Career Design Shade 3

Career Design Shade 3

Working Conditions and your Right Career สภาพแวดล้อมมีผลกับอาชีพที่ใช่อย่างไร?

“เออ แกเราได้งานแล้วนะ” เดียร์พูดด้วยน้ำเสียงเรียบเฉย ขณะหั่นแบ่งฮันนี่โทสต์ในร้านขนมชื่อดัง ในมีทติ้งกับเพื่อนๆ ที่เลี้ยงต้อนรับเธอกลับมาพร้อม MBA จากมหาวิทยาลัยชื่อดังที่อเมริกา
“เฮ้ย ดีใจด้วย…แต่ทำไมดูแกไม่ค่อยดีใจเลยอ่ะ?”
เดียร์ถอนหายใจเฮือกใหญ่ “ก็ออฟฟิศอยู่ชลบุรี เราต้องไปอยู่ที่นั่นอ่ะดิ อดเจอพ่อแม่ อดเจอพวกแก แล้วยังอดเจอแฟนอีก”
“สำคัญตรงอย่างสุดท้ายใช่มะ”
“เค้าให้เงินเดือนดีมากเลยนะ แต่ไม่รู้ดิ ก็ไม่อยากไปอยู่ดี ตอนนี้ก็ยังสัมภาษณ์ที่อื่นอยู่”

Conversation นี้ คงคุ้นหูทุกท่านดี

เอ็มเคยถามนิสิต นักศึกษาที่เอ็มสอน ว่าอยากทำงานที่ไหน มีหลายคนที่ไม่ได้ตอบชื่อบริษัท แต่ตอบว่า ที่ๆติด BTS หรือ MRT
ในขณะที่ HR หลายบริษัท เบือนหน้าหนีคำตอบเหล่านี้ แต่ถามว่าในชีวิตประจำวันที่เรามีเวลา 24 ชั่วโมง การใช้เวลาเดินทางไป กลับที่ทำงาน 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ก็ไม่น่าอภิรมย์นักหรอก จริงมั้ยคะ? แน่นอนว่าเราไม่จำเป็นต้องเลือกงานใกล้บ้าน หรือใกล้ BTS/MRT เสมอไป เพราะเราสามารถย้ายตัวเองไปอยู่ใกล้ที่ทำงานได้ ซึ่งนั่นอาจจะหมายถึงค่าดาวน์คอนโด ค่าเช่าอพาร์ทเม้น ที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
นิสิต นักศึกษาที่เหลือ หลายคนก็ตอบว่า ที่ๆให้ทำงานจากบ้านได้ เพราะพวกเขาอยากทำงานที่ร้านกาแฟ มีความยืดหยุ่นในเวลางาน ไม่ต้องแตะบัตรเข้าออกตรงเวลาเป๊ะๆ ฟังดูเอาแต่ใจเหลือเกิน แต่หากเลือกได้ ทุกคนก็คงอยากร่างสภาพแวดล้อม และเงื่อนไขในการทำงานของตัวเองเช่นเดียวกัน และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็น 1 ใน 5 shade ที่ทุกคนควรพิจารณาเมื่อเลือกอาชีพในหลักสูตร Career Design*

Career Design คือ หลักสูตรที่กิจการเพื่อสังคม CareerVisa ออกแบบขึ้น เพื่อช่วยในการออกแบบ และเลือกอาชีพที่ใช่ ประกอบไปด้วย Framework ชื่อ 5 Shades of life ที่จะช่วยให้เราทบทวนตัวเอง และวิเคราะห์อาชีพใน 5 ด้าน

  1. Skill and Interest ทักษะและความสนใจ
  2. Personality and people to work with บุคลิกภาพ และคนที่เราเหมาะจะทำงานด้วย
  3. Working condition สภาพแวดล้อมในการทำงาน
  4. Lifestyle รูปแบบการใช้ชีวิต
  5. Value ค่านิยมของตัวเรา สิ่งที่เราให้ความสำคัญในชีวิต

เพราะการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับตัวเรา มักทำให้เราไม่มีความสุขในงาน และในทางกลับกันสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับเรา จะทำให้เราอยู่ในสภาวะลื่นไหล หรือที่เรียกว่า Flow ซึ่งเป็นภาวะที่เรามีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้นาน และไม่รู้สึกเบื่อ แน่นอนว่าการทำงานในภาวะนี้จะนำมาซึ่งความพึงพอใจในงาน และประสิทธิผลสูงสุด

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าสภาพการทำงานแบบไหนที่เหมาะสมกับเรา เรื่องแรกเลยก็คือ เวลาทำงาน บางคนเป็น early bird ชอบตื่นเช้า ชอบเริ่มงานแต่เช้าและกลับบ้านเร็ว ออกจากบ้าน และออกจากออฟฟิศก่อนคนอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงรถติด หรือในทางกลับกัน เป็น night owl ใช้ชีวิตเหมือนนกฮูก ชอบอยู่ดึกๆ ตื่นสายๆ ให้กลับดึกก็ได้ไม่ว่า แต่ต้องเริ่มงานหลัง 10 โมง เรื่องต่อมา คือ จำนวนชั่วโมงทำงาน หลายๆ คนบอกเอ็มว่า เริ่มกี่โมง เลิกกี่โมงไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ขอให้จำนวนชั่วโมงทั้งหมดที่ทำต่อวันไม่เกิน 8 แล้วกัน ถ้าทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ ก็จะรวมเป็น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อย่าลืมว่ามีบางงานที่จำนวนชั่วโมงทำงานในแต่ละวันไม่เท่ากันเช่น วันศุกร์อาจไม่ต้องทำงาน แต่จันทร์ – พฤหัสทำงานวันละ 10 ชั่วโมง รวมเป็น 40 ชั่วโมงต่อวันเท่ากัน แบบไหนที่จะเหมาะกับเรามากกว่า หรือบางอาชีพ จำนวนชั่วโมงในแต่ละสัปดาห์ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนโปรเจคที่มีต่อจำนวนพนักงานในช่วงนั้นอาจจะมีบางสัปดาห์ที่ว่างมาก ทำงานไม่ถึง 20 ชั่วโมง แต่ก็มีบางสัปดาห์ที่ต้องทำ 60 ชั่วโมง เราจะสบายใจที่ต้องทำแบบนั้นหรือไม่

การที่เราจะรู้ว่าเวลา และจำนวนชั่วโมงการทำงานแบบไหนที่เหมาะกับเรามากกว่ากัน เราต้องรู้ตัวเองก่อนว่าเรามีข้อจำกัดอะไร หรือกิจกรรมอะไรที่เราอยากทำเป็นประจำ เช่น ถ้าเราอยากออกกำลังกายที่ฟิตเนสก่อนเข้างานทุกเช้า งานที่เริ่ม 10 โมง เลิก 3 ทุ่มก็อาจจะเหมาะ กับเรามากกว่างานที่เริ่ม 8 โมง เลิก 5 โมงเย็น หรือ ถ้าเราไม่อยากพลาดการสังสรรค์ Happy Hour กับเพื่อนทุกเย็นวันพฤหัส ก็น่าจะเหมาะกับงานที่เริ่ม 8 โมง เลิก 5 โมงมากกว่า เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังต้องคิดถึงจำนวนวันลาอีกด้วย หากเราชอบเดินทางท่องเที่ยวไกลๆ วันลาจำนวนมากก็สำคัญ บางบริษัทโบนัส 6 เดือน แต่วันลาพักร้อนทั้งปีมีแค่ 6 วัน เรารับได้มั้ย หรือแทบจะอยากเอาเงินไปแลกวันลา ถ้าเป็นแบบนั้น ก็อาจจะเหมาะกับบริษัทที่มีวันลา 15 วัน แต่โบนัสไม่ถึงเดือนมากกว่า

เรื่องสถานที่ทำงาน และความยืดหยุ่นของการเข้าออกออฟฟิศก็อาจจะเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ  ว่าเราสามารถแตะบัตรเข้าออก มีพักเที่ยงไม่เกิน 60 นาทีพอดีเป๊ะได้หรือไม่ หากเรามีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ต้องดูแลพ่อแม่ที่ป่วย หรือมีร้านขายเสื้อผ้าบนไอจี (Instagram) ต้องเอาของไปส่งไปรษณีย์ในเวลาพักกลางวัน ที่ทำงานที่กำหนดเวลาพัก 60 นาทีเป๊ะๆ อาจไม่เหมาะสมกับเราเท่าไรนัก องค์กรที่มีความยืดหยุ่นน่าจะตอบโจทย์ชีวิตเราได้มากกว่า หรือ บางคนอาจจะนั่งโต๊ะสี่เหลี่ยมมีคอกกั้นแล้วสมองไม่แล่น คิดอะไรไม่ออก แต่สมองลื่น คิดงานได้ปรื๊ดๆ เวลาได้ยินเสียงเครื่องบดกาแฟ ได้กลิ่นอาราบิกา ชื่นชอบการทำงานที่ร้านกาแฟมากเป็นพิเศษ ก็อาจจะเหมาะกับ tech startup บางที่ที่อนุญาตให้ทำงานจากที่ไหนก็ได้ ตราบที่ยังส่งงานตรงเวลา และติดต่อได้ตลอดเวลางาน หรือถ้าเป็นนักเดินทางตัวยง ความฝันอันสูงสุด คือ การใช้ชีวิตแบบ digital nomad ทำงานที่ใดก็ได้ในโลก เดินทางไปเรื่อยๆ และทำงานไปด้วยได้ ตราบเท่าที่ยังมี internet ก็อาจจะเหมาะกับอาชีพอิสระบางอาชีพ เช่น นักเขียน ผู้จัดรายการสารคดี เป็นช่างภาพ หรือบล็อกเกอร์ ที่ใช้เรื่องราวจากการเดินทางในการสร้างรายได้ เป็นต้น

นี่เอ็มไม่ได้จะบอกให้ลาออกแล้วไปแตะขอบฟ้า เพราะจะได้ทำงานบนพื้นทรายริมทะเลทุกวันนะคะ และก็ไม่ได้บอกให้รวมตัวกันไปประท้วงผู้บริหารบริษัทที่ยังให้แตะบัตรเข้า ออกงานด้วย แต่เนื่องจากการวิจัยที่ได้รับการรับรองจาก International Labor Organization กล่าวว่า โดยเฉลี่ยพนักงานที่ทำงานในสภาพการทำงานที่พึงพอใจสามารถทำงานเสร็จเร็วขึ้น 40 นาทีใน 1 วันเมื่อเทียบกับพนักงานที่ทำงานเดียวกันแต่อยู่ในสภาพการทำงานที่ไม่เป็นที่พึงพอใจ (Source: https://www.google.co.th/url?sa=t&rct=j&q=&esrc=s&source=web&cd=1&cad=rja&uact=8&ved=0ahUKEwj7ib-IvsPYAhVLsI8KHfKPDYEQFgg3MAA&url=https%3A%2F%2Fbetterwork.org%2Fdev%2Fwp-content%2Fuploads%2F2017%2F04%2FILO-1513-Research-Brief-for-DP-No.-17-Are-Sweatshops-Profit-Maximizing.pdf&usg=AOvVaw0xxSajR4C6W2A9wCLRnsaP)

เอ็มจึงอยากให้พิจารณาสิ่งนี้สักนิด เมื่อเลือกอาชีพ แต่ถ้าเลือกไม่ได้จริงๆ การสร้างสภาพแวดล้อมดังกล่าวขึ้นเองในที่ทำงาน อย่างการนำกระบองเพชร หรือสวนในโหลแก้วมาวางข้างๆ โต๊ะทำงาน พร้อมเสียบหูฟังเสียงคลื่น ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานเช่นกัน

ในฉบับต่อไป เราจะมาคุยกันเรื่อง Shade 4: Lifestyle ไลฟสไตล์ และทรัพยากรที่เราต้องการเพื่อให้ได้ใช้ Lifestyle สุดชิคของเรา ติดตามฉบับหน้านะคะ