Forer Effect: ทำนายแบบนี้…ใครๆ ก็ว่าแม่น

Forer Effect: ทำนายแบบนี้…ใครๆ ก็ว่าแม่น
  • “คุณโอบกอดการเปลี่ยนแปลง และพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ”
  • “ลึกๆ แล้วคุณอยากเป็นที่ยอมรับในสังคม”
  • “คุณภูมิใจที่มีความคิดอิสระเป็นของตัวเอง”
  • “ช่วงนี้ตลาดผันผวน เราแนะนำให้คุณระวังการลงทุน”

ช่างเป็นคำพูดที่คมคาย แต่เมื่อพิจารณาดีๆ…มันก็เข้าข่ายทุกคนไม่ใช่เหรอ? ถูกต้องแล้ว นี่คือกับดักสุดแนบเนียนที่เรียกว่า “Forer Effect” 

Forer Effect: พูดแบบนี้ใครๆ ก็พูดได้

คิดค้นโดยคุณ Bertram Forer (1914-2000) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เขาค้นพบว่าจะมีบางชุดความคิด-ประโยค-คำพูด ที่ “เป็นกลาง…ใครๆ ก็เข้าข่าย” เหมือนกันหมด (Universal description) พูดไปแล้วถูกจริตกับทุกคน…ใช้ได้กับทุกคน!! 

เขานิยามมันว่า “Forer Effect” ตามชื่อตัวเอง

เรื่องนี้เขาไม่ได้คิดทึกทักขึ้นเอง แต่พิสูจน์แล้วจากการทดลอง

ปี 1948 Bertram Forer ทำการทดลองโดยเขียนคำบรรยายที่ “สะท้อนตัวตน” เหล่านักศึกษาของเขา และให้แต่ละคนมอบคะแนนลงไประหว่าง 1-5 (5 = ใกล้เคียงที่สุด) เช่น

  • มีแรงขับภายในอันแรงกล้าที่อยากเป็นที่ชื่นชอบและยอมรับจากผู้อื่น
  • รู้ตัวว่ามีข้อเสียบางอย่าง และยังใช้ศักยภาพที่มีอยู่ไม่เต็มที่
  • แม้ภายนอกจะดูแข็งแกร่ง แต่บางครั้งภายในช่างบอบบาง
  • บ่อยครั้ง กังวลว่าสิ่งที่ทำลงไปจะถูกต้องหรือไม่
  • โอบกอดการเปลี่ยนแปลง และพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ
  • ภูมิใจในตัวเองที่มีความคิดเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อใครง่ายๆ
  • คิดว่าไม่ฉลาดนัก ที่จะเปิดเผยตัวตน 100% แก่คนแปลกหน้า
  • บางครั้งเป็น Extrovert เข้าสังคมเก่ง บางครั้งก็เป็น Introvert ชอบความเป็นส่วนตัว สำรวมกิริยาท่าทาง

โดยแต่ละคนได้ข้อความเหล่านี้เหมือนกันหมด และผลปรากฎว่า คะแนนเฉลี่ยที่นักศึกษาให้คือ 4.3/5 แปลว่า คำอธิบายเหล่านี้ใกล้เคียงกับตัวตนที่แท้จริงของเหล่านักเรียนถึง 86%

นักศึกษาหลายคนเซอไพรส์มาก ไม่คิดว่าอาจารย์จะใส่ใจสอดส่องนิสัยพฤติกรรมพวกเขาขนาดนี้ “อาจารย์แม่นมาก!! รู้ได้ยังไงเนี่ย…ขอบคุณที่เป็นห่วงครับ/ค่ะ!!”

และที่เหลือเชื่อคือ คำอธิบายตัวตนดังกล่าว  Bertram Forer สรุปเอามาจาก “หนังสือดูดวง” ทั้งหลาย (ไม่แปลกเลย ทำไมผู้คนถึงเชื่อหมดใจกับเหล่าหมอดู)

ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา การทดลองนี้ได้ถูกทำซ้ำอีกนับร้อยครั้งกับผู้ทดลองหลากหลายกลุ่ม และทั้งหมด…ล้วนให้ผลลัพธ์แทบจะเหมือนเดิม!! (คะแนนอยู่ระหว่าง 4-5)

Forer Effect ในธุรกิจ

เมื่อรู้เช่นนี้ ในฐานะผู้นำองค์กร เราต้องระมัดระวังคำแนะนำจากปากกูรูรอบตัวให้มากขึ้น เพราะ Forer Effect มักทรงพลังเป็นพิเศษกับเหล่า “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่มีความน่าเชื่อถือเป็นทุนเดิม พูดอะไรมาล้วนฟังดูมีเหตุผล…แต่พอคิดดูดีๆ ก็ general ทั่วไป

นักวิเคราะห์หุ้น: 

  • “หุ้นตัวนี้มีศักยภาพในการโตได้อีกมากถ้าปัจจัยพร้อม”
  • “หุ้นไทยมีโอกาสรีบาวด์สั้น หลังแรงเทขายหนักเริ่มหมดลง”
  • “เฝ้าระวังหุ้นตัวนี้ไว้ เพราะมีสัญญาณเชิงลบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
  • “ตลาดหุ้นวันนี้ผันผวนรุนแรง นักลงทุนไทยไม่ควรวางใจในสถานการณ์”

นักขาย

  • “บริการนี้จะมาแก้ปัญหาให้คุณในราคาที่คุ้มค่า”
  • “ผมไม่ได้มาขายของ แต่ผมมาช่วยแก้ปัญหาให้คุณ”
  • “สินค้านี้ช่วยบริษัทคุณให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น”

หมอดู-ซินแส-โหราจารย์ทั้งหลาย: ผู้ใช้บริการมักเจอกับ “คำทำนายที่ไม่มีวันผิด” เช่น 

  • “ช่วงนี้มีเรื่องกังวลใจใช่ไหม?” (ทุกคนมีอะไรในใจอยู่แล้ว ไม่งั้นคงไม่มาหาหมอดู)
  • “เดือนหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้น…จับตาดูไว้ให้ดี”
  • “ดวงจากนี้…ชีวิตจะมีเรื่องให้เรียนรู้เติบใหญ่ขึ้น”

รู้เท่าทัน Forer Effect

ถ้าเจอกับ “คาแรคเตอร์ทั้ง 4” เหล่านี้ ขอให้ระวังตัวไว้คุณอาจเจอกับ Forer Effect เข้าให้แล้ว!! โปรดแยกแยะให้ดี…จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ

  1. ข้อความฟังดูเป็นเรื่องทั่วไปเกิน (Too general) จนแทบจะเกี่ยวข้องกับทุกคน
  • “บางครั้ง คุณกังวลกับการกระทำของตัวเองว่าอาจให้ผลลัพธ์ที่ผิดคาด”

ฟังดูน่าสนใจ..แต่ใครบ้างที่ไม่เคยคิดแบบนี้?

  1. ข้อความยกยอเกินจริง (Flattering statement)
  • “คุณภูมิใจในตัวเองที่มีความคิดเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อใครง่ายๆ”

แน่นอนอยู่แล้ว…ทุกคนย่อมมีความคิดที่แน่วแน่เป็นของตัวเองไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง

  1. ข้อความมีแต่คำแง่บวก (Feature-positive effect) แค่บอกว่าคุณเป็นใคร
  • “คุณคิดว่ามันไม่ฉลาดนักที่จะเปิดเผยตัวตน 100% แก่คนแปลกหน้า”

แทนที่จะใช้คำว่า “โง่เขลา” กลับใส่คำว่า “ไม่ฉลาดนัก” แทน

อะไรที่เป็นด้านบวกมักฟังดูดีมีพลัง แค่นั้นผู้คนก็พร้อมเชื่อแล้ว

  1. ข้อความที่ยืนยันความเชื่อทุกคน (Confirmation bias)
  • “คุณมีแรงขับภายในอยากเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม”

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม…ใครบ้างไม่อยากเป็นที่ยอมรับจากผู้คน?

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น 

  • ความน่าเชื่อถือของตัวผู้พูด (มีใบ Certificate)
  • ความ Exclusive (วิเคราะห์ข้อมูลนี้เฉพาะคุณเท่านั้น)
  • แทรกคำอย่าง “บางครั้ง” เพื่อให้ดูสมจริงขึ้น

การรู้เท่าทัน Forer Effect เราจะไม่หลงระเริงไปกับคำพูดอันไพเราะที่ถูกจริต นำไปสู่การวิเคราะห์สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องในที่สุด

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง