Facebook ปั้นองค์กรอย่างไร? ถึงครองโลกมาได้ถึงทุกวันนี้

Facebook ปั้นองค์กรอย่างไร? ถึงครองโลกมาได้ถึงทุกวันนี้
  • Facebook เป็นโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
  • มูลค่าบริษัทกว่า 32 ล้านล้านบาท รายได้ 2.5 ล้านล้านบาท
  • เป็นแอพที่ครอง…และพลิกโฉมโลกมาถึงทุกวันนี้

ใครที่อ่านบทความนี้อยู่ ก็เป็นไปได้ว่ากำลังอ่านผ่าน Facebook ในเวลาเพียงทศวรรษกว่าๆ โซเชียลมีเดียนี้ได้เข้ามาเปลี่ยนโลกและพฤติกรรมคนในแบบที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน

Facebook…มีวิธีการปั้นองค์กรอย่างไร?

พี่มาร์ก

Facebook ก่อตั้งโดย Mark Zuckerberg กับเพื่อนอีก 4 คน ในปี 2004 ณ หอพักใน Harvard University ตอนแรกมันเริ่มมาจากการเป็นเว็ปไซต์เครือข่ายเฉพาะกลุ่มนักศึกษา Harvard เท่านั้น

  • ก่อนต่อมา ขยายไปยังมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่น
  • ก่อนจะขยายไปประเทศอื่นที่มีตลาดใหญ่
  • ก่อนขยายไปหลายทวีป

ในที่สุด ครอบคลุมทั่วโลก ปัจจุบัน Facebook มีผู้ใช้งานต่อเดือน (Active monthly users) สูงถึง 2,850 ล้านคน!! หรือคิดเป็นเกือบ 40% ของประชากรทั้งโลก

ไม่มีแอพโซเชียลมีเดียไหนในประวัติศาสตร์ที่จะมาไกลได้ถึงขนาดนี้เหมือน Facebook

  • Facebook มีผู้ใช้งาน 2.8 พันล้านคน
  • YouTube มีผู้ใช้งาน 2.3 พันล้านคน
  • WhatsApp มีผู้ใช้งาน 2 พันล้านคน (ต่อมาเป็นของ Facebook)
  • Instagram มีผู้ใช้งาน 1.3 พันล้านคน (ต่อมาเป็นของ Facebook)

ถ้านำตัวเลขผู้ใช้งานทุกแพลตฟอร์มรวมกัน (Facebook / Instagram / Messenger / WhatsApp) จะมีผู้ใช้งานทั้งหมดถึง 3,450 ล้านคน

ระบบเพื่อน

ในช่วงแรก สาเหตุหนึ่งที่ Facebook ขยายกลุ่มผู้ใช้งานได้รวดเร็วคือ “ระบบเพื่อน” ที่ทำให้เรา add friend ขยายวงสังคมไปได้กว้างไกลจากฐานข้อมูลผู้ใช้งาน เช่น เบอร์มือถือ-สถาบันการศึกษา จนเชื่อมผู้คนทั้งโลกเข้าด้วยกัน

จำนวนผู้ใช้งานต่อเดือนของ Facebook (Active monthly users)

  • ปี 2010 จำนวน 430 ล้านคน
  • ปี 2015 จำนวน 1,400 ล้านคน
  • ปี 2020 จำนวน 2,600 ล้านคน

ตลอดกว่าทศวรรษ เส้นกราฟไม่เคยดิ่งลงเลย มีแต่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อดูจากจำนวนประชากรโลกที่กว่า 7,000 ล้านคน Facebook มีแนวโน้มจะไปได้ต่อ (แม้จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง)

Facebook เป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำได้สำเร็จในสเกลใหญ่ขนาดนี้ จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “Network barrier” กีดกันแอปเกิดใหม่ที่เข้ามาในตลาดไปโดยปริยาย

News Feed

Facebook พัฒนาอัลกอริทึ่มที่เข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้งานอย่างละเอียดจน…

“อัลกอริทุ่มรู้จักเรา มากกว่า เรารู้จักตัวเอง”

เมื่อคนมีปฏิสัมพันธ์ใน Facebook ทั้งการกดไลค์เพจ / แชร์รูปภาพ / เสพคอนเทนต์…ทุกสิ่งทุกอย่าง จากนั้น อัลกอริทึ่มจะนำเสนอสิ่งที่ “ใกล้เคียง” กับความสนใจของเรา

สิ่งที่ผู้คนเห็นใน News Feed จึงสะท้อนรสนิยม / ความชอบ / ความคิดของตัวเค้าเอง และนั่นยิ่งทำให้ผู้คนใช้ Facebook นานขึ้น

เฉลี่ยทั่วโลก ผู้คนใช้ Facebook 58 นาที/วัน และนั่นนำไปสู่ข้อถัดไป


โลกทั้งใบคือโฆษณา

วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ: “บริษัทคุณจะยั่งยืนได้อย่างไร ในเมื่อผู้ใช้งานไม่ได้จ่ายเงินเพื่อใช้บริการ?”

มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก: “เอ่อ ท่านวุฒิสมาชิก…เรามีให้ลงโฆษณาครับ”

รู้หรือไม่? รายได้กว่า 95% ของ Facebook มาจาก “ค่าโฆษณา”

  • ปี 2010 Facebook มีรายได้จากค่าโฆษณาราว 56,000 ล้านบาท
  • ปี 2015 Facebook มีรายได้จากค่าโฆษณาราว 510,000 ล้านบาท
  • ปี 2020 Facebook มีรายได้จากค่าโฆษณาราว 2,500,000 ล้านบาท

ค่าโฆษณานี้ก็มาจากบรรดาแบรนด์ที่จ่ายค่าโฆษณาลงโปรโมทสินค้าบริการของตัวเอง นี่คือแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก ในแต่ละวันมีคนใช้ Facebook กว่า 1.8 พันล้านคน

ที่ไหนมีคน…ที่นั่นมีโอกาสขาย

โดยเฉพาะสถานที่ที่มีคนมาก และ ใช้เวลาอยู่นาน อย่าง Facebook

การอ่าน

ในการเสพข้อมูลมหาศาล การ “อ่าน” ยังเป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพอันดับต้นๆ สามารถเสพข้อมูลเยอะ-แต่ใช้เวลาน้อย 

นอกจากนี้ Facebook ยังให้ความสำคัญกับ “รูปภาพ & วิดีโอ” ที่สะดวก รวดเร็ว ใช้งานง่าย บางกรณีอาจไม่น้อยหน้าแพลตฟอร์มวิดีโอยักษ์ใหญ่อย่างเช่น YouTube เลย ซึ่งก็ดึงเวลาคนให้อยู่ใน Facebook ได้นานขึ้น

ตรงนี้เราจะสังเกตว่า 

  • การรับชมรูปภาพ-วิดีโอ…ทำได้ทั้งใน Facebook และ YouTube
  • แต่บทความตัวอักษร…Facebook จะเหนือกว่า YouTube ชัดเจน
  • แม้แต่ Twitter ที่มีข้อจำกัดด้านตัวอักษร ก็เป็นเนื้อหาคนละแนว เน้นใจความสั้นๆ

Facebook รองรับแทบทุกรูปแบบการเสพข้อมูลของคน

Acquisition

ปี 2012 Facebook นำบริษัทเข้าตลาดหุ้นระดมทุนไปได้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในตอนนั้นเกือบ 5 แสนล้านบาท

ใครที่ลงทุนใน Facebook ที่ราคา IPO…เมื่อถึงปี 2020 จะมีอัตรากำไรเฉลี่ยที่ 23.3% ต่อปีเลยทีเดียว

บริษัทนำเงินตรงนี้ไปพัฒนาระบบของตัวเองให้ดียิ่งขึ้นและไล่เทคโอเวอร์บริษัทที่มีศักยภาพ(ตัดคู่แข่งแต่ต้นลมไปในตัว)

  • ปี 2012 เข้าซื้อ Instagram ด้วยมูลค่า $1 billion 
  • ปี 2014 เข้าซื้อ WhatsApp ด้วยมูลค่า $20 billion
  • ปี 2014 เข้าซื้อ Oculus VR ด้วยมูลค่า $2 billion

House Brands

ไม่ต่างจากเจ้าของร้านสะดวกซื้อที่เห็นแบรนด์ไหนขายดี ตัวเองก็มักทำ House Brand ออกมาแย่งส่วนแบ่งตลาด

แอพหรือฟีเจอร์ไหนที่กำลังมาแรง Facebook จะรีบเข้าไปเจรจาเทคโอเวอร์ แต่ถ้าแบรนด์นั้นไม่ยอมขาย Facebook จะสร้างมันขึ้นมาเอง เช่น

  • ถูกปฏิเสธจาก Snapchat เลย…ซื้อสร้างฟีเจอร์ Stories ขึ้นเอง
  • เห็น Clubhouse โตระเบิด…จึงรีบออก Live Audio Rooms มาท้าชน

ระบบนิเวศน์ของตัวเอง

ทุกวันนี้ผู้คนก็ “ติด Facebook” กันวันละหลายชั่วโมงแล้ว จากบรรดาแอปในเครือและอัลกอริทึ่มอันชาญฉลาด

ประเทศที่มีผู้ใช้งาน Facebook ติดอันดับโลก

  • อินเดีย 330 ล้านคน (24% ของประชากรทั้งประเทศ)
  • อเมริกา 190 ล้านคน (58% ของประชากรทั้งประเทศ)
  • อินโดนีเซีย 140 ล้านคน (52% ของประชากรทั้งประเทศ)
  • บราซิล 130 ล้านคน (62% ของประชากรทั้งประเทศ)
  • ไทย 52 ล้านคน (75% ของประชากรทั้งประเทศ)

แต่ Facebook ยังต่อยอดและพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่จะยิ่งรวมทุกอย่างในที่เดียว

  • โฟกัส Facebook Marketplace ต่อยอด E-Commerce
  • พัฒนาระบบชำระเงินของตัวเอง เช่น สกุลเงินดิจิทัล Diem
  • Oculus แว่น VR ที่จะเป็นพระเอกสู่โลกเสมือน
  • Building 8 แผนกวิจัยที่จะเชื่อมสมองคนเข้ากับคอมพิวเตอร์

A Metaverse Company

ด้วยความเพียบพร้อมของระบบนิเวศน์ที่มีอยู่ในมือตอนนี้ ล่าสุด Mark Zuckerberg ออกมาประกาศชัดว่าพร้อมแล้วที่เดินหน้าสู๋การเป็น “Metaverse Company” นี่คืออีกก้าวต่อไปในทศวรรษจากนี้ของ Facebook (และของโลก)

Metaverse คือการรวมกันของ “โลกจริง-โลกเสมือน” ที่ผสานกันจนแยกไม่ออก เราใช้ชีวิตอยู่ทั้งสองโลก-มีตัวตนอยู่ทั้งสองโลก และโลกเสมือนไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าโลกจริงเลย (คล้ายกับหนัง The Matrix / Avatar / Ready Player One)

Mark Zuckerberg กล่าวว่า เค้าไม่ได้จำกัด Facebook เป็นแค่โซเชียลมีเดียอีกต่อไป(เพราะทำสำเร็จมาแล้ว) แต่ตั้งใจให้เป็น Metaverse Company ให้ได้ในอีก “5 ปีข้างหน้า” (ปี 2026)

ประสาทสัมผัสของมนุษย์ในแบบลึกซึ้ง

  • สภาพแวดล้อม บรรยากาศเหมือนไปอยู่หน้างานจริงๆ
  • เสียงพูดของคนในห้องประชุมที่ได้ยินราวกับนั่งอยู่ข้างๆ
  • มิติกว้าง-ลึก-สูง-ต่ำ ที่ตามนุษย์รับรู้

สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนได้ แต่ทำผ่านอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ Metaverse ได้ ซึ่งจะสร้าง “ประสบการณ์” ของโลกจริงลงสู่โลกเสมือน (จนเราแยกแทบไม่ออก)

ต่อไปนี้…

  • เวลาทำงาน คุณอาจไปนั่งดื่มกาแฟในร้าน ก่อนใส่แว่น VR และโบกมือเปิดระบบโต๊ะทำงานเสมือน ราวกับอยู่ออฟฟิศที่มีอุปกรณ์ครบครัน
  • เวลาประชุมทางไกล ก็แค่ฉาย โฮโลแกรม (Hologram) ผู้ร่วมประชุมให้มานั่งรวมกัน
  • เวลาอยากคุยกับคนทางไกล ก็แค่ เทเลพอร์ต (Teleport) มาอยู่ในห้องรับรองของโลกเสมือนที่คุณจัดเตรียมไว้ให้

ฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่ทีมงาน Facebook กำลังพัฒนาสิ่งเหล่านี้อยู๋

Mark Zuckerberg บอกว่าทั้งหมดนี้ จะเกิดอาชีพใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ กฎระเบียบใหม่ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในโลกเสมือน

เรื่องนี้ยังใหม่ ความเป็นไปได้ยังคลุมเคลือ อาจยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมนัก ฟังดูเป็นเรื่องของอนาคต…แต่คำว่า “อนาคต” ในวงการเทคโนโลยี อาจหมายถึงแค่ 5-6 ปีจากนี้

ซึ่งถ้า Facebook ทำได้สำเร็จจริง คงจะครองทั้งโลกจริงและโลกเสมือน และฉีกตำราชุดความคิดเก่าๆ 

  • คนยุคก่อน พร่ำสอนให้เราออกจากโลกนิยาย กลับมาเผชิญหน้าโลกความจริง 
  • แต่ยุคนี้ พี่มาร์คบอกว่า​ให้เราออกจากโลกความจริง​ แล้วเข้าไปสู่โลกนิยาย

แต่ที่แน่ๆ มันจะเปิดประตูสู่จินตนาการในแบบที่เราไม่เคยคาดฝันมาก่อน…

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง