Self-Talk: เรื่องปกติที่คนเก่งเค้าทำกัน(ลับๆ)

Self-Talk: เรื่องปกติที่คนเก่งเค้าทำกัน(ลับๆ)
  • “เราทำได้ เราทำได้ มาถึงขนาดนี้…เราต้องทำได้สิ!!!”
  • “กลัวอะไร? ทำไมไม่ลงมือทำซักที? ติดขัดตรงไหน หึ?”
  • “เฮ้ย ใจเย็นๆ ก่อนนะ อย่าพึ่งวู่วาม อย่าพึ่งเซ็นสัญญา คิดให้รอบคอบอีกครั้งก่อน!!!”

เรามักคุ้นเคยคำพูดเหล่านี้ที่ คนอื่นพูดกับเรา หรือ เราพูดกับคนอื่น

แต่คำพูดเหล่านี้ยังสามารถใช้ “พูดกับตัวเอง” หรือที่เรียกว่า “Self-Talk” ได้อย่างปกติวิสัยกว่าที่คุณคิด!!

Self-Talk: เรื่องปกติที่คนเก่งทำกัน(ลับๆ)

อย่างแรก ขอให้วาง Myth มายาคติเดิมๆ ที่มีอยู่ลงก่อน ที่มักคิดว่าคนที่ทำ Self-Talk คือคนที่มี “อาการทางจิต” 

  • เริ่มป่วยรึเปล่า? 
  • มีเพื่อนคุยบ้างไหม? 
  • ใจเย็นๆ อย่าพึ่งคิดสั้นนะ!!
A picture containing water, window, day

Description automatically generated

ทั้งๆ ที่ Self-Talk ก็คือการที่เราสื่อสารกับสมองตัวเอง ทำให้สมองทำงานอย่างมีตรรกะเหตุผลมากขึ้น นำไปสู่การตัดสินใจในการทำงานและชีวิตที่ดีขึ้น 

การคุยกับตัวเองทำให้เรารู้ “จุดยืน” สถานการณ์ของตัวเอง ณ ตอนนั้น และยังเป็น “ยา” คลายเครียดชั้นดี (โดยไม่ต้องหาหมอ) ปัญหาโรคระบาด / ถูกล็อคดาวน์เมือง / การทำงานที่บ้านตลอดทั้งวัน นำไปสู่ความเครียดจัด ท้อแท้ เบื่อหน่าย วิตกกังวล…ทั้งหมดนี้บรรเทาเยียวยาได้ด้วยการ “คุยกับตัวเองคนเดียว”

A person sitting on a bench

Description automatically generated with medium confidence

และยังใช้ได้ในหลากหลายสถานการณ์มากๆ ตัวอย่างเช่น

  • เพิ่มความมั่นใจ พูดกับตัวเองดังๆ ในห้องแต่งตัวก่อนขึ้นเวทีใหญ่ว่า “นายทำได้ นายทำได้…นายทำได้!!!”
  • เพิ่มความจำ พูดกับตัวเองในใจ ก่อนพรีเซนต์ต่อหน้าผู้บริหารว่า “อย่าลืมบอกตัวเลข GDP อย่าลืมบอกตัวเลข GDP!!!”
  • ขอบคุณตัวเอง เช่นพูดว่า “วันนี้นายทำได้ดีมาก เยี่ยมจริงๆ”
  • ฉุกคิดกับตัวเอง เช่นพูดว่า “รู้แหละว่าพยายามมานานแล้วแต่ก็ไม่สำเร็จ แล้วทำไมไม่ลองเปลี่ยนวิธีการ? คิดว่าใช้วิธีเดิมๆ แล้วจะได้ผลลัพธ์ใหม่ๆ เหรอ?”

Self-Talk กับเหตุผลทางวิทยาศาสตร์

Dan Ariely เคยทดลองใช้เครื่อง fMRI สแกนสมองกับผู้ร่วมทดลอง โดยให้อ่านคำคุณศัพท์ 2 แบบ

  • ด้านบวก เช่น creative / diligent / intelligent / hardworking / generous ก่อนจะพบว่า มันไปกระตุ้นพื้นที่บางจุดในสมองที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ อัตราการเต้นของหัวใจคงที่ปกติ และผู้ร่วมทดลองมีสีหน้าเบิกบาน
  • ด้านลบ เช่น boring / aggressive / lonely / hopeless / stupid ก่อนจะพบว่า มันไปกระตุ้นความทรงจำเรื่องร้ายๆ ในอดีต (Past memory of painful experiences) อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น และสังเกตสีหน้าได้ว่าแต่ละคนดูหม่นหมองลง

เรื่องนี้มีหลักการเดียวกับ Self-Talk คือการพูดกับตัวเองคนเดียวในเชิงบวก ช่วยให้เรามีกำลังใจ กระตือรือร้น ไฟลุกโชนได้จริงๆ จนไปถึงลุกขึ้นสู้ใหม่หลังเจอความล้มเหลวได้ง่ายขึ้น

Gary Lupyan ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก University of Wisconsin เผยว่า อันที่จริงแล้ว ปฏิกิริยาสมองมีแพทเทิร์นที่คล้ายกับ Self-Talk อยู่เป็นระยะตลอดทั้งวันอยู่แล้ว หรือกล่าวคือ คนเรา “คุยกับตัวเองทุกวัน” อยู่แล้ว เพียงแต่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว  

การทำ Self-Talk อย่างจริงจัง มีสติรู้เท่าทัน…จึงเหมือนเป็นการ “ดึงศักยภาพ” ออกมาให้มากที่สุดนั่นเอง

เทคนิคการพูด Self-Talk?

เดิมทีการ Self-Talk พูดกับตัวเองแบบ “อะไรก็ได้” ถือเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว เพียงแต่เทคนิคเหล่านี้จะมาช่วยดึงศักยภาพออกมาได้มากกว่าเดิม

3rd Self-Talk

นักวิจัยจาก University of Michigan แนะนำให้คุยกับตัวเองโดยทำราวกับว่ามองจาก “บุคคลที่ 3” ซึ่งจะช่วยขัดขวางอคติส่วนตัว (Self-Bias) ต่างๆ ให้ลดน้อยลงได้

A person sitting at a table using a computer

Description automatically generated with medium confidence

สมมติคุณชื่อ Tony อาจคุยกับตัวเองทำนองว่า

  • ทำไม Tony ถึงอารมณ์เสีย?
  • Tony ควรทำอย่างไรเพื่อหลุดพ้นจากอารมณ์นี้?
  • Tony มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดพลาดนี้หรือไม่?

เราจะเห็นว่าจากข้อสุดท้าย…ถ้าพูดแบบปกติว่า ฉัน/ผม อาจเกิดอคติ “ปกป้องตัวเอง”  จนพยายามบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบนั้นในที่สุด (กรณีเป็นคนทำผิดจริงๆ)

คอนเฟิร์ม

อาจจะเป็นสิ่งถูกต้องที่คุณ “รู้ดีอยู่แล้ว” แล้วใช้ Self-Talk เพื่อคอนเฟิร์มตอกย้ำความคิดนั้นๆ หรือ “ดึงสติ” ตัวเองให้กลับมาอยู่กับที่กับทาง

  • จีบสาว: “เฮ้ย กล้าๆ กลัวๆ แบบนี้แล้วเมื่อไรจะได้!!!”
  • วิ่งออกกำลังกาย: “อีกแค่ 5 กม.เอง เอาน่ะ สู้ๆๆๆ!!!”
  • การลงทุน: “หุ้นตัวนี้…รู้แหล่ะว่าเสี่ยง แต่เสี่ยงที่สุดคือปล่อยให้เงินอยู่เฉยๆ แล้วโดนเงินเฟ้อกิน”

พูดในใจ VS. พูดออกมา

อันที่จริง Self-Talk สามารถพูดในใจเงียบๆ หรือ พูดออกมาดังๆ ก็ได้ทั้งนั้นแล้วแต่ความเหมาะสมของบริบทสภาพแวดล้อม (คุณคงไม่ Self-Talk พูดออกมาเสียงดังในลิฟต์แคบๆ ที่มีคนอัดแน่น)

เพียงแต่การพูดออกมาดังๆ มักมี “น้ำหนัก” มากกว่า เพราะการพูดออกมา สมองจะโฟกัสไปที่ภาษาพูดและทำงานช้าลง มอบเวลาให้เราได้ครุ่นคิด ทบทวนความจำ และสัมผัสความรู้สึกได้ละเอียดอ่อนขึ้น 

คนขับรถไฟในญี่ปุ่นจะมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงานที่เรียกว่า ชิสะ คังโคะ 【指差喚呼】 โดยคนขับรถไฟจะ “ชี้นิ้วมือ และ พูดเสียงดังออกมา” หลังจากเช็คเรื่องหนึ่งเสร็จ เช่น 

  • ชี้นิ้วไปที่ประตูรถไฟ แล้วพูดเสียงดังว่า “ประตูรถไฟปิดแล้ว!!”
  • ชี้นิ้วไปที่มาตรวัดความเร็ว แล้วพูดเสียงดังว่า “ความเร็วที่ 60 กม./ชม.!!”

นอกจากนี้ การพูดออกมาดังๆ ยังเป็นการ “ระบาย” ความเครียด ความอัดอั้นตันใจที่เก็บไว้ข้างในได้เป็นอย่างดี

.

สุดท้าย ลองทำ Self-Talk ประจำจนเป็นนิสัย แล้วคุณอาจพบกับมุมมองใหม่ๆ ของตัวเอง ที่เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีในการทำงานและทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้น

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง