- ดาราตัวท็อปทำตัวเปิ่นๆ แฟนคลับยิ่งกรี๊ด
- ผิดพลาดบ้างเล็กๆ น้อยๆ กลับดูเข้าถึงง่าย
- VW Beetle บอกทุกคนเลยว่าชั้นไม่เพอร์เฟกต์นะ
เพราะไม่สมบูรณ์แบบ…จึงงดงาม
ขอต้อนรับให้รู้จักกับ “The Pratfall Effect”
The Pratfall Effect เรื่องที่ควรจะแย่…กลับกลายเป็นดี
Elliot Aronson นักจิตวิทยาชาวอเมริกันจาก Harvard University เป็นผู้นิยาม The Pratfall Effect ว่า คนที่เก่ง-ฉลาด-แข็งแรง-หน้าตาดี…คนที่ “เพอร์เฟกต์” ไปเสียทุกอย่าง จะยิ่งน่าดึงดูดและน่าสนใจกว่าเดิม เมื่อพวกเค้าทำ “ผิดพลาด”
เขาให้เหตุผลว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะ มนุษย์เราเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา(ในระดับจิตใต้สำนึก) ถ้าเราดันเจอคนหรือแบรนด์ที่เก่งชนิด “คนละชั้น” เราจะรู้สึกเข้าถึงยาก / เป็นเรื่องไกลตัว / จนไปถึงกระตุ้นด้านมืดในตัวเอง เช่น ความอิจฉา
แต่ถ้าคนๆ นั้นทำผิดพลาดบางอย่าง คนทั่วไปจะรู้สึกว่าเค้ามีความเป็นมนุษย์จับต้องได้ เข้าถึงได้ และดูเป็น “พวกเดียวกับเรา” (คนธรรมดาที่ไม่ได้เพอร์เฟกต์ไปทุกอย่าง) คนเหล่านี้จะมีแนวโน้มเปิดใจยอมรับ จนไปถึงเคารพศรัทธาได้เลยทีเดียว
Elliot Aronson ทำการทดลองในนักศึกษา 48 คน แบ่งกันเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 12 คน แต่ละกลุ่มจะได้ฟังเทปบันทึกการตอบคำถามของชายคนหนึ่ง แล้วให้บอกว่า “ชอบ” ใครมากกว่ากัน?
- กลุ่ม 1: ถูกระบุว่าเป็น คนธรรมดา (Average person)
- กลุ่ม 2: ถูกระบุว่าเป็น คนเก่ง (Superior person)
- กลุ่ม 3: ถูกระบุว่าเป็น คนธรรมดา และ ทำเสียงดังฟังชัดว่าเผลอทำกาแฟหก
- กลุ่ม 4: ถูกระบุว่าเป็น คนเก่ง และ ทำเสียงดังฟังชัดว่าเผลอทำกาแฟหก
ผลลัพธ์น่าสนใจมาก กลุ่มที่ได้นักศึกษาชื่นชอบมากที่สุด คือ “กลุ่ม 4” (และชอบกลุ่ม 3 น้อยที่สุด)
การทดลองนี้บอกเราว่า…เผลอทำตัวเปิ่นๆ ทำผิดพลาดไปบ้าง กลับน่าดึงดูดและเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมากขึ้น แถมยังได้อรรถรสของ “เสน่ห์ของคนไม่เอาไหน” ด้วย
แบรนด์ประยุกต์ใช้ The Pratfall Effect ได้อย่างไร?
Volkswagen Beetle เปิดตัวในอเมริกายุค 1960s มันเป็นรถที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับสิ่งที่คนอเมริกันยุคนั้นต้องการเลยก็ว่าได้ เล็ก / น่าเกลียด / และเป็นรถสัญชาติเยอรมัน
แต่ VW Beetle จะเป็นรถยนต์ราคาย่อมเยาเหมาะกับใช้งาน แต่ทีมการตลาดรู้ดีว่า ผู้บริโภคมักไม่ค่อยเชื่อใจนักการตลาดอยู่แล้ว หวาดระแวง คิดแล้วคิดอีก จึงตั้งใจแสดง “จุดด้อย” แบบเปิดเผยแต่แรก เป็นการโชว์ความ “จริงใจ” แก่ผู้บริโภค
จึงตัดสินใจใช้เทคนิค “เล่นตัวเอง” โดยถ้อยคำโฆษณา ล้วนแล้วแต่บ่งบอกข้อด้อยของรถตัวเอง
- “One of the nice things about owning it is selling it.”
- “Lemon.”
- “If you run out of gas, it’s easy to push.
- “Nobody’s perfect.”
ผลปรากฎว่า…ขายดีถล่มทลาย!! เรียกว่าเป็นการใช้กึ๋น-ครีเอทีฟ เปลี่ยนเรื่องที่น่าจะให้ผลลัพธ์แย่…แต่สุดท้ายกลับกลายมาเป็นดีได้
Image Cr. bit.ly/3ickQLM
Guinness เบียร์ดำสไตล์อังกฤษ มี Pain Point ที่นักดื่มประสบเจอนั่นคือ “ใช้เวลารินนาน” มีการวิจัยพบว่านานถึง 119.53 วินาทีเลยทีเดียว (เบียร์ทั่วไปอยู่ที่ 8-10 วินาที)
Guinness จึงออกโฆษณาเพื่อปรับทัศนคติผู้บริโภคด้วยถ้อยคำว่า “Good things come to those who wait.”
เปลี่ยนจากการรอเป็น “ประสบการณ์” ในตัวมันเอง
แต่ The Pratfall Effect ไม่ได้จำกัดแค่แบรนด์ธุรกิจหรือการทำงานเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับทุกเรื่องราวในชีวิตของเรา
The Pratfall Effect ในวงการอาหาร
มีนักจิตวิทยาทดลองถามผู้คนกว่า 626 คนว่าจะเลือกอันไหนระหว่างคุกกี้ 2 ที่รสชาติเดียวกัน ใช้วัสดุเหมือนกัน…แต่ต่างแค่ “รูปทรง”
- คุกกี้ทรงกลมสวยเป๊ะ 100%
- คุกกี้ขรุขระ ไม่กลมเป๊ะ มีแหว่ง-นูนบ้างเล็กน้อย
ปรากฎว่า ผู้คนกว่า 66% เลือกแบบ 2 มากกว่า โดยให้เหตุผลว่ามันดูสมจริง เหมือนเป็นของแฮนด์เมด(แบบแรกเหมือนมาจากโรงงาน) และ…ดูไม่สมบูรณ์แบบ
ไม่ต้องสมบูรณ์แบบก็สำเร็จได้
The Pratfall Effect ในวงการบันเทิง
เป็นที่รู้กันดีว่า ดาราตัวท็อปคนไหนที่ทำตัว “เปิ่นๆ” งงๆ ยิงมุขแป้กบ้าง แฟนๆ จะรู้สึกเข้าถึงได้และหลงใหลเข้าไปใหญ่
หรือแม้แต่หนังซูเปอร์ฮีโร่ ตัวละครไหนที่มีจุดอ่อน เราจะยิ่งอยาก “เอาใจช่วย” อันที่จริง ผู้สร้างตัวละครในตำนานอย่าง Stan Lee ถึงกับเผยเองว่า ฮีโร่ทุกคนต้องมีจุดอ่อน จุดอ่อนทำให้ตัวละครมีมิติและแฟนๆ จะยิ่งรักเค้ามากขึ้น
The Pratfall Effect ในศิลปะ
ประติมากรรม Venus de Milo ที่พิพิธภัณฑ์ Louvre Museum มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกจากความละเมียดละไมของงานปั้นและการใช้วัสดุชั้นเลิศที่อยู่มาหลายร้อยปี
แต่สำหรับคนทั่วไป สิ่งที่ทำให้ประติมากรรมนี้โดดเด่นที่สุด คงหนีไม่พ้นการที่มัน “ไม่มีแขน” ถือเป็นความไม่สมบูรณ์แบบอย่างหนึ่ง แต่ผู้คนกลับจดจำได้มากกว่าประติมากรรมอื่นๆ ซะอีก
The Pratfall Effect ในระดับปัจเจกชน
ประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ หลายคนอาจมีบุคลิกแบบ Perfectionist มนุษย์สุดเนี้ยบ ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบเป็นไปตามที่วางแผน
- นัยหนึ่ง มันทำให้ทุกอย่างออกมามีคุณภาพสูง ใส่ใจรายละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว
- แต่นัยหนึ่ง ก็มาพร้อมความเครียดและความกดดันในตัว จนจำไปสู่ภาวะซึมเศร้า หรือขาดความเชื่อมั่นนับถือในตัว (Low self-esteem)
The Pratfall Effect มาช่วยบรรเทาตรงนี้ได้ เพราะมนุษย์ไม่มีทางหลีกเลี่ยงความผิดพลาดได้อยู่แล้ว…จะดีกว่าถ้าเราผิดพลาดอย่างมีชั้นเชิง
บางครั้ง เราทำดีที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ปล่อยวางผลลัพธ์บ้าง
The Pratfall Effect บอกอะไรเรา?
โลกธุรกิจแข่งขันกันสูง ทุกคนต่างมีมาตรฐานสูงลิบและพยายามทำทุกอย่างให้ “สมบูรณ์แบบ” เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากลูกค้า…แต่ The Pratfall Effect พิสูจน์แล้วว่าไม่จริงเสมอไป
การผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เป็นครั้งคราว ไม่ใช่เรื่องเสียหายหรือน่าอับอายเสมอไป ในทางกลับกัน มันอาจส่งผลดีเป็นพิเศษแก่คุณด้วยซ้ำ แต่จะเกิดขึ้นได้ต้องมีเงื่อนไขก่อนหน้า (Precondition) นั่นคือ
ตัวคุณเองต้องเป็นคนเก่งเพียบพร้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คุณต้องเหนือกว่าค่าเฉลี่ยอย่างชัดเจน มีจุดแข็งบางอย่างที่อีกฝ่ายไม่มี
เมื่อขึ้นถึงยอดบนสุดแล้ว การปล่อยตัวลงมาบ้างก็เป็นไอเดียที่ไม่เลว
.
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
Original Image Cr. bit.ly/3xhROP6
อ้างอิง
- https://strategyonline.ca/2018/08/21/how-to-harness-the-pratfall-effect/
- https://www.business2community.com/strategy/embracing-imperfection-flaws-make-your-business-more-likeable-02132357
- https://www.theguardian.com/media-network/2015/oct/28/pratfall-effect-brands-flaunt-flaws
- https://www.brescia.edu/2017/06/pratfall-effect/
- https://www.einsteinmarketer.com/pratfall-effect-marketing/