False Causality: สิ่งที่เกิดก่อนไม่ใช่ “สาเหตุ” เสมอไป

False Causality: สิ่งที่เกิดก่อนไม่ใช่ “สาเหตุ” เสมอไป
  • ยิ่งจ้างพนักงานดับเพลิงมากเท่าไร…ไฟไหม้ยิ่งเกิดบ่อยเท่านั้น
  • ยิ่งทาครีมกันแดดบ่อยๆ ยิ่งก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง
  • ท้องเสียหลังกินกาแฟเสร็จ กาแฟต้องเป็นสาเหตุแน่ๆ

ถ้าดูเผินๆ ก็ฟังดูมีเหตุผล แต่เดี๋ยวนะ…มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เหรอ? หรือว่าคุณกำลังตกหลุมพราง “False Causality” อยู่กันแน่?!!

False Causality สิ่งที่เกิดก่อน ไม่ใช่สาเหตุเสมอไป

False Causality คือกับดักทางความคิดที่เราด่วนสรุปไปเองว่า “A ทำให้เกิด B” (A เป็นสาเหตุของ B) ทั้งที่ความจริงแล้ว… 

  • อาจเป็น B ต่างหากที่ทำให้เกิด A
  • หรือ C ต่างหากที่ทำให้เกิด B
  • หรือแม้แต่…ทั้งคู่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันแต่แรกอยู่แล้ว!!

เช่น ลม VS. กังหันลม…เมื่อเห็นกังหันลม (Windmill) หมุนๆๆ เราอาจเผลอคิดไปว่า “กังหันลมทำให้เกิด 🡺 ลม” 

แต่คำตอบทางวิทยาศาสตร์คือ ลมเกิดจากการเคลื่อนที่ของอากาศสองแห่งที่มี อุณหภูมิต่างกัน…การเกิดลมจึงไม่จำเป็นต้องมีกังหันลม แต่กังหันลมจะหมุนได้จำเป็นต้องมีลมมาผลิตพลังงานให้หมุน

เราจะเริ่มเห็นแล้วว่า False Causality เป็นเรื่องอันตรายมาก เมื่อคิดผิด สรุปผิด ก็นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดเต็มๆ

False Causality เกิดขึ้นได้อย่างไร?

โดยปกติ มนุษย์มักเริ่มต้นคิดวิเคราะห์จากสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนเป็นที่ตั้ง (Anchor) อะไรที่เกิดก่อน จึงมักถูก “ตีความ” ว่าเป็นสาเหตุ

และโลกปัจจุบันเต็มไปด้วย ”ข้อมูลท่วมท้น” (Overloaded Information) เราจึงมีโอกาสเผลอหยิบโน่น-หยิบนั่น จับมาเชื่อมโยงกันมั่วๆ ผิดๆ เต็มไปหมด

นอกจากนี้ ยังมักเกิดขึ้นกับอะไรที่ “ฟังดูดีมีเหตุผล” ตั้งแต่แว่บแรกที่ได้ยิน 

คุณ Daniel Kahneman นักจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกให้เหตุผลว่า เรื่องนี้ทำงานระดับจิตใต้สำนึก และเป็นอีกหนึ่งการ Thinking Fast การคิดอย่างรวดเร็วฉับไวของสมองมนุษย์ เพื่อทำความเข้าใจและด่วนสรุปเรื่องนั้นทันที 

โดยคนเรามักสรุปสิ่งที่มีความสัมพันธ์กัน (Correlation) ว่าเป็นเหตุและผลของกันและกัน (Causation) ซึ่ง 2 สิ่งนี้…ต่างกัน

Correlation VS. Causation 

เรื่องหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ได้คือ เราต้อง “แยก” ให้ออกระหว่าง 

  • มีความสัมพันธ์กัน (Correlation) 
  • เป็นเหตุและผลกัน (Causation)

“Correlation เป็นคนละเรื่องกับ Causation”

เช่น “ถ้าวันไหนฝนตก…ถนนจะเปียก” ทั้งคู่มีความสัมพันธ์กัน แต่ ไม่ใช่เหตุและผลกัน

สมมติ วันนี้คุณขับรถผ่านพบว่า “ถนนเปียก” จึงรีบด่วนสรุปเลยว่า “วันนี้ฝนตก” ซึ่งก็โดน False Causality เข้าให้แล้ว เพราะสาเหตุที่แท้จริงอาจเป็น ท่อระบายน้ำละแวกนั้นแตกจนน้ำทะลักเจิ่งนองพื้นผิวถนนก็ได้

อีกตัวอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น ปกติคุณกิน “น้ำเต้าหู้” เป็นอาหารเช้า อยู่มาวันหนึ่ง เกิดเปลี่ยนใจหันไปกิน “กาแฟ” แทน และดัน “ท้องเสีย” ในเวลาต่อมา 

คุณจึงสรุปว่า…กาแฟเช้านี้ทำให้ท้องเสีย ซึ่งก็เป็น False Causality มันไม่จริงเสมอไป อาการท้องเสียอาจมาจากอาหารเมื่อคืนที่คุณกินก็ได้

False Causality รอบตัวเรา

เรียกได้ว่ากับดักทางความคิดอย่าง False Causality วนเวียนอยู่ทุกเรื่องรอบตัวเรา ตัวอย่างต่อไปนี้น่าจะทำให้เราฉุกคิดมากขึ้น

หนึ่งในตัวอย่างสุดคลาสสิกคือ “ครีมกันแดดทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง”

แต่ความจริงแล้วเป็นเพราะ เมื่อคนทาครีมกันแดด ก็มักมีความมั่นใจว่าตัวเองได้รับการปกป้องอย่างดีเยี่ยม จึงมักออกไป “ตากแดด” โดยไม่ระวัง…สุดท้าย เมื่อตากแดดนานเกินพอดี ต่อให้ครีมกันแดดคุณภาพดีแค่ไหนก็ไม่ช่วย…มะเร็งผิวหนังจึงถามหาในที่สุด

ด้านการศึกษา

เคยมีพาดหัวข่าวว่า เด็กที่เติบโตมาในบ้านที่มีหนังสือเยอะจะเรียนเก่ง

แต่ความจริงอาจคือ บ้านที่มีกองหนังสือเยอะ มักจะมีพ่อแม่ที่มีการศึกษาและให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ พวกเขาจะเลี้ยงดูลูกอย่างมีหลักการ สอนการบ้านอย่างใกล้ชิด ปลูกฝังการอ่าน…เด็กจึงเรียนเก่งในที่สุดนั่นเอง

ด้านการแพทย์

คนมักคิดว่าเทคโนโลยีการแพทย์ทำให้อายุขัยตามธรรมชาติของมนุษย์สูงกว่าสมัยก่อน แต่ข้อมูลอีกด้านจากแวดวงนักวิทยาศาสตร์คือ 

เทคโนโลยีการแพทย์ไม่ได้ช่วย “ยืด” (Extend) อายุขัยของมนุษย์ แต่แค่ช่วยให้เรา “ไปถึง” (Reach)  อายุขัยของเรา ณ ปลายทางต่างหาก

  • คนโบราณอาจมีอายุขัย 90 ปี พออายุ 50 เกิดป่วยหนัก แต่ไม่มียารักษา เลยเสียชีวิตที่อายุ 50 ปี
  • คนปัจจุบันอาจมีอายุขัยเท่าเดิมที่ 90 ปี พออายุ 50 เกิดป่วยหนัก แต่มียารักษาหาย เลยมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 90 ปี

ด้านองค์กร

สมมติมีคำกล่าวว่า ยิ่งมีผู้หญิงในบอร์ดบริหารมากเท่าไร บริษัทยิ่งกำไรมากขึ้นเท่านั้น

ซึ่งความจริงแล้วอาจกลับตาลปัตรก็ได้ เพราะบริษัทที่มีกำไรดี อาจว่าจ้างผู้หญิงเก่งมาอยู่ในบอร์ด เพื่อเสนอไอเดียมุมมองที่หลากหลายขึ้น? (ไม่ใช่มีแต่มุมมองผู้ชาย)

ด้านการศึกษา

มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกล้วนผลิตแต่คนเก่งๆ ที่จะไปเป็นผู้นำในแวดวงต่างๆ ต่อไป

หรือความจริงแล้วอาจเป็นตรงกันข้าม? 

เพราะคนที่เก่งเป็นทุนเดิม มักมีโอกาสได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำอยู่แล้ว แม้คนเหล่านี้จะเรียนมหาวิทยาลัยอื่นที่ Ranking ต่ำลงมา ก็อาจยังประสบความสำเร็จในอนาคตอยู่ดี?

(ปี 2017 Harvard University ต้องเป็นฝ่ายมอบปริญญาให้แก่ Mark Zuckerberg หลังจากเจ้าตัวดรอปเรียนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว!!) 

ด้านสิ่งแวดล้อม

มีข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 1950s ปริมาณ CO2 ในชั้นบรรยากาศ และ ความอ้วน เพิ่มขึ้นพร้อมกันอย่างรวดเร็ว…จึงสรุปไปว่า ปริมาณ CO2 ในชั้นบรรยากาศ ก่อให้เกิดโรคอ้วน

ทั้งที่ความจริงแล้ว อยู่ปัจจัยที่ 3 อย่าง “ฐานะความร่ำรวย” เมื่อคนมีเงินมากขึ้น ก็บริโภคกันมากขึ้น (กินบุฟเฟ่ต์บ่อยๆ) และ ทำกิจกรรมที่ปล่อย CO2 มากขึ้น (ขับรถแทนการนั่งขนส่งมวลชน)

หรือ พอมีโรงงานเคมีมาตั้ง ชุมชนแถวนั้นก็เป็นมะเร็งมากขึ้น คนอาจทึกทักไปว่าโรงงานเคมีเป็นสาเหตุทำให้คนในชุมชนเป็นมะเร็ง

แต่ความจริงแล้วอาจเป็นได้ว่า…เมื่อโรงงานเคมีมาตั้ง ทำให้ที่ดินราคาตกฮวบ เลยดึงดูดผู้มีรายได้น้อยมาอยู่อาศัย ชีวิตความเป็นอยู่คนกลุ่มนี้อาจไม่ค่อยดี มีโภชนาการไม่ดีและไม่สามารถเข้าถึงการแพทย์ จึงเป็นมะเร็งเยอะในที่สุด

วิธีป้องกัน False Causality

สิ่งแรกที่ทำได้ทันทีเดี๋ยวนั้นคือ “อย่าพึ่งรีบด่วนสรุป”

  • สิ่งที่ดูเหมือนเป็น “สาเหตุ” ตอนแรก…กลายเป็น “ผลลัพธ์” ตอนหลัง
  • สิ่งที่ดูเหมือนเป็น “ผลลัพธ์” ตอนแรก…กลายเป็น “สาเหตุ” ตอนหลัง

และบางครั้ง ทั้งสองสิ่งอาจไม่ได้เป็นเหตุและผลซึ่งกันเลย (เป็นแค่ Correlation)

.

ระลึกไว้ในใจเสมอว่า “Correlation ไม่ใช่ Causation”

มันมีความสัมพันธ์กันก็จริง แต่ ไม่ได้เป็นเหตุและผลแก่กัน

นอกจากนี้ ต้องอาศัย Critical Thinking อยู่ไม่น้อย และทุกผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ ควรต้องมีทฤษฎี-หลักการมาสนับสนุน 

หมั่นตั้งคำถาม “How” อธิบายให้ได้ว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร? (พร้อมหลักฐาน)

ทั้งหมดนี้ นอกจากจะทำให้เราตกผลึกความคิดด้านการทำงานมากขึ้นแล้ว ยังตกผลึกสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างตาสว่างมากขึ้นนั่นเอง

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง