- เครื่องจักร 5 เครื่อง ใช้เวลา 5 นาที ในการผลิตเสื้อเชิ้ต 5 ตัว
- โจทย์คือ…แล้วต้องใช้เวลากี่นาที? สำหรับเครื่องจักร 100 เครื่อง ในการผลิตเสื้อเชิ้ต 100 ตัว
ถ้าคุณรีบให้คำตอบว่า “100 นาที” ยินดีด้วย…คุณติดกับดัก “Simple Logic Fallacy” เข้าให้แล้ว!!
Simple Logic Fallacy: รีบด่วนสรุปจากความคิดตื้นๆ
Simple Logic Fallacy คือภาวะที่เรามักจะ “เผลอด่วนสรุป” เรื่องราวหนึ่งจากเหตุผล / ความเชื่อมโยง / หรือแพทเทิร์นที่…ดูผิวเผินเหมือนจะสมเหตุสมผลถูกต้อง แต่พอวิเคราะห์เจาะลึกแล้วกลับพบว่าผิด กลวงโบ๋มีข้อโต้แย้งเพียบ
“รีบด่วนสรุปแบบผิดๆ จากคำตอบอันตื้นเขิน” นั่นเอง
ซึ่งดังที่เราจะได้รู้กันต่อจากนี้ แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงมากความสามารถ IQ สูง มีเหตุผล ก็สามารถตกหลุมพราง Simple Logic Fallacy ได้เช่นกัน
ทำไม Simple Logic Fallacy ถึงยังเกิดกับคนฉลาด?
Shane Frederick ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก Yale School of Management และเป็นผู้ออกแบบชุดคำถามนี้ที่ทดสอบกับหลายพันคนทั่วสหรัฐอเมริกาเผยว่า
เวลาปะทะกับชุดคำถามหนึ่ง ความคิดแรกที่มักเด้งออกมาจากหัวมนุษย์ จะเป็นสัญชาตญาณ (Intuition) มากกว่าตรรกะเหตุผล (Reason) จนทำให้เราเผลอด่วนสรุปผิดๆ ไป ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นกับทุกคน เป็นธรรมชาติการทำงานของสมองมนุษย์
เราสามารถแยกได้ว่าเป็นการ คิดวิเคราะห์ VS. ใช้เซนส์
ซึ่งการคิดวิเคราะห์เหนื่อยกว่าการใช้เซนส์เสมอ
- การคิดอาศัยการเชื่อมโยงตรรกะเหตุผล หาหลักฐาน ระวังอคติตัวเอง
- แต่การใช้เซนส์ คุณแค่ใข้ความรู้สึก ณ ตอนนั้นตัดสินไปเลย
แต่มนุษย์ไม่สามารถเอาทั้งสองอย่างได้ในเวลาเดียวกัน
- ยิ่งใช้ความคิดมากเท่าไร การใช้เซนส์จะยิ่งน้อยลง
- ยิ่งใช้เซนส์มากเท่าไร การใช้ความคิดจะยิ่งน้อยลง
นอกจากนี้ การที่เรากระโดดเข้าหาความคิดตื้นๆ อย่างเต็มใจ เพราะมันสอดคล้องกับความพึงพอใจ ณ เดี๋ยวนั้น (Instant gratification) ซึ่งเป็นอุปนิสัยที่ติดตัวมนุษย์มา ในกระบวนการวิวัฒนาการ อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนเหลือเกิน ถ้าเราเจออาหารตรงหน้า เราจะรีบกินมัน เพราะไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะมีสัตว์อื่นมาแย่งอาหารนี้ไปรึเปล่า (ยุคโบราณ ไม่มีตู้เย็น)
นอกจากนี้ Simple Logic Fallacy ยังเกี่ยวข้องกับสายตา “การมองเห็น” ของมนุษย์ด้วย เช่นโจทย์
- ไม้ปิงปองและลูกปิงปอง รวมแล้วราคา 110 บาท
- ถ้าไม้ปิงปองแพงกว่าลูกปิงปอง 100 บาท…ลูกปิงปองจะมีราคาเท่าไร?
เมื่อเห็นแบบนี้ สายตามนุษย์จะเห็นเลข 110 และเลข 100 ก่อนจะนำมาหักลบกัน แล้วสมองจะเสนอคำตอบแรกคือ 10 บาท ซึ่งเป็นคำตอบที่ผิด…คำตอบที่ถูกต้องหลังคำนวณแล้วคือ “5 บาท” ต่างหาก
ซึ่งโจทย์คำถามลักษณะนี้ (เปลี่ยนแค่สิ่งของและค่าเงิน) แม้แต่นักศึกษาหัวกะทิจาก Harvard University หลายคนยังตอบผิด!!
Simple Logic Fallacy ในการทำงาน
คนทำงานที่รู้สึกว่าตัวเองมี “เงินเดือนน้อย…ก็เลยทำน้อย” อาจเป็น Simple Logic Fallacy อย่างหนึ่ง เพราะอันที่จริง แม้มีเงินเดือนน้อย ก็ควรขยันทำงานเต็มที่เพื่อพิสูจน์ว่าสามารถทำงานที่ “มากกว่าเดิม” ได้ เวลาหัวหน้าพิจารณาโปรโมท จะได้เป็นหนึ่งในตัวเลือกแรกๆ นั่นเอง
ใครที่กำลังวางแผนขึ้นสู่ผู้บริหาร อาจกำลังฝึกปรือทักษะความสามารถในเนื้องาน ต้องรอบรู้มากที่สุด ต้องครีเอทีฟมากที่สุด มีไอเดียใหม่ๆ เสมอ…ซึ่งอาจไม่จำเป็นเสมอไป เพราะทักษะของผู้บริหาร จะหันโฟกัสไปที่การ “บริหารคน” อ่านคนออก เลือกใช้คนเป็น ดึงศักยภาพลูกทีมออกมาได้ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น…มากกว่าจะคิดทำอะไรด้วยตัวเองคนเดียว
Simple Logic Fallacy กับสถานการณ์โลก
ท่ามกลางวิกฤติโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาของศตวรรษที่ 21 คุณจึงเริ่มค้นหาว่าประเทศไหนที่ควรต้อง “รับผิดชอบ” (National responsibility) ต่อภาวะโลกร้อน คุณจึงดูว่าประเทศไหนปล่อย CO2 มากที่สุด?
คำตอบคือ ประเทศจีน ซึ่งปล่อย CO2 ถึง 10.3 กิกะตัน/ปี (สูงเกือบเป็น 2 เท่าของสหรัฐอเมริกา) คุณจึงมีภาพลักษณ์แง่ลบต่อจีน และด่วนสรุปว่าจีนต้องรับผิดชอบมากที่สุด
…และนี่คืออีกหนึ่ง Simple Logic Fallacy
เพราะเมื่อคุณหยุดคิดวิเคราะห์จะพบว่า ตัวเลข 10.3 กิกะตัน/ปี มาจากการปล่อย CO2 โดยแบ่งแยกตามพื้นที่ (Territorial emission) โดยไม่ได้คำนึงถึงว่า
- จำนวนประชากรต่อหัวว่าสร้างมลพิษแค่ไหน?
- หรือการ Outsource การผลิตจากประเทศอื่นมายังจีนที่เป็นโรงงานผลิตของโลก
เมื่อดูการปล่อย CO2 ต่อหัว (Per capita) ของประเทศต่างๆ
- อินเดีย 1.9 ตัน
- จีน 8 ตัน
- อเมริกา 16 ตัน
แถมประเทศร่ำรวยยัง Outsource การผลิตมหาศาลมายังจีน ยิ่งทำให้ตัวเลข Territorial emission ของจีนเพิ่มขึ้น (แต่ของประเทศร่ำรวยลดน้อยลง)
จะเห็นว่า Simple Logic Fallacy ทำให้เรารีบด่วนสรุปผิดๆ ว่าประเทศไหนควรต้องรับผิดชอบมากน้อยกว่ากัน
วิธีป้องกัน Simple Logic Fallacy
เตือนตัวเองไว้เสมอว่า มันมีสิ่งที่เรียกว่า “Layer of Reasons” เหตุผลมีหลายชั้น โดยชั้นนอกสุดเป็นเหตุผลแบบ “ผิวเผิน” ขณะที่ชั้นในสุดคือแก่นสารที่แท้จริง สำหรับคนที่ไม่มีความรู้ มักจะตกม้าตายตั้งแต่ชั้นนอกสุด ซึ่งการ “ตั้งคำถาม” บ่อยๆ เป็นวิธีที่จะช่วยเจาะลงไปถึงชั้นในสุด
ฝึกตัวเองให้เป็นคนขี้สงสัย (Skepticism) ค้นหาชุดความคิด ความเข้าใจ ความเชื่อที่คุณมีอยู่ แล้วลองหยิบเลือกมา 1 อย่าง และพยายามหาข้อโต้แย้งให้กับมัน เรียกได้ว่าอุปนิสัยนี้จะช่วยให้คุณมี “ภูมิคุ้มกัน” ไม่ตกเป็นเหยื่อ Simple Logic ที่เกิดขึ้นใหม่อยู่ทุกวันได้ง่าย
Daniel Kahneman นักเศรษฐศาสตร์และนักจิตวิทยาชั้นนำของโลก แนะนำให้ลอง “ปฏิเสธความคิดแรกที่เด้งขึ้นในหัว” ไปก่อน มันอาจจะถูกต้องจริงๆ ก็ได้…เพียงแต่ส่วนใหญ่มักมีแนวโน้มผิดมากกว่าถูก
โจทย์ง่ายๆ สมมติว่าคุณเดินทางจาก A-B
- ขาไป ขับด้วยความเร็ว 100 กม./ชม. ใช้เวลาเดินทาง 1 ชม.
- ขากลับ ขับด้วยความเร็ว 50 กม./ชม. ใช้เวลาเดินทาง 2 ชม.
ความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางของคุณคือเท่าไร? เชื่อว่าคำตอบแรกที่เด้งขึ้นในหัวคือ 75 กม./ชม. ให้ตัดทิ้งไปก่อน
เพราะเมื่อใช้เวลาคิดคำนวณดีๆ จะพบว่า คำตอบที่ถูกต้องคือ 66.66 กม./ชม. ต่างหาก
ต้องไม่ลืมว่า Simple Logic Fallacy เกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกเรื่องในชีวิต ถ้าเราคอยหมั่นเตือนสติตัวเองและฝึกวิธีป้องกันเหล่านี้บ่อยๆ ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดได้
.
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
อ้างอิง
- https://hbr.org/2015/05/outsmart-your-own-biases
- https://www.nytimes.com/2011/11/27/books/review/thinking-fast-and-slow-by-daniel-kahneman-book-review.html
- https://www.ontheagilepath.net/2016/01/better-decisions-by-considering-the-brain-fallacies-my-top-10-from-the-art-of-thinking.html
- https://www.thejournal.ie/harvard-test-logic-intuition-daniel-kahneman-714669-Dec2012/