Career Design Shade 1

Career Design Shade 1

จากฉบับที่แล้ว เอ็มได้เกริ่นให้ฟังว่า Career Design คือ คือหลักสูตรที่กิจการเพื่อสังคม CareerVisa ออกแบบขึ้น เพื่อช่วยในการออกแบบ และเลือกอาชีพที่ใช่ คราวนี้เราจะมาหาอาชีพที่ใช่ด้วย Career Design กัน

Career Design ประกอบไปด้วย Framework ชื่อ 5 Shades of life ที่จะช่วยให้เราทบทวนตัวเอง และวิเคราะห์อาชีพใน 5 ด้านด้วยกัน

  1. Skill and Interest ทักษะและความสนใจ
  2. Personality and people to work with บุคลิกภาพ และคนที่เราเหมาะจะทำงานด้วย
  3. Working condition สภาพแวดล้อมในการทำงาน
  4. Lifestyle รูปแบบการใช้ชีวิต
  5. Value ค่านิยมของตัวเรา สิ่งที่เราให้ความสำคัญในชีวิต

Shade 1: Skill and Interest

ถ้าถามนิสิต นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เอกการเงินว่าจบไปจะทำอาชีพอะไร ส่วนใหญ่ก็คงหนีไม่พ้น ที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor) หรือ วาณิชธนากร (Investment Banker) แน่ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? เพราะนั่นคือสิ่งที่เค้าเรียนมา แล้วทำไมถึงนึกถึงอาชีพที่ตรงกับเอกที่เรียนมาเป็นอย่างแรก? เพราะเราคิดถึงโอกาสในการได้งานเป็นอย่างแรก แล้วอะไรล่ะที่จะทำให้เราได้งาน? สิ่งที่นายจ้างมองหา ก็คือ คนที่มีความรู้ความสามารถที่จะทำงานให้เค้าได้ และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ resume หรือ curriculum vitae เป็นด่านแรกที่ HR ใช้ตัดสินตัวเรา ดังนั้น ทักษะและความรู้จึงเป็นสิ่งแรกที่ทุกคนคิดถึง เมื่อบัณฑิตจบใหม่เลือกอาชีพ แน่นอนว่า เมื่อเคยมีประสบการณ์ทำงานแล้ว ประสบการณ์จะมีความสำคัญมากกว่าความรู้ และจะบอกได้ถึงทักษะที่มี จากประสบการณ์แต่ละงานที่ทำมา

เกือบทุกคนคงสามารถตอบได้ว่า ทักษะ ความรู้ที่เรามี คือ อะไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะ และความรู้ที่เรียนมาสดๆร้อนๆจากในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท แต่อย่าลืมว่าทักษะ และความรู้ที่เรามีนั้น อาจจะไม่ได้มาจากเฉพาะในห้องเรียนก็ได้ ขั้นตอนที่ง่ายที่สุดในการรวบรวมทักษะ และความรู้ที่เรามี ก็คือ เริ่มจากสิ่งที่ได้เรียนมาล่าสุดนี่แหละค่ะ และอาจจะย้อนลงไป อีก 3 ปีก่อน เช่น สมัยมัธยมปลาย หรือปริญญาตรี โดยเริ่มจากการเปิด transcript, portfolio ว่าเราเคยเรียนอะไรมาบ้าง ทั้งวิชาบังคับ และวิชาเลือก อย่าลืมว่าการบ้าน กิจกรรมต่างๆที่ต้องทำในแต่ละวิชา ไม่ได้ให้เฉพาะความรู้กับเราเท่านั้น วิชาบังคับ ที่บังคับให้นำเสนอผลงานบ่อยๆ บังคับให้ค้นคว้าเรื่องสากกระเบือยันเรือรบ ทำแบบสำรวจ สัมภาษณ์คนจำนวนมาก หรือบังคับให้วาดรูป ระบายสี แต่งกลอน ก็ทำให้เรามีความเชี่ยวชาญในทักษะนั้นๆ ติดตัวมาได้ จริงอยู่ การที่ทำแบบนั้นหลายๆ ครั้ง ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำได้ดีเสมอไป ดังนั้นจึงควรเลือกทักษะที่เราเคยได้รับคำชม ได้คะแนนดี หรือสามารถเป็นที่ปรึกษาให้เพื่อนๆได้มาเขียน วิชาเลือก เช่น ดนตรี ภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี แกะสลัก คหกรรม ก็เอามาเขียนได้หมด หากเราคิดว่าเราทำสิ่งนั้นๆได้ดี อาจจะปรึกษาพ่อแม่พี่น้อง แฟน ด้วยก็ได้ เผื่อนึกไม่ออก brainstorm ไว้ไม่เสียหาย

นอกจากนั้น เราคงไม่ได้เกิดมาเรียนอย่างเดียวใช่มั้ยคะ? นอกเหนือจากการเรียน เราทำอะไรบ้าง เราออกค่ายอาสามั้ย? เคยเป็นอาสาสมัครสอนหนังสือคนพิการ? เคยทำงานพิเศษเป็นล่ามภาษาอังกฤษ เล่นละครเวทีของคณะ ช่วยหา sponsor คอนเสิร์ตการกุศล ร่วมกิจกรรมในฐานะตัวแทนเยาวชนไทย ไปออกความคิดเห็นที่ต่างประเทศ เข้าโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ Career Launcher ฝึกงานใน Startup ออก product ใหม่ในระยะเวลาเพียง 2 เดือน อะไรก็ว่าไป เขียนให้หมดเลยค่ะ อย่าได้อาย อย่าคิดว่าทำแค่นิดเดียวเองไม่อยากเขียน เดี๋ยวเรามีเวลาคัดเลือกอีกเยอะค่ะ ตอนนี้เขียนไปก่อน

แล้วความสนใจ หมายถึงอะไร? ให้นึกถึงทักษะ หรือความรู้ที่เรา “ยัง” ไม่มี แต่อยากมี ยินดีศึกษา ฝึกฝน พัฒนาต่อไป อาจจะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงาน เช่น MS Excel Macro, SPSS หรือ Adobe Illustrator หรือ กิจกรรมยามว่างอย่าง Surf หรือ  Scuba Diving และปีนหน้าผาก็เขียนลงไปได้เช่นกัน เพราะคุณก็คงมีความสุขกับการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องเหล่านี้ใช่มั้ยล่ะคะ

ส่วนในด้านของบริษัท ทักษะและความสนใจ ก็ดูได้จาก Job Description ในแต่ละ function งานนั้นๆ ว่าเค้าอยากให้เราไปทำอะไรบ้าง และบางที่ก็ระบุทักษะที่หากทำได้จะพิจารณาเป็นพิเศษมาด้วย เช่น Adobe Illustrator หรือ ภาษา Python เป็นต้น ส่วนความสนใจก็อาจจะเทียบดูว่าน้องสนใจอุตสาหกรรมที่บริษัทนั้นๆ อยู่ เช่น พลังงานทดแทน เครื่องสำอางค์ หรืออสังหาริมทรัพย์ หรือไม่ หรือว่าสนใจในตัวแบรนด์เป็นพิเศษ เพราะเป็นแฟนพันธุ์แท้ของแบรนด์นี้อยู่แล้ว เช่น Apple เพราะใช้ตั้งแต่ Macbook ยัน iphone เป็นต้น ป.ล.ไม่ได้ค่าโฆษณานะคะ 555

สำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะ เอ็มขอกล่าวถึงทักษะที่จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในปี 2020 จาก World Economic Forum โดยยกตัวอย่าง 3 ข้อจาก 10 ข้อดังนี้

การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ทำไมต้องเน้นว่าซับซ้อน เพราะการแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร เครื่องตอบรับอัตโนมัติ และหุ่นยนต์มากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ต้องการมนุษย์มาทำหน้าที่นี้ในอนาคตอันใกล้ ที่เราใช้จนคุ้นเคย เช่น ATM และ mobile banking แทนพนักงานสาขาของธนาคาร และเครื่องตอบรับอัตโนมัติของ call center แทนคนรับโทรศัพท์ แต่เมื่อพบแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เช่น ถ้าลูกค้าขอเคลมเงินคืน จึงจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เป็นมนุษย์รับเรื่อง ไปดูว่าสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา คืออะไร แล้วจะแก้ได้อย่างไร

ตัวอย่าง framework ของการแก้ไขปัญหาอันดับแรกเลยก็คือ ต้องแน่ใจว่าสิ่งที่เราพยายามแก้มันคือปัญหา แล้วหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาโดยการถาม ทำไม 5 ครั้ง จนถามต่อไม่ได้อีก เมื่อเราพบสาเหตุของปัญหาแล้ว เราก็ระดมสมอง คิดทางเลือกในการแก้ปัญหาให้มากที่สุด ได้สัก 5 – 10 ข้อเลยยิ่งดี อย่าเขียนเฉพาะสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนนะคะ ลองคิดให้เยอะๆ คิดให้กว้างๆ เข้าไว้ แล้วสุดท้าย จึงจะมาประเมินความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาด้วยแต่ละทางเลือก แล้วจึงจะเลือกทางที่น่าจะแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แล้วปฏิบัติค่ะ

ความสามารถในการตัดสินใจ สิ่งที่โปรแกรม machine และหุ่นยนต์ทำได้ดี คือการทำตามคำสั่ง และรวบรวม ประมวลผลข้อมูล แต่อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจซึ่งต้องอาศัยกึ๋น และประสบการณ์ประกอบกับสภาพการณ์แวดล้อม เช่น ตัดสินใจขาดทุน เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าเก่าแก่ เป็นต้นนะคะ เพิ่งมีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำท่านนึง ท่านนั้นพูดเลยว่าความสามารถในการตัดสินใจเป็นสิ่งที่แยกคนที่จะสามารถเป็นผู้บริหาร หรือเป็นได้เพียงพนักงานระดับปฏิบัติงานตลอดไป

แล้วเราจะเป็นคนที่ตัดสินใจเด็ดขาดได้อย่างไรล่ะ? Jeff Bezos, Co-founder และ CEO ของ Amazon.com ได้กล่าวไว้ว่า การตัดสินใจส่วนใหญ่ย้อนกลับได้ทั้งนั้น Jeff ยกตัวอย่าง เพื่อนที่ลาออกจากตำแหน่งใหญ่โตในบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกมาทำ startup นั่นเป็นการตัดสินใจที่น่าจะมีผลกับชีวิตมาก และไม่น่าจะย้อนกล้บได้ จริงมั้ยคะ? แต่ปรากฏว่า พอเพื่อนคนนั้นทำ startup แล้วไม่ประสบความสำเร็จ เขาก็สามารถกลับไปทำงานที่บริษัทที่ปรึกษาบริษัทเดิม ตำแหน่งเดิมได้ จริงอยู่ที่เขาเสียเวลา 2 ปีไปกับการทำ startup ซึ่งถ้าเขาอยู่บริษัทที่ปรึกษาต่อ เขาคงได้เลื่อนตำแหน่งไปแล้ว แต่ว่าการที่ได้เลื่อนตำแหน่งช้ากว่าเดิม 2 ปี แลกกับการได้ลองทำ startup ก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่าไม่ใช่หรือ การตัดสินใจครั้งนี้ ก็เกือบจะเหมือนย้อนกลับได้เลย จริงมั้ยคะ?

ความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่แยกมนุษย์กับหุ่นยนต์ออกชัดเจนที่สุดในปัจจุบัน คนยังให้ความสำคัญกับความไม่เหมือนใคร ความคิดสร้างสรรค์ ความ original ของไอเดียนั้นๆ แต่ละภาพของอาจารย์เฉลิมชัย ที่ขายได้ภาพละหลายสิบล้าน ก็เพราะมีเพียงภาพเดียวในโลกและแน่นอนว่ามันไม่เหมือนภาพไหนๆ อาหารมื้อที่สร้างสรรค์โดยเชฟเจมี่ โอลิเวอร์ ที่เป็นศิลปินใช้จานอาหารเป็นผืนผ้าใบ และเครื่องปรุง เป็นหมึก ก็ไม่เหมือนอาหารที่ปรุงตามสูตรที่หาทานได้ทั่วๆไปอย่างแน่นอน

ปัจจุบันนี้อะไรก็สามารถผลิตได้เหมือนๆ กันไปหมด ดังนั้นคนที่ทำสิ่งที่แตกต่างได้ จะเป็นคนที่โดดเด่น และการที่จะแตกต่าง เราก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ การที่เราจะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เราต้องเป็นคนช่างสังเกต ช่างคิด คิดว่า ถ้ามันไม่เป็นอย่างงั้นล่ะ มันเป็นอย่างงี้ได้มั้ย มองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆเสมอ อย่ามองเฉพาะสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้ว (look beyond the obvious) นะคะ

ในฉบับต่อไป เราจะมาคุยกันเรื่อง Shade 2: Personality and people to work with บุคลิกภาพ และคนที่เราเหมาะจะทำงานด้วย ติดตามฉบับหน้านะคะ

หากสนใจเรื่องการค้นหาอาชีพที่ใช่ หรือสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกับเรา ติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/careervisathailand/