ถ้าคุณกำลังสงสัยว่า ทำไมเทคโนโลยียิ่งล้ำหน้า…ผู้คนยิ่งต้องทำงานมากขึ้น บทความนี้มีคำตอบ ซึ่งจะพาไปรู้จักกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “The Jevons Paradox”
The Jevons Paradox: ทำไมเทคโนโลยียิ่งก้าวหน้า คนยิ่งทำงานมากขึ้น
คุณ William Stanley Jevons (ที่มาของชื่อ) นักเศรษฐศาสตร์รุ่นบุกเบิกของอังกฤษ คือผู้ที่ค้นพบปรากฏการณ์สุดขัดแย้งในตัวเองนี้
ย้อนกลับไปปี 1865 James Watt พึ่งประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิมมากได้สำเร็จ อะไรๆ ดีกว่าเดิมแต่ใช้ถ่านหิน (Coal) น้อยลง เหล่าวิศวกรยุคนั้นดีใจใหญ่ว่า อัตราการใช้ถ่านหินในภาพรวมจะลดลงมหาศาล…แต่ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม เพราะอัตราการใช้ถ่านหินกลับเพิ่มขึ้นแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน!!
คุณ Jevons เข้ามาทำการเจาะลึกสำรวจก่อนจะค้นพบว่า
- ประสิทธิภาพเครื่องจักรไอน้ำรุ่นใหม่ที่ดีขึ้น (Efficiency improvement) นำไปสู่ 🡺 การช่วยลดต้นทุน 🡺 ช่วยประหยัดเงิน
- แต่เงินส่วนนี้ที่ประหยัดได้ 🡺 ถูกนำไปลงทุนใหม่ (Reinvest) 🡺 เพื่อขยายกำลังการผลิต (เช่น ซื้อเครื่องจักรเพิ่ม) 🡺 ซึ่งนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ
- และเมื่อเศรษฐกิจภาพรวมโตขึ้น 🡺 ก็นำไปสู่การใช้ถ่านหินมากขึ้นในที่สุด
ซึ่งแพทเทิร์นปรากฏการณ์นี้ ไม่ได้ใช้อธิบายได้แค่เรื่องพลังงาน…แต่ใช้ได้กับทรัพยากรอื่นๆ ด้วย
ทำไมผลลัพธ์ถึงกลับตาลปัตร?
คุณ Jevons อธิบายว่า เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ถูกคิดค้นมาเพื่อกระตุ้นการ “เติบโต” (Growth) ของเศรษฐกิจภายใต้ระบบทุนนิยม
- เทคโนโลยีอันล้ำหน้า จึงไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่ให้ใช้ มากขึ้น ต่างหาก
- เทคโนโลยีไม่ได้ช่วยให้เรา ทำงานเท่าเดิมโดยใช้เวลาน้อยลง แต่…ทำงานได้มากขึ้นโดยใช้เวลาเท่าเดิม ต่างหาก
กล่าวคือ เทคโนโลยี “ในตัวมันเอง” ช่วยผู้คนลดเวลาการทำงานได้จริงๆ (เช่น โปรแกรมตัดต่อวิดีโอใหม่ ช่วยประหยัดเวลาทำลงได้ 50%)
แต่เพราะทุกอย่างอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมที่ต้องเติบโตตลอด เวลาที่ลดไปได้…จึงถูกทำซ้ำเรื่องเดิมให้ได้ Productivity มากขึ้น หรือไม่ก็ ถูกนำไปทำเรื่องอื่นแทน (งาน A ลดลง 🡺 คนก็ไปทำงาน B แทน)
The Jevons Paradox ในหลากหลายอุตสาหกรรม
การเริ่มแพร่หลายของ Email ในปลายทศวรรษที่ 1990s มาพร้อมความฝันของคนทำงานทั่วโลกที่หวังจะช่วยลดขั้นตอนการติดต่อสื่อสารได้อย่างมหาศาล…แต่ผลลัพธ์ตรงกันข้าม
การโต้ตอบในอีเมลกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน(และทักษะสำคัญ) ของคนทำงานทั่วโลก
- ทุกวันนี้สิ่งที่หลายคนทำเมื่อเริ่มทำงานคือ “เช็คอีเมล”
- เมื่อเราส่งเมลให้ลูกค้า ลึกๆ เราคาดหวังการตอบกลับแบบ “ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี”
- ยิ่งเราตอบเมลเร็วเท่าไร ยิ่งได้รับเมลกลับมาเพิ่มเท่านั้น
วิกฤติปลาแซลมอน (Salmon Crisis) ปี 1990s กลับเกิดจากความตั้งใจดีในการลดการจับปลาแซลมอน เรื่องมาจากว่า เทคโนโลยีการ “เพาะเลี้ยง” ก้าวหน้าขึ้น ทำให้ปริมาณปลามากขึ้น และราคาถูกลงมากจนคนทั่วไปหาซื้อกินได้
ซึ่งดันไปทำให้ความต้องการในตลาดโตระเบิด จนปริมาณแซลมอนเพาะเลี้ยงมีไม่เพียงพอ สุดท้ายต้องกลับไป “จับ” ปลาแซลมอนในทะเลธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ในทะเล
แม้รถยนต์รุ่นใหม่จะ “ประหยัดน้ำมัน” กว่าเดิม แต่เพราะมันประหยัดกว่าเดิม คุณจึงขับมันมากขึ้น กลายเป็นว่าเวลาที่เสียไปกับการขับรถและค่าน้ำมัน…อาจไม่ต่างจากเดิมหรือเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ ปัจจุบันทั่วโลกมีรถยนต์ทั้งหมดกว่า 2,000 ล้านคัน และนโยบายภาครัฐหลายประเทศทั่วโลกเริ่มหันมาสนับสนุน “รถยนต์ไฟฟ้า” โดยมีอุดมคติหวังให้ “ทดแทน” รถยนต์แบบสันดาปที่มีอยู่ทั้งหมดในอนาคตเพื่อลดการปล่อยมลภาวะ
แต่การทดแทนนี้คาดการณ์ว่า…
- การขุดเหมืองแร่ (Mining) เพื่อสกัดธาตุมาใช้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 70%
- ปริมาณการใช้ทองแดง (Copper) ในตัวเครื่องยนต์ เพิ่มขึ้น 200%
- ปริมาณการใช้โคบอลต์ (Cobalt) เพิ่มขึ้น 400%
รวมถึงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดเพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งหมดนี้ อาจก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมในสเกลที่ใหญ่ไม่ต่างจากเดิม
แม้แต่เรื่องการ “รีไซเคิล” ที่ทุกคนมองว่าคือความหวัง
- ปี 2018 อัตราการรีไซเคิลทั่วโลกอยู่ที่ 9.1%
- ปี 2020 อัตราการรีไซเคิลทั่วโลกอยู่ที่ 8.6%
แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาขึ้นตลอดทุกปี แต่อัตราการรีไซเคิลกลับน้อยลงสวนทาง เป็นเพราะ การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก (สินค้าที่บริโภค) แซงหน้า อัตราการรีไซเคิลที่ดีขึ้นต่างหาก
ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้?
นี่คือประเด็นที่ผู้นำองค์กรต้องตระหนักถึงท่ามกลางสภาวะวิกฤติโลกร้อนในศตวรรษที่ 21 นี้
เรามักคิดว่า หายนะทางระบบนิเวศวิทยา (Ecological catastrophe) หรือก็คือความพังพินาศของสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะมี “เทคโนโลยี” เป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย แต่ The Jevons Paradox ได้อธิบายแล้วว่า เทคโนโลยีอาจยิ่งทำให้วิกฤติร้ายแรงกว่าเดิม
เพราะเราไม่สามารถ “เสกทรัพยากร” เหล่านั้นออกมาจากอากาศได้ แต่ความจริงแล้ว ทุกทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย ยิ่งเราใช้อย่างไม่บันยะบันยัง ไม่มีการทดแทน จะส่งผลย้อนกลับมาทำร้ายเราในที่สุด ดังตัวอย่าง…
- มิถุนายน ปี 2019 ไฟป่าออสเตรเลีย ที่ลุกลามอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำลายพื้นที่ไปกว่า 11 ล้านเฮกตาร์
- กันยายน ปี 2020 ไฟป่ารัฐแคลิฟอร์เนียร์ ทำให้ท้องฟ้าเป็นสีแดงราวกับวันสิ้นโลกในภาพยนตร์
- กลางปี 2020 ประเทศไทยประสบภัยแล้งหนักที่สุดในรอบ 40 ปี มูลค่าเสียหายกว่า 46,000 ล้านบาท
- กรกฎาคม ปี 2021 น้ำท่วมใหญ่ฉับพลัน ที่มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน
- สิงหาคม ปี 2021 แผ่นดินไหวใหญ่ ที่ประเทศเฮติ คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 2,000 คน
ตามหลักธรณีวิทยา ภัยธรรมชาติขนาดใหญ่เหล่านี้ควรจะเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวในรอบทศวรรษ แต่ปัจจุบันกลับเกิดถี่ขึ้นทุกๆ 2-3 ปี และจากอัตราการใช้ทรัพยากรปัจจุบัน…ในอนาคตมีแต่จะถี่และรุนแรงขึ้น
- Sir David Attenborough นักธรรมชาติวิทยาชั้นนำของโลก กล่าวว่า สุดท้ายแล้วธรรมชาติจะฟื้นกลับคืนมาอยู่ดี แม้ว่าจะมีหรือไม่มีมนุษย์ก็ตาม
- Greta Thunberg นักสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่ กล่าวว่า นี่คือปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 21 และถึงเวลาที่บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงแล้ว
วิธีป้องกัน The Jevons Paradox
จะแก้อะไรได้อย่างยั่งยืน…ต้องแก้ที่ “โครงสร้าง” อาจถึงเวลาแล้วสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่ภาครัฐต้องเริ่มลดบทบาทบางอุตสาหกรรมลง และ ไปโปรโมทอุตสาหกรรมแห่งอนาคตแทน เช่น จากโรงงานถ่านหิน หันไปส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์แทน
ในแง่การทำงานในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างชวนปวดหัวที่คนทำงานทั่วโลกประสบกันคือเรื่อง “อีเมล” (และเทคโนโลยีการสื่อสาร) ซึ่งองค์กรสามารถออกมาตรการมาควบคุมประเด็นนี้ได้ เช่น
- ปี 2011 บริษัท Volkswagen ออกมาตรการระงับการส่งอีเมลภายในองค์กรระหว่างเวลา 18:00-07:00 น.
- ปี 2016 รัฐบาลฝรั่งเศสออกนโยบาย “Right to Disconnect” ระบุว่าพนักงานมีสิทธิ์ไม่รับสายหรืออ่านอีเมลที่ได้รับนอกเวลางาน ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเต็มที่
- ปี 2017 บริษัท Daimler ออกนโยบาย “Mail on Holiday” ปกป้องความเป็นส่วนตัวของพนักงานกว่า 100,000 คนของบริษัทในวันลาพักร้อน โดยอีเมลที่ถูกส่งมาหาพนักงานกลุ่มนี้ช่วงลาพักร้อน จะถูก “ลบอัตโนมัติ” หรือถูกโยนไว้ในกล่องข้อความที่ยังไม่ได้อ่าน
นอกจากนี้ เราต้องเริ่มเปรียบเทียบระหว่างการ “เปลี่ยน” กับ “ลด”
แทนที่จะเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า บางทีอาจเป็นการดีกว่าถ้าลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนไปเลย แล้วหันไปใช้ขนส่งมวลชนแทน (ซึ่งใช้พลังงานและพื้นที่/คน น้อยกว่ามาก)
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องกำหนดมาตรฐานใหม่ของการ “สร้างใหม่ทดแทน” (Regeneration) ต่อทุกๆ ทรัพยากรที่นำไปใช้สร้างผลิตภัณฑ์ เช่น หลังตัดไม้เพื่อมาทำโต๊ะเก้าอี้ IKEA ร่วมมือกับองค์กรนานาชาติ Forest Stewardship Council เพื่อให้มีการปลูกต้นไม้ทดแทนเสมอ
หรือเมื่อคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ได้สำเร็จซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนได้มาก อาจนำเงินที่ประหยัดได้ส่วนนี้ไปฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม (Natural Capital Rehabilitation) ที่เป็นต้นทุนในการสร้างเทคโนโลยีนั้นๆ
.
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
อ้างอิง
- https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fenrg.2018.00026/full#:~:text=The%20Jevons%20Paradox%20states%20that,consumption%20rather%20than%20a%20decrease.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Jevons_paradox
- https://www.reuters.com/world/americas/hopes-quake-survivors-dwindle-storm-lashes-haiti-2021-08-17/
- https://pgpaper.com/global-recycling-rates/#:~:text=According%20to%20a%20report%20compiled,with%20Switzerland%20recycling%20almost%2050%25.
- https://www.nature.com/articles/d41586-021-02222-1