8 ชั้นเชิงคุมลูกน้องแก่กว่าให้อยู่หมัด

8 ชั้นเชิงคุมลูกน้องแก่กว่าให้อยู่หมัด

ยุคนี้คนรุ่นใหม่เก่งๆ เพียบ ขึ้นตำแหน่งผู้บริหารโดยที่อายุยังน้อย จากการสำรวจของ The Predictive Index พบว่า พนักงานกว่า 23.8% มีหัวหน้างานที่อายุน้อยกว่าตน

เมื่อต้องขึ้นมาบริหารลูกทีม นั่นคือการปกครองคน ต้องอาศัยชั้นเชิงในการพูดและจิตวิทยา แต่ผลวิจัยมากมายเผยว่า “การสร้างทีม” (Team Building) คือหนึ่งทักษะที่ผู้นำรุ่นเยาว์ขาดมากที่สุด 

ยิ่งวัฒนธรรมอาวุโสแบบไทยด้วยแล้ว…ควรรับมืออย่างไรดี?

1. เข้าใจลูกทีม

วางตำรา โยนทฤษฎีทิ้งไป ก่อนจะหากลยุทธ์มาใช้ เราต้อง “เข้าใจ” ลูกทีมอย่างลึกซึ้ง

เขาเป็นคนเจนอะไร? Baby Boomer? Gen-X? Gen-Y? เพราะแต่ละเจนมีการมองโลก ทัศนคติการทำงาน คุณค่าในชีวิตแตกต่างกันสิ้นเชิง

ทำการบ้านว่าบุคลิก นิสัย แบคกราวน์เป็นคนยังไง บางคนอ่อนไหวง่าย บางคนยึดติดหลักการ บางคนอุดมการณ์สูง…คนต่างกันย่อมใช้วิธีเข้าหาที่ต่างกัน

2. แสดงความเป็นผู้นำ

เปิดตัวด้วยจุดยืนว่า คุณไม่ได้เข้ามาในฐานะ Boss แต่เป็น Leader ที่จะมา Empower พวกเขาให้ประสบความสำเร็จไปด้วยกันนะ

ใช้ความเป็นเด็กที่มาพร้อมไอเดียใหม่ๆ ไม่อยู่ในกรอบเดิมๆ ผสมผสานกับประสบการณ์เก๋าเกมของคนที่อยู่มาก่อน

ที่น่าสนใจคือ คุณต้องแสดง “ความมุ่งมั่น” (Commitment) ให้ทุกคนเชื่อว่า คุณไม่ได้มองตำแหน่งนี้เป็นแค่ Career Jump ทางผ่านสู่ตำแหน่งอื่นที่สูงกว่า แต่ยึดมั่นที่จะสร้างผลงานให้เป็นรูปธรรมจริงๆ

ผลสำรวจจาก OfficeTeam ในคนทำงานกว่า 1,000 คน พบว่า 82% ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับหัวหน้าที่เด็กกว่า…ถ้าเค้าแสดงความจริงใจมุ่งมั่นให้เห็น

อย่ามองข้ามการวางตัว ถือคติ “ยิ่งสูง ยิ่งต้องติดดิน” เป็นฝ่ายเข้าหาก่อน ให้คนอื่นรู้สึกว่าเราเข้าถึงได้-พึ่งพาได้ เปิดใจรับฟังผู้หลักผู้ใหญ่ อ่อนน้อมถ่อมตน 

อย่างไรก็ตาม อย่าหลงกล “Inverted Ego” หรือ ภาวะความไม่มั่นใจที่ทำให้คุณคอยรับฟังคนอื่นอยู่ตลอดเวลา จนสูญเสียความสามารถการตัดสินใจที่เฉียบคม

3. คำพูด

คุณ Matsuo Iwate ผู้บริหารแถวหน้าของญี่ปุ่น ผู้มีประสบการณ์บริหารองค์กรให้กับ Starbucks Japan, Coca Cola Japan, Nissan Motors, และ AEON ฯลฯ เผยว่า 

มันไม่สำคัญว่าคุณพูดอะไร…แต่พูด “อย่างไร” ต่างหาก

การพูดจาสำคัญต่อผู้นำมาก แต่มักเป็นสิ่งที่ผู้นำละเลยที่สุด

เนื้อหาเดียวกัน พูดด้วยวิธีการต่างกัน ให้ผลลัพธ์ความรู้สึกที่ต่างกันชัดเจน

โดยเฉพาะโครงสร้างรูปแบบภาษาไทยที่ซับซ้อน มีการแบ่งอายุ มีคำสุภาพ (ไม่ใช่แค่ “I” กับ “You”)

– เรียก “พี่” แทน “คุณ”

– เรียก “ลูกทีม-พี่ในทีม” แทน “ลูกน้อง”

– เอางาน xxx ไปทำนะครับ VS. รบกวนพี่ช่วยทำงาน xxx หน่อยนะครับ

4. มองย้อนกลับ

การที่คุณเป็นหัวหน้าที่เด็กกว่า ไม่ได้หมายความลูกน้องเหล่านี้ไม่เก่ง คุณอาจแค่เก่งกว่าเขาเท่านั้นเอง

ใช้วิธี “มองย้อนกลับ” (Reflection) ให้ลองคิดว่าในอนาคต ถ้ามีเด็ก Gen-Alpha เกิดใหม่ขึ้นมาเป็นนายเหนือหัวคุณ…คุณจะรู้สึกยังไง? 

คุณเป็นคนเก่ง แต่เด็ก Gen-Alpha คนนี้ดันเก่งกว่าคุณไปอีกขั้น…คุณอยากให้เค้า ‘ปฏิบัติต่อคุณ’ อย่างไร? 

5. ขอคำแนะนำ

ไม่ว่าคุณจะเก่งมาจากไหน เชื่อเถอะว่า ลูกน้องที่ทำงานมานานกว่าคุณมีวัยวุฒิบางอย่างที่มากกว่าคุณ เค้าอาจดูไม่เก่งกาจเท่าคุณ…แต่เค้ารู้บางอย่างที่คุณไม่รู้แน่ๆ

มันอาจจะเป็นความเป็นมาของบริษัท / สไตล์การทำงานของเจ้านาย / การบริหารจัดการขั้วอำนาจ-การเมืองภายใน / หรือความรู้ในอุตสาหกรรมนี้ก่อนคุณจะเกิดซะอีก

ถ้าคุณเปิดใจชวนเค้าคุย ลองถามเค้าอย่างจริงใจ อาจจะรู้อะไรที่ช่วยให้คุณไปไกล ก้าวหน้าได้ไวกว่าเดิมก็ได้ 

และที่สำคัญคือ ช่วยให้ลูกน้องคนนั้น…ชอบคุณมากขึ้นด้วย

6. ใช้จริตนักการเมือง

หากการปกครองบริหารยากเกินกว่าที่จะทำได้คนเดียว ให้มองหา “Co-leader” บุคคลที่เหล่าลูกน้องสูงวัยให้ความเคารพนับถือเป็น ‘ทุนเดิม’ พยายามเข้าไปผูกมิตรจนเค้า ‘ให้การยอมรับ’ ในที่สุด

ต่อไป Co-leader คนนี้จะทำหน้าที่ช่วยเกลี้ยกล่อมคนอื่นๆ ในทีมอีกแรงโดยที่เราพยายามน้อยลง

7. โชว์ความอ่อนแอซะ

นี่คือเทคนิคในการ “สร้างการยอมรับ” (โดยที่อีกฝ่ายก็ไม่รู้ตัว)

Olivia Fox Cabane ครูสอนภาวะความเป็นผู้นำจากมหาวิทยาลัย Harvard, Yale, MIT, รวมถึงสหประชาชาติ (UN) กล่าวว่า การเปิดเผย “ความอ่อนแอในตัวคนที่แข็งแกร่ง” ทำให้คนทั่วไปอื่นรู้สึกว่าเราเข้าถึงได้ เห็นอกเห็นใจ และมีแนวโน้มจะรับฟังมากขึ้น (ฮีโร่ก็มีจุดอ่อน!)

ความอ่อนแอไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะงานเท่านั้น 

…ปัญหาความสัมพันธ์กับแฟน

…ปัญหาสุขภาพที่เริ่มเข้าสู่วัยเลข 3

อะไรก็ได้ที่เราแค่อยากไป ‘ปรึกษา’ เขา

8. เลียนแบบพฤติกรรม

Olivia Fox Cabane ยังเผยเคล็ดลับการสร้างความเป็น “พวกเดียวกัน” ให้อีกฝ่ายยอมรับเราด้วยการเลียนแบบพฤติกรรมอย่างแนบเนียน ไม่ว่าจะเป็น…

– การแต่งตัว: ถ้าเค้าใส่สูทผูกไทแบบภูมิฐาน…เราก็ใส่ตาม (แทนเสื้อยืด-โปโล)

– คำพูด: จำคำที่อีกฝ่ายพูดและใช้ตาม…แม้จะฟังดูเชยโบราณ

– ภาษากาย: อีกฝ่ายนั่งไขว่ห้างในที่ประชุม…เราก็นั่งตาม

– วัฒนธรรม: อีกฝ่ายส่งรูปดอกไม้ ‘สวัสดีวันจันทร์’ ก็ให้เราส่ง ‘สวัสดีวันอังคาร’ แทน

เหนือสิ่งอื่นใด จงไม่ลืมที่จะ Respect ให้เกียรติซึ่งกันและกัน…น่าจะเป็นการทำงานอย่างมีความสุขที่สุดกับเพื่อนร่วมงานในระยะยาว

.

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว ไม่ว่าคุณจะเป็นรุ่นใหม่หรือรุ่นใหญ่ ก็ยังไม่สายที่จะทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาตัวเองและสายอาชีพที่ชอบ >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

อ้างอิง