Career Design Shade 4

Career Design Shade 4

Shade 4: Lifestyle

ท่านผู้อ่านมีประกันสุขภาพกันมั้ยคะ? ที่มีเพราะได้สวัสดิการของที่ทำงานหรือเปล่า? หรือว่าลงทุนสมัครด้วยเงินตัวเองเลย?

เอ็มเคยมีค่ะ ตอนยังทำงานบริษัทใหญ่ที่มั่นคง ตอนที่มีก็ไม่ค่อยเห็นค่าหรอกนะคะ ที่พ่อแม่บอกว่า สวัสดิการดีอะไร คิดแต่ว่าไม่ค่อยได้ใช้ ถึงต้องใช้ ออกเองแต่ละครั้งก็คงไม่เท่าไหร่ แต่ตอนนี้พอไม่มีแล้วก็เกิดเห็นค่าขึ้นมาซะอย่างงั้น อย่าเพิ่งหยุดอ่านนะคะ เดี๋ยวจะคิดว่าเอ็มเปลี่ยนอาชีพจากการช่วยค้นหาอาชีพที่ใช่ ไปช่วยบริหารการเงินส่วนบุคคลแทน! ยังค่ะ ยัง เอ็มแค่จะแชร์ว่า ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เอ็มเข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น ทั้งอาการกรดไหลย้อน รวมกับโรคกระเพาะ และตาบวมแดงโดยไม่ทราบสาเหตุ แล้วก็ค้นพบว่าจริงๆ ค่ารักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายในแต่ละปีนั้นไม่น้อยเลย ทั้งๆที่ยังอายุไม่ถึง 30 นี่แหละ

แล้วมันเกี่ยวกับการเลือกอาชีพที่ใช่ยังไง? แน่นอนค่ะว่า “ชีวิตมันต้องเดินตามหาความฝัน” แต่ว่าการตามหาความฝันของเราต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ภาระทางบ้าน ทางการเงิน และข้อจำกัดของแต่ละคนด้วย Lifestyle และเงินที่เราต้องใช้ในการใช้ชีวิตแบบนั้นจึงเป็น 1 ใน 5 ด้านที่ต้องพิจารณาในการเลือกอาชีพ

Career Design คือ หลักสูตรที่กิจการเพื่อสังคม CareerVisa ออกแบบขึ้น เพื่อช่วยในการออกแบบ และเลือกอาชีพที่ใช่ ประกอบไปด้วย Framework ชื่อ 5 Shades of life ที่จะช่วยให้เราทบทวนตัวเอง และวิเคราะห์อาชีพใน 5 ด้าน

  1. Skill and Interest ทักษะและความสนใจ
  2. Personality and people to work with บุคลิกภาพ และคนที่เราเหมาะจะทำงานด้วย
  3. Working condition สภาพแวดล้อมในการทำงาน
  4. Lifestyle รูปแบบการใช้ชีวิต
  5. Value ค่านิยมของตัวเรา สิ่งที่เราให้ความสำคัญในชีวิต

ในฉบับที่แล้ว เอ็มได้กล่าวถึง Working condition หรือสภาพแวดล้อมในการทำงานแล้ว ฉบับนี้เรามาต่อกันที่ Lifestyle กันเลยดีกว่าค่ะ

การใช้ชีวิตของเราเป็นแบบไหน ต้องใช้ทรัพยากรที่เป็นเงินเท่าไรจึงจะสามารถมีชีวิตแบบนั้นได้ เรามีรายรับจากทางอื่น หรือ support จากพ่อแม่เท่าไร ที่เหลือที่เราต้องหาเองเท่าไร อาชีพใดที่จะสามารถตอบโจทย์นี้ได้ ให้เรามีรายได้มากพอที่จะมีไลฟ์สไตล์เก๋ๆแบบนี้

เริ่มจากชีวิตประจำวันก่อน ในแต่ละวันทำงาน เรามีกิจวัตรอะไรตั้งแต่เช้าจรดเย็น ต้องดื่มกาแฟ Starbucks แก้วละร้อยกว่าบาททุกวันหรือเปล่า เราไปทำงานยังไง ขับรถไปทำงาน หรือขึ้นรถไฟฟ้า ค่าน้ำมัน หรือค่าเดินทางอื่นๆเท่าไหร่ ตอนกลางวันกินศูนย์อาหารได้มั้ย หรือต้องเข้าร้านอาหาร สั่งสปาเกตตี้จานละ 250 อาหารเย็นในร้านบรรยากาศดี ชิลๆ ราคาเท่าไร โดยเฉลี่ยแต่ละวันทำงานมีค่าใช้จ่ายเท่าไร ในวันหยุดสุดสัปดาห์เราทำอะไรบ้าง brunch สวยๆ กับเพื่อนสาวในชุดสุดชิคที่ห้ามซ้ำทุกวันเสาร์หรือเปล่า? เข้าร้านทำผม ทำเล็บทุกสัปดาห์? ดูหนัง ฟังเพลง พักผ่อนที่หัวหิน สิ่งเหล่านี้รวมๆ แล้วต้องใช้เงินจำนวนเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าผ่อนคอนโด จำนวนเท่าไหร่ต่อเดือน ยัง ยังไม่หมด แล้วทริปญี่ปุ่นช่วงซากุระบาน ทริปไอซ์แลนด์ล่าแสงเหนือล่ะ อยากเที่ยวต่างประเทศทุกปีหรือเปล่า ปีละกี่ครั้ง ทริปละเท่าไหร่ อย่าลืมคำนวณในค่าใช้จ่ายต่อปีด้วย

แต่ในทางกลับกัน ก็เคยมีน้องที่มาทำ Career Design กับเอ็มแล้วเขียนค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ต่อเดือนออกมาเกิน 100,000 บาท เอ็มตกใจมาก แล้วบอกน้องไปว่าการที่จะหางานเงินเดือนมากพอที่จะ support ไลฟสไตล์แบบนี้ได้นั้นยากมาก ดังนั้นเราอาจจะต้องเปลี่ยนไลฟสไตล์ของตัวเองให้เหมาะกับเงินเดือนที่เราหาได้แทน แต่น้องคนนั้นบอกว่า พ่อแม่สามารถ support ได้ส่วนหนึ่ง จึงสามารถหักออกจากจำนวนเงินที่จำเป็นต้องหาได้ในแต่ละเดือนได้ ก็ปรับเงินเดือนขั้นต่ำที่ต้องการลงได้ตามจำนวนที่พ่อแม่ support ได้

ในอีกกรณีหนึ่ง คือ สวัสดิการขององค์กรบางแห่ง อาจจะสามารถลดค่าใช้จ่ายบางส่วนไปได้ เช่น บางบริษัทมีฟิตเนสให้พนักงานใช้ฟรี เราก็ไม่ต้องเสียค่าสมาชิกฟิตเนส มีประกันครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลตนเอง และพ่อแม่ เราก็สามารถหักค่าใช้จ่ายเหล่านี้ออกจากจำนวนเงินที่จำเป็นต้องหาได้ในแต่ละเดือนได้เช่นกัน อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า พอไม่มีประกันสุขภาพของบริษัทแล้ว ตระหนักได้ถึงความสำคัญเลยทีเดียว

ดังนั้น ใน Shade 4 Lifestyle เมื่อเทียบบริษัท A ที่ให้เงินเดือน 20,000 บาท แต่ไม่มีสวัสดิการใดๆ กับ บริษัท B ที่ให้เงินเดือน 18,000 บาท กับฟิตเนส ที่ถ้าสมัครเองจะเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 3,000 บาท และประกันสุขภาพทั้งครอบครัว ที่ถ้าสมัครเองจะเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 1,000 บาท แล้ว บริษัท B ก็อาจจะน่าสนใจกว่าบริษัท A ก็ได้ ทั้งนี้ ขอให้พิจารณาเฉพาะสวัสดิการที่คิดว่าเราจะได้ใช้เท่านั้น หากยังไม่มีแผนแต่งงานใน 1-2 ปีนี้ ทุนการศึกษาบุตร ก็ไม่น่าจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตของเราได้ เป็นต้น เมื่อสถานการณ์ของชีวิตเปลี่ยนแปลงไป หลังจากแต่งงานแล้ว ค่อยกลับมาพิจารณาค่าใช้จ่ายต่างๆ ของตัวเองและครอบครัวอีกครั้ง เพื่อหาอาชีพที่ใช่ถัดไปของเราก็ย่อมได้

ทั้งนี้ เอ็มขอเตือนว่า อย่าเปรียบเทียบอาชีพต่างๆ เฉพาะที่เงินเดือน และสวัสดิการเพียงอย่างเดียว หากเรามีหลาย offer ให้เลือก เริ่มจากการตัด offer ที่ไม่สามารถตอบสนอง lifestyle เราได้อย่างแน่นอนออกไปก่อน จากนั้นให้พิจารณา shade อื่น อีก 4 shades แทน โดยไม่ต้องไปมองเงินเดือนกับสวัสดิการของงานที่ผ่านเข้ารอบอีก เพราะถึงรายรับจะมากหรือน้อยอย่างไร ทุกงานที่ผ่านเข้ารอบก็สามารถตอบสนอง lifestyle ของเราได้อยู่แล้ว และหากเราทำอาชีพที่ใช่ ได้พัฒนาตัวเองในแบบที่เราอยากเป็นแล้ว ในอีกไม่ช้ารายรับของเราก็จะเพิ่มขึ้นเองก่อนที่เราจะต้องเรียกร้องด้วยซ้ำ ในฉบับต่อไป เราจะมาคุยกันเรื่อง Shade 5: Values ค่านิยมของตัวเรา สิ่งที่เราให้ความสำคัญในชีวิต ซึ่งเป็น Shade สุดท้าย แต่เป็น Shade ที่สำคัญที่สุด และเป็นสิ่งที่ทำให้เอ็มตัดสินใจออกจากบริษัทใหญ่ที่มั่นคง มาทำกิจการเพื่อสังคมกับเพื่อนๆ อีกด้วย ติดตามฉบับหน้านะคะ

หากสนใจเรื่องการค้นหาอาชีพที่ใช่ หรือสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกับเรา ติดตามได้ที่ http://www.facebook.com/careervisathailand/