เรามักบอกว่า Creativity คือการ Connecting the Dots เชื่อมโยงสิ่งเดิมจนนำไปสู่สิ่งใหม่ หรือ คิดในแบบที่แตกต่างยังไม่มีใครทำมาก่อน หรือ การคิดในแบบทำน้อยแต่ได้มาก
สิ่งเหล่านี้เป็นแก่นหลักชั้นดีของ Creativity แต่ความจริงแล้วมัน “พูดง่าย-ทำยาก” และไม่ใช่ทุกคนที่มีทักษะนี้
ดีกว่าไหม? ถ้าเราจะมีมาตรฐาน “เทคนิคการคิด” ที่ช่วยลับคมสมองให้ครีเอทีฟและอ่านเกมขาดมองเห็นปัญหา แถมยังได้กระชับความสัมพันธ์กับทีม (Team building) รู้ตัวอีกทีซี้ปึ้กกันแล้ว
เราไปทำความรู้จัก “Problem Solving Activity” ครีเอทีฟพุ่งด้วยโจทย์ปัญหาแบบมีกึ๋นกัน
เปิดด้วยไอเดียที่ “ซื่อบื้อ” ที่สุด
นี่เป็นเทคนิคที่เหมาะกับการเปิดการประชุมระดมสมอง เพราะมักเรียก “เสียงหัวเราะ” จากทุกคน ต้องไม่ลืมว่า ความคิดสร้างสรรค์มักเกิดจากการคิดในช่วงอารมณ์ที่ “ผ่อนคลาย” (ยิ่งเครียด ยิ่งคิดไม่ออก)
นี่ยังเป็นวิธีในการปล่อยวางอีโก้ของตัวเอง ไม่มีใครผิด ทุกคนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น
นอกจากนี้ ไอเดียที่ตอนแรก “ดูเหมือน” ซื่อบื้อโง่เขลา…อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปเมื่อคุณให้เวลาขบคิดกับมัน
- อยากให้นักท่องเที่ยวมีที่พักอาศัย? ก็เปิดบ้านตัวเองให้เค้าพักซะเลย!! (ต่อมาอาจกลายเป็น Airbnb)
- อยากให้คนกดลิ้งค์เข้า Website? ก็ลองเขียนสะกดผิดๆ ฮาๆ มันซะเลย!! (อาจเข้าข่ายเทคนิค Cunningham’s Law)
- ก่อนโควิด-19…ขี้เกียจเดินทางไปทำงาน? ก็นั่งทำงานอยู่บ้านมันซะเลย!! (ใครจะไปรู้ว่าตอนนี้ Work From Home เป็นเรื่องปกติไปแล้ว)
- ทำยังไงถึงดื่มเบียร์ได้เรื่อยๆ โดยที่ไม่เมา? ก็ไม่ต้องใส่แอลกอฮอล์ลงไปก็จบเรื่อง!! (อาจกลายเป็น Non-Alcoholic Beer)
มโนว่า “ไอดอล” ของคุณจะทำอย่างไร?
เวลาเจอปัญหาตรงหน้าที่ยากจะแก้ ให้มโนถึงนักธุรกิจระดับโลกหรือบุคคลที่คุณยกย่องสรรเสริญในความเก่ง เช่น Elon Musk ว่าเค้าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร? ใช้กลยุทธ์อะไร? มีแนวคิดแบบไหน? ต้องไปคุยกับใคร?
เทคนิคมโนนี้ เป็นการทดลอง “ก้าวข้ามข้อจำกัด” ของตัวเอง นำคุณไปสู่ความเป็นไปได้ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม
- Elon Musk จะโปรโมทสินค้าใหม่นี้อย่างไร?
- Elon Musk จะพลิกจากภาวะขาดทุนเป็นกำไรอย่างไร?
- Elon Musk จะแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพอย่างไร?
The Alternative
เทคนิคนี้ช่วยให้เรา “ไม่รีบด่วนสรุป” จากไอเดียที่แล่นออกมา Paul Arden อดีต Creative Director ครีเอทีฟเอเจนซี่ Saatchi and Saatchi เผยว่า คนเรามักถูก “ตีกรอบ” จากสังคมและระบบที่เติบโตมา ทำให้ความคิดแรกๆ ที่นึกขึ้นได้ มักเป็นสิ่งที่ “ใครๆ ก็คิดได้เหมือนกัน” จึงมักไม่ใช่ความคิดสร้างสรรค์ มักไม่ใช่สิ่งที่แตกต่าง
ให้นำไอเดียนั้นมาตั้งเป็นโจทย์ศูนย์กลาง แล้วลากเส้นหา “ทางเลือกใหม่ๆ” (Alternatives) รอบๆ ตัว
- นอกจากใช้ดาราใหญ่โปรโมทสินค้าแล้ว…ทางเลือกอื่นคืออะไร? (ใช้ดารา AI ในโลกเสมือนจริงได้หรือไม่?)
- ถ้ารถไม่ใช้น้ำมัน…พลังงานทางเลือกอื่นเป็นอะไรได้บ้าง? (ใช้ไฟฟ้าหรือพลังงานไฮโดรเจนดี?)
40-20-10-5
- เขียนโจทย์ปัญหาให้ยาวเหยียดใน 40 Words
- จากนั้น ตัดออกเหลือแค่ 20 Words
- จากนั้น ตัดออกเหลือแค่ 10 Words
- สุดท้าย ตัดออกเหลือแค่ 5 Words สุดท้าย
(ประมาณ) 5 คำพูดสุดท้ายนี่แหล่ะ คือ “ต้นตอของปัญหา”
อันที่จริงแล้ว แก่นของเทคนิคนี้ไม่ได้อยู่ที่จำนวนตัวเลขเป๊ะๆ มันแค่ฝึกให้เรา “ย่อย” ปัญหาจนเข้าใจถึงแก่น จากยาวเหยียดเหลือสั้นกระทัดรัด เพราะหลายครั้ง เมื่อคุณเข้าใจต้นตอปัญหาอย่างแท้จริง ก็เหมือน “แก้ปัญหา” ไปได้ครึ่งนึงแล้ว
5 Whys
5 Whys เป็นเทคนิคสืบหา “ต้นตอของปัญหา” โดยมีแนวคิดว่า การถามเพียงครั้งเดียวไม่เคยพอ แต่ต้องถามย้อนกลับไปประมาณ 5 ครั้ง นอกจากจะรู้ต้นตอปัญหาที่แท้จริงแล้ว ยังได้เห็นภาพรวมกระบวนการขั้นตอนทั้งหมดด้วย
Image Cr. bit.ly/3qqwqaZ
เช่น Website ด้านข่าวสารธุรกิจแห่งหนึ่ง
- Why bounce rate ในเว็ปสูง? เพราะ คนใช้เวลาน้อยมากในเว็ป
- Why คนใช้เวลาน้อยมากในเว็ป? เพราะ คนมองว่าเนื้อหาไม่น่าสนใจ
- Why เนื้อหาไม่น่าสนใจ? เพราะ เนื้อหาตกยุคไม่อินเทรนด์
- Why เนื้อหาตกยุคไม่อินเทรนด์? เพราะ ไม่มีคนมาผลิตเนื้อหาใหม่ๆ ได้ทันเวลา
- Why ไม่มีคนมาผลิตเนื้อหาใหม่ๆ ได้ทันเวลา? เพราะทีม Content มีคนไม่พอ งานล้นมือ
สมมติฐานแรกที่คนมักคิดกันเวลาเห็น bounce rate ในเว็ปสูง คือ “เนื้อหาไม่มีคุณภาพ” แต่เมื่อใช้ 5 Whys แล้วกลับพบว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คุณภาพ…แต่อยู่ที่ “ความเร็ว” ในการผลิตเนื้อหาต่างหาก
Devil’s Advocate
นี่คือเทคนิคตกผลึกทางความคิดด้วยการ “เล่นบทโหด” ชนิดกัดไม่ปล่อย
วิธีการคือ แต่งตั้งคนที่เก่งด้านการใช้ตรรกะเหตุผลมา 1 คน ให้เป็น “ที่โต้แย้งส่วนตัว” (ไม่ใช่ที่ปรึกษาส่วนตัว) แม้เดิมที คนนี้จะเห็นด้วยกับไอเดียของคุณ แต่เค้าต้องสวมบทบาทเป็นฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วย และหาเหตุผลมา “โต้แย้ง” ไอเดียของคุณในทุกมิติ
Image Cr. bit.ly/30eIaCD
เช่น โต้แย้งการ “ลด” ใช้หลอดพลาสติกของบริษัท แต่เสนอให้ “ยกเลิก” ใช้หลอดไปเลย แล้วออกแบบถ้วยเครื่องดื่มใหม่ให้ยกดื่มได้โดยไม่ต้องใช้หลอดแทน เพราะในระยะยาว ประหยัดต้นทุนกว่า แถมรักษ์โลกมากขึ้นใช้โปรโมท CSR ได้เช่นกัน
แม้ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีทักษะ Creative Thinking สูงเป็นทุนเดิม แต่ถ้าใช้โจทย์ปัญหาแบบมีกึ๋นเหล่านี้ ก็น่าจะช่วยให้ครีเอทีฟพุ่งและตีโจทย์แตกได้ไม่ยากนัก
.
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
อ้างอิง