Firsthand Experience: ความคิดเปลี่ยนเมื่อได้สัมผัสด้วยตัวเอง

Firsthand Experience: ความคิดเปลี่ยนเมื่อได้สัมผัสด้วยตัวเอง

หลายครั้ง…การทำความเข้าใจ / อธิบาย / โน้มน้าวอีกฝ่าย

วิธีที่ดีที่สุดไม่ใช่การพูด แต่เป็นการ…แสดงให้เห็นและ “สัมผัส” ด้วยตาตัวเอง 

ไม่ใช่แค่ “รู้” แต่ต้อง “รู้สึก” เพราะการรู้สึกถึงอะไรจริงๆ เป็นระดับที่ “ลึกซึ้ง” กว่าแค่รู้-เข้าใจเฉยๆ

ในด้านนามธรรม ยังนำไปสู่สัญชาตญาณ (Gut instinct) ที่รู้สึกอยู่ลึกๆ ว่าอันไหน “ใช่ หรือ ไม่ใช่” ซึ่งเป็นความรู้สึกที่สำคัญไม่แพ้ตรรกะเหตุผลในการตัดสินใจทางธุรกิจเลยทีเดียว

ดังตัวอย่างต่อไปของ ”Firsthand Experience” ความคิดเปลี่ยน…เมื่อได้เจอของจริง

Welcome Abroad

ปี 1976 Allen Brady and March (ABM) คือเอเจนซี่โฆษณาเล็กๆ เจ้าหนึ่งที่พยายาม Pitch เพื่อให้ได้งานกับลูกค้าใหญ่อย่างการรถไฟอังกฤษ British Rail (BR) ในหัวข้อการปรับปรุงภาพลักษณ์ขององค์กร

แต่คู่แข่งมีหลายเจ้า รายอื่นๆ ล้วนมีแต่เจ้าใหญ่ในวงการ เช่น Saatchi & Saatchi…แล้วเอเจนซี่เล็กๆ ในตอนนั้นอย่าง ABM จะทำอย่างไรเพื่อสร้างความแตกต่าง?

ในวัน Pitch งาน ผู้บริหารใหญ่ของ British Rail เดินทางมาเยือนถึงออฟฟิศ ABM เพื่อพบกับความว่างเปล่าที่ล็อบบี้ชั้นล่าง 

บอสใหญ่แห่ง BR เช็คนาฬิกาข้อมือ และพบว่าตัวเองก็มาตรงเวลานี่นา…เมื่อมองไปรอบๆ ล็อบบี้ ก็พบกับสิ่งสกปรกความไร้ระเบียบอยู่ทั่วบริเวณ หนังสือพิมพ์วางกองพื้น / ขี้บุหรี่แถวหน้าห้องน้ำ / โซฟาที่เลอะคราบสกปรก / และกลิ่นทั่วทั้งชั้นที่ไม่พึงประสงค์

ไม่นานนัก มีเจ้าหน้าที่หญิงสีหน้าอารมณ์บูด เดินผ่านมานั่งตรง Reception อย่างเมินเฉย ไม่มีสอบถาม ไม่มีทักทายต้อนรับใดๆ ทั้งสิ้น

  • บอสใหญ่ BR ทำเสียงไออะแฮ่ม…Reception หญิงไม่มีตอบรับ
  • บอสใหญ่ BR ทำเสียงไออะแฮ่มอีกทีหนึ่ง…Reception หญิงยังคงเมินเฉย ไม่ตอบรับใดๆ

บอสใหญ่ BR ทนไม่ไหว พูดขึ้นว่า: “เอ่อ โทษนะครับ พวกเรามารอพบ…”

ไม่ทันจะพูดจบประโยค Reception พูดแทรกขึ้นว่า: “รอก่อนๆ…เดี๋ยวไปหานะ”

บอสใหญ่ BR: “พวกเรามีนัดกับ…” 

Reception หญิง: “รอก่อนสิคะ ไม่เห็นเหรอว่าฉันกำลังยุ่งอยู่?”

บอสใหญ่ BR: “นี่มันเกินไปแล้ว พวกเรารอมา 15 นาทีแล้วนะ” 

Reception หญิง: “ช่วยไม่ได้ ขอบคุณที่รอค่ะ”

บอสใหญ่ BR ทนไม่ไหว: “โอเคพอกันที!! พวกเรากำลังจะกลับแล้ว!!!”

ทันใดนั้น ผู้บริหารใหญ่ ABM และทั้งทีมก็เปิดประตูทั่วทั้งห้องและรีบเดินออกมาจับมือทักทายบอสใหญ่ BR

ผู้บริหารใหญ่ ABM: “สุภาพบุรุษทุกท่านครับ พวกคุณพึ่งแสดงให้เห็นเองว่า สาธารณชนคิดอย่างไรกับ British Rail…”

ผู้บริหารใหญ่ ABM: “มันแย่มากใช่ไหมครับ? งั้นโปรดตามผมมาที่ห้องประชุม แล้วพวกผมจะแสดงให้เห็นเองว่าปัญหานี้จะถูกแก้ไขได้อย่างไร? อนาคตของ British Rail จะสดใสกว่านี้ได้อย่างไร?”

สุดท้าย ABM ได้รับเลือกให้ดูแล British Rail 

เหตุการณ์จริงนี้คือตัวอย่างอันทรงพลังของการแสดงให้เห็นกับตา ถ้า ABM แค่โชว์สไลด์ PowerPoint ธรรมดาๆ เหมือนเอเจนซี่รายใหญ่อื่นๆ…คงไม่ได้รับเลือก

แต่ได้รับเลือก…เพราะผู้บริหาร BR ได้ลงมา “สัมผัส” กับตัวเองจริงๆ ถึงความรู้สึก

  • รถไฟดีเลย์มาสาย (ทีมตัวเองต้องรอนานถึง 15 นาที)
  • พนักงานบริการแย่ (Reception เมินเฉย พูดจาไม่ดี)
  • สกปรก ไร้ระเบียบ (หนังสือพิมพ์กองเต็มพื้น / ก้นบุหรี่หน้าห้องน้ำ)

British Rail ถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของ ABM ในตอนนั้น ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้แก่บริษัทมาก ปูทางสู่ความสำเร็จในวงการโฆษณาต่อไป ในปี 1982 Allen Brady and March ติดอันดับ Top5 เอเจนซี่โฆษณาที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษ

Starbucks’ Inspiration

Howard Schultz เดินทางไปเยือนมิลาน ประเทศอิตาลี ครั้งแรกในปี 1983 นี่เป็นการเดินทางที่ไม่ได้มีแรงบันดาลใจเป็นทุนเดิม ไม่มีทำการบ้านมีข้อมูลครบถ้วน และไม่มีความคาดหวังใดๆ…เหมือนจะเป็นการปล่อยใจสัมผัสกับประสบการณ์ตรงหน้าซะมากกว่า

แต่ใครจะไปรู้ว่า ผลลัพธ์ที่ตามมาของการเดินทางครั้งนี้ ไม่ใช่แค่พลิกโฉมหน้าทิศทาง Starbucks…แต่จะมาปฏิวัติวงการกาแฟทั่วโลกในเวลาต่อมา

Howard Schultz ตระเวนไปตามร้านกาแฟ (Espresso bars) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการดื่มด่ำกาแฟของชาวอิตาลี และมีดาษดื่นอยู่เต็มเมืองทุกซอกทุกมุม ก่อนจะ “หลงใหล” กับสิ่งที่ได้สัมผัสพบเจอ

  • ลูกค้าที่ถูกทักทายอย่างเป็นกันเองเวลาย่างเท้าก้าวเข้าร้าน
  • เพลงโอเปร่าที่เปิดในร้าน ให้ความรู้สึกมีมนตร์เสน่ห์แบบบอกไม่ถูก
  • เสียงชงเอสเพรสโซ่อันไพเราะเป็นระยะ
  • กลิ่นหอมของกาแฟที่อบอวลทั่วร้าน
  • บาริสต้าชงกาแฟอย่างละเมียดละไมราวกับงานศิลปะ
  • และบาริสต้าเหมือนจะสนิทกับลูกค้าแต่ละคนในร้าน มีการพูดคุยแบบเป็นกันเอง

เราจะเห็นว่าในเวลาต่อมา Starbucks เติบโตขึ้นโดยมีกลิ่นอายองค์ประกอบเหล่านี้แทบทั้งสิ้น

  • ลูกค้าถูกต้อนรับอย่างสุภาพเวลาเข้าร้าน
  • การตกแต่งร้านที่สร้างบรรยากาศ Third Place
  • เสียงเพลงคลออันผ่อนคลายในตัวร้าน
  • กลิ่นกาแฟที่หอมอบอวล
  • บาริสต้าถูกเรียกว่าพาร์ทเนอร์ ต้องผ่านการอบรม และค่าแรงสูงกว่าค่าเฉลี่ย

วัฒนธรรมที่บาริสต้า Starbucks จะสอบถาม “ชื่อ” ลูกค้าก่อนเขียนลงถ้วย ก็เป็นกลเม็ดหนึ่ง เพื่อให้บาริสต้า “รู้จัก” ลูกค้ามากยิ่งขึ้น (ซึ่งอาจเป็นผู้คนในละแวกชุมชนนั้น)

Howard Schultz กล่าวออกสื่อด้วยตัวเองในปี 2017 ว่า “สิ่งที่พวกเราทำจนมาถึงทุกวันนี้ที่ Starbucks ล้วนตั้งอยู่บนรากฐานของความทรงจำอันแสนวิเศษที่พวกเราสัมผัส ณ วันนั้นที่อิตาลี”

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง