน่ายผงหอมศรีจันทร์แค่เฉพาะบริเวณภาคใต้ของเมืองไทย 

ธุรกิจดำเนินไปแบบลูกค้าโทรมาสั่งออเดอร์แล้วทางร้านค่อยไปส่ง ไม่มีคอมพิวเตอร์เพราะยังใช้พิมพ์ดีด ไม่มีการประชาสัมพันธ์เพราะใช้วิธีบอกปากต่อปาก…ไม่มีแม้แต่บาร์โค้ดสแกนสินค้า! 

Image Cr. bit.ly/2PEs5QX

อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ยังคงได้ผลในยุคสมัยก่อน ทำให้แบรนด์ศรีจันทร์ยังคงอยู่ในตลาด มีลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่ซื้อเป็นประจำ

แต่กาลเวลาเปลี่ยน…อะไรๆ ก็เปลี่ยนตาม

Turning Point 

คุณรวิศ หาญอุตสาหะ เป็นเด็กนอก หัวก้าวหน้า…และเป็นทายาทรุ่นที่ 3 (หลานชายคุณพงษ์) แม้เป็นหลาน แต่ทั้งชีวิตของเขาแทบไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับศรีจันทร์เลย วันหนึ่งเขาได้รับโทรศัพท์จากคุณแม่ให้ไปรับคุณปู่ที่โรงงานศรีจันทร์ เมื่อไปถึงบริษัทก็พบกับสภาพ “รอวันเจ๊ง” 

รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ล้าสมัย ความโบราณของแพกเกจจิ้งศรีจันทร์ และคุณภาพพนักงานที่ตามโลกยุคใหม่ไม่ทัน เขาคิดว่าไม่มีทางอยู่รอดได้แน่ๆ ในการแข่งขันยุคปัจจุบัน เพื่อไม่ให้ศรีจันทร์หายไปตามกาลเวลา เขาจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำในสายการเงินเพื่อมาสานต่อธุรกิจครอบครัว (คุณรวิศจบด้านวิศวกรรมมา)

เรื่องท้าทายแรกที่เจอคือ คนรุ่นเก่าใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็นเลย…เลิกพูดถึงการตลาดออนไลน์สมัยใหม่ไปได้ สิ่งที่คุณรวิศทำคือ ให้พนักงานรุ่นเก่าทำในสิ่งที่ “ทำได้ดีที่สุด” นั่นคือการเจรจาต่อรองราคาซึ่งมีวาทศิลป์และประสบการณ์อันช่ำชอง 

จึงโยกไปอยู่แผนกจัดซื้อแทบทั้งหมด (พ่วงคนรุ่นใหม่ 1 คนดูแลด้านป้อนข้อมูลลงระบบ) คนรุ่นเก่าเหล่านี้อยู่มานานหลายสิบปีตั้งแต่รุ่นปู่ เป็นเสมือนหนึ่งในครอบครัวศรีจันทร์ไปแล้ว จึงมีความ “ไว้วางใจ” ในความซื่อสัตย์ระดับหนึ่งว่าเค้าจะไม่โกง…จากนั้นทีมที่เหลือ จึงเป็นการเฟ้นหาคลื่นคนรุ่นใหม่มาร่วมทีม

คนเก่งร่วมทีม

ตอนที่คุณรวิศเริ่มเข้ามากุมบังเหียนได้ซักพัก แต่ด้วยทรัพยากรอันจำกัด เขาจึงลงมือโปรโมทแบรนด์ด้วยตัวเองในฐานะแม่ทัพใหญ่ โดยการเขียนบทความลงเพจทุกวัน ขึ้นพูดบนเวที ออกงานธุรกิจ เขียนหนังสือ ทำสิ่งที่เรียกว่า CEO Influencer 

Image Cr. bit.ly/2QUEelD

บอกเล่าถึง “วิสัยทัศน์” และ Commitment ของเขาที่อยากนำพาแบรนด์เครื่องสำอางไทยเทียบชั้นระดับโลก วางอยู่ในร้านชั้นนำอย่างสง่าราศีไม่แพ้แบรนด์ฝรั่ง-ญี่ปุ่น-เกาหลี เขาทำแบบนี้อยู่นานนับปีจนตัวตนของเขาเริ่มปรากฎอยู่แถวหน้าในแวดวงธุรกิจ

กาลเวลาผ่านไป ความสำเร็จในการเป็น CEO Influencer ของเขากลายเป็น ”ภาพลักษณ์แบรนด์” ที่แข็งแกร่งไปในตัว จนมีเด็กจบใหม่จากมหาวิทยาลัยดังๆ ของโลก เช่น Harvard / Stanford / Oxford ส่งเรซูเม่มาสมัครงานที่บริษัทศรีจันทร์เต็มไปหมด คนกลุ่มนี้เองที่ต่อมาจะเป็นเชื้อเพลิงที่พาบริษัทเติบโตก้าวกระโดดมาถึงทุกวันนี้ 

Rebranding

ในช่วงแรกของการรีแบรนด์ คุณรวิศทดลองทำด้วยตัวเองและเจออุปสรรค The Anchoring Effect คือแพกเกจจิ้งใหม่ไม่ได้โดดไปจากเดิมเพราะถูกยึดติดจากของเดิมอันแรกสุด กล่าวคือ แพกเกจจิ้งแรก “โบราณมาก” พอทำใหม่ด้วยตัวเองก็แค่ “โบราณน้อย” แต่ไม่ว่าจะแบบไหนก็ยัง “โบราณ” อยู่ดี 

แน่นอนว่าล้มเหลวไม่เป็นท่า บทเรียนที่ได้คือ บางเรื่องต้องให้มืออาชีพทำเท่านั้น เขาจึงได้เฟ้นหา Partner เก่งๆ ในวงการมาร่วมมือด้วยกันทั้งด้านแพกเกจจิ้ง ผลิตภัณฑ์สูตรใหม่ การตลาดแบบใหม่ โลจิสติกส์ ฯลฯ

ไม่ขอ…ก็ไม่มีทางได้

หนึ่งในนั้นคือ “พี่ต่อ-ธนญชัย ศรศรีวิชัย” นักโฆษณาเบอร์ 1 ของเมืองไทย โดยคุณรวิศใช้วิธี “ถ้าไม่ขอ…ก็ไม่มีทางได้” เขาไปขอร้องพี่ต่อให้มาช่วยดูแลด้านโฆษณา โดยเล่าถึงวิสัยทัศน์ของแบรนด์ที่อยากไปให้ไกล 

เขาพูดตรงๆ เลยว่าเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่มี ถ้าล้มเหลวบริษัทก็ปิดกิจการได้เลย ซึ่งสุดท้ายพี่ต่อเจียดคิวมาให้ พร้อมค่าตัวที่เข้าถึงได้เป็นพิเศษ

ศรีจันทร์เติบโตก้าวกระโดดกว่า 20 เท่าจากวันที่ทำการ Rebranding ขึ้นแท่นหนึ่งในแบรนด์ชั้นนำของตลาด จนถึงปัจจุบันมียอดขายแตะ 500 ล้านบาทแล้ว!!

Image Cr. bit.ly/2PEs5QX

คุยกับลูกค้า

ที่ศรีจันทร์ สัดส่วนทีม Marketing ถือว่าใหญ่ที่สุดในองค์กร หน้าที่หลักของทีมนี้คือการ “เดิน” ออกไปคุยกับลูกค้า ตัวแทนการขาย กลุ่มเป้าหมาย เพื่อหา Insights เชิงลึกที่ไม่มีวันรู้เลยถ้าอยู่ในห้องแอร์

ใครจะไปรู้ว่า การที่เด็กมัธยมแต่งหน้าไปโรงเรียนคือ “การลงทุนระยะยาว” ในมุมมองของน้องเค้า ด้วยเหตุผลว่า อนาคตถ้ามีผู้ชายเข้ามาจีบ อาจเข้ามา “ส่อง” ภาพเก่าๆ ใน Facebook ซึ่งเจอสภาพหน้าสด อาจไม่ประทับใจและเลิกจีบ…นี่เป็นคำตอบที่ได้จากการสัมภาษณ์ที่ทีม Marketing ออกไปคุยกับน้องๆ 

บทบาทหัวหน้างาน

บทบาทของ Manager ที่ศรีจันทร์ต้องรวมการ Coaching & Training ลูกน้องเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของงานหลักตัวเอง จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ HR อย่างเดียวไม่ได้ เพราะคนที่ทำธุรกิจในรายละเอียดจริงๆ คือลูกน้องเหล่านี้ ผลงานของลูกน้องจะออกมาดีมากน้อยแค่ไหนจึงอยู่ที่ความสามารถของหัวหน้างานด้วย ถ้าผลงานลูกน้องแย่ หัวหน้าจะถูกสอบถามด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ เวลามีเป้าหมายใหญ่ใหม่ๆ ผู้บริหารจะนั่งประชุมเข้าใจกันเองเพียงไม่กี่คนไม่ได้ ต้อง Alignment บอกเล่าให้ลูกน้องเข้าใจและ “อิน” ตามไปด้วย แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคนอื่นเข้าใจ? วิธีคือให้อีกฝ่าย “ทวน” สิ่งที่พูดไป

Realistic Expectation

McKinsey เผยผลสำรวจว่า สิ่งที่คนมักล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตาม คือ Unrealistic Expectation เช่น เจ้านายจะเข้าไปพูดกับลูกน้องว่า “คุณช่วยคิดนอกกรอบหน่อยสิ” ไม่ได้ เราบังคับคนไม่ได้หรอก แต่สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คนคิดแบบนั้นแทนได้

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เป้าหมายที่เคยตั้งไว้ก็ต้องเปลี่ยนตาม ดังเช่นปีโควิดที่ผ่านมา ยอดขายลิปสติกของแบรนด์ตกต่ำเป็นประวัติการณ์ เพราะคนอยู่บ้านมากขึ้น หรือออกข้างนอกก็ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา…เป้าหมายยอดขายลิปสติกจึงถูกปรับให้ลดลงตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริง

บทบาทผู้นำองค์กร

คุณรวิศบอกว่าต้วเองเป็นแค่ Facilitator ช่วยให้ไอเดียโต (จะไม่ตามงาน day-to-day) พาไอเดียลูกทีมไปสู่ Connection คนที่ใช่ หรือช่วยในการอัดฉีดเงินพิเศษต่างๆ เค้าเปรียบเสมือน “โค้ช” ทีมฟุตบอล ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็เตะกันไป 

“ช่วงไหนที่ผมไม่ค่อยอยู่ออฟฟิศ ช่วงนั้นผลประกอบการจะดี” คุณรวิศกล่าวติดตลก เพราะเราควรปล่อยให้คนเก่งได้ทำงานของเขาไป เราแค่คอยอยู่ห่างๆ ยื่นมือเข้าไปช่วยเมื่อจำเป็นเท่านั้น

จนถึงปัจจุบัน เขายังทำหน้าที่เป็น CEO Influencer ที่มีอิทธิพลในวงการธุรกิจ โดยเฉพาะผ่านอาณาจักรสื่อ Mission To The Moon ที่วันนี้ขยายธุรกิจไปหลายช่องทางแล้ว

Super Productive

หัวเรืออย่างคุณรวิศขึ้นชื่อเรื่องความ Productive อยู่แล้ว วิธีการของเค้าจึงถูก “ถ่ายทอด” มายังทีมงานทั้งหมดด้วย (แต่ทำได้มากน้อยแค่ไหนแล้วแต่คน) ไม่ว่าจะการทำ 

  • To-Do List 
  • Time Blocking 
  • ซอยย่อยเป้าหมายให้เล็ก ฉลองไประหว่างทาง
  • ทำงานที่ใช้สมองตอนเช้า
  • กินอาหารให้ดี ร่างกายฟิต
  • ออกกำลังกาย สมองแล่น
  • คิดอะไรออกปุ๊ป ลงมือทำทันที (เกิดแรงต้านน้อยกว่า)

ที่ศรีจันทร์ ใครกลับบ้านดึกไม่ได้ดูเท่ แต่เป็นสัญญาณของปัญหาที่อาจตามมา ใครกลับดึกบ่อยๆ จะถูกเรียกมาพูดคุยสอบถามทันที

ความเป็นไปได้ใหม่ๆ

ปัจจุบันศรีจันทร์ไม่ได้จำกัดตัวเองว่าขายเครื่องสำอางอีกต่อไปแล้ว แต่ขายความงาม ขายสุขภาพ ขาย “ความหวัง” อะไรก็ได้ที่ตอบโจทย์นี้ได้ก็พร้อมนำเสนอ ซึ่งในอนาคตอาจมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ลิปสติกหรือแป้งทาหน้าก็ได้

Image Cr. bit.ly/3cBwdKy

พร้อมกับนิยามตัวเองเป็น Marketing-Based Company เชี่ยวชาญด้านการตลาดเป็นหลัก ถ่ายทอดเรื่องราว สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าผ่านผลิตภัณฑ์ในเครือศรีจันทร์ เพราะแขนงอื่นของบริษัทเช่น แผนก R&D ก็มี Partner ชั้นนำระดับโลกจากที่อื่นคอยจัดการให้อยู่แล้ว 

.

มาถึงตรงนี้ เราจะเห็นอย่างหนึ่งว่าศรีจันทร์ “ปรับตัว” อยู่ตลอดเวลา ทั้งการละทิ้งสิ่งเก่าๆ ยอมรับสิ่งใหม่ และพร้อมโอบกอดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในอนาคต…ซึ่งการปรับตัวนี้เองน่าจะเป็นเคล็ดลับในการอยู่รอดของทุกองค์กรในยุคนี้ 

ไม่แปลกใจเลยว่าทำไม ศรีจันทร์…จากแบรนด์ที่เกือบล้ม ถึงลุกขึ้นมายืนได้ และพร้อมบินสูงกว่าเดิม

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ ไม่แน่นะคุณอาจเหมาะกับองค์กรแบบศรีจันทร์ก็ได้!! >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

Original Image Cr. bit.ly/3dyxL7j

อ้างอิง