ผัดวันประกันพรุ่ง ทีละนิดทีละหน่อย ชีวิตก็พร้อมลงเหว

ผัดวันประกันพรุ่ง ทีละนิดทีละหน่อย ชีวิตก็พร้อมลงเหว
  • ทำรายงานให้เสร็จ?… ไว้ก่อนดีกว่า เหนื่อย
  • ออกกำลังกาย?… ไว้วันหลังละกัน ขี้เกียจ
  • ล้างจาน?… ไว้หลังออกกำลังกายเสร็จล่ะกัน

นี่คือตัวอย่างคลาสสิกของ “Procrastination” การผัดวันประกันพรุ่งทีละนิดทีละหน่อย ซึ่งถ้าถี่เกินไป…ก็อาจนำพาความล่มจมมาสู่ชีวิตคุณได้!!

จิตวิทยาของผัดวันประกันพรุ่ง 

แก่นของการผัดวันประกันพรุ่ง คือ การ “ดีเลย์” ทำเรื่องที่ “สำคัญแต่ไม่ชอบใจ” ออกไป ซึ่งถือว่าเป็นความไม่มีเหตุผล (Irrational) อย่างหนึ่งของมนุษย์ เพราะไม่มีเรื่องไหนที่จะเสร็จสมบูรณ์ในตัวมันเองถ้าไม่มีใครลงมือทำให้เสร็จ

“Slowly but sure.” ช้าๆ แต่พังแน่นอน

ผลวิจัยมากมายระบุว่าหนึ่งในสาเหตุที่คนเราผัดวันประกันพรุ่งคือลึกๆ แล้วเรา “กลัวความล้มเหลว” (Fear of Failure) เพราะงานนั้นที่ต้องทำให้เสร็จ มักมีความยากระดับหนึ่ง อาจต้องพบเจออุปสรรค 

ซึ่งพอเราคิดคาดการณ์ (เกิดขึ้นภายในเสี้ยววินาทีได้) สมองจะเกิดการปฏิเสธการกระทำนั้น และเปลี่ยนให้ไปทำเรื่องอื่น

ผัดวันประกันพรุ่งนำไปสู่ความล้มเหลว 

การผัดวันประกันพรุ่งนำมาซึ่ง “ค่าเสียโอกาส” ในการไม่ทำสิ่งสำคัญตรงหน้า (ขณะที่คนอื่นอดทนทำ) ซึ่งอาจทำให้เรา “ตกรถเมล์” ในเส้นทางสายอาชีพ จนเพื่อนร่วมรุ่นเติบโตไปไหนถึงไหนแล้ว

รู้หรือไม่ว่าการเรียนรู้ “สิ่งใหม่” อาศัยวินัยในการทำอย่าง “ต่อเนื่อง” สูงมากโดยเฉพาะช่วงเริ่มต้น สิ่งที่ทำให้หลายคนไม่เก่งซักที มักไม่ใช่ความยากง่ายในการเรียน…แต่คือความต่อเนื่องในการฝึกฝน

เพราะมันไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนคิด ถ้าคุณทำเรื่องติดต่อกัน 1-2-3 แล้วดันหยุดเรื่องที่ 4 ไป (ผัดวันประกันพรุ่ง) คุณอาจไม่ได้อยู่ที่เดิม ซึ่งคือ 3 แต่อาจตกไปอยู่ 2 (หรือขั้นเลวร้ายกลับไปอยู่ที่ 1)

การผัดวันประกันพรุ่งจนเป็นนิสัย อาจทำให้คุณกลายเป็น “นักปิดเดตไลน์” (Deadliner) คือทำอะไรเสร็จกระชั้นทันจวนตัวไปหมด ซึ่งวิธีทำงานแบบนี้มักให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่าการเสร็จแต่เนิ่นๆ แล้วใช้เวลาที่เหลือปรับปรุงแก้ไข

และส่งผลถึง “ภาพลักษณ์” ในตัวคุณ ถ้ามีคนไหว้วานให้คุณทำอะไร แล้วคุณเอาแต่บอก “เดี๋ยว” ซึ่งสะท้อนถึงความ “ไม่แน่นอน” (ว่าคุณจะทำเมื่อไร) ความน่าเชื่อถือในตัวคุณก็หดหาย

วิธีป้องกัน

วิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์และยอมรับในทางสากล ซึ่งช่วยให้เราลงมือทำ ณ ตอนนั้นได้มากขึ้นคือ การเพิ่ม “น้ำตาลในเลือด” (Blood Sugar) ด้วยสิ่งที่เราทำได้ง่ายๆ อยู่แล้ว เช่น กินช็อกโกแลต / ดื่มน้ำอัดลม / ดื่มน้ำหวาน เพราะกระบวนการที่น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จะไปกระตุ้นให้ร่างกายเรารู้สึก Active กระปรี้กระเปร่าอยากทำอะไร (ไม่เชื่อลองไปทำดู!)

ลองมองมุมกลับว่าการทำ “ทีละนิด-ทีละหน่อย” ในแง่บวกมันเปลี่ยนชีวิตเราได้มากแค่ไหน ก่อนจะมองสะท้อนกลับมาที่การผัดวันประกันพรุ่งว่า ถ้าทำทีละนิด-ทีละหน่อย…แต่เป็นแง่ลบ ก็พังชีวิตเราได้เช่นกัน

เช่น การออมในหุ้นพื้นฐานที่ได้ดอกเบี้ยทบต้นทีละนิดทีละหน่อย แต่หลายปีเข้าก็ได้เงินมาก้อนโต (ถ้าไม่เริ่มออมตอนนี้ก็อดเงินก้อนโต) หรือ ถ้าเราฝึกทำอะไรใหม่ๆ ติดต่อกัน 21 วัน มันจะเริ่มกลายเป็นทักษะติดตัวเราไป (ถ้าไม่ฝึกก็อดทักษะนี้ไป)

ลองแตกเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ออกเป็น “เป้าหมายย่อย” (Mini Goal) ซึ่งช่วยลดแรงต้านในการเริ่มต้นทำได้ แถมเรายังรู้ด้วยว่า “ควรเริ่มที่ตรงไหน?”

ขจัด “สิ่งรบกวน” ให้เหลือน้อยที่สุด พอสมาธิเราหลุดเพื่อไปทำอย่างอื่น เมื่อกลับมา อาจต้องใช้พลังและเวลาซักพักกว่าจะกลับมาสู่จุดเดิม ซึ่งช่วงเวลานี้เองที่ใช้พลังเยอะเป็นพิเศษ ทำให้หลายคนล้มเลิกสิ่งนั้นกลางคัน จนนำไปสู่การผัดวันประกันพรุ่งในที่สุด

คุณ Dan Ariely นักจิตวิทยาชื่อดังชาวอเมริกัน แนะนำให้กำหนด Deadline อย่างชัดเจน และจะดีมากถ้าเป็น Deadline ที่ “ถูกกำหนด” โดยคนอื่น เช่น หัวหน้าเป็นคนกำหนด เพราะมันสร้างแรงกดดันให้เราไปในตัว

การป่าวประกาศแก่สาธารณชนให้รับรู้ก็เป็นวิธีที่เวิร์ค เพราะพื้นฐานแล้ว คนเราแคร์สายตาคนอื่นที่มองมา ถ้าคุณป่าวประกาศอย่างเอกเกริกว่าจะปล่อยผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใน 6 เดือนจากนี้ คุณจะทำทุกวิถีทางที่ให้เป็นไปได้จริงในกรอบเวลานี้

ลองค้นหา Passion สิ่งที่อยากทำจริงๆ เพราะผัดวันประกันพรุ่งมักเกิดขึ้นกับงานที่ลึกๆ แล้วคุณไม่ได้ “หลงรัก” สุดหัวใจ สังเกตไหมว่า คนเราแทบไม่ต้องถูกบังคับจ้ำจี้จ้ำไชให้ทำในสิ่งที่ชอบที่รักเลย

.

.

เริ่มหา Passion นั้นได้ง่ายๆ โดยการทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…พร้อมมีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วัน!! >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง