Chauffeur Knowledge: ความรู้ผิวเผินที่ถูกส่งต่อกันมา

Chauffeur Knowledge: ความรู้ผิวเผินที่ถูกส่งต่อกันมา
  • ไลฟ์โค้ชหยิบคำคมเท่ๆ จากหนังสือมาบอกต่อ
  • คนที่ไม่เคยทำธุรกิจ แต่ขายคอร์สสอนทำธุรกิจ
  • เซลส์ที่อธิบายสินค้าราวกับเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง

เมื่อใดก็ตามที่คุณเห็นใครพยายามทำตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญด้วยวาทศิลป์และลีลาการพูดอย่างมีเสน่ห์…ระวังไว้ให้ดี คุณอาจเจอกับ “Chauffeur Knowledge” เข้าให้แล้ว!!

Chauffeur Knowledge: ความรู้ผิวเผินที่ถูกส่งต่อกันมา

Chauffeur Knowledge สื่อถึงกลุ่มคนที่รู้อะไรแบบ “ผิวเผิน” แล้วส่งต่อความรู้นั้นไปให้คนอื่น (บางคนถึงขั้น “สั่งสอน”)

ราวกับโชเฟอร์คนขับรถที่แอบฟังเนื้อหาต่างๆ จากบุคคลสำคัญที่นั่งเบาะหลัง จนสามารถ “จำ” ประเด็นสำคัญๆ / หัวข้อใหญ่ๆ / คำพูดเท่ๆ ได้ทั้งหมด (แต่จะอธิบายรายละเอียดไม่ได้)

“จำเก่ง” แต่ไม่ได้ “เก่งจริง”

ความรู้มี 2 ประเภท

Charlie Munger ผู้เปรียบดั่ง “มือขวา” ของ Warren Buffett เผยว่า ความรู้แบ่งได้หลักๆ 2 ประเภท

  • Real knowledge: ความรู้เชิงลึกที่จะได้จาก “ประสบการณ์จริง”
  • Chauffeur knowledge: ความรู้แบบ “ท่องจำ”

นี่ยังเป็นเหตุผลว่าทำไม Elon Musk ต้องการคนที่มีความรู้ประเภทแรกเข้าทำงาน ผ่านคำถามสัมภาษณ์อย่าง “Tell me about some of the most difficult problems you worked on and exactly how you solved them.” 

คำถามสั้นๆ นี้แบ่งได้เป็น 2 ส่วน ซึ่งล้วนเปิดเผยได้เลยว่าแคนดิเดตคนไหน “รู้จริง”

  • “Some of the most difficult problems” ประเด็นไม่ใช่ว่าเคยแก้ปัญหายากๆ หรือไม่ แต่ให้เลือก “บางส่วนที่ยากที่สุด” มาต่างหาก เพราะคนเก่งระดับหัวกะทิมักมีประสบการณ์แก้ปัญหายากๆ มานับไม่ถ้วนแล้ว
  • “Exactly how you solved them” คนเก่งที่ลงมือแก้ปัญหาจริงจะ “เข้าใจชัดเจน” ถึงต้นตอปัญหา และ กระบวนการทุกขั้นตอนในการแก้ แถมวัดความ “ซื่อสัตย์” ได้เป็นอย่างดี เพราะคนที่โกหกแถไปเรื่อย…จะดูออก

ส่วนเหตุผลที่ใช้คำว่า “Chauffeur” นั้น คำนี้มีประวัติที่มาจากอดีต

ปี 1918 Max Planck นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันพึ่งได้รับรางวัล Nobel Prize สาขาฟิสิกส์ จากนั้นเขาได้รับเชิญไปบรรยายทั่วประเทศเกี่ยวกับ “กลศาสตร์ควอนตัม” 

ความที่เป็นหัวข้อใหม่มากๆ ทุกที่ที่ไปเยือน เขาต้องปูพื้นฐานผู้ฟังใหม่ทั้งหมด 

  • บรรยายเรื่องเดิมๆ 
  • หัวข้อเดิมๆ 
  • แพทเทิร์นเดิมๆ นับครั้งไม่ถ้วน 

จน “โชเฟอร์” คนขับรถที่ทำหน้าที่ขับพาเขาไปทุกที่และเข้าร่วมการฟังทุกครั้ง สามารถ “จำ” ประเด็นสำคัญๆ ที่เขาต้องการสื่อได้ทั้งหมด (รวมถึงลีลาท่าทางการบรรยาย)

มาวันหนึ่ง โชเฟอร์ทักคุณ Max Planck ว่าคงจะเหนื่อยและเบื่อมากเลยนะครับที่ต้องบรรยายแต่เรื่องเดิมๆ เขานึกสนุกขึ้นจึงเอ่ยว่า “สนใจให้ผมขึ้นบรรยายแทนที่ Munich ไหมครับ?” 

(สาเหตุที่ทำแบบนี้ได้เพราะสมัยก่อนยังไม่มีรูปถ่ายแพร่หลาย ผู้คนอาจรู้จักแค่ ‘ชื่อ’ แต่ ไม่เคยเห็นหน้าค่าตา)

Max Planck เห็นว่าไอเดียน่าสนใจเลยตอบตกลง พวกเขาทั้งคู่สลับบทบาทกัน Max Planck นั่งฟังบนเวทีตีเนียนเป็นโชเฟอร์ ขณะที่โชเฟอร์ตัวจริงขึ้นพูดบนเวที

ผลลัพธ์ออกมาน่าสนใจมาก ผู้ฟังดูจะตั้งใจฟัง / เพลิดเพลินไปกับเนื้อหา / ยอมรับในเนื้อหา / และให้เกียรติ “วิทยากรปลอม” บนเวทีเหลือเกิน

เรื่องน่าตลกคือ ก่อนปิดงาน จู่ๆ มีนักฟิสิกส์คนหนึ่งยกมือถามคำถามยากๆ ขึ้นกลางงาน วิทยากรปลอมใช้ไหวพริบตอบกลับไปว่า 

“ไม่น่าเชื่อว่าปัญญาชนจากมิวนิคจะถามคำถามที่แสนเรียบง่ายขนาดนี้ เอาเป็นว่า…ให้โชเฟอร์ของผมเป็นคนตอบแทนล่ะกันครับ”

ป้องกันตัวเองจาก Chauffeur Knowledge

วิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุดคือ การถาม “Why” เพราะจะทำให้รู้เหตุผลที่มาที่ไป

คนที่สามารถตอบคำถาม Why ได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ อธิบายได้ละเอียดยิบทุกขั้นตอน จำเป็นต้อง “เข้าใจ” เรื่องนั้นอย่างถ่องแท้ (ไม่ใช่แค่ ‘จำ’ เก่ง)

นอกจากนี้ “ทัศนคติ” ของอีกฝ่ายก็เป็นอีกจุดสังเกต 

อาจฟังดูขัดแย้ง แต่…คนที่รู้จริงมักมีแนวโน้มยอมรับในความไม่รู้ของตัวเอง เช่น เมื่อถูกจี้ถามถึงจุดหนึ่งและพบว่าไปต่อไม่ได้แล้ว ไม่รู้จริงแล้ว…จะมีแนวโน้มยอมรับว่า “ไม่รู้” มากกว่า

Warren Buffett เป็นอีกคนที่รู้ลึก-รู้จริง ในตลาดหุ้นและการลงทุน ด้วยประสบการณ์กว่า 80 ปี (เขาลงทุนครั้งแรกในปี 1941) 

เขาแนะนำเคล็ดลับที่เรียกว่า “Circle of Competence” ก่อนอื่นคุณต้องรู้ก่อนว่าตัวเอง “เก่งจริง” เรื่องอะไร? และสร้างขอบเขตวงกลมนั้น แล้วพึงระลึกอยู่เสมอว่า 

  • เมื่อใดก็ตามที่ออกนอกขอบเขตนี้ไปแล้ว…คุณไม่ได้รู้จริง
  • ใครที่มาจากนอกขอบเขตนี้…ก็อาจไม่ได้รู้จริงเช่นกัน

เขาเสริมต่อว่า ในวงกลมขอบเขตนี้ คุณควรคบค้าสมาคมกับกลุ่มคนที่สนใจและเก่งจริงในเรื่องที่ใกล้เคียงกัน (ไม่จำเป็นต้องเรื่องเดียวกันเป๊ะๆ) เพื่อ “ขยาย” ขอบเขตนี้ให้กว้างใหญ่ขึ้นไปอีก

ที่น่าสนใจคือ Warren Buffet บอกว่าเขาคิดเคล็ดลับนี้ขึ้นมาเพื่อริเริ่มใช้กับการลงทุนซึ่งเป็นงานหลักของเขา แต่ Circle of Competence สามารถประยุกต์ใช้ได้กับงานประเภทอื่น (รวมถึงเรื่องอื่นๆ ในชีวิตทั้งหมดเลยก็ได้)

เมื่อเรามีความรู้เชิงลึกที่มาจากผู้รู้จริงมากประสบการณ์ ย่อมทำให้ตัดสินใจได้รอบด้านขึ้นในที่สุด

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

Original Image Cr. bit.ly/3y0c3lP

อ้างอิง