- แข่งกันเรียน…เพื่อให้ได้เกรดดี เป็นที่ 1 ของห้อง
- แข่งกันสอบ…เพื่อแย่งกันเข้ามหาลัยฯ ชั้นนำ
- แข่งกันทำงาน…เพื่อความก้าวหน้าในโลกธุรกิจ
พวกเราคุ้นเคยกับการ “แข่งขัน” (Competition) ในทุกเรื่องมาตลอดทั้งชีวิต เรามองว่ามันเป็นเรื่องปกติและเป็นบันไดที่จำเป็นต้องก้าวผ่านไปสู่ความสำเร็จ
แต่ถ้าความจริงคือ…มันไม่ใช่อย่างที่เราคิดล่ะ?
ถ้าเป็น “ความร่วมมือกัน” (Cooperation) ต่างหากที่นำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งมีตัวอย่างเบื้องล่างให้ได้เห็นกันมากมาย
แต่ก่อนที่เราจะไปทำความเข้าใจใหม่ เราย้อนกลับไปสำรวจกันก่อนว่า การแข่งขัน…เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
แนวคิด Competition มีที่มาอย่างไร?
รากฐานของการแข่งขัน เริ่มต้นขึ้นพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของ “ระบบทุนนิยม” (Capitalism) ในยุโรปเมื่อราว 500 ปีที่แล้ว
(ประวัติโดยย่อ) ชนชั้นนำยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส ได้จับมือร่วมกันทำสิ่งที่เรียกว่า ”Enclosure” ใช้กำลังทหารในการล้อมรั้วผืนที่ดินของประชาชนซึ่งเดิมใช้ทำไร่ทำนาเลี้ยงชีพ และร่างกฎหมายใหม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า “กรรมสิทธิ์” (Ownership) เริ่มจากผืนที่ดิน ก่อนจะเป็นโรงงาน สินค้า แรงงาน และอื่นๆ ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง
เมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 18 แทบไม่มีที่ดินว่างเปล่าในยุโรปอีกแล้ว ล้วนถูกจับจองมีกรรมสิทธิ์ของชนชั้นสูงคนใดคนหนึ่ง ถึงตอนนี้ ประชาชนไม่มีที่ดินในการทำนาเพื่อผลิตอาหารมายังชีพ เมื่อไม่มีทางเลือกจึงต้อง “ขายแรงงานตัวเอง” กลับไปทำไร่ทำนาให้เจ้าขุนมูลนาย (ดีกว่าอดตาย)
แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะจิ้มเลือกได้ว่าอยากทำงานที่ไหนก็ได้ เพราะที่ดินมี “จำกัด” และใครที่ถูกรับเข้าไปทำงานแล้ว ก็ยิ่งต้อง “แข่งขัน” กันทำงาน ใครขี้เกียจหรือทำได้น้อยกว่าก็ถูกปลดออก เอาคนอื่นเข้ามาทำแทน
เกิดการวัดผลที่เรียกว่า ”Productivity” หรือผลผลิตในการทำงาน ซึ่งถูกใช้กับการทำงานในออฟฟิศบริษัทมาถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีอิทธิพลจากสาขาวิชาด้านชีววิทยา โดยเฉพาะแนวคิดเชิงวิวัฒนาการอย่าง “ผู้แข็งแกร่งที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอด” (Survival of the Fittest) ซึ่งวลีนี้มีรากฐานแนวคิดมาจาก Charles Darwin ที่นำเสนอว่า สิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวในสภาพแวดล้อมได้ดีที่สุดจะมีโอกาสมีชีวิตรอดและส่งต่อพันธุกรรมได้มากที่สุด
แต่ประโยคนี้ในปัจจุบัน มักถูกนำไปตีความในเชิง “ปัจเจก” ราวกับว่า ความอยู่รอดขึ้นอยู่กับความสามารถของตัวเองโดดๆ หรือของใครคนใดคนหนึ่ง จนนำไปสู่การแข่งขัน “ชิงดีชิงเด่น” ขึ้น
- ความอยู่รอดของบริษัท ขึ้นอยู่กับศักยภาพของบริษัทนั้นๆ เอง
- ความอยู่รอดของพนักงาน ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละคนเอง
- นวัตกรรมอันล้ำเลิศขององค์กร ก็มาจากวิสัยทัศน์กว้างไกลของตัว CEO เอง
แต่มนุษย์ถูกสร้างมาเพื่อให้ร่วมมือกัน?
อันที่จริง แม้แต่ในวงการชีววิทยาเอง ก็มีคนที่เห็นตรงข้ามกับ Charles Darwin อย่างเช่น Jean-Baptiste Lamarck นักชีววิทยาชาวฝรั่งเศส
เขายกตัวอย่างว่า แบคทีเรียนับล้านในร่างกายมนุษย์(มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น) พวกมันใช้ร่างกายเราเป็นพาหะอยู่อาศัย แต่ขณะเดียว มันก็คอยกำจัดเชื้อโรคและมอบคุณประโยชน์กลับคืนมาให้เรา เป็นความสัมพันธ์เกื้อกูลกัน (Symbiotic relationship)
เรายังจะพบความสัมพันธ์แบบนี้ได้กับทุกเรื่องในธรรมชาติ เช่น
- มนุษย์แต่ละเผ่าร่วมมือกันล่าสัตว์ใหญ่อย่างช้างแมมมอธ
- มนุษย์ร่วมมือกันแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญ ก่อเกิดเป็นการค้าขาย
คุณ Yuval Noah Harari นักประวัติศาสตร์แถวหน้าของโลกและผู้เขียนหนังสือชุด Sapiens กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้มนุษย์ขึ้นสู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ยุคโบราณ ไม่ใช่เพราะร่างกายอันแข็งแกร่งหรือสมองอันชาญฉลาด
แต่มาจากทักษะการ “ร่วมมือ” กันต่างหาก ซึ่งเป็นการร่วมมือกันอันซับซ้อนในแบบที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นในโลกทำได้เลยนอกจากมนุษย์
ความร่วมมือกันนี้เกิดขึ้นจากหลายหลายมิติ เช่น
- การสื่อสาร: เช่น ผ่านภาษาพูด ที่ลงรายละเอียดได้ทุกเหตุการณ์
- การแลกเปลี่ยน: เช่น ผ่านระบบเงินตรา คนทั่วโลกยอมรับในสกุลเงินดอลล่าร์
- ความเชื่อ-เรื่องเล่า: เช่น ผ่านองค์กรบริษัท คนอีกซีกโลกทำงานในบริษัทเดียวกันและมีเป้าหมายร่วมกันได้
ความร่วมมือกันในวงการธุรกิจ
แม้แต่โลกธุรกิจที่เรามองว่าการแข่งขันคือกฎเหล็กของทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ยังพบเห็นการร่วมมือกันที่นำไปสู่ความสำเร็จร่วม (Mutual success)
ปี 2014 Tesla เปิดอิสระให้บริษัทใดก็ตามสามารถเข้าถึง “สิทธิบัตร” ที่บริษัทเคยจดได้แบบฟรีๆ (Open-source technology) ซึ่งตอนนั้นมีอยู่ร่วม 2,000 สิ่งประดิษฐ์
โดย Elon Musk ผู้นำ Tesla มีความเห็นต่อสื่อมวลชนว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในบางเรื่อง มีแต่ฉุดรั้งความก้าวหน้าและมีแต่บริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่ได้ประโยชน์
เขาเชื่อว่า การเปิดให้เข้าถึงฟรีๆ นี้จะผลักดันวงการยานยนต์ให้ก้าวหน้าไปด้วยกันทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น และผู้เล่นทุกรายจะได้รับประโยชน์กลับคืนมาในที่สุด
ในระดับการทำงานในชีวิตประจำวัน John C. Maxwell นักเขียนและนักพูดสร้างแรงบันดาลใจชั้นนำของอเมริกากล่าวว่า“Teamwork makes the dream work.” เมื่อสมาชิกร่วมมือกันย่อมทำให้งานนั้นเป็นงานในฝันที่มีความหมายได้
เขาย้ำว่ากระบวนการ Cooperation ทำให้พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วม รู้สึกเชื่อมั่นไว้วางใจกัน และมาทำงานอย่างมีความสุขขึ้น เหนือสิ่งอื่นใด มันคือตัวแปรสำคัญสู่ “ไอเดียใหม่ๆ” เพราะเมื่อหลากหลายคนมาร่วมมือกัน เกิดการแชร์-ถกเถียงความคิดอันหลากหลาย ซึ่งจุดประกายสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ในที่สุด
ไม่แน่ว่าเราทุกคนอาจกำลังติดกับมายาคติของ Competition ยกมันเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง
บางที Cooperation ต่างหาก…คือกุญแจสู่ความสำเร็จ
.
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
อ้างอิง
- หนังสือ The Divide: A Brief Guide to Global Inequality and its Solutions โดย Jason Hickel
- หนังสือ If You Should Fail: A Book of Solace โดย Joe Moran
- https://medium.com/illumination/cooperation-and-not-competition-is-the-key-to-success-b8e9bae27ea8
- https://brainly.in/question/4830802
- https://www.informs.org/Blogs/M-SOM-Blogs/M-SOM-Review/Why-did-Tesla-Give-Away-Patents-for-Free-An-Analysis-of-the-Open-Technology-Strategy-from-an-Operational-Perspective