- เวลาเราสบายดี…มักไม่นึกถึงตอนป่วยนอนติดเตียง
- เวลาเลือกซื้อสินค้า…มักโฟกัสแต่ข้อดีที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อ
นี่คือภาวะบกพร่องหนึ่งของมนุษย์ที่เรียกว่า “Feature-Positive Effect”
Feature-Positive Effect: เรามักมองข้ามสิ่งที่มองไม่เห็น
Feature-Positive Effect คือ ภาวะที่คนเรามักละเลย-ไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่หายไป หรือ ขั้วตรงข้ามของสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้ (Positive ในที่นี่คือ การปรากฎมีตัวตนอยู่)
มองอีกมุมได้ว่า “มนุษย์มักให้ค่ากับสิ่งที่มีอยู่ มากกว่า สิ่งที่ไม่มี”
การมอบรางวัลโนเบลสะท้อนเรื่องนี้ได้ชัดเจนมาก ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รางวัลโนเบลจะต้องเป็นทฤษฎีที่ถูก “พิสูจน์ว่าถูกต้อง” แล้วเท่านั้น ทั้งๆ ที่ทฤษฎีก่อนหน้าที่ถูก “พิสูจน์ว่าผิด” ก็สำคัญไม่แพ้กันมิใช่เหรอ? เพราะมัน “ปูทาง” มาสู่ทฤษฎีที่ถูกต้องในที่สุด?
Sainsbury และ Jenkins 2 นักจิตวิทยาผู้คิดค้นเรื่องนี้ได้พิสูจน์โดยการให้ผู้เข้ารับการทดลองดูตัวเลข 2 ชุด
- ชุดแรก: 147 / 724 / 947 / 421 / 843 / 394 แล้วถามว่าตัวเลขเหล่านี้มีอะไรเหมือนกัน? คนส่วนใหญ่จะตอบถูกต้องว่า “มีเลข 4”
- ชุดที่สอง: 349, 851, 274, 905, 772 แล้วถามว่าตัวเลขเหล่านี้มีอะไรเหมือนกัน? คนส่วนใหญ่ตอบไม่ได้…หรือถ้าได้ ก็จะใช้เวลานานมากๆ โดยคำตอบคือ “ไม่มีเลข 6”
พวกเขาตีความจากการทดลองนี้ได้ว่า
- สิ่งที่หายไป สังเกตยากกว่า สิ่งที่ไม่ได้หาย
- การไร้ตัวตน สัมผัสได้ยากกว่า การมีตัวตน
- การไม่มี รับรู้ได้ยากกว่า การมี
ทำไมเรารู้สึกแบบนั้น?
มนุษย์เรามีปัญหากับการรับรู้เหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้น (Non-event Perception) ราวกับตาบอดถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่-ที่จับต้องไม่ได้ เพราะการประมวลผลของสมองคนเรามี “จำกัด” เราจำเป็นต้องตัดสินใจจากสิ่งที่มีอยู่ตรงหน้าแม้ข้อมูลจะไม่ครบถ้วนก็ตาม
เรื่องนี้สร้างปัญหาให้คนเราไม่น้อย เพราะเมื่อมาเปิดใจคิดดูแล้ว “สิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น” ก็สำคัญไม่แพ้กัน (และอาจแค่ “ยัง” ไม่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง)
- ณ ตอนนี้ถ้าเราสุขภาพแข็งแรง เราจะแทบไม่นึกถึงตอนเจ็บไข้ได้ป่วยเลย (และอาจใช้ร่างกายอย่างประมาท)
- ถ้าตอนนี้ประเทศชาติของเราสงบสุข เราจะแทบไม่นึกถึงตอนเผชิญกับภาวะสงครามเลย (และอาจไม่ภูมิใจในประเทศตัวเอง)
- ถ้าปีนี้บริษัทยังมีกำไรท่ามกลางโควิด-19 เราอาจไม่รู้สึกยินดีกับกำไรที่มีอยู่เลย เพราะเอาแต่เทียบกับปีก่อนๆ ซึ่งได้เยอะกว่ามาก (น่าจะดีใจ ที่บริษัทยังกำไร ทั้งๆที่บริษัทอื่นล้มหายตายจากไปเยอะแล้ว)
ปรับใช้ Feature-Positive Effect ในธุรกิจ & ชีวิต
Feature-Positive Effect สอนเราให้มองว่าทุกสิ่งมี “เหรียญสองด้าน” ในตัวเอง ซึ่งเราประยุกต์ใช้กับการทำงานและชีวิตประจำวันได้ไม่ยากเลย เช่น
- อย่าด้อยค่าความผิดพลาด “ล้มเหลว” เพราะมันบอกเราว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ถูกต้อง และอาจปูทางไปสู่ความสำเร็จต่อไป (เฉกเช่นการประดิษฐ์หลอดไฟของ Thomas Edison)
- ตัวเลขที่แสดงอยู่ในบัญชีการเงิน อาจเป็นตัวเลขที่ถูกเล่นแร่แปรธาตุมาแล้วก็ได้ ตัวเลขที่ “หายไป” ต่างหากที่อาจสำคัญกว่า ดังที่เกิดกับ Wirecard บริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ของยุโรป หลังนักบัญชีมืออาชีพเข้ามาตรวจสอบพบว่า…มีการฉ้อโกงเงินหายไปกว่า 6 หมื่นล้านบาท!!
- ใช้ในแคมเปญรณรงค์ต่างๆ เน้นย้ำถึงสิ่งที่(ยัง)ไม่เกิดขึ้น เช่น “สูบบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอด” หรือ “ตากแดดนานๆ ทำให้เกิดจุดด่างดำและดูแก่เร็ว”
ที่สำคัญ เราสามารถตั้ง “คำถามมุมกลับ” เพื่อค้นหาเหรียญอีกด้าน มันอาจเป็นคำถามที่ฟังดูทื่อๆ น่าเบื่อ แต่ช่วยขยายมุมมองให้เราได้เป็นอย่างดี
- อะไรที่มีอยู่ (Presence) และ อะไรที่หายไป (Absence)
- อะไรที่คุณถูกนำเสนอ และ อะไรที่ไม่ถูกนำเสนอ
- ข้อดีของเรื่องนี้มีอะไรบ้าง และ ข้อเสียของเรื่องนี้มีอะไรบ้าง
- อะไรที่อยู่ในสื่อกระแสหลัก และ อะไรที่ไม่ได้อยู่ในสื่อกระแสหลัก
เช่น อะไรที่ถูกนำเสนอ? เครื่องดื่มผลไม้สุดพรีเมียมที่พึ่งวางจำหน่ายและเป็นกระแสดังในสังคม ถูกโฆษณาว่าอุดมไปด้วยวิตามินกว่า 10 ชนิด / รสชาติอร่อย / แพกเกจจิ้งสวย…ทุกอย่างดูดีไปเสียหมด
จนเราหลงลืมเหรียญอีกด้านที่มองไม่เห็น หรือ อะไรที่ไม่ถูกนำเสนอ? เช่น
- ราคาแพงกว่าท้องตลาด
- มีน้ำตาลสูง
- ผลิตจากแรงงานที่ถูกกดขี่
อะไรที่อยู่ในสื่อกระแสหลัก? ทั่วโลกสรรเสริญ Bill Gates ถึงความเป็นนักคิดค้นแห่งยุคและเป็นคนใจบุญ (Philanthropist) บริจาคทรัพย์สินเงินทองที่มีไปให้ผู้อื่นอยู่เสมอ
แต่พอเราตั้งคำถาม…แล้วอะไรที่ไม่ได้อยู่ในสื่อกระแสหลัก? เราจะพบข้อมูลอีกด้านว่า Bill Gates เองยังเป็นคนที่ครอบครองฟาร์มที่ดินมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา มหาศาลถึง 242,000 เอเคอร์ (ใหญ่กว่าประเทศสิงคโปร์ 1.3 เท่า) ซึ่งก็มีคนบางกลุ่มถกเถียงประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำและการผูกขาดที่ดิน
เพราะสถานการณ์ในอเมริกาตอนนี้คือ คนรวยที่สุดเพียง 1% ครอบครองความมั่งคั่งถึง 40% ของทั้งประเทศ ขณะที่ คนจนที่สุด 50% ฐานล่างพีรามิด มีความมั่งคั่งรวมกันเพียง 0.4% ของทั้งประเทศ
ถ้าเราทำงานและใช้ชีวิตโดยคำนึงถึง “เหรียญสองด้าน” อยู่เสมอ น่าจะทำให้เรามีความรอบคอบ เปิดกว้างในความคิด และซาบซึ้งในสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้
.
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
อ้างอิง
- https://www.acrwebsite.org/volumes/7039/volumes/v17/NA-17
- https://blog.ssanj.net/posts/2015-02-11-the-feature-positive-effect.html
- https://pigeon.psy.tufts.edu/avc/dittrich/fepef.htm
- https://www.acrwebsite.org/volumes/12291/volumes/v33/NA-33
- https://agfundernews.com/bill-gates-tells-reddit-why-hes-acquired-so-much-farmland.html