In-Group & Out-Group Bias: เลือกปฏิบัติเพียงเพราะ พวกฉัน-พวกมัน

In-Group & Out-Group Bias: เลือกปฏิบัติเพียงเพราะ พวกฉัน-พวกมัน
  • อภิสิทธิ์เตียงผู้ป่วยโควิด
  • การทำร้ายชาวเอเชียในอเมริกา
  • เชียร์บอลทีมชาติตัวเอง
  • เข้าข้างเด็กจบใหม่ที่มาจาก U เดียวกัน

นี่คือตัวอย่างเพียงเสี้ยวเดียวของ In-Group & Out-Group Bias ที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในโลกธุรกิจ แต่อยู่รอบตัวเราในชีวิตประจำวัน

ความต่างของ In-Group & Out-Group Bias

In-Group Bias คือ กลุ่มทางสังคม (Social Group) ที่คนนิยามตัวเองว่าเป็นสมาชิกในนั้น และมีแนวโน้มเข้าข้างเห็นดีเห็นงามกับการกระทำใดๆ เช่น แฟนบอลทีม A

Out-Group Bias คือ กลุ่มอื่นที่นอกเหนือไปจากกลุ่ม In-Group และมีแนวโน้มมองการกระทำใดๆ ในแง่ลบ เช่น แฟนบอลทีม B (มองในมุมมองของทีม A)

โดย “คุณลักษณะ” ที่คนใช้นิยามตัวเองว่าเป็นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นได้หลากหลายมาก เช่น เชื้อชาติ / เพศ / อายุ / ศาสนา / พรรคการเมือง / ฐานะทางสังคม / ทีมกีฬา / แบรนด์เนมที่ใช้ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ทั้ง In-Group & Out-Group Bias นำไปสู่การ “เลือกปฏิบัติ” เพียงเพราะการตีกรอบไปเองว่า นี่คือ “พวกฉัน-พวกมัน”

ผลวิจัยระบุว่า ผู้คนจะมอบความไว้วางใจ / มองโลกในแง่ดี / ให้ความร่วมมือ / มีความเห็นอกเห็นใจ แก่คนที่ตัวเองคิดว่าเป็น In-Group เดียวกัน

เบื้องหลังของอคตินี้ 

กระบวนการ “วิวัฒนาการ” ของเผ่าพันธุ์มนุษย์หล่อหลอมให้เรายึดติดกับเผ่าใดเผ่าหนึ่ง (หรือกลุ่ม) เพราะมันสำคัญถึงขนาดชี้ชะตาความเป็นความตายของเราในโลกอดีต นึกภาพว่าถ้าคุณโดน “ไล่ออก” จากเผ่าด้วยเหตุผลบางประการ คุณแทบไม่มีทางเอาชีวิตรอดในธรรมชาติได้เพียงลำพังเลย

มนุษย์อย่างเราถึงถูกเรียกว่า “สัตว์สังคม” คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย

สองหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว…ขอแค่มีปัจจัยหรือคุณสมบัติเล็กน้อยที่คล้ายกัน เราก็พร้อมฟอร์มสร้างกลุ่มขึ้นมาแล้ว 

และเมื่อเรามี “กลุ่มพวกเรา” เกิดขึ้นแล้ว เราก็พร้อมมองกลุ่มอื่นว่าเป็น “กลุ่มพวกมัน”

ผลวิจัยยังระบุว่า อคตินี้ทำงานในระดับจิตใต้สำนึก…ซึ่งเข้าใจได้เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวิวัฒนาการ และมีการทดลองโดยแค่ให้คนมอง “เห็นหน้า” อีกฝ่าย ก็สามารถเกิด In-Group Bias (ใบหน้าชาติพันธุ์เดียวกัน เช่น คนเอเชีย) หรือ Out-Group Bias (คนละชาติพันธุ์) ขึ้นในเวลาแค่ “เสี้ยววินาที”

ตัวอย่างทางธุรกิจและชีวิตทั่วไป 

อภิสิทธิ์เตียงผู้ป่วยโควิดเป็นประเด็นล่าสุดที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ชัดเจนมาก เป็นการเลือกปฏิบัติอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้คนรวย(ที่ใช้เงินฟาด) ซึ่งนำไปสู่ “ความเหลื่อมล้ำ” ในการรักษาพยาบาล ใครรวย-ใครมีเส้น จะได้ห้องนอนในโรงพยาบาล(หรู) ไม่ใข่โรงพยาบาลสนาม ขณะที่ประชาชนคนทั่วไปส่วนใหญ่ อาจต้องนอนป่วยอยู่ที่บ้านไปพลางก่อน  บางเคสอาการย่ำแย่จนสายเกินไปก็มีให้เห็นมาแล้ว.. 

ประเด็นด้านสังคมอย่างการทำร้ายชาวเอเชียในอเมริกาที่รุนแรงมากจนมีการเรียกร้องออกมาเดินประท้วง “Stop Asian Hate” ก็สะท้อน In-Group & Out-Group Bias ในแง่ลบแบบสุดโต่งได้ชัดเจนมากๆ 

HR ที่สัมภาษณ์พอเป็นพิธีกับเด็กจบใหม่ที่มาจาก “มหาวิทยาลัยเดียวกัน” โดยที่ลึกๆ ได้ปักธงในใจเลือกน้องคนนี้ไปแล้ว เวลาทำงานจริงก็อาจปั้นน้องคนนี้จนออกหน้าออกตากว่าคนอื่น(ที่ไม่ได้มีทักษะความสามารถด้อยกว่าเลย)

หรืออคติกับสินค้าที่ผลิตจากบาง “ประเทศ” เช่น Made in China โดยเหมารวมว่าสินค้าจากจีนเป็นสินค้าเกรดต่ำไปเสียหมด ไม่มีความเชื่อมั่น ทั้งที่ความจริง Made in China มีหลายเกรด (สินค้าจีนเกรด A+ ก็มี)

ไม่มีกีฬาไหนที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ดีไปกว่า “ฟุตบอล” ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมทุกคนมักเชียร์ทีมฟุตบอล(หรือสมาชิกในทีม)ที่มาจากชาติตัวเอง ที่อังกฤษ เรื่องนี้แข็งแกร่งจนกลายเป็นวัฒนธรรม โดยใครเกิดที่เมืองไหน จำเป็นต้องเชียร์ทีมนั้นไปตลอด แม้ทีมบ้านเกิดตัวเองจะเล่นได้ไม่ดีนักก็ตาม

ภาวะสงครามก็เช่นกัน ทหารที่ถูกเกณฑ์ล้วนถูกปลุกระดมให้สู้เพื่อ “ชาติ” และทหารแต่ละนาย(ที่แต่เดิมเป็นคนแปลกหน้า) ถูกปฏิบัติต่อกันเยี่ยง “พี่น้องร่วมสายเลือด” เพื่อสร้าง In-Group Bias อันแข็งแกร่ง

วิธีป้องกัน

หนึ่งในวิธีป้องกันเรื่องนี้ได้โดยตรงคือการเพิ่ม “ความหลากหลาย” (Diversity) โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ร่างเป็นกฎหมายขึ้นมาเลยว่าในองค์กรต้องมีคนเชื้อชาตินี้เป็นสัดส่วนเท่าไร 

เพราะเมื่อทีมในองค์กรหรือสมาชิกในกลุ่มมีความหลากหลายมากเท่าไร ยิ่งลดอคติเรื่องนี้ได้มากเท่านั้น เพราะทุกคนได้ “แชร์” มุมมองความคิดของตัวเอง

อีกทางหนึ่งคือการเพิ่ม “ความร่วมมือ” (Cooperation) ระหว่างทีมหรือกลุ่มอื่น (Out-Group) ให้มากที่สุด เพราะระหว่างทางในการทำงาน ทั้งสองฝ่ายย่อมได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันไปในตัว เรื่องแย่ๆ ที่คุณปักธงในใจต่อกลุ่มนั้น อาจเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อได้สัมผัสร่วมงานกันจริงๆ

เพราะกลยุทธ์เอาตัวรอดที่ใช้ได้ผลในโลกอดีตอาจไม่สอดคล้องกับโลกปัจจุบันเสมอไป 

แม้จะเป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะขจัดอคตินี้ออกไปได้หมด แต่การที่มนุษย์ออกแบบกลไกขึ้นมาป้องกัน ก็ช่วยเตือนสติเราและไม่ให้อคตินี้สร้างความเสียหายมากไปกว่านี้ได้

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ  >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง