iberry Group บริหารองค์กรอย่างไร?

iberry Group บริหารองค์กรอย่างไร?
  • iberry Group มีสาขารวมกันกว่า 60 สาขา
  • รวมยอดขายกว่า 1,000 ล้านบาท
  • ประจำอยู่ทุกห้างชั้นนำของเมืองไทย

ก่อตั้งโดยผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้มีต้นทุนชีวิตสูงส่งแต่อย่างใด
น่าสนใจไม่น้อยว่า iberry Group มีวิธีบริหารองค์กรอย่างไร?

จากร้านไอศครีมเล็กๆ แห่งหนึ่ง

iberry (ไม่มี Group) เริ่มต้นมาจากการเป็นร้านไอศครีมเล็กๆ แห่งหนึ่งในซอยสุขุมวิท 24 ก่อตั้งโดยคุณปลา-อัจฉรา บุรารักษ์ หญิงสาววัยเพียง 24 เมื่อปี 1999

Image Cr. bit.ly/3mQcPgm

เป็นการเดินตาม Passion ของตัวเองล้วนๆ ที่แค่อยากมีร้านไอศครีมคุณภาพดีเป็นของตัวเอง เนื่องมาจากอาชีพเก่าของเธอคือแอร์โฮสเตสซึ่งได้มีโอกาสไปลองกินไอศครีมเกรดพรีเมียมมากมายจากต่างประเทศ (โดยเฉพาะยุโรป)

ความฝันเล็กๆ ของเธอไม่ต่างไปจากคนอีกนับล้านในประเทศ แต่จุดที่ต่าง…และน่าจะเป็นปัจจัยตั้งต้นที่ทำให้ประสบความสำเร็จคือเรื่อง “ความแปลกใหม่ และ ดีไซน์ของร้าน”

โดยไอศครีม iberry แปรรูปมาจากผลไม้ไทยเกรดพรีเมียม มีให้เลือกมากกว่า 100 รสชาติ เช่น รสทุเรียน / มะม่วง / มะพร้าวน้ำหอม ฯลฯ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้วซึ่งยังแทบไม่มีใครทำในตลาดมาก่อนเลย

Image Cr. bit.ly/2QywCFe

นอกจากนี้ เธอเป็นแอร์โฮสเตสมีโอกาสได้เดินทางไปหลายประเทศ ประสบการณ์จากนานาประเทศมาพร้อมมุมมองที่เปิดกว้างในแง่ “การตกแต่งภายในและสถาปัตยกรรม” ซึ่งเธอได้นำมันมาออกแบบหน้าตาของร้าน 

โดย“ดีไซน์” ของร้านถูกทุ่มทุนสร้างให้สวยงามไม่เหมือนร้านไอศครีมทั่วไป เรียกได้ว่าเธอเป็นผู้บุกเบิกมาตรฐานที่ว่า “ร้านนี้ต้องถ่ายรูปสวย” ตั้งแต่ 2 ทศวรรษที่แล้ว

มาถึงตรงนี้ 2 แก่นหลักอย่าง คุณภาพสินค้า(รสชาติ) และ ดีไซน์(บรรยากาศดี) พิสูจน์แล้วว่าเวิร์คถูกจริตผู้บริโภค มันจึงถูกใช้เป็นแม่เหล็กดึงดูดในการสร้างแบรนด์เกิดใหม่ของเครือบริษัทในเวลาต่อมาจนประสบความสำเร็จ

โตด้วยแบรนด์

คุณปลาเชื่อว่าการมี “แบรนด์แม่” เพียงแบรนด์เดียวแล้ว “ขายทุกอย่าง” อาจไม่ตอบโจทย์คนอีกต่อไป แถมผู้บริโภคอาจสับสนด้วยว่าตกลงร้านนี้ขายอะไรกันแน่? 

รวมถึงความเชื่อมั่นในรสชาติอาหาร เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า…ร้านอาหารหนึ่งร้าน “ไม่ได้อร่อยเลิศทุกเมนู” อยู่แล้ว

จึงทำการ “แตกแบรนด์” ออกมาหลายแบรนด์ ชูจุดขายไฮไลท์ในแต่ละแบรนด์ เพื่อให้ลูกค้าแยกความแตกต่างได้ชัดเจน และเพื่อความง่ายในการทำการตลาดของแบรนด์ด้วยเช่นกัน

คุณปลาเชื่อว่าเมืองไทยมีความ “หลากหลาย” มีอะไรให้น่าสนใจเล่นสนุกมากเกินกว่าที่จะทำ Standardization (ปรับให้ทุกแบรนด์-ทุกสาขาเหมือนกัน) เราจึงได้เห็นแต่ละแบรนด์เก่งคนละด้าน มีเมนูเด็ดเฉพาะตัว มีการตกแต่งร้านคนละสไตล์

Positioning

หัวใจการปั้นองค์กรคือ จุดยืนของแต่ละแบรนด์ที่ “เชี่ยวชาญ” อาหารต่างกัน โดยแต่ละแบรนด์จะมีการเล่าเรื่องราวใหม่ ลงลึกในรสชาติ ใช้วัตถุดิบชั้นดี เวลาคนนึกถึงแบรนด์นี้จะต้องนึกถึงอะไร? อะไรที่ทำให้ลูกค้าคิดว่า “คุณคือของจริง”

Image Cr. bit.ly/2Q7Hcmz

เช่น ถ้านึกถึง ทองสมิทธ์ จะนึกถึง “ก๋วยเตี๋ยว(เนื้อวากิว)คุณภาพพรีเมียม”

ถ้านึกถึง รส’นิยม จะนึกถึงอาหาร “ไทยโบราณ” สไตล์ต้นตำรับ เช่น ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย

ถ้านึกถึง กับข้าว’กับปลา จะนึกถึงเหล่าเมนูอาหารที่เหมือน “ทานที่บ้าน” แต่ใช้วัสดุพรีเมียม เช่น เมนูปลากระพงราดซอสมะขาม

หรือ เบิร์น บุษบา แบรนด์น้องใหม่ล่าสุด ที่เชี่ยวชาญอาหารตระกูล “ยำ” แซ่บๆ แบบไทยที่กำลังเป็นกระแสอยู่ตอนนี้ (เป็นที่มาของชื่อร้าน…มาเบิร์นลิ้นให้ชา!)

พร้อมการตกแต่งร้านที่มีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเอง สืบเนื่องจากแนวคิดที่ปฏิเสธ Standardization เราจึงได้เห็นแต่ละสาขามี “หน้าตาร้าน” ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละสถานที่

Image Cr. bit.ly/3gbDrqU

เช่น ถ้าสาขาไปตั้งอยู่ในห้าง Central Embassy ซึ่งเป็นห้างไฮเอนท์ การตกแต่งร้านจะมีความหรูหราเป็นพิเศษ(กว่าปกติ)เพื่อให้เข้ากับสถานที่และกลุ่มลูกค้า นำไปสู่ความมี “เอกลักษณ์” ที่ไม่เหมือนใคร จนลูกค้าบางคนถึงกับยอมเดินทางไกลขึ้น เพื่อได้ไปกินในสาขาที่ตกแต่งสวยถูกจริตตัวเอง!!

Image Cr. bit.ly/3tmRugY

ชื่อแบรนด์นั้นสำคัญ

เมื่อแตกแบรนด์…ก็ต้องคิดชื่อแบรนด์ โดย iberry Group มีความครีเอทีฟในการตั้งชื่อแบรนด์ให้จำง่าย ฟังดูไพเราะมีระดับ แถมเขียนแล้วดูสวยเก๋ 

ไม่ว่าจะ กับข้าว’ กับปลา / รส’นิยม / Café Pla ที่มีการนำ “ ’ ” มาใช้ในตัวอักษรชื่อแบรนด์เพื่อให้ดูเก๋ไก๋ และสวยเวลาเขียนออกมา 

Image Cr. bit.ly/2RIKTzL

หรือการรวมคำศัพท์สองคำแบบตรงไปตรงมา เช่น โรงสีโภชนา / โรงสีริมน้ำ / เจริญแกง / ฟ้าปลาทาน

หรือการผสมผสานคำไทย x อังกฤษ ให้ฟังดูทันสมัย และผู้บริโภคพอเดาได้ว่ามีกลิ่นอายความเป็นอาหารไทยอยู่ อย่างเช่น “ทองสมิทธ์” ที่เป็นหุ้นส่วน หรือ “เบิร์น บุษบา” แบรนด์น้องใหม่ล่าสุดที่ออกมาเมื่อต้นเดือนเมษายน ปี 2021

Image Cr. bit.ly/3af6iHc

ความครีเอทีฟในการตั้งชื่อแบรนด์ที่ดี ภาพลักษณ์ดี ผู้คนจำง่าย…อาจทำให้เรา “นำหน้า” คนอื่นไปหลายก้าวตั้งแต่ออกวิ่งได้เลยทีเดียว

ความเป็นไทย

ยิ่งยุคนี้ เวลาเข้าห้างเรามักเจอแต่ร้านอาหารต่างชาติ ความเป็นไทยในแบบสากลที่ได้มาตรฐานกลายเป็นที่โหยหาของผู้บริโภคบางกลุ่ม

ทุกแบรนด์ของ iberry Group จะมีส่วนผสมความเป็นไทยสอดแทรกไว้อยู่เสมอตามคำยึดมั่นของคุณปลา ทั้งเมนูอาหาร ชื่อแบรนด์ องค์ประกอบการตกแต่งร้าน วัฒนธรรมของพนักงานที่มีต่อลูกค้า…แถมคุณค่าความเป็นไทยตรงนี้ยังได้ใจกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในสาขาที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย

Kitchen Academy

แม้การแตกแบรนด์จะไม่มี Standardization แต่นั่นไม่ใช่กับการทำครัวเบื้องหลัง

เพราะที่ iberry Group ถึงกับเปิดเป็นหลักสูตรการเรียนรู้แบบ Academy ทุกอย่างต้องเป็น “ระบบ” พนักงานทุกคนจะถูกเทรนมาจากศูนย์ฝึกเพื่อรักษามาตรฐานให้สูงเหมือนกันหมด

และไม่มีการ “ประนีประนอม” ในบางเรื่องที่บางร้านอาจไม่ได้เห็นความสำคัญ เช่น กุ้งต้องรับมาจากที่นี่เท่านั้น / น้ำปลาใช้ยี่ห้อนี้เท่านั้น / พริกใช้รุ่นนี้เท่านั้น

หรือวัตถุดิบต่างๆ เส้นกี่กรัม ผักกี่กรัม ลูกชิ้นกี่ลูก ทุกอย่างต้องถูกแปลงออกมาเป็น “ตัวเลข” ได้เพื่อความเป็นมาตรฐาน

Crisis Management

สิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชม iberry Group คือ “ความเร็ว” ในการตัดสินใจและปรับตัวช่วงที่โควิดระบาดหนัก เมื่อโควิดมาและเกิดการล็อคดาวน์ ทำให้รายได้บริษัทหายไปทันทีกว่า 90% เพราะร้านแทบทั้งหมดตั้งอยู่ในห้าง

แบรนด์ในเครือจึงหันมาทำเดลิเวอรี่ ซึ่งแต่เดิมมียอดอยู่แค่ 5% ของรายได้ทั้งหมด (เพราะลูกค้ามากินเอาประสบการณ์ร้านด้วย) นำไปสู่การเกิด ”Cloud Kitchen” เปิดตัวด้วยแบรนด์ “เจริญแกง” ก่อนจะใช้ทรัพยากรคนที่มีอยู่กว่า 1,500 ชีวิตแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกระจายไปทำส่วนต่างๆ 

Image Cr. bit.ly/3tnNJb3

สรุปว่าหลังล็อคดาวน์ บริษัทใช้เวลาเคลียร์หน้าร้านเพียง 2 วัน และภายใน 1 สัปดาห์สามารถให้บริการ Delivery ได้เต็มรูปแบบ!

นอกจากนี้ บทเรียนจากโควิดยังทำให้รู้ว่า…

  • หลายสาขาจ้างพนักงานเกินความจำเป็น
  • เมนูมีให้เลือกเยอะเกินไป
  • มีหลายอย่างที่ยังลดต้นทุนได้อีกโดยที่คุณภาพสินค้ายังดีอยู่ได้
  • ไม่ใช่แค่ Plan B แต่ต้องมี Plan C รองรับไว้เสมอ
  • รักษากระแสเงินสด ทำองค์กรให้ Lean ในช่วงโควิด
  • ปรับตัวเข้าสู่ Delivery มากขึ้น 
  • มองหาพื้นที่ร้านแบบ Standalone (ไม่ได้อยู่ในห้าง)

ซึ่ง iberry Group ก็ปรับตัวได้ทันทีหลังสถานการณ์กลับมาดีขึ้น

Growth Mindset

ในมุมมองคนนอกอาจคิดว่า iberry Group ประสบความสำเร็จล้นหลาม แต่องค์กรนี้สอนพนักงานทุกคนอยู่เสมอว่า ให้ลองท้าทายตัวเองด้วยความคิดว่า “อะไรที่เรายังไม่ดีพอ? อะไรที่เราทำได้ดียิ่งขึ้นกว่านี้?”

เพราะถ้าเราคิดว่าเราสำเร็จ เรามีแนวโน้มจะพอใจและหยุดอยู่กับที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในแง่ของชีวิต…แต่ในวงการธุรกิจนี่คือเส้นทางสู่ความล้มเหลวในอนาคต เพราะจะมีคู่แข่งทั้งรายเก่าและรายใหม่พัฒนาขึ้นมาจนวันนึงพบว่าเรากำลังจะ “ถูกแซง” 

iberry Group มีหลากหลายแบรนด์ถึงทุกวันนี้ได้ก็เพราะ Growth Mindset เป็นแก่นในการทำงาน โดยเฉพาะตัวผู้ก่อตั้งอย่างคุณปลาที่คิดว่า ถ้ามาสายไอศครีมแล้ว ก็ควรต่อยอดสู่ร้านอาหารด้วยเลย 

เราทำไอศครีมได้อร่อย…แต่ก็อาจทำอาหารได้อร่อยไม่แพ้กัน? แถมยังทำให้ลูกค้า “หมุนเวียน” อยู่แต่ร้านในเครือของตนด้วย เช่นทานข้าวมื้อหลักเสร็จ ก็ไปปิดท้ายด้วยของหวาน

อันที่จริง ถ้าไม่มี Growth Mindset ร้านไอศครีม iberry ก็อาจไม่เกิดขึ้นตั้งแต่แรก เพราะคุณปลาเติบโตมาในครอบครัวข้าราชการที่พ่อแม่อยากให้เป็นข้าราชการตามรอย แต่เธอปฏิเสธและเลือกที่จะทำงานประจำเป็นแอร์โฮสเตส ก่อนที่จะผันมาเป็นผู้ประกอบการเปิดร้านไอศครีม iberry ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้และประสบการณ์เลย ก่อนท้ายที่สุดจะขยายเข้าสู่ร้านอาหารหลากหลายแบรนด์แบบเช่นทุกวันนี้

Growth Mindset เป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างฟุ่มเฟือย แต่น้อยคนที่จะนำมันมาทำได้จริงจังอย่างคุณปลา ผู้ปลุกปั้น iberry Group เส้นทางชีวิตของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่มาไกลถึงทุกวันนี้ น่าจะเป็นบทเรียนให้ทุกคนได้ไม่มากก็น้อย

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…คุณพร้อมมีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วันแล้วหรือยัง? >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

Original Image Cr. bit.ly/3ecGxYZ

อ้างอิง