- เหล่าอาสาสมัครช่วยหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิด-19
- ทำงานเพราะอุดมการณ์ พอมีคนจ่ายเงินให้ รู้สึกโกรธ
- ผู้ปกครองจ่ายค่าปรับการมารับลูกที่โรงเรียนสาย ปรากฎว่ายิ่งมาสายเข้าไปใหญ่
- ชาวบ้านที่สวิตเซอร์แลนด์ปฏิเสธข้อเสนอของภาครัฐที่ยื่นเงินให้ แลกกับการตั้งพื้นที่ทิ้งกากกัมมันตรังสี
ผู้คนจำนวนมากคิดว่าเงินคือแรงจูงใจสูงสุด (Ultimate Motivation)
ยิ่งมาก…ยิ่งดี
แต่เรื่องบางเรื่อง “เงิน” เป็นแรงจูงใจชั้นดี…แต่เป็นได้ถึงแค่จุดหนึ่ง เมื่อเกินจุดนั้นไปแล้ว เงินจะให้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม และแรงจูงใจจะมลายหายไปในที่สุด
นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “Motivation Crowding”
Motivation Crowding เงินไม่ได้ซื้อได้ทุกอย่าง
Motivation Crowding เป็นภาวะที่แรงจูงใจที่เป็นตัวเงินเข้ามาทำลายแรงจูงใจอื่นๆ ที่ดีไปจนหมด
กล่าวคือ ในบางเรื่อง…คนเราแค่ต้องการทำสิ่งที่ดีงามออกมาจากหัวใจอย่างบริสุทธิ์โดยไม่หวังผลตอบแทน แต่พอมีการ “ให้เงิน” เกิดขึ้น แรงจูงใจที่อยากทำดีนั้นก็ลดฮวบทันที
กล่าวได้ว่า…”เงินตบหน้าความตั้งใจดีๆ ที่เรามี”
ซึ่ง Motivation Crowding จะไปกระทบความสัมพันธ์-ด้อยค่าทางจิตใจ จนมิตรภาพทางธุรกิจและชีวิตส่วนตัวอาจสั่นคลอนได้ “ทันที”
เช่น คุณไปงานปาร์ตี้ขึ้นบ้านใหม่ของเพื่อนสนิท เพื่อนคุณทำอาหารใหญ่โตเลี้ยงแขกทุกคน แต่ก่อนจากลา…คุณกลับมอบเงินใส่ซองเป็นค่าอาหารให้
ต้องไม่ลืมว่า…มนุษย์มีสิ่งที่เหนือกว่าเงินเป็นแรงจูงใจเสมอ
ทำไมเราถึงรู้สึกแบบนี้?
ในอดีตกาล มนุษย์อยู่อาศัยกันเป็นเผ่า (และยังไม่ได้ประดิษฐ์เงิน) ทุกคนต่างต้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันเพื่อความอยู่รอด
กระบวนการวิวัฒนาการจึงหล่อหลอมให้มนุษย์ทุกคนมี “แรงจูงใจภายใน” (Intrinsic Motivation) ในการทำอะไรบางอย่างที่ในใจเชื่อลึกๆ ว่ามันเป็นสิ่งที่ดีถูกต้อง
เช่น ผันตัวเองเป็นอาสาสมัครช่วยหาเตียงแก่ผู้ป่วยโควิด-19 โดยไม่ได้รับเงินตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น
แต่พอมีผลตอบแทนอย่าง “เงิน” เข้ามาเกี่ยวข้อง มันจะเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์ทั้งหมดและอาจเกิดคำถามแง่ลบว่า
- สิ่งที่ทำคุ้มค่ากับเงินที่ได้ไหม?
- เงินส่วนนี้ เป็นการรับสินบนหรือถูกปิดปากรึเปล่า?
- คนที่ให้เงินเป็นนายจ้าง แสดงว่าเค้ามีอำนาจเหนือเราใช่หรือไม่?
เงินเป็นสิ่งสำคัญและช่างเย้ายวนใจ…เพียงแต่มันไม่ได้เวิร์คทุกกรณี
มีการวิจัยหนึ่งจาก Switzerland ทำการวิจัยที่สะท้อน Motivation Crowding ได้ชัดเจนมากๆ
ปี 1993 Switzerland กำลังหาพื้นที่ทิ้งกากกัมมันตรังสี (Nuclear waste site) ภายในประเทศ และไปพบกับหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งประชากร 2,100 คน นักวิจัยจาก University of Zurich เข้าไปสำรวจและทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศ
แต่แม้จะรับรู้ถึงผลกระทบข้างเคียง แต่ชาวบ้านกว่า 50.8% โอเคยอมรับเงื่อนไข โดยให้เหตุผลเชิงนามธรรม เช่น ความภาคภูมิใจต่อประเทศชาติ หรือ หน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม
แต่นักวิจัยอยากทดลอง เลยถามเพิ่มไปว่าแล้วถ้าภาครัฐจะ “มอบเงินชดเชย” จำนวน $5,000 หรือ 150,000 บาท/คน/ปี (ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยในยุคนั้น) พวกเขาจะโอเคไหม?
ผลลัพธ์ผิดคาด กลายเป็นว่ากลุ่มที่โอเคเห็นด้วยลดลงเหลือแค่ 24.6%
นักวิจัยวิเคราะห์สงสัยว่า หรือเพราะเงินน้อยเกินไป? เลยทดลองเพิ่มเงินชดเชยเป็น $8,700 หรือ 260,000 บาท/คน/ปี
แต่ผลที่ได้ยิ่งน่าตกใจ “ยิ่งเพิ่มเงินมากเท่าไร ผู้คนยิ่งไม่เห็นด้วยมากเท่านั้น!!”
นักวิจัยศึกษาต่อจนค้นพบสาเหตุว่า หมู่บ้านนี้มีสปิริตความเป็นชุมชน (Community spirit) ที่แข็งแกร่งมากๆ พวกเขาพร้อมเสียสละเพื่อประเทศชาติ และมองว่าการให้เงินเหมือนเป็นการติดสินบน (Bribe) ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้
Motivation Crowding กับการทำงาน
แม้เราอาจเคยได้ยินว่า “เงินซื้อเราไม่ได้…ถ้าไม่มากพอ”
คำนี้ก็อาจเป็นจริงถึงแค่จุดหนึ่ง ถ้าคนๆ นั้นมีเงินมากพอที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกมิติอย่างเหมาะสมแล้ว ข้อเสนอเงินที่เพิ่มขึ้นอาจไม่มีความหมายอีกต่อไป แต่กลับไปบั่นทอนแรงจูงใจที่แท้จริงด้วยซ้ำ
Motivation Crowding กับการสถานรับเลี้ยงเด็ก
ศูนย์รับเลี้ยงเด็กแห่งหนึ่ง พบปัญหาผู้ปกครองมารับลูกสาย จึงทำให้พี่เลี้ยงต้องอยู่เวรนานกว่ากำหนด
จึงออกนโยบาย “มาสาย-จ่ายค่าปรับ”
แต่ผลปรากฎว่า ผู้ปกครองยิ่งมาสายเข้าไปใหญ่ และความสัมพันธ์ระหว่างพี่เลี้ยง-ผู้ปกครองก็เปลี่ยนไป เป็นการสร้างความชอบธรรมต่อการมาสาย “อ้าว มาสายก็จริง แต่ฉันจ่ายเงินแล้วไง!”
Motivation Crowding กับการเลี้ยงลูก
พ่อแม่หลายคนใช้เทคนิค “ให้เงินลูก” ถ้าตั้งใจเรียน ทำการบ้านหมด สอบผ่าน
เรื่องนี้ต้องระวัง เพราะอาจไปทำลายความตั้งใจดีของลูกที่แค่อยากตั้งใจเรียนให้เก่งเท่านั้นเอง
นอกจากนี้ ถ้าลูกเผลอ “โอบกอด” คุณค่านี้เต็มตัว อาจนำไปสู่การทำทุกอย่างเพื่อเงิน เช่น พ่อแม่อาจต้องจ่ายเงินเพื่อให้ลูกเข้านอนตรงเวลา
นักวิจัยด้านนี้แนะนำว่า ให้เปลี่ยนการให้เงินเป็น ”รายเดือน-สัปดาห์” ไปเลยจะดีกว่า แล้วที่เหลือให้เค้าบริหารจัดการเวลาเองโดยมีคุณคอยแนะนำ
ปรับใช้ Motivation Crowding ยังไงได้บ้าง?
การทำงานก็เช่นกัน ผู้บริหารมักคิดว่าให้ค่าแรงพนักงานสูงๆ เดี๋ยวเค้าก็ยอมทุ่มทำงานหนักเอง แต่มนุษย์มีขีดจำกัด เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องพักผ่อนใช้ชีวิตส่วนตัว ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น อาจไม่ทำให้ทำงานหนักมากขึ้นตาม
จุดนี้ควรระมัดระวังและคิดให้รอบคอบเป็นพิเศษ แรงจูงใจที่เป็นตัวเงินอาจไม่เหมาะกับงานที่อาศัย Passion ความหลงใหล / ภาคภูมิใจ / อุดมการณ์
นอกจากนี้ยังสะท้อนถึง “ทัศนคติ” การใช้ชีวิตได้ไม่น้อย เราอาจมีมุมมองที่กว้างขึ้น
- บางคนทำงานหนักทุ่มสุดตัว ไม่ใช่เพราะเงินหรืออยากเลื่อนตำแหน่ง แต่เพราะได้ “แก้ปัญหา” ให้ลูกค้า
- บางคนอ่านหนังสือหลากหลายแนว ไม่ใช่เพราะนำแนวคิดมาใช้กับธุรกิจที่ทำได้ หรือ ก่อให้เกิด Productivity สูงขึ้น…แต่เพื่อให้ “เข้าใจโลก” มากขึ้น
- บางคนผันตัวเองเป็นอาสาสมัครหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ใช่เพราะอยากมีชื่อเสียงและให้ผู้คนสรรเสริญ แต่เพราะแค่อยาก “ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์” ด้วยกัน (Humanity cause)
- บางคนขอบคุณพูดอื่นอย่างจริงใจ ไม่ใช่แค่เพราะตามมารยาทสังคม แต่เพราะรู้สึก “ซาบซึ้งใจ” จริงๆ
บางครั้ง การเห็นความหลากหลายทางมุมมองที่มากกว่าแค่เรื่องเงินๆ ทองๆ ก็ทำให้เราพบความหมายของชีวิตได้ง่ายขึ้น
.
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
อ้างอิง
- หนังสือ What Money Can’t Buy โดย Michael J. Sandel
- https://www.parentingforbrain.com/intrinsic-motivation/
- https://iveybusinessjournal.com/publication/the-four-intrinsic-rewards-that-drive-employee-engagement/
- https://technologyadvice.com/blog/marketing/4-real-world-examples-clearly-explain-intrinsic-motivation/