- เป้าหมายตอนปีใหม่…สำเร็จไปแล้วกี่อย่าง?
- ตั้งเป้าลดน้ำหนักจริงจัง…ลงไปกี่กิโลกรัมแล้ว?
- “บริษัทมีแผนขยายโรงงาน / เปิดตัวสินค้าใหม่ / เจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่”
ถ้าคุณเป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ เป้าหมายเหล่านี้จะยังคงอยู่ที่เดิมบนแผ่นกระดาษ รสชาติความสำเร็จเกิดขึ้นแค่ในหัวตอนคุณฝันกลางวัน
ทำไมกัน…ทำไมเราวางแผนซะดิบดี แต่สุดท้ายอะไรๆ กลับไม่เป็นไปตามที่แพลน?
นี่คือหลุมพรางที่เรียกว่า “Planning Fallacy”
Planning Fallacy: อะไรๆ มักไม่เป็นไปตามแผน
Planning Fallacy คือการที่มนุษย์มักประเมินระยะเวลาที่จะทำงานเสร็จ “ต่ำกว่าความเป็นจริง” จนทำให้สิ่งที่ “วางแผนไว้แต่แรก” ไม่บรรลุตามเป้าหมาย
Daniel Kahneman และ Amos Tversky สองนักจิตวิทยาชื่อดังชาวอเมริกันคือผู้นิยามคำนี้ ทั้งคู่ยังเตือนว่า Planning Fallacy เกิดขึ้นได้กับองค์กรยักษ์ใหญ่ที่มีคนเก่งเพียบ / มีประสบการณ์ / มีทรัพยากร
Sydney Opera House สะท้อนเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
- แผนโปรเจคท์ที่จะสร้าง Sydney Opera House เริ่มขึ้นในปี 1957
- คาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จปี 1963 ด้วยค่าก่อสร้าง $7 million
- แต่สุดท้าย ไปเสร็จเอาปี 1973 ด้วยค่าก่อสร้างที่ทะลุเพดานไปถึง $102 million
ล่าช้ากว่าเดิมถึง 10 ปี!! งบก่อสร้างสูงกว่าที่คาดการณ์กว่า 14 เท่า!!
Roger Buechler นักจิตวิทยาชาวแคนาดา ทำการทดลองโดยให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วางแผนว่าจะส่งการบ้านได้ทันวันไหน โดยต้องระบุทั้ง 2 ตัวเลือก
- Realistic deadline: วันที่ส่งได้ทันจริงๆ ตามความสามารถตัวเอง
- Worst-case deadline: วันที่ส่งได้ทันกรณีเลวร้ายที่สุด
ผลปรากฎว่า มีนักศึกษาเพียง 30% เท่านั้นที่ส่งตาม Realistic deadline ได้ทัน ขณะที่เหลือต้องใช้เวลาเพิ่มอีก 7 วันเต็มๆ ในการส่งตาม Worst-case deadline ที่ระบุไว้
ความน่าสนใจอีกอย่างของ Planning Fallacy ที่บ่งบอกความเป็นมนุษย์คือ การประเมินระยะเวลาที่ทำงานเสร็จที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมักเกิดขึ้นกับตัวเอง (ประเมินตัวเอง) แต่ถ้าให้ “ประเมินคนอื่น” จะประเมินสูงกว่าความเป็นจริงไปมาก
- ประเมินตัวเอง: คิดว่าทำ Project A เสร็จใน 1 สัปดาห์…แต่เสร็จจริง 2 สัปดาห์
- ประเมินคนอื่น: คิดว่าทำ Project A เสร็จใน 3 สัปดาห์…แต่เสร็จจริง 2 สัปดาห์
ทำไมคนเราเป็นนักวางแผนยอดแย่?
สาเหตุหลักเกิดจากการ “โฟกัส” แค่ตัวโปรเจคท์มากเกินไป จน “เพิกเฉย” ปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ (Uncontrollable external forces) ซึ่งปัจจัยนี้อาจทรงพลังจนเข้ามาควบคุมทิศทางโปรเจคท์ที่เราทำอยู่ได้เลย
โควิด-19 คือตัวอย่างระดับโลกที่ชัดเจนที่สุด ไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนไหนคาดการณ์มาก่อนว่าโลกของเราจะเกิดโรคระบาดหนักจนคร่าชีวิตผู้คนไปมหาศาล และทำให้หลายธุรกิจต้องล่มสลายลง
นอกจากนี้ มนุษย์มีความทะเยอทะยานสูง อยาก “สำเร็จไปซะทุกเรื่อง”
- ก่อนอายุ 30 ต้องมี 1-2-3-4
- ยอดขายต้องแตะร้อยล้านให้ได้ภายใน 5 ปี
- ขยายสาขาครบทุกประเทศในเอเซียนใน 10 ปี
- ขอมีซิกแพคให้ได้ภายใน 6 เดือน
- ไปเมืองนอกครบ 20 ประเทศก่อนอายุ 40
ทั้งที่ความจริงแล้ว เราทุกคนล้วนมี “ข้อจำกัด” อยู่ในตัวไม่มากก็น้อย สุดท้ายจำเป็นต้อง “เลือก” สำเร็จแค่บางอย่าง และปล่อยให้ที่เหลือไม่เป็นไปตามเป้า
นอกจากนี้เรายังติดกับดักแนวคิดที่ให้ “นำอดีตเป็นบทเรียน” ทั้งที่สิ่งที่เรื่องราวบทเรียนในอดีต อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้วก็ได้
ป้องกัน Planning Fallacy ได้อย่างไร?
เพื่อบรรลุเป้าหมายได้สมจริงยิ่งขึ้น (Realistic) เราควรเปรียบเทียบตัวเองกับ “ค่าเฉลี่ยตลาด” อยู่เสมอ ตัวเลขที่ออกมาย่อมมีเหตุผลของมันผลลัพธ์ถึงออกมาเป็นแบบนั้น
Nielson ทำการศึกษาพบว่า ระหว่างปี 2008-2010 สินค้าอุปโภคบริโภคกว่า 11,000 รายการที่วางขายในอเมริกาเหนือ มีเพียง 34 รายการเท่านั้น (0.31%) ที่สร้างยอดขายได้มากกว่า $25 ล้านเหรียญสหรัฐตั้งแต่ปีแรก
และมีแค่ 6 รายการเท่านั้น (0.055%) ที่สร้างยอดขายติดต่อกัน 2 ปีได้มากกว่า $200 ล้านเหรียญสหรัฐ
Gary Klein นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน แนะนำให้ลอง “มโนล่วงหน้า” เช่น จัดประชุมหนึ่งขึ้นมา เรียกทีมทุกคนมารวมกัน และอาจพูดทำนองว่า
“ให้คิดซะว่านี่คือ 1 ปีให้หลัง พวกเราทำตามแผนที่วางไว้อย่างดีทุกอย่างเป๊ะ แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นหายนะ หายนะมีอะไรบ้าง? 1-2-3-4-5”
เคล็ดลับนี้จะช่วยให้เรามีสายตารอบคอบขึ้น อาจพบเจอจุดบอด-จุดบกพร่องที่มองข้าม
ที่สำคัญ ต้องคิด “แผนสำรอง” (Contingency plan) ไว้เสมอกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน การมาของโควิด-19 ทำให้หลายคนตระหนักว่าแค่นี้อาจไม่พอด้วยซ้ำ แต่ต้องคิดเผื่อแผนการที่ช่วยพยุงให้บริษัทอยู่รอดไปต่อได้ด้วย (Survival plan)
Planning Fallacy ไม่ได้บอกให้เราห้ามวางแผน แต่ให้เพิ่มความยืดหยุ่นลงไป รอบคอบมากกว่านี้ สอดคล้องกับโลกความจริงมากกว่านี้ และสุดท้าย อาจต้อง “เผื่อใจ” บ้างเมื่ออะไรๆ ไม่เป็นไปตามแผน
.
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
อ้างอิง
- https://hbr.org/2012/08/the-planning-fallacy-and-the-i
- https://thedecisionlab.com/biases/planning-fallacy/#:~:text=The%20Sydney%20Opera%20House%20is,plans%20were%20not%20yet%20finished.
- https://www.achieveit.com/resources/blog/the-planning-fallacy-how-to-avoid-becoming-a-victim
- https://study.com/academy/lesson/planning-fallacy-in-business-definition-impact-examples.html
- https://www.entrepreneur.com/article/350045