Illusion of Attention: สิ่งที่เห็นเป็นแค่เสี้ยวนึงของภาพใหญ่

Illusion of Attention: สิ่งที่เห็นเป็นแค่เสี้ยวนึงของภาพใหญ่
  • วิกฤติซับไพรม์ที่ส่อแววมาเป็นปีแต่ไม่มีใครเห็น
  • ขับรถไป เปิด Speaker คุยไปเพราะคิดว่าปลอดภัย
  • และกอริลล่ากลางเวทีที่ไม่มีใครเห็น

นี่คือหลุมพราง “Illusion of Attention” ที่เหมือนเป็นด้านมืดของการโฟกัส(ที่มากเกินไป)

Illusion of Attention สิ่งที่เห็นอาจเป็นแค่จุดเดียวของภาพใหญ่

Illusion of Attention คือการที่เรามั่นใจว่ารับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นตรงหน้า แต่ความจริงแล้ว เรามัก “เห็นแค่สิ่งที่เราโฟกัส” เท่านั้น

  • เมื่อโฟกัสเรื่อง A เราจะเห็น A
  • เมื่อโฟกัสเรื่อง A เราไม่เห็น B

คุณไม่รู้หรอกว่าคุณ “มองข้าม” อะไรไป เพราะสิ่งที่คุณตระหนักรับรู้อาจเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของภาพใหญ่ อาจเป็นแค่จุดดำเล็กๆ จุดนึงในขอบกระดาษสีขาว

ในทศวรรษ 1990s Daniel Simons และ Christopher Chabris 2 นักจิตวิทยาจาก Harvard University ได้ทำการทดลองแสนเรียบง่ายอันหนึ่งแต่ให้ผลลัพธ์น่าทึ่งที่เข้าใจง่าย จนกลายเป็นคลาสสิคในวงการจิตวิทยา การทดลองนั้นชื่อว่า “The Invisible Gorilla”

ผู้ร่วมการทดลองจะได้ชมวิดีโอหนึ่งที่มี ทีมเสื้อดำ 3 คน และ ทีมเสื้อขาว 3 คน 

โจทย์คือ ให้โฟกัสว่า “ทีมเสื้อขาวส่งลูกบาสกันไปมาทั้งหมดกี่ครั้ง?”

การทดลองได้เริ่มขึ้น ทั้ง 2 ทีมต่าง “ส่งลูกบาส” กันไปมาระหว่างทีม เดินไปมา สลับไปมาอย่างไม่มีแบบแผน

ไม่นานนัก จู่ๆ มีมาสคอตในชุด “กอริลล่า” สีดำ ค่อยๆ เดินผ่านกลางวงอย่างช้าๆ (มีหยุดตรงกลางเพื่อ ‘ตบอก’ ล้อเล่นด้วย) รวมระยะเวลาที่โผล่ตัวออกมาราว 6 วินาที

Image Cr. bit.ly/3fu5d0I

เมื่อจบการแสดง ผู้ชมถูกถามว่า “เห็นกอริลล่าไหม?” 

ผลลัพธ์น่าตกใจมาก เพราะกว่า 50% ตอบว่า “ไม่รู้-ไม่เห็น” ว่ามีกอริลล่า!!

The Invisible Gorilla ตอกย้ำว่ามนุษย์เห็น(และเข้าใจ)สิ่งต่างๆ ได้น้อยกว่าที่ตัวเองคิดนัก เราเห็นเฉพาะที่สิ่งที่โฟกัสหรืออยากเห็นเท่านั้น

ทำไม Illusion of Attention ถึงเกิดขึ้นกับเรา?

สมองมนุษย์มีความมหัศจรรย์และซับซ้อนน่าทึ่งในตัวมันเอง เราใช้มันสร้างอารยธรรมและขึ้นสู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร

แต่แม้จะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน กระบวนการรับรู้ของสมองคนเรากลับเป็นแบบจำกัด (Capacity limits of information processing) ถูกออกแบบให้ใช้งานได้ดีเมื่อโฟกัสเรื่องเดียว (Single-tasking) และด้อยประสิทธิภาพลงเมื่อโฟกัสหลายเรื่อง (Multi-tasking)

การโฟกัสมีข้อดีมากมายดังที่เราทราบกัน แต่ถ้าโฟกัสมากเกินไป ก็นำไปสู่ Illusion of Attention ได้นั่นเอง

Illusion of Attention รอบตัวเรา

ธุรกิจคุณอาจประสบปัญหาทางการเงินใหญ่หลวงอยู่ แต่พนักงานในองค์กรหรือแม้แต่ผู้บริหาร กลับไม่มีใครมองเห็นปัญหานี้เลย

วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ที่เริ่มต้นในสหรัฐอเมริกา ถ้ามองด้วยเลนส์สายตาปัจจุบันเมื่อย้อนกลับไปดู Historical record จะพบว่า ความผิดปกติทางการเงิน (การบริหารจัดการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์และการกำกับดูแลกลุ่มวาณิชธนกิจ) เริ่มก่อตัวก่อนหน้านั้น 2-3 ปีแล้วด้วยซ้ำ…แต่กลับไม่มีนักการเงินหรือผู้เชี่ยวชาญเหยียบเบรคป่าวประกาศให้ผู้คนรับรู้ในวงกว้างเลย มาพูดเอาตอนที่ทุกอย่างสายเกินไปแล้ว

แม้แต่ในชีวิตประจำวันเวลาเรา “ขับรถ” 

เราอาจคิดว่ายังปลอดภัยถ้าขับรถไปด้วย-คุยโทรศัพท์ไปด้วย โดยใส่หูฟัง หรือ เปิด Speaker แต่ผลการวิจัยมากมายได้พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง การขับรถไป-คุยโทรศัพท์ไป (ไม่ว่าจะรูปแบบไหนๆ) ให้ผลลัพธ์การ “ตอบสนอง” ไม่ต่างจากเวลาเราดื่มแอลกอฮอล์เลย!!

นักวิจัยเผยว่า พฤติกรรมนี้จะถือว่า OK ปลอดภัยรับได้อยู่ก็ต่อเมื่ออยู่ในสถานการณ์ปกติ สภาพจราจรปกติ ขับด้วยความเร็วปกติ

แต่จะอันตรายทันทีเมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่น เด็กวิ่งตัดหน้ารถ / รถอีกฝั่งฝ่าไฟแดง / สัญญาณจราจรขัดข้องกะทันหัน เพราะสมองเราโฟกัสกับเรื่องราวในบทสนทนาอยู่ (สายตามองเห็น…แต่ไม่ถูกส่งไปสมอง หรือ ส่งล่าช้า)

เรื่องนี้สอดคล้องกับผลสถิติของ National Safety Council ในสหรัฐอเมริกาที่พบว่า กว่า 24% ของอุบัติเหตุชนกันบนท้องถนน เกี่ยวข้องกับการใช้มือถือโดยตรงในทุกรูปแบบ

วิธีป้องกัน Illusion of Attention

จากตัวอย่างเราจะเห็นว่า Multi-tasking หรือการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันคือศัตรูตัวฉกาจที่ต้องหลีกเลี่ยง เพราะสมองคนเราโฟกัสทุกอย่างไม่ได้พร้อมกัน ถ้าฝืนยำทุกอย่างรวมกัน ประสิทธิภาพย่อมตกลงแน่นอน

.

รวบรวมแนวคิดมุมมอง (Perspective) ให้มากที่สุดเวลาตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ เพราะแต่ละคนย่อมมีหัวข้อที่โฟกัสในใจต่างกันอยู่แล้ว ยิ่งเยอะและหลากหลายมากเท่าไร ยิ่งลดโอกาสเกิด Illusion of Attention มากเท่านั้น

ไม่ใช่แค่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ เท่านั้น แต่ให้โอบกอดความ(น่าจะ)เป็นไปไม่ได้ด้วย อะไรที่ดูยากเกิน ดูไม่น่าสำเร็จ หรือเทคโนโลยียังไปไม่ถึง อย่าพึ่งตัดบทจบและมองข้าม…เพราะไม่แน่ว่าอาจสำเร็จขึ้นมาก็ได้

“รถยนต์บินได้” คือตัวอย่างที่น่าสนใจ คนทั่วไปอาจยังมองว่าเป็นเพ้อฝันเกินจินตนาการศตวรรษนี้ไป แต่ความจริงแล้ว รถยนต์บินได้เข้าเป็นจริงกว่าที่หลายคนคิดแล้ว

Terrafugia บริษัทเทคโนโลยีที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกากำลังเร่งพัฒนารถต้นแบบ TF-X หรือรถยนต์บินได้ ซึ่งคาดว่าจะให้บริการเชิงพาณิย์ได้ภายในไม่กี่ทศวรรษนี้ Terrafugia ไม่ใช่เจ้าเดียวเพราะยังมี “คู่แข่ง” อีกหลายเจ้าในวงการ เช่น Joby Aviation / Lilium / Volocopter

แม้แต่ผู้บริหารสูงสุดของ Hyundai ภูมิภาคยุโรปถึงกับกล่าวว่า “รถยนต์บินได้จะกลายเป็นจริงภายในปี 2030”

Image Cr. bit.ly/3fwSLNM

ผู้นำองค์กรควรฝึกตั้งคำถามที่อยู่นอกกระแสหลักหรือในมุมกลับ เช่น 

  • เหตุการณ์ไม่คาดฝันอะไรบ้างที่อาจเกิดขึ้น?
  • อะไรคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญ?
  • มีปัจจัยอะไรบ้างที่พลิกโฉมให้สินค้าที่สำเร็จนี้กลายเป็นล้มเหลวขึ้นมา?

คำถามลักษณะนี้จะช่วยขยายความช่างสังเกตของเราให้กว้างไกลขึ้น จนอาจพบกับโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่มองข้ามมาโดยตลอด

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง