Scout Mindset: เข้าใจปัญหาด้วยการเฝ้ามองอยู่เงียบๆ ห่างๆ

Scout Mindset: เข้าใจปัญหาด้วยการเฝ้ามองอยู่เงียบๆ ห่างๆ

เคยสงสัยไหม? ทำไมผู้บริหารบางคนถึงมองปัญหาได้ทะลุปรุโปร่ง “อ่านเกมขาด” ทั้งๆ ที่ดูก็ไม่ได้มีความสามารถเลิศเลอเหนือไปกว่าใคร?

แม้ผู้บริหารท่านนั้นไม่ได้มีทักษะพิเศษ ทรัพยากร หรือประสบการณ์คว่ำหวอดมากไปกว่าใคร แต่ชุดความคิดหนึ่งที่มีติดตัวกันทุกคน คือ “Scout Mindset”

Scout Mindset เข้าใจปัญหาด้วยการเฝ้ามองอยู่ห่างๆ (และเงียบๆ)

Scout Mindset หรือการมีมุมมองความคิดแบบแมวมอง จะมีคาแรคเตอร์แบบ “นักสังเกตการณ์” ที่วิเคราะห์สถานการณ์แบบมุมมองบุคคลที่ 3 อย่างเงียบๆ ห่างๆ มองโลกตามแบบที่มันเป็น (See the world as it is.) 

เช่น ข้อมูลและบทเรียนประวัติศาสตร์บอกเราว่า ถ้าประเทศไทยอยากก้าวข้าม “กับดักรายได้ปานกลาง” ต้องมีเทคโนโลยีชั้นนำเป็นของตัวเองและพัฒนาอุตสาหกรรมที่สร้างผลผลิตเพิ่มมูลค่าสูง (ไม่ใช่ “รับจ้างผลิต” แบบทุกวันนี้)

Julia Galef นักจิตวิทยาและผู้เขียนหนังสือ The Scout Mindset เผยว่า ความน่าสนใจของ Scout Mindset คือ ความ “เป็นกลาง” 

วิเคราะห์สถานการณ์โดยปราศจากอคติ ไม่เอาตัวเองลงไปพัวพัน คิดแบบไม่มีส่วนได้เสีย ไม่ได้เข้าข้างความคิดไหน-บริษัทไหน แค่มองตาม “ความจริง” ที่เกิดขึ้น

รวมถึงการเสาะหาข้อมูลใหม่ๆ / สนุกที่ได้สงสัย / ตื่นเต้นในการตั้งคำถาม / ไม่ปฏิเสธการค้นพบมายาคติ (Myth) ที่อยู่ในตัวเอง ไม่ปกป้องความเชื่อของตัวเอง หรือปฏิเสธการยอมรับความจริงว่าตัวเองคิดผิด 

วลีที่อยู่คู่กับ Scout Mindset คือ “เราอาจจะผิดก็ได้นะ” (I might have been wrong.)

เราจะเห็นว่านี่เป็นชุดความคิดที่ “สอดคล้อง” กับโลกธุรกิจปัจจุบันมากที่ข้อมูลล้นโลก และอะไรๆ เปลี่ยนแปลงไปเร็วชนิดวัน-ต่อ-วัน จนอาจทำให้ความคิด-ความเชื่อเดิมๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป

คุณ Julia Galef ยังเผยว่ามนุษย์เรามี “แรงจูงใจใต้จิตสำนึก” (Unconscious motivation) ที่จะแปลข้อมูลข่าวสารให้เป็นไปตามแบบที่เข้าข้างตัวเองโดยไม่รู้ตัว

  • คนบางคนทำอะไรก็ดูดีไปหมดในสายตาเรา (แต่คนอื่นมองว่าไม่ดี)
  • เรื่องบางเรื่องเราเห็นด้วยไปเสียหมด (แต่คนอื่นไม่เห็นด้วย)

การพยายามมองแบบ Scout Mindset จะมาช่วยขัดขวางสัญชาตญาณตรงนี้และช่วยให้เรา “ตาสว่าง” กับเหตุการณ์นั้น

ฝึก Scout Mindset

เสน่ห์ของ Scout Mindset คือ มันไม่เกี่ยวกับ IQ/EQ แต่อย่างใด อยู่ที่ทัศนคติว่าอยากเข้าใจปัญหา-สถานการณ์ตามความจริงที่เกิดขึ้นหรือไม่…จึงเป็นอะไรที่ฝึกฝนกันได้!!

หมั่นตั้งคำถาม “แล้วถ้าเกิดพวกเราคิดผิดล่ะ?” (What if we’re all wrong?) เพราะมันกระตุ้นให้เรากลับมา “ทบทวน” ความคิดตัวเองอีกอย่างน้อยก็ซักครั้งหนึ่ง กระบวนการทบทวนนี้อาจทำให้เราพบเจอจุดบกพร่องหรือสิ่งที่มองข้ามไป

คนเราไม่ได้เก่งรู้ลึกไปทุกเรื่อง เราทุกคนย่อมต้องมีเรื่องที่เข้าใจผิด (Misperception) ติดตัวอยู่ไม่มากก็น้อย ลองท้าทายตัวเองด้วยการหยิบเลือกมา 1 เรื่องและวิเคราะห์ด้วย Scout Mindset อีกซักรอบว่าถูกต้องจริงหรือไม่?

และเมื่อค้นพบว่าความจริงไม่เป็นไปตามที่เราเชื่อ แทนที่จะมองว่าตัวเองแย่หรือโง่…ให้คิดว่า “ก่อนหน้านี้เราแค่คิดผิด” ทัศนคติแบบนี้จะช่วยให้เรายอมรับความจริง(ใหม่)ได้ง่ายขึ้น

  • เช่น เดิมคุณมองโลกในแง่ดีและคิดมาตลอดว่า “ความเหลื่อมล้ำทั่วโลก” (Global inequality) ลดน้อยลง เพราะค่า GINI Index โดยรวมน้อยลง (ยิ่งน้อย = เหลื่อมล้ำน้อยลง) 
  • แต่เมื่อคุณลองฉุกคิดตั้งคำถามและลงมือหาข้อมูลเชิงลึก คุณกลับพบว่าตัวเลขที่น้อยลงนั้น ส่วนใหญ่มาจากประเทศ “จีน” ซึ่งขจัดความเหลื่อมล้ำประชากรในประเทศลงได้มาก 
  • แต่ถ้าตัดประเทศจีนออก กลับพบว่า GINI Index เพิ่มขึ้น (จาก 50 ในปี 1988 เป็น 58 ในปี 2005)

นอกจากนี้ ในชีวิตประจำวันเราก็ฝึกได้เช่นกัน การแข่งขัน “กีฬา” คือตัวอย่างใกล้ตัวที่ใช้ฝึก Scout Mindset ได้ดีมากๆ เช่น ฟุตบอล 

  • ปกติถ้ากรรมการเป่านกหวีดให้ฟาล์วผู้เล่นทีมที่เราเชียร์ เรามักจะแย้งว่า “ผิดตรงไหน?” และคัดค้านการตัดสินของกรรมการคนนั้น
  • ในทางกลับกัน ถ้ากรรมการเป่าฟาล์วผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม เราจะเห็นดีเห็นงาม “กรรมการทำถูกแล้ว!! ลงโทษหนักๆ เลย!!”

แต่ถ้ามองแบบ Scout Mindset อาจพบว่า 

  • ผู้เล่นทีมที่คุณเชียร์ทำผิดจริง และ 
  • ผู้เล่นทีมตรงข้ามอาจถูกตัดสินแบบไม่แฟร์ก็ได้

หากเรามองให้ลึกขึ้น จะพบว่า Scout Mindset ไม่ได้ใช้ได้ดีแค่เรื่องธุรกิจ…แต่ประยุกต์ได้ในหลายเรื่องในชีวิตของคนเรา: ความสัมพันธ์ / สุขภาพ / สังคม / ปรัชญา / ศาสนา ฯลฯ

…เป็นอีกหนึ่ง Mindset ที่สำคัญ(ไม่แพ้ Growth Mindset) แห่งศตวรรษนี้เลยทีเดียว

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง