Mercedes-Benz ปั้นองค์กรอย่างไร? สู่รถหรูในฝันของคนทั่วโลก

Mercedes-Benz ปั้นองค์กรอย่างไร? สู่รถหรูในฝันของคนทั่วโลก
  • Mercedes-Benz เป็นหนึ่งในแบรนด์เยอรมันที่มีมูลค่ามากสุด
  • มูลค่าบริษัท 3 ล้านล้านบาท ยอดขาย 3.7 ล้านล้านบาท
  • และเป็นรถหรูในฝันของใครหลายคน…

กว่า 100 ปีที่ก่อตั้งมา ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยของโลก รถเบนซ์ยังคงมีมนตร์เสน่ห์ของยานพาหนะที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของผู้ครอบครอง มันไม่ได้แค่พาผู้โดยสารจาก A ไป B แต่เป็นอะไรมากกว่านั้น…

แต่กว่าจะมีวันนี้ Mercedes-Benz ผ่านอะไรมาไม่น้อย

กำเนิดรถยนต์คันแรกของโลก

Mercedes-Benz ก่อตั้งโดยคุณ Karl Benz และ Gottlieb Daimler เมื่อปี 1883 

ก่อนที่ปี 1886 Karl Benz ซึ่งเป็นวิศวกรหัวกะทิได้ประดิษฐ์รถยนต์ที่ใช้การสันดาปภายในโดยมีเชื้อเพลิงเป็นน้ำมัน (Internal combustion engine) เป็นครั้งแรกของโลกได้สำเร็จ 

นี่คือ “รถยนต์คันแรกของโลก” (ยุคนั้น “ม้า” ยังเป็นพาหนะการเดินทางอยู่)

Image Cr. bit.ly/3fZusHK

Elite World

เนื่องจากสมัยก่อน รถยนต์เป็นของหรูหราที่คนธรรมดายากจะเอื้อมถึง ลูกค้ากลุ่มแรกๆ จึงเป็นกลุ่ม “ชนชั้นสูง” ของสังคมในแต่ละเมือง-แต่ละประเทศ และเป็นการวาง Positioning ตั้งแต่แรกเริ่มถึงความเป็นแบรนด์รถหรู

Mercedes-Benz ได้โปรโมทรถยนต์ตัวเองอย่างหนัก โดยมีลูกค้ารายแรกๆ คือตระกูลรอธส์ไชลด์ (The Rothschild’s family) หนึ่งในตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และ คุณ Rockefeller อภิมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน

ภาพลักษณ์ของแบรนด์แปรผันไปตามกลุ่มลูกค้าที่ใช้งาน เมื่อมีกลุ่มคนรวยที่สุดระดับโลกตัดสินใจเป็นลูกค้า Mercedes-Benz ทำให้ชื่อเสียงของแบรนด์ขึ้นสู่ยอดสุดของพีระมิดในวงการรถยนต์

รู้หรือไม่ว่า “รถยนต์คันแรกของเมืองไทย” ก็คือรถเบนซ์นี่เอง โดยถูกนำเข้ามาในปี 1904 เป็นรถที่ใช้สำหรับสมาชิกราชวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนที่ความนิยมจะเริ่มแพร่หลายในหมู่ชนชั้นสูงของไทย

เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าไปก้าวนึงเสมอ

ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์เท่านั้น แต่รถยนต์ของ Mercedes-Benz ยังมาพร้อมเทคโนโลยีที่เป็น “ผู้นำตลาด” อยู่แทบทุกยุคสมัย นวัตกรรมที่เบนซ์เป็นเจ้าแรกๆ ของโลก เช่น

  • เครื่องยนต์สันดาปภายในเจ้าแรกของโลกในปี 1886
  • รวงผึ้งหน้ารถ (Honeycomb radiator) ที่ใช้ระบายความร้อน
  • เบรครถยนต์ที่ติดตั้งอยู่ทั้ง 4 ล้อ ในปี 1924
  • รถยนต์ดีเซลคันแรกของโลก ในปี 1936
  • ทดสอบการชน (Crash test) ในปี 1958
  • ระบบป้องกันเบรคล็อค (ABS) ในปี 1978
  • เจ้าแรกในยุโรปที่ติดตั้ง Airbag ในปี 1981
  • เข็มขัดนิรภัยแบบดึงกลับ (Pretensioner seatbelts) ในปี 1981

Logo อันทรงพลัง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลโก้อันแสนเรียบง่ายแต่กลับทรงพลังและดูหรูหราอย่าง “ดาวสามแฉก” ที่สื่อถึงความเป็นเลิศในการได้ครอบครองพื้นดิน-มหาสมุทร-ท้องฟ้า คือหนึ่งในทรัพย์สินทางปัญญาที่ประสบความสำเร็จที่สุดของบริษัท 

เวลามันไปปรากฎอยู่หน้ารถ / กุญแจรถ / ป้ายหน้าโชว์รูม / หรือขวดน้ำดื่ม ล้วนทำให้สิ่งนั้นดูหรูหราพรีเมียมขึ้นมาทันที

จากอดีตถึงปัจจุบัน โลโก้ของเบนซ์มีอยู่ทั้งหมดเพียง 6 แบบ ดีไซน์ปัจจุบันใช้มาตั้งแต่ปี 1989 และการปรับโฉมโลโก้ที่เริ่มมีโครงดาวสามแฉกให้เห็น ปรากฎมาตั้งแต่ปี 1909 (โลโก้แรกมีแค่ชื่อตัวอักษร) เรียกว่า Mercedes-Benz ยึดมั่นในดาวสามแฉกมาเป็นระยะเวลาเกิน 100 ปีแล้ว

โลโก้นี้จะยังอยู่…และถูกบูชาสรรเสริญไปอีกนาน

เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่สู่อนาคต

Mercedes-Benz มีภาพลักษณ์ที่ภูมิฐาน สุขุม ลุ่มลึก ดูเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ถูกจริต “ลูกค้าสูงวัย” แบบเต็มๆ แต่กลับสร้างปัญหาในการขยายสู่ฐานลูกค้าใหม่ๆ ที่จะมีขนาดใหญ่ในอนาคตนั่นคือ “กลุ่มคนรุ่นใหม่”

จึงได้ออกนโยบาย Customer Centric ยึดลูกค้าอันหลากหลายเป็นศูนย์กลาง ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าหลายกลุ่ม เช่น ผ่านผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม-ทุกวัย

  • Compact car – เจาะกลุ่มมิลเลนเนียล
  • SUV – เจาะกลุ่มครอบครัว
  • AMG – ตัวแรงไว้เจาะกลุ่ม Niche ขาสปอร์ต
  • EQ – เจาะกลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อม

การออก Global Campaign อย่าง “Grow up” สื่อสารอย่างใกล้ชิดโดยตรงไปยังคนรุ่นใหม่ หรือการเปิดตัว “She’s Mercedes” แพลตฟอร์มที่มีขึ้นเพื่อลูกค้าผู้หญิงยุคใหม่โดยเฉพาะ

ในรอบ 4-5 ปีมานี้ ทางแบรนด์ยังได้ลงทุนในสื่อออนไล์อย่างมีนัยยะสำคัญเพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้ผู้บริโภคและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าวัยเยาว์มากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มหลังนี้ที่อาจกลายมาเป็น “ลูกค้าในอนาคต”

กลุ่มลูกค้าองค์กร

Mercedes-Benz ได้สร้าง “พันธมิตร” มาอย่างยาวนานกับลูกค้ากลุ่มองค์กร-สถาบันต่างๆ รถประจำตำแหน่งผู้บริหารใหญ่ขององค์กร (Fleet) / รถลีมูซีนประจำโรงแรม / รถรับส่งสนามบิน / รถประจำตำแหน่งเอกอัครราชฑูต / รถนำขบวนราชวงศ์และผู้นำสำคัญในแต่ละประเทศ

โดยทางบริษัทได้แยกหน่วยงานออกมาเป็น “Mercedes-Benz Corporate Solutions” เพื่อดูแลลูกค้ากลุ่มนี้เป็นพิเศษเลย เพราะมีความต้องการที่แตกต่างจากลูกค้ารายบุคคล 

สำหรับในเมืองไทย Mercedes-Benz ยังคงเป็นผู้นำเบอร์ 1 ในตลาดรถลิมูซีนประจำโรงแรม 5 ดาว โดยรุ่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ S-Class 

รวมจุดแข็งการทำงานแบบคนเยอรมัน

Mercedes-Benz เป็นบริษัทของชาวเยอรมัน จึงมีถอดแบบวิธีการทำงานอันแข็งแกร่งของชาวเยอรมันมาเต็มๆ อาทิเช่น

งานคือทำงาน

เวลาเริ่มงานตอนเช้าคือเริ่มทำงานจริงๆ ถ้าเข้า 8 โมง หมายถึง 08:00 ต้องลงมือทำงานแล้ว 

พนักงานถูกคาดหวังให้โฟกัสที่ “งาน” บางตำแหน่งถึงกับมีกฎกติกาห้ามเข้า Facebook เด็ดขาดถ้ามันไม่เกี่ยวข้องกับงาน เมื่อมีพลังโฟกัสเต็มที่ ก็นำไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก”

ตรงไปตรงมา

มีอะไรพูดกันตรงๆ เข้าประเด็นไม่อ้อมค้อม และไม่เก็บมาเป็นเรื่องส่วนตัว

เช่น ถ้าลึกๆ คิดว่า Interior Design รถรุ่นนี้ยังไม่ค่อยสวยจะไม่พูดว่า “จะดีมากเลยถ้าจุดนี้ 1-2-3-4 ได้รับการปรับปรุงเพิ่มอีกหน่อย”  แต่จะพูดว่า “ยังไม่สวย ต้องแก้ใหม่…เพราะจุดนี้ 1-2-3-4 ยังไม่สอดคล้องกัน” 

หากมีไอเดียอะไรที่น่าสนใจก็จะแสดงความคิดเห็น แม้ว่าสิ่งที่พูดจะขัดแย้งหรือไม่อยู่ในชุดความคิดกระแสหลักก็ตาม บริษัทเปิดรับความคิดอันหลากหลายของพนักงาน

และเพราะอยู่ในวงการวิศวกรรม ข้อมูลที่นำเสนอมักต้องเสริมด้วย “ตัวเลข” เพื่อความน่าเชื่อถือเสมอ 

ความตรงไปตรงมานำไปสู่ “ประสิทธิภาพ” การทำงาน เพราะสื่อสารตรงจุดเข้าใจกันทุกฝ่าย ปัญหาถูกแก้ทันที ไม่ปล่อยไว้จนบานปลาย

ความเป็นระบบ

เช่นในการประชุม จะต้องนัดล่วงหน้า ส่งเมลหาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องล่วงหน้า / ตั้ง Agenda / ประชุมกี่นาที / เข้าร่วมกี่คน / แต่ละคนนำเสนอประเด็นอะไรบ้าง / Action Plan หลังจบประชุมต้องทำอะไรต่อ 

ทั้งหมดนี้เป็น “มาตรฐาน” ในการทำงานไปแล้ว

ความเป็นระบบ ยังนำไปสู่การมี “วินัย” ไปในตัว พนักงานต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่ต้นจนจบ และรู้ว่าหน้าที่หลักตัวเองต้องทำอะไรบ้าง

ทีมสปิริต

ท้าวความมาจากอุปนิสัยชาวเยอรมันที่จะคิดถึง “ส่วนรวม” มองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ซึ่งจะเชื่อมโยงไปเรื่องอื่นๆ ในการทำงาน

เช่น ถ้าคุณมาสาย 5 นาที คุณกินเวลาเพื่อนร่วมทีมคนอื่นไปด้วย ถ้ามีคน 10 คนก็เสียเวลารวมถึง 50 นาทีแล้ว สุดท้ายจึงหล่อหลอมให้มาตรงเวลาเพื่อไม่ให้เดือดร้อนคนอื่น

ถ้าคุณอู้งาน งานนั้นไม่ได้หายไปไหน แต่อาจไปกองอยู่ที่เพื่อนร่วมทีมคนอื่นแทน จึงเป็นความรับผิดชอบที่คุณต้องเอาใจใส่ในงานตัวเอง

จุดแข็งการทำงานแบบชาวเยอรมันเหล่านี้(ที่ได้รับการยอมรับในสากล) ได้ถูกถ่ายทอดไปยังบริษัทย่อยและดีลเลอร์ในแต่ละประเทศด้วยเพื่อสร้างมาตรฐานที่สูงไปในทิศทางเดียวกัน

Mindset การทำงานยุคใหม่

สมัยก่อน Mercedes-Benz ขึ้นชื่อในความ Conservative ผ่านประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ ขนบธรรมเนียมที่สืบทอดกันมา หลายคนมองว่ายังไงก็ขายได้ แบรนด์ขายตัวมันเอง…แต่ปัจจุบันได้ปฏิเสธชุดความคิดแบบ “เสือนอนกิน” นี้ไปแล้ว

โดยพนักงานจะถูกปรับทัศนคติว่า การทำงานที่ Mercedes-Benz ไม่มีวันไหนเลยที่เป็น “วันธรรมดา” (Ordinary Day) เพราะทุกวันสามารถเป็นวันพิเศษได้…ถ้าเราอยากให้มันเป็นจริงๆ!! 

และช่วงปีหลังๆ ได้โอบกอดความเปลี่ยนแปลง การคิดใหม่ทำใหม่ เช่น การออกแบบออฟฟิศที่ลดกำแพงลง เพิ่มทัศนวิสัย / รถยนต์ที่มีดีไซน์โฉบเฉี่ยววัยรุ่นขึ้น / การกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า / ราคาและบริการหลังการขายที่ตอบโจทย์ลูกค้าวัยเยาว์มากขึ้น

ปรับตัวตามโลกอย่างต่อเนื่อง

ในทศวรรษที่ผ่านมา ผู้บริโภคทั่วไปเห็นได้ชัดเจนจาก “ดีไซน์รถ” (Design language) รุ่นใหม่ๆ ที่เหมือนจะเอาใจลูกค้าคนหนุ่มสาว (Young adult) มากขึ้นอย่างชัดเจน

พร้อมกับการปรับตัวไปโฟกัสที่รถประเภท SUV ซึ่งกำลังได้รับความนิยมทั่วโลกในรอบหลายทศวรรษมานี้ ในปี 2019 กว่า 1/3 ของรถเบนซ์ที่ขายไปทั่วโลกเป็นรถประเภท SUV ด้วยยอดขายกว่า 783,700 คัน

นอกจากนี้ยังหันเข้าสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ได้ทันกระแส ในยุโรป ยอดขายรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ากว่า 1/4 ตกเป็นของ Mercedes-Benz และในปี 2021 ยังได้ออกรุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง Mercedes-EQ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปูทางสู่ความเป็นรถยนต์พลังงานสะอาดมากขึ้นในอนาคต

อันที่จริง นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในปี 2019 หัวหน้านักวิจัยของ Mercedes-Benz ออกมาประกาศเองว่า “บริษัทจะเลิกพัฒนารถที่ใช้น้ำมันแล้ว และหันไปโฟกัสเทคโนโลยีไฟฟ้าแทน”

จากผู้คิดค้นเครื่องยนต์สันดาปภายในรายแรกของโลก ตัดสินใจหยุดพัฒนา…และหันไปโฟกัสรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่ (รวมถึงมีข่าวพัฒนารถยนต์ไร้คนขับอยู่ด้วย)

นี่เป็นคำประกาศที่กล้าหาญมาก เพราะมันคือการ Disrupt ตัวเอง ในสิ่งที่เป็นผู้ริเริ่มและเชี่ยวชาญมาโดยตลอด ซึ่งเราคงได้เห็นรถยุคใหม่ที่แปลกใหม่และน่าสนใจจาก Mercedes-Benz ในอนาคตอันใกล้ 

และเป็นอีกเรื่องที่ยืนยันว่า Mercedes-Benz ปรับตัวตามกระแสโลกอยู่ตลอดเวลา ไม่แปลกเลยที่จะอยู่มาเป็นร้อยปีได้ 

และร้อยปีจากนี้…คงจะมีเรื่องราวน่าสนใจให้ได้พบเห็นกันอีกแน่นอน

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ พร้อมมีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง