Action Bias: มโนไปเองว่า “ต้องลงมือทำไว้ก่อน”

Action Bias: มโนไปเองว่า “ต้องลงมือทำไว้ก่อน”
  • คู่แข่งออกสินค้าใหม่ ทีมรีบเรียกประชุมด่วน หาวิธีโต้กลับทันที
  • เมื่อตลาดหุ้นร่วง ก็รีบเทขายหุ้นทิ้งทันที
  • เวลารับจุดโทษ ผู้รักษาประตูมักกระโดดซ้ายขวา แทนอยู่เฉยๆ ตรงกลาง

เมื่อเจอสถานการณ์ใหม่ๆ แล้วคุณรู้สึกว่าจะต้องขอให้ได้ลงมือทำอะไรซักอย่างไว้ก่อน…คุณอาจกำลังติดกับดัก “Action Bias” อีกหนึ่งปัญหาคลาสสิคของคนทำงาน!!

Action Bias: มายาคติของ “ขอให้ได้ทำไว้ก่อน” 

Action Bias คือภาวะที่คนมีแรงผลักดันอันแรงกล้าที่จะ “ขอให้ได้ลงมือทำ” อะไรไว้ก่อนเมื่อเจอกับเรื่องอะไรก็ตาม ทั้งที่เมื่อพิจารณาสถานการณ์อย่างมีเหตุผลแล้ว วิธีที่ดีที่สุดอาจเป็นการ…อยู่เฉยๆ (รอดูสถานการณ์)

“รีบลงมือทำไว้ก่อน…แต่สุดท้ายก็เปล่าประโยชน์” (หรือได้ไม่คุ้มเสีย)

Action Bias จะทรงพลังเป็นพิเศษเมื่อเจอกับความไม่แน่นอน (Uncertainty) ยิ่งไม่แน่นอนและคาดการณ์ไม่ได้เท่าไร เรายิ่งต้องขอให้ได้ลงมือทำอะไรซักอย่างไว้ก่อนมากเท่านั้น

เราอาจเรียกอาการนี้ขำๆ ได้ว่า “Do Something Syndrome”

ทำไมเรามัก “ห้ามใจตัวเอง” ไม่ให้ลงมือทำไม่ได้?

Action Bias ฝังลึกอยู่ในพันธุกรรมของมนุษย์ ในอดีตกาล การตัดสินใจและลงมือทำทันทีทันใดให้ “โอกาสรอดชีวิต” มากกว่าการนั่งขบคิด 

เช่น เดินอยู่ในป่าแล้วเจอเสืออยู่ลิบๆ จะวิ่งหนีทันที ไม่มัวมานั่งวิเคราะห์ว่า…เสือมันกินอิ่มแล้วหรือยัง / มากันกี่ตัว / เสือหนุ่มหรือเสือเด็ก / ถ้าสู้ พวกเราจะพอสู้ไหวไหม 

สัญชาตญาณนี้ยังคงติดตัวมนุษย์มาถึงโลกปัจจุบัน แต่สภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนไปแล้ว กล่าวคือ โลกปัจจุบัน…จะเวิร์คกว่าถ้าเราหยุดและนั่งขบคิดวิเคราะห์…แทนที่จะลงมือทำทันทีโดย “ไม่คิดหน้าคิดหลัง”

บางครั้งการตัดสินใจที่ถูกต้องและดีที่สุดคือการ…หยุดรออยู่เฉยๆ

.

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้าน “สังคมและวัฒนธรรม” ของโลกทำงานสมัยใหม่

การ “ดูยุ่ง” อยู่ตลอดเวลาเป็นเรื่องที่ดูเท่ ขยัน เอาการเอางาน ภาพลักษณ์ดูดี โดยเรามักลืมคิดไปว่า ความยุ่งเหยิงนั้นอาจมาจากการไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงานและเวลาของคนนั้นก็ได้?

เพียงแต่พฤติกรรมที่อยู่นิ่งๆ ขบคิดรอดูสถานการณ์…สังคมมักมองข้ามไม่เห็นคุณค่า

Nassim Nicholas Taleb นักคณิตศาสตร์และนักลงมือชาวอเมริกัน เรียกคนกลุ่มนี้ที่ติดกับดัก Action Bias ว่า “นักแทรกแซง” (Interventionist) พวกเค้ามักมาพร้อม

  • วิธีแก้ปัญหาอันรวดเร็ว…แต่มี “ช่องโหว่” 
  • รีบกระโดดเข้าไปแก้ 
  • แต่สุดท้ายปัญหาไม่จบ 
  • จนเกิดปัญหาที่ 2-3-4 ตามมา(โดยไม่จำเป็น)

สอดคล้องกับ Blaise Pascal นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส (หนึ่งในผู้คิดค้นเครื่องคิดเลข) ที่กล่าวว่า 

“ปัญหาของมนุษยชาติมักเกิดจาก การไร้ซึ่งความสามารถในการแค่นั่งอยู่เฉยๆ และขบคิดเงียบๆ ในห้องตัวคนเดียว” (สื่อว่า…คนเรามักไม่คิดหน้าคิดหลังและปล่อยให้อารมณ์เป็นใหญ่)

โดย Action Bias อยู่รอบตัวเรามากกว่าที่คิด…

Action Bias ในกีฬา

กีฬาสะท้อน Action Bias ได้ดีที่สุดผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกาย และหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนมากคือ “การยิงจุดโทษในกีฬาฟุตบอล”

จากสถิติ ลูกบอลใช้เวลาน้อยกว่า 0.3 วินาที หลังถูกเตะและพุ่งตรงไปยังตาข่าย เวลาเสี้ยววินาทีขนาดนี้ ผู้รักษาประตูจำเป็นต้อง “เดา” โดยตัดสินใจ “ก่อน” ว่าจะรับบอลทิศทางไหน โดยมี 3 ตัวเลือก

  • กระโดดไปทางซ้าย
  • กระโดดไปทางขวา
  • อยู่เฉยๆ ตรงกลาง

ทั้ง 3 ตัวเลือกให้ผลลัพธ์ความเป็นไปได้เท่ากัน 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้รักษาประตูมักเลือกที่จะกระโดดไปทางซ้ายไม่ก็ขวา (Action Bias ชัดเจน) แม้ว่าสุดท้ายลูกบอลจะไปคนละทิศทางก็ตาม…ผู้รักษาประตูคนนี้จะไม่ค่อยถูกกองเชียร์ด่า (และอาจได้รับคำชมว่าอย่างน้อยได้ “พยายาม” แล้ว)

ส่วนผู้รักษาประตูที่เลือกจะอยู่เฉยๆ ตรงกลาง แต่ลูกบอลไปซ้าย-ขวา…ผู้รักษาประตูคนนี้มักถูกกองเชียร์ด่าเละ “ทำไมอยู่เฉยๆ!!”

ทั้งสองเหตุการณ์ ผลลัพธ์เหมือนกันคือ “รักษาประตูไม่ได้” แต่ปฏิกิริยาที่ได้รับจากกองเชียร์ต่างกัน

Action Bias ในการศึกษา

ตั้งแต่เด็ก เวลาครูขอความคิดเห็นขึ้นกลางห้อง นักเรียนที่ยกมือถาม-ตอบมักได้รับการ “ยกย่อง” มากกว่าเด็กที่นั่งเงียบไม่ได้ยกมือ 

เป็นไปได้หรือไม่? ว่าเด็กที่ไม่ยกมือ ไม่ใช่เพราะเค้าไม่ตั้งใจเรียน แต่เพราะกำลังขบคิดวิเคราะห์ในหัวอยู่ ยังไม่ตกผลึก หรือแค่อยากรอดูความคิดเห็นเพื่อนร่วมชั้นคนอื่นก็เท่านั้น

บางระบบการศึกษา ถึงกับ “ให้คะแนน” นักเรียนที่ยกมือตอบ ใครยกมือตอบน้อย ก็ได้คะแนนน้อย…และอาจไม่ผ่าน

วัฒนธรรมและระบบการศึกษานี้ ก็ “หล่อหลอม” ให้คนเราโตมาโดยติดกับดัก Action Bias ได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

Action Bias ในการลงทุน

เวลาเห็นตลาดหุ้นร่วง (ซึ่งอาจเป็นเรื่องชั่วคราวระยะสั้น) คุณกลับรีบเทขายทิ้ง โดยลืมไปเลยว่าหุ้นในมืออาจมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จะเด้งขึ้นกลับมาได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ การ IPO หุ้นบริษัทใหญ่ๆ ก็เช่นกัน ปี 2012 Facebook เปิดซื้อขาย IPO นักลงทุนต่างรีบเข้าซื้อทันที (Action Bias) แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ราคาหุ้นได้ดิ่งลงเรื่อยๆ ก่อนจะกลับมาในที่สุด

Facebook ยังคงเติบโตจนเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่จนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อมองย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในช่วงนั้น จะพบว่า… 

  • นักลงทุนที่เข้าซื้อ IPO ทันทีจะทำกำไรได้ราว 400% 
  • แต่นักลงทุนที่ “อดใจรอ” และค่อยซื้อหลังจากนั้น 3 เดือนจะทำกำไรได้ 1,000%

แล้วเราจะป้องกัน Action Bias ได้อย่างไร?

วิธีป้องกันเริ่มต้องจากภายใน หัด “หักห้ามใจ” ซะบ้าง หลายครั้ง การรีบลงมือทำแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง (Thoughtless action) มักให้ผลลัพธ์ที่เลวร้ายกว่า การอยู่เฉยๆ (Inaction)

Charlie Munger รองประธานกรรมการของ Berkshire Hathaway ผู้เปรียบดั่ง “มือขวา” ของ Warren Buffett เผยว่า หนึ่งในเคล็ดลับการลงทุนของเขาคือ การอดทน “อยู่เฉยๆ” และปล่อยให้กระแสความผันผวนนั้นผ่านไป

และใช้เวลานั้น กลับไปวิเคราะห์อีกรอบหนึ่งเพื่อความชัวร์ รวบรวมข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากหลายช่องทางให้มากเพียงพอต่อการตัดสินใจใดๆ

นอกจากนี้ ผู้นำสามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ยกย่องเชิดชูคนที่รีบด่วนลงมือทำจนเกินไป ต้องให้คุณค่ากลุ่มคนที่ขบคิดวิเคราะห์อย่างเงียบๆ บ้าง

ทั้งหมดนี้จะช่วยลดโอกาสเกิด Action Bias และทำให้ผลลัพธ์ต่างๆ ดีขึ้นในที่สุด

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง