Grab ปั้นองค์กรอย่างไร? สู่ระบบนิเวศน์ที่ปฏิวัติพฤติกรรมผู้บริโภค

Grab ปั้นองค์กรอย่างไร? สู่ระบบนิเวศน์ที่ปฏิวัติพฤติกรรมผู้บริโภค
  • Grab มีมูลค่าตลาดกว่า 1.2 ล้านล้านบาท รายได้ 72,000 ล้านบาท
  • ผู้ใช้งานกว่า 187 ล้านคน ใน 8 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • และบริการแสนครบครันชนิด “เปลี่ยนพฤติกรรม” ของคนเรา

จากจุดเริ่มต้นของบริการเรียกรถ Taxi…สู่ระบบนิเวศน์ที่ครอบคลุมแทบทุกไลฟ์สไตล์ของชีวิตคนเมือง

…Grab มีวิธีปั้นองค์กรอย่างไร?

เพราะ Pain Point แท้ๆ

Grab Holding Inc. เป็นบริษัท Startup สัญชาติมาเลเซีย (แต่มี HQ ที่สิงคโปร์) เกิดใหม่เมื่อปี 2012 นี้เอง ก่อตั้งโดยคุณ Anthony Tan และ Tan Hooi Ling 

ทั้งสองมาพบกันเมื่อไปเรียนต่อ MBA ที่ Harvard Business School โดยไอเดียการทำธุรกิจ Grab นั้น มีรากเหง้ามาจากการชนะการประกวด (Pitch contest) ที่จัดโดยคณะที่เรียนในปี 2011 จากนั้น ทั้งคู่นำเงินรางวัลที่ได้ราว $250,000 มาเริ่มต้นพัฒนาระบบ

ย้อนกลับไป เดิมทั้งคู่อาศัยอยู่ในกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และปัญหาหนึ่งที่ประสบพบเจอมาตั้งแต่เด็กคือ “เรียก Taxi ยาก” 

  • Taxi มีน้อย ไม่พอกับความต้องการบางเวลา
  • พาอ้อม โดนโกงค่าโดยสาร
  • คนขับพูดจาไม่สุภาพ ไม่รักษากฎจราจร
  • รถเก่า สกปรก กลิ่นเหม็น

ความ “ไร้มาตรฐาน” เหล่านี้เป็นหนึ่งใน “Collective Pain Point” อันใหญ่หลวงที่ผู้อยู่อาศัยพบเจอได้ทั่วไปในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา 

ทั้งคู่จึงคิดหาวิธีนำเทคโนโลยีเพื่อมาแก้ Pain Point นี้ แม้นี่จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในตอนนั้นได้มี Uber ในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มพิสูจน์แล้วว่าเวิร์คตลาดตอบรับ…เพียงแต่ยังไม่มีใครทำมาก่อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ด้วยประชากรกว่า 650 ล้านคน

ถ้าทำสำเร็จ…จะปลดทุกข์คนนับล้านได้เลย

GrabTaxi จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2012 โดยเป็นแพลตฟอร์มเรียกรถ Taxi แบบ On-demand โดยทาง Grab จะได้ค่าส่วนแบ่ง Commission เป็นรายได้

จุดเริ่มต้นคือที่มาเลเซีย ก่อนจะขยายไปทั่วภูมิภาคให้บริการครอบคลุมใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย / มาเลเซีย / สิงคโปร์ / อินโดนีเซีย / กัมพูชา / พม่า / เวียดนาม / ฟิลิปปินส์

ตลอดเวลาเกือบทศวรรษที่ผ่านมา จาก GrabTaxi ก็ได้ขยายบริการออกไปมากมาย ขึ้นสู่ตำแหน่ง “Decacorn” สตาร์ตอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 300,000 ล้านบาทแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

The Massive Funding

เบื้องหลังที่ทำให้ Grab ขยายอาณาจักรได้รวดเร็วขนาดนี้มาจาก “นักลงทุนรายใหญ่” ที่มองเห็นศักยภาพธุรกิจและคอยสนับสนุนมาโดยตลอด

ยกตัวอย่างดังๆ เช่นในปี 2019 ได้เงินลงทุนเฉพาะจาก “Softbank Vision Fund” (กองทุนในเครือบริษัท Softbank ของญี่ปุ่น) สูงถึง 40,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนรายใหญ่อื่นๆ เช่น Toyota / Yamaha / Hyundai / Microsoft / Ping An Capital รวมกันแล้วมีเงินลงทุนกว่า 135,000 ล้านบาท!! 

เม็ดเงินเหล่านี้ถูกใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตก้าวกระโดด ผลผลิตใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคใช้งานอยู่ทุกวันนี้อย่าง GrabDelivery / GrabTransport / GrabHotels / GrabPackages และอีกมากมาย ล้วนมีต้นทางมาจากเงินลงทุนเหล่านี้ทั้งสิ้น

โมเดลธุรกิจแบบเผาเงิน

ด้วยเงินทุนมหาศาลจากนักลงทุนรายใหญ่ Grab จึงเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ใช้โมเดลธุรกิจแบบ “เผาเงิน” ได้ เพราะความได้เปรียบจากการมีสายป่านทางการเงินที่ยาวพอ

โมเดลนี้ต้องทุ่มงบจัดโปรโมชั่นคุ้มค่าและราคาถูก เพื่อดึงดูดลูกค้าผู้ใช้งานให้เข้ามาในระบบมากที่สุด รายได้เพิ่มอย่างรวดเร็วและ “คาดหวังการทำกำไร” ในอนาคต

(เกือบ 10 ปีผ่านไป ล่าสุดบริษัทออกมาประกาศแล้วว่า GrabTaxi ได้ผ่านจุด Break-even point ไปแล้ว ต่อไปนี้มุ่งหน้าสู่การทำกำไร)

แม้จะ “ขาดทุน” ทุกปีอย่างต่อเนื่อง แต่ “รายได้ และ จำนวนผู้ใช้บริการ” กลับเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน เช่นที่เมืองไทย ปี 2019 รายได้อยู่ที่ราว 3,200 ล้านบาท แต่ยังขาดทุน 1,600 ล้านบาท

ในระยะแรกนี้ ในมุมมองฝั่งผู้บริโภคแทบจะมีแต่ได้กับได้ คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป

นอกจากนี้ การมีฐานผู้ใช้งานอยู่ในระบบจำนวนมาก จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะสเกลขยายไปสู่ธุรกิจรูปแบบอื่นๆ ดังที่เราเห็นกันทุกวันนี้ Grab มีธุรกิจมากกว่า 10 บริการเข้าไปแล้ว

Acquisition

หนึ่งในกลยุทธ์ที่ Grab ใช้คือ เข้าซื้อกิจการ (Acquisition) เพื่อลดคู่แข่งในตลาดและเสริมแสนยานุภาพตัวเอง

ดีลที่ฮือฮากันมากคือในปี 2018 Grab ได้เข้าซื้อกิจการทั้งหมดของ Uber’s Southeast Asia และคงความเป็นเจ้าตลาด Asset Sharing มาถึงทุกวันนี้ (เราจะไม่เห็นแบรนด์ Uber ในภูมิภาคนี้แล้ว…แต่บริษัท Uber ยังคงถือหุ้นใน Grab อยู่ 27.5%)

ย้อนกลับไปในปี 2017 Grab ยังได้เข้าซื้อ Kudo สตาร์ตอัพด้านการชำระเงินของอินโดนีเซียที่มีฐานผู้ใช้งานมหาศาล เพื่อต่อยอดบริการของตัวเองอย่าง GrabPay ในประเทศนี้

การเข้าซื้อกิจการลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นอีกบ่อยครั้งใน 8 ประเทศภูมิภาคนี้ที่ Grab ดำเนินการ

Timing ได้

เรื่องหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันคือ Grab เข้ามาได้จังหวะพอดีกับช่วงการเติบโตของหลายภาคส่วนที่สนับสนุนเรื่องนี้

  • จำนวนผู้ใช้งาน Smartphone
  • ความเร็วและการเข้าถึง Internet
  • การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ E-commerce

เราจะเห็นว่าทุกอย่างเติบโตไปพร้อมกันอย่างก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ธุรกิจพระเอก

Grab พึ่งจะแตกธุรกิจส่งอาหารอย่าง “GrabFood” เมื่อปี 2018 และเติบโตอย่างก้าวกระโดดกลายเป็นพระเอกขององค์กรทันที บริการส่งอาหารนี้เรียกว่ามาเสริมทัพให้บริษัทแข็งแกร่งพร้อมโตระเบิดในอนาคตอันใกล้

GrabFood มักเป็น “บริการแรกๆ” ที่ผู้ใช้งานเลือกใช้บริการ กล่าวคือ “อาหารคือปัจจัย 4 ของมนุษย์” ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อผู้บริโภคทดลองใช้ GrabFood สั่งอาหารมานั่งกินที่บ้านอย่างสะดวกสบาย(และในราคาคุ้มค่า) ก็อาจลองใช้ “บริการอื่นๆ” ของ Grab ที่มีอยู่ต่อไป

และยังเป็นการโปรโมทองค์กรไปในตัว ไม่เกินจริงเลยหากจะบอกว่าเหล่า “ไรเดอร์ในชุดและกระเป๋าสีเขียว” ของ GrabFood ทำหน้าที่วิ่งโฆษณาแบรนด์ในทุกเมืองใหญ่ที่ดำเนินการ

ระบบนิเวศน์ของตัวเอง

Grab เริ่มมาจากบริการเรียกรถ Taxi แต่ถึงปัจจุบันเรียกว่าขยายบริการครอบคลุมแทบทุกเรื่องในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว มอบความสะดวกสบายชนิดที่ “เปลี่ยนพฤติกรรม” ผู้บริโภคได้เลย

เมื่อกดเข้าแอป Grab จะพบกับบริการมากมายใน “ระบบนิเวศน์” ของตัวเอง เช่น

  • GrabCar รถรับจ้างส่วนบุคคล
  • GrabFood ส่งอาหาร
  • GrabMart ซื้อของตามสั่ง
  • GrabExpress ขนส่งพัสดุ
  • GrabHotels จองโรงแรม
  • GrabFinance สินเชื่อ
  • และอีกมากมาย แตกต่างไปตามแต่ละประเทศ

Image Cr. bit.ly/2SSHaAt

…ตอบโจทย์ความต้องการ ทุกอย่างใช้งานง่าย จบในที่เดียว กลายเป็น “Everyday App” ที่หลายคนใช้(หลายครั้ง) ในทุกๆ วัน 

ความครบครันและคุณภาพดีเหล่านี้ ยิ่งเป็นการยากที่ผู้เล่นหน้าใหม่จะเข้ามาในตลาด 

.

.

บริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในหลายมิติ และเม็ดเงินมหาศาลที่พร้อมทุ่มไม่อั้นจากนักลงทุนยักษ์ใหญ่…ดูเหมือนว่า Grab จะยังอยู่คู่กับเราไปอีกนาน

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง