Hedonic Treadmill: วิ่งหาความสุขอย่างไม่มีวันหยุด

Hedonic Treadmill: วิ่งหาความสุขอย่างไม่มีวันหยุด
  • ถูกลอตเตอรี่ 10 ล้าน แต่มีความสุขลึกๆ แค่ 3 เดือนแรก
  • ถอยรถใหม่ แต่ดีใจจริงๆ แค่ 6 เดือนแรก ก่อนรู้สึกเฉยๆ
  • ซื้อบ้านหลังใหม่ แต่ผ่านไปไม่ถึงปี กลับรู้สึกว่างเปล่า

ถ้าคุณเคยรู้สึกแบบนี้ในชีวิต (เชื่อเถอะว่าเคย) คุณกำลังเข้าสู่ลู่วิ่งที่เรียกว่า “Hedonic Treadmill”

วิ่งหาความสุขอย่างไม่มีวันหยุด

Hedonic Treadmill คือ ภาวะที่ไม่ว่าเราจะประสบกับเรื่องอะไรก็ตาม (ทั้งดีและร้าย) เราจะสุขหรือทุกข์มากเป็น “พิเศษ” อยู่แค่ “ระยะเวลาหนึ่ง” ก่อนที่ความสุขหรือทุกข์นั้นจะค่อยๆ กลับมาสู่ “ระดับปกติ” ก่อนหน้าที่จะประสบเหตุการณ์นั้น!!

หมายความว่า ต่อให้เราทำงานหนัก เติบโต ก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ และสามารถ “ซื้อ” หาครอบครองสิ่งที่เราต้องการได้ในที่สุด แต่ไม่ว่าเราจะสำเร็จมากแค่ไหน อยู่ในสายอาชีพอะไร ความรู้สึก “สุขล้น” ส่วนใหญ่จะพวยพุ่งอยู่แค่ประมาณ “3-4 เดือนแรก” เท่านั้น ก่อนที่จะกลับมาสู่ระดับปกติ (ก่อนหน้าสำเร็จ)

Dan Gilbert นักจิตวิทยาด้านสังคมจาก Harvard University เปิดเผยความจริงที่หลายคนไม่อยากยอมรับว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะมนุษย์มีกลไกในร่างกายที่จะ “ปรับ” อารมณ์ความรู้สึกให้กลับมาอยู่ระดับปกติเสมอ เรามีกลไกนี้เนื่องมาจากกระบวนการวิวัฒนาการไม่อนุญาตให้มนุษย์สุขดีใจเกินไปเพราะจะย้อนมาทำร้ายเราในที่สุด

ยุคสมัยก่อนที่เรายังอาศัยอยู่ในป่าภัยอันตรายอยู่รอบตัว การดีใจกับเนื้อที่ล่ามาได้ชนิดที่ชีวิตนี้ไม่ขออะไรแล้ว จะทำให้เราประมาทและถูกสัตว์อื่นกินในที่สุด 

เช่น เผ่าของเราอาจกำลังดีใจเอร็ดอร่อยกับเนื้อตรงหน้าจนไม่ได้ระวังภัยว่ามีฝูงสิงโตรอจังหวะเขมือบเราตอนเผลอ…กลไก Hedonic Treadmill นี้จึงถูก “คัดเลือก” มา

Dan Gilbert  ยังได้ทำการสำรวจผู้ถูกรางวัลลอตเตอรี่หลากหลายคน พบว่าพวกเค้ามีความสุขเกษมสำราญจริงๆ ประมาณ 3-4 เดือนแรก ก่อนที่ระดับความสุขทุกอย่างจะกลับมาเป็นระดับปกติก่อนหน้าที่จะถูกรางวัล

“ไม่ใช่ว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้…แต่อำนาจของเงินไม่ได้แปรผันตามความสุข”

กล่าวคือ เมื่อคุณเป็นคนหาเช้ากินค่ำ เงินที่มากขึ้นเล็กน้อยช่วยให้คุณมีความสุขล้นได้จริงๆ เพราะคุณเอาเงินก้อนนั้นไปซื้อหาปัจจัยพื้นฐานให้คุณมีชีวิตรอดได้ (เช่น พอมีกินถึงสิ้นเดือน)

แต่เมื่อคุณมีเงินมากพอจน “หลุดพ้น” จากการดิ้นรนปัจจัยพื้นฐานในชีวิตแล้ว (ถูกลอตเตอรี่)  หลังจากนั้นอำนาจของเงินจะน้อยลงเรื่อยๆ

ความสุขจากประสบการณ์

Elizabeth Dunn นักจิตวิทยาจาก University of British Columbia ทำการทดลองโดยแบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม และให้เงินจำนวนเท่ากันไป “ซื้อของ” 

  • กลุ่มแรก ซื้อให้ “ตัวเอง”
  • กลุ่มที่สอง ซื้อให้ “คนอื่น”

จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปซักพักก็ให้กลับมา “เล่าเรื่องราว” ว่าใช้เงินไปอย่างไร?

ปรากฎว่า กลุ่มแรกให้คำตอบเชิงการใช้งาน เช่น ซื้ออะไรไป ราคาเท่าไร ซื้อที่ไหน ซื้อไปทำอะไร

แต่กลุ่มที่สอง ให้คำตอบเชิงอารมณ์ที่ดูจะมีความสุขมากกว่า จำประสบการณ์การให้ได้อย่างแม่นยำ จำสีหน้าดีใจของผู้รับได้ จำได้แม้แต่บทสนทนายิบย่อย

การทดลองนี้ยังได้ถูกทำซ้ำในประเทศโลกที่ 3 ที่มีความร่ำรวยทางเศรษฐกิจน้อยกว่า เช่น อินเดีย และ หลายประเทศในทวีปแอฟริกา โดยจำนวนเงินผันแปรไปตามค่าครองชีพ (แต่ “ไม่เยอะ”) ก็พบว่าล้วนให้ผลลัพธ์ออกมาเหมือนเดิม!!

นี่จึงตอบเหตุผลได้ว่า การ “ให้” แก่ผู้คนอื่น…ไม่ใช่แค่คนรับที่มีความสุข แต่คนให้ก็มีความสุขตามไปด้วย!!

นัยยะแฝงที่ผลวิจัยนี้ยังบอกอีกก็คือ เงินที่ซื้อ “ประสบการณ์” มอบความสุขระยะยาวได้มากกว่า (สอดคล้องกับผลวิจัยว่า คนรวยยุคใหม่มีแนวโน้มจับจ่ายใช้สอยเพื่อประสบการณ์ มากกว่า ตัววัตถุเหมือนคนยุคก่อน)

ความรู้สึกอยากแบ่งปัน อยาก “แชร์” เรื่องราวประสบการณ์ให้ “คนที่เรารัก” (เช่น ครอบครัว เพื่อนสนิท แฟน) ได้รับรู้-ได้สัมผัสด้วย เป็นเรื่องธรรมชาติที่ลึกๆ เราอยากทำอยู่แล้วเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม

ยิ่งพิเศษเข้าไปใหญ่ เมื่อการซื้อนั้นถูกแชร์ประสบการณ์ “ร่วมกัน” และยิ่งเข้มข้นเมื่อกาลเวลาผ่านไป เป็นเบื้องหลังที่ว่าทำไมผู้ใหญ่ชอบคุย “เรื่องเก่าๆ” กัน (อันที่จริง กลุ่มเพื่อนสนิทที่อายุขึ้นเลข 3 ก็เริ่มมีนิสัยนี้แล้ว)

ใครบ้างที่มีแนวโน้มเกิด Hedonic Treadmill 

คำตอบอาจทำใครหลายคนไม่พอใจ เพราะ “ทุกคน” ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตจะเกิด Hedonic Treadmill ไม่มากก็น้อยแน่นอน!! (ดังที่กล่าวไปว่ามันเป็นกลไกธรรมชาติของมนุษย์)

อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มคนบางประเภทที่อาจเกิด Hedonic Treadmill รุนแรงเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มคนเก่ง High Flyer มีแนวโน้มสูงที่เข้าสู่วัฏจักรนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นคนทะเยอทะยานทำงานหนัก ความทะเยอทะยานมาพร้อมความคาดหวังที่สูงลิบ เมื่อไม่สำเร็จก็จะทุกข์เป็นพิเศษ เมื่อสำเร็จก็มักตอบแทนด้วยการซื้อของปรนเปรอตัวเอง

ความทุ่มเทในงานก็เป็น Hedonic Treadmill ในตัวมันเองที่ต้องระวัง เพราะเมื่อสำเร็จงานหนึ่ง ก็มัก “ตั้งเป้าหมายใหม่” ที่สูงขึ้น-ยากขึ้น เป็นเช่นนี้เรื่อยๆ

รู้หรือไม่? ในภาษาฮีบรู คำว่า งาน (avoda) มีรากศัพท์มาจากคำว่า ทาส (eved)

ป้องกันตัวเองยังไงได้บ้าง?

คาดการณ์ “ล่วงหน้า” ไปเลยว่า บรรดาสิ่งของวัตถุที่เราพยายามทำงานหนักซื้อหามา จะมอบความสุขล้นให้เราแค่ “ระยะสั้น” เท่านั้น เมื่อเราไม่หวังสูง…ก็ไม่มีอะไรให้เสียใจ

เมื่อเป็นเช่นนี้ หลายคนอาจตั้งคำถาม…แล้วจะซื้อของหรูไปทำไม?

ก็คงต้องบอกว่า ของแพงมักมาพร้อมคุณภาพที่ดีกว่า ความสะดวกสบายที่มากกว่า ยิ่งมีเงินมากเท่าไร ยิ่งซื้อของที่ให้ความสะดวกสบายที่ดีกว่า หรูหรากว่า ภาพลักษณ์ที่เหนือกว่าได้มากขึ้นเท่านั้น…แต่ไม่ใช่ “ความสุข” (เราต้องแยกให้ขาด)

และของหรูยังเป็นการลงทุนในภาพลักษณ์ที่จำเป็นสำหรับบางอาชีพ 

เช่น กรณีศึกษา “ดีเจภูมิ” เคยสารภาพว่าสมัยก่อนซื้อรถ Supercar ราคาเป็นสิบล้าน แต่เงินในบัญชีทั้งตัวเหลือแค่ 50,000 บาท แต่เค้าอยู่ในวงการบันเทิงที่ภาพลักษณ์ภายนอกเป็นเรื่องสำคัญ หลังจากนั้นพอคนรู้ว่าเขาขับรถ Supercar สถานะในวงการก็เลื่อนขึ้นจน “งานเข้าไม่หยุด” สร้างความมั่งคั่งให้เขาหลังจากนั้น

ปล. ทั้งนี้ ไม่ได้มีเจตนาให้ใช้เงินเกินตัวเพื่อสร้างภาพลักษณ์แต่อย่างใด เพราะไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนสร้างภาพลักษณ์เช่นนี้

Image Cr. bit.ly/2P8MBtg

เราต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า ธรรมชาติของมนุษย์ไม่รู้จักพอ การ “พอ” ไม่ใช่ธรรมชาติในตัวของมนุษย์ทุกคน การจะรู้สึกพอจึงเป็นอะไรที่ต้อง “ฝึกฝน” ต้องร่ำเรียน ต้องสอน…นี่น่าจะเป็นวิธีป้องกันตัวเองได้ไม่มากก็น้อย

ปรับใช้กับธุรกิจได้อย่างไร?

เราสามารถนำการทดลองของ Elizabeth Dunn ในเรื่อง “ประสบการณ์” มาใช้ได้โดยตรง 

เช่น พนักงานบริษัท Southwest Airlines ส่งของเล่น Buzz Lightyear คืน ผู้โดยสารตัวน้อยที่ลืมทิ้งไว้ พร้อมเขียนจดหมายว่าพี่ Buzz พึ่งเสร็จจากการทำภารกิจสำรวจ เรื่องราวอันน่าประทับใจนี้เป็น Viral ไปทั่วโลก

แบรนด์อาจสร้างอะไรที่มี “มูลค่าทางจิตใจ” มากกว่าตัวเงิน เป็นทางเลือกในแง่การสร้างความจงรักภักดีกับแบรนด์ บางครั้งอารมณ์ทรงพลังกว่าเหตุผล

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa และเลิกวิ่งไล่ตาม Hedonic Treadmill เพราะคุณได้อาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ จนรู้สึก “พอ” แล้วนั่นเอง >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง