- ลูกค้าเห็นตัวเองว่าใช้สินค้าแล้วเป็นยังไง
- ยิ่งลูกค้ารู้จักแบรนด์ ยิ่งหลงรัก และซื้อๆๆ
- แบรนด์เล่นตัวเอง ก่อนโดนลูกค้าเล่นกลับด้วยการซื้อ
เหล่านี้คือกลยุทธ์ “ป้ายยา” ที่ใครเห็นเป็นต้องมนตร์สะกด และควักเงินซื้อในที่สุด
แล้วรายละเอียดเทคนิคป้ายยาเหล่านี้มีอะไรบ้าง ตามไปดูกัน
1. สร้าง Scene การใช้สินค้านั้นขึ้นมา
เล่นกับอารมณ์ลูกค้าว่า “ถ้าซื้อมาใช้แล้ว” จะมีภาพลักษณ์ปรากฎเป็นอย่างไร
เป็นการผนวกรวมเทคนิค Visualization การมโนจินตนาการในใจอย่างแนบเนียนว่า ถ้าเราได้ใช้-บริโภค-ขับ-สวมใส่สินค้านั้นๆ แล้ว…หน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร?
KIMONO by NADESHIKO แบรนด์เสื้อผ้า “กิโมโน” สไตล์ยุคใหม่ของญี่ปุ่น ก็ใช้กลยุทธ์สร้าง Scene นี้ในการประชาสัมพันธ์
แบรนด์ไม่ได้โฟกัสที่เสื้อกิโมโนมากนัก ไม่ได้บรรยายเชิงวัฒนธรรมหรือประเพณีเท่าไร แต่กลับเน้นหนักไปที่สถานการณ์ชีวิตจริงเวลาลูกค้าสวมใส่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
ซึ่งถ่ายทอดผ่านรูปภาพอาร์ตเวิร์คที่ใช้สื่อสารในทุกช่องทาง จนไปถึงข้อความบรรยายที่ชวนให้ฉุกคิด เช่น
- “ตื่นเต้นแล้วสินะที่มีคนมอง”
- “จะว่าไปใส่กิโมโนเดินแบบนี้ก็ไม่เลวนี่นา”
- “เริ่มจะเคยชินกับท่าเดินที่แปลกใหม่แล้วหรือยัง”
Image Cr. bit.ly/3C0se7r
เราสามารถประยุกต์ใช้เทคนิคนี้ในการแบ่งแยก Category สินค้าประเภทต่างๆ ของเราได้ด้วย สมมติว่าแบรนด์คุณขายของใช้ในบ้าน แทนที่จะแบ่งแยกสินค้าตามปกติ เช่น “อุปกรณ์ทำครัว vs. ภาชนะช้อนส้อม” ก็ลองเปลี่ยนไป “เครื่องครัว vs. ของบนโต๊ะอาหาร” แทน
2. แฝงตัวเป็นพวกเดียวกันแบบเนียนๆ
ผ่านช่องทางคอมมูนิตี้เฉพาะทางในแต่ละแพลตฟอร์ม เช่น Facebook Group เกี่ยวกับ “ร้านคาเฟ่”
ให้แบรนด์เข้าไปเสมือนเป็นแฟนคลับประชาชนคนหนึ่ง แล้วเพียงแค่อยาก “แนะนำ” คาเฟ่ดีๆ อร่อยๆ คุ้มราคา วิวสวย ถ่ายรูปสวย ให้เพื่อนสมาชิกทุกคน
โดยต้องมีความ “เนียน” ผ่าน
- ภาษาที่ใช้ – ต้องบ้านๆ ธรรมดา ไม่หวือ
- ไม่เพอเฟกต์ – มีพิมพ์ผิดๆ ถูกๆ บ้าง
- รูปภาพ – ไม่ต้องมืออาชีพ เน้นธรรมชาติ
- โครงสร้างประโยค – คิดอะไรออกก็บรรยายไปเลย ไม่ต้องดำเนินรอยตามมาตรฐานโครงสร้างทั่วไป เช่น เริ่มที่ Pain Point และ ปิดท้ายด้วย Call-to-Action
เทคนิคนี้ใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ไว้วางใจพวกเดียวกัน เชื่อใจ KOL/Influencer มากกว่าแบรนด์ทางการ
3. สอนวิธีใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เพราะไม่ใช่ลูกค้าทุกคนที่จะมีองค์ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับแบรนด์หรือสินค้า หลายคนไม่ได้ทำการบ้านมาเยอะขนาดนั้น หรือหลายคนเป็นลูกค้าขาจรที่พึ่งรู้จักแบรนด์
เทคนิคนี้จะเป็นการโฟกัสที่ตัวสินค้าว่ามีประโยชน์ยังไงกับลูกค้าที่สุด แบรนด์ต้องทำการบ้านเตรียมตัวในการหา “วิธีใช้-วิธีทำ-วิธีทาน” ต่างๆ นานาให้ลูกค้าเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ลูกค้าใช้สินค้าเราดีขึ้น อร่อยขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น มีความสุขขึ้น
Nakagawa Masashichi ร้านขายผลิตภัณฑ์ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ออกมาแนะนำวิธีการใช้กล่อง “เบนโตะ” ให้เวิร์คที่สุด เช่น กล่องเรียวยาวแบบนี้บรรจุง่าย จัดเรียงง่าย แต่ถ้าเป็นทรงกลมจะบรรจุอาหารได้มากกว่า กล่องเบนโตะสีนี้เหมาะกับผ้าผูกเบนโตะชั้นนอกสไตล์ไหน-สีไหน และควรพกคู่กับถุงชาแบบใดเพื่อให้เข้าเซ็ตกัน กลายเป็นว่าสุดท้ายลูกค้า “ซื้อเพิ่ม” เพื่อเอาให้เข้าชุดกันทั้งหมด แบรนด์ก็ได้ยอดขายเพิ่มตาม
Image Cr. bit.ly/3C67BXH
หรือสมมติถ้าเป็นธุรกิจโรงแรม แบรนด์ต้องนำเสนอเลยว่า มุมถ่ายภาพมุมไหนที่สวยที่สุดเป็น Signature ของโรงแรม มุมไหนสวยแค่ตอนเช้า แต่กลางวันภาพจะย้อนแสง มุมไหนที่ถ่ายแล้วเหมือนอยู่ต่างประเทศ มุมไหนเหมาะกับสไตล์การแต่งกายแบบใด
อย่าลืมว่า ฝั่งแบรนด์ต้องไม่ตกหลุมพรางของการเป็นคนในที่รอบรู้ทุกเรื่องอยู่แล้ว(เพราะตัวเองเป็นคนลงมือทำ) แต่ฝั่งคนนอกอย่างลูกค้าอาจไม่ได้รับรู้หรือเข้าใจตามไปกับคุณ
4. เล่นตัวเอง
เป็นกลยุทธ์ Bully Marketing (bit.ly/3bNPueh) เทคนิคที่แบรนด์ “เล่นตัวเอง” (ก่อนโดนคนอื่นเล่น) ใช้มุกตลกๆ ที่ไม่เซนซิทีฟจนเกินไป
“น้ำพริกแคบหมูยายน้อย” คือแบรนด์ที่สร้างชื่อเสียงว่อนโซเชียลจากการเล่นตัวเองที่สร้างสรรค์จนได้รับ Free Media มหาศาล ตัวอย่างเช่น
- “ดีต่อใจ…บรรลัยต่อฟัน”
- “อร่อยเกินร้อย…ให้น้อยสมชื่อ”
- “โปรดสั่งเสีย…ก่อนสั่งซื้อ”
- “กินแล้วตาย…คายแล้วรอด”
- “กินไม่อ้วน…เพราะบ้วนทิ้งไง”
Image Cr. bit.ly/3pfTFCM
เทคนิคเล่นตัวเองนี้ ยังสอดคล้องกับพฤติกรรมคนไทยที่ชื่นชอบความสนุกสนาน
5. ทำให้ลูกค้ารู้จักตัวเอง
อย่าว่าแต่ฝั่งแบรนด์เลย บางทีลูกค้าก็ “ไม่ได้รู้จักตัวเองดีพอ” ด้วยซ้ำ จึงเป็นหน้าที่ของแบรนด์ที่ต้องมา “ช่วย” ให้เข้าใจลึกซึ้งขึ้น และเมื่อนั้น นอกจากลูกค้าจะประทับใจแล้ว ยังเกิดความผูกพัน จงรักภักดี และอยากอุดหนุนแบรนด์ในที่สุด
เช่น Asics แบรนด์รองเท้ากีฬา นำเสนอคอนเทนต์ที่ว่าการวิ่งมี 2 แบบ: แบบก้าวยาวๆ และ แบบก้าวสั้นๆ โดยรองเท้า Asics แต่ละคู่แตกต่างกันเพราะออกแบบมารองรับการวิ่งแต่ละแบบที่ต่างกัน ก่อนปิดท้ายถามลูกค้าว่า…แล้วคุณล่ะเป็นคนวิ่งแบบไหน?
ในทางจิตวิทยา ระหว่างทางที่ลูกค้าเสพคอนเทนต์นั้น เป็นการ “เปิดใจยอมรับ” ตัวแบรนด์ไปกลายๆ แล้ว และเมื่อค้นพบว่าตัวเองวิ่งแบบไหน ยิ่งทำให้อยากรู้จักแบรนด์มากขึ้นจนนำไปสู่การซื้อ
หรือ Moonstar แบรนด์รองเท้ากีฬาอีกเจ้าที่มีบริการวัดความยาว-ความหนาของขนาดเท้าลูกค้า ก่อนแนะนำรองเท้าที่เหมาะสมกับรูปลักษณ์เท้า พร้อมวิธีผูกเชือกให้แน่นอย่างพอดี และเชิญชวนให้ลูกค้าเดินในร้าน 5-10 นาทีว่าชอบและเข้ารูปเท้าไหม
Image Cr. bit.ly/3vYrhc4
นอกจากจะทำให้ลูกค้ารู้จักตัวเองแล้ว (ขนาดเท้าเท่าไร) ยังเป็นกลยุทธ์จิตวิทยา Virtual Ownership เสมือนว่าลูกค้าเป็นเจ้าของรองเท้านั้นแล้วภายในช่วงเวลาสั้นๆ 5-10 นาทีนั้น
ทั้ง 5 เทคนิคป้ายยาเหล่านี้ คือสิ่งที่แบรนด์เริ่มทำได้ไม่ยาก ใช้เงินทุนไม่สูง ไม่ต้องมีทรัพยากรอะไรมากมาย ขอแค่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ขบคิดให้มาก คิดนอกกรอบ ก็สามารถ “ป้ายยา” จนลูกค้าแย่งกันซื้อได้ไม่ยากแล้ว
.
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
อ้างอิง