ญี่ปุ่นมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก แบรนด์ญี่ปุ่นตีตลาดไปทั่วโลก สินค้าญี่ปุ่นก็มีภาพลักษณ์เป็นสินค้าคุณภาพดี น่าสนใจไม่น้อยว่า ผลลัพธ์อันน่าประทับใจเหล่านี้…อะไรคือเบื้องหลังปรัชญาการทำงานของคนญี่ปุ่น?
1. เก็นจิ เก็นบุตซึ【現地現物】
ออกไปพบปัญหาให้เห็นถึงหน้างาน! ลุกออกจากออฟฟิศอันโอ่อ่าแล้วเดินทางไปพบปัญหาถึงหน้างาน ไม่ว่าจะโรงงานการผลิต สถานที่วางจำหน่าย หรือสถานที่ใดก็ตาม
การเจอปัญหาแบบเห็นกับตา นอกจากเราจะ “รู้” อะไรบางอย่างเพิ่มขึ้นแล้ว ยัง “รู้สึก” ถึงความทุกข์ยากลำบากของผู้ที่ประสบปัญหานั้น นำไปสู่ Empathy ความเข้าอกเข้าใจกันในองค์กรมากขึ้น
คุณรวิศ แม่ทัพใหญ่แบรนด์ศรีจันทร์เผยว่า หน้าที่หลักทีม Marketing ของเค้าคือการ “เดิน”…เดินออกไปคุยกับลูกค้าเพื่อหาข้อมูลเชิงลึก ห้ามนึกทึกทักขึ้นเองในออฟฟิศ เพราะสิ่งที่ได้อาจบิดเบือนไปจากความจริง
เดิมที เก็นจิ เก็นบุตซึ เป็นวิธีปฏิบัติที่เริ่มมาจาก Toyota ในยุคสมัยก่อนจนถูกนำไปใช้แพร่หลายในญี่ปุ่น เป็นเรื่องปกติที่ผู้บริหารญี่ปุ่น (โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม) จะเดินตรวจโรงงาน ใส่ชุดยูนิฟอร์มเหมือนพนักงานทั่วไป และทานอาหารในโรงอาหารร่วมกับพนักงานคนอื่นๆ ระหว่างการทำเก็นจิ เก็นบุตซึเพื่อหาต้นตอของปัญหา
2. ไคเซ็น【改善】
พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ไคเซ็นเป็นแนวคิดที่เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างถูกทำให้ “ดีกว่าเดิม” ได้แม้จะทีละเล็กทีละน้อยก็ตาม เพราะเราอาจคิดว่าทุกอย่างดีพอแล้ว…แต่อันที่จริง มันอาจยังดีกว่านี้ได้อยู่
ไคเซ็นจึงนำเราไปสู่การใส่ใจรายละเอียด เพราะพยายามมองหาทุกจุดที่จะพัฒนา เราจึงเห็นสินค้าบริการญี่ปุ่นที่ใส่ใจรายละเอียดกับผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะ
- ฝาถ้วยโยเกิร์ตที่โยเกิร์ตไม่ติดฝา
- ถ้วยกาแฟใช้วัสดุกันความร้อน ถือง่าย
- เครื่องตรวจตั๋วอัตโนมัติที่ทำมุมองศาให้แตะบัตรได้ง่าย
- ซอส 2 in 1 บีบทีเดียวออกพร้อมกัน 2 ซอส
- สัมภาระบนสายพานที่หันหัวออก ให้ผู้โดยสารยกออกง่าย
คุณ Jiro Ono เชฟซูชิมิชลิน 3 ดาว อายุ 96 ปีบอกว่า “ผมเองยังทำไคเซ็นอยู่ทุกวัน เพื่อพัฒนาซูชิที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้า” Jiro Ono เป็นตัวอย่างชั้นเลิศของไคเซ็น แม้เขาจะมีประสบการณ์ทำซูชิมาทั้งชีวิต แม้จะพิสูจน์จนได้รางวัลและเป็นที่ยอมรับทั่วโลกแล้ว แต่ก็ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง
แนวคิดไคเซ็นยังสอดคล้องกับสภาพธุรกิจปัจจุบันที่อะไรเปลี่ยนไปเร็วเหลือเกิน “แค่อยู่กับที่ ก็เหมือนเดินถอยหลังแล้ว” ไคเซ็นจึงช่วยให้เราไม่ตกยุคตกกระแส
ถ้าเป็นคำศัพท์ทันสมัยหน่อย เราอาจเรียกไคเซ็นว่ามันคือการ “stay hungry” หิวกระหายที่จะพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะเมื่อหิว เราจะกิน เมื่อหิวตลอดเราจะกินตลอด นั่นหมายถึงการพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดหย่อน
3. โคดาวาริ 【こだわり】
ความเป็นเลิศในทุกสิ่ง เป็น Commitment ในการทำบางอย่างให้ออกมาดีที่สุด ใส่ใจรายละเอียด ประณีต ละเมียดละไม จนกลายเป็นมาตรฐานการทำงานในหลายวงการของญี่ปุ่น
- คุณภาพของสินค้าที่มีมาตรฐานระดับโลก
- การบริการแบบมืออาชีพ ที่แฝงไปด้วยความนอบน้อม อ่อนช้อย สุภาพ
- อาหารที่อร่อย วัตถุดิบชั้นดี ราคาเป็นธรรม และถูกสุขอนามัย
- ผู้คนที่มีระเบียบวินัยสูง ตรงเวลา รับผิดชอบ ทุ่มเทกับงาน
…ความต้องการลึกๆ ในใจที่อยากทำออกมาให้ดีเลิศ ช่วยบรรเทาอุปสรรคในใจออกไปได้ ไม่ว่าจะความขี้เกียจ ท้อแท้ เบื่อหน่าย
ในบางจุดของโคดาวาริ การทำงานไม่ได้ทำเพื่อเงินอีกต่อไป แต่ทำเพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด (แม้แรงกายแรงใจที่ทุ่มเทลงไปอาจเกินค่าแรงที่ได้ด้วยซ้ำ)
4. อิจิโกะ อิจิเอะ【一期一会】
Image Cr. bit.ly/3ftPAXM
เราอาจพบเจอกันเพียงครั้งแรกและครั้งเดียวในชั่วชีวิต
รากเหง้าคำนี้มาจากพิธีชงชาของนิกายเซนในยุคสมัยก่อน เรียกได้ว่าโอกาสที่ทุกคนในพิธีนั้นจะมาเจอกันเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิต
อิจิโกะ อิจิเอะ กระตุ้นให้เราอยากปฏิบัติตัวและรักษาความสัมพันธ์อันดีโดยเฉพาะกับลูกค้า เพราะอาจเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ได้พบกัน
“ครั้งสุดท้าย” เป็นอะไรที่ทรงพลังกับมนุษย์มาก ถ้าคุณรู้ว่าจะต้องทำอะไรเป็นครั้งสุดท้าย คุณจะทำมันให้ “ดีที่สุด” เท่าที่ความสามารถคุณมี ชนิดที่หลังจากนั้นเมื่อมองย้อนกลับมาคุณจะไม่เสียใจ
พนักงานภาคบริการเวลาเราไปเที่ยวญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ ทุกคนเทคแคร์เราอย่างเต็มที่ดีที่สุด เมื่อจากลา พนักงานจะทำการ “ยืนส่งจนลับสายตา” เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่พบเห็นได้ทั่วไป
หรือเวลาเครื่องบินกำลังจะบินออก พนักงานภาคพื้นดินที่อยู่แถวนั้นจะ “โบกมือ” อำลาเราอย่างพร้อมเพรียง สร้างความประทับใจครั้งสุดท้ายแก่เรา
5. อิคิไก【生き甲斐】
ความหมายในการมีชีวิตอยู่ หรือแปลภาษาง่ายๆ ได้ว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้เรา “อยากตื่นนอนในทุกๆ เช้า” มาพบเจอ
อิคิไกล้วนจุดประกายให้คนเรามี “เป้าหมายในชีวิตถึงแก่นแท้” เพราะไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงคนเราได้มากไปกว่าวันที่เขามีเป้าหมาย
อาจฟังดูนามธรรมไปหน่อย คุณ Ken Mogi ผู้เขียนหนังสือ A Little Book of Ikigai จึงให้นิยามว่า อิคิไกมักประกอบด้วย 5 เสาหลักด้วยกัน
- เสาหลักที่ 1: เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ
- เสาหลักที่ 2: ปลดปล่อยตัวเอง
- เสาหลักที่ 3: สอดคล้องและยั่งยืน
- เสาหลักที่ 4: มึความสุขกับสิ่งเล็กๆ
- เสาหลักที่ 5: อยู่กับปัจจุบันขณะ
ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ เราจะมีเสาหลักไหนก่อนหลังก็ได้ทั้งนั้น
…เวลาว่างจากงานประจำ คุณอาจเริ่มต้นรับงาน Freelance เล็กๆ ในสิ่งที่หลงใหล มันอาจไม่ใช่การทำเพื่อเงิน แต่ทำตามใจที่ต้องการ
…ปลดปล่อยตัวเองจากการคาดหวังต่างๆ ไม่ตีกรอบตัวเองว่าต้องเป็นเหมือนคนโน้น-คนนั้น เราดีที่สุดในจุดที่เป็นได้
…ทำอะไรให้แคร์สังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะเราเกื้อกูลอาศัยซึ่งกันและกัน ความยั่งยืนคืออะไรที่ทำซ้ำได้เรื่อยๆ
…หัดเอนจอยกับเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน อาจพบว่ามีความสุขไม่แพ้เรื่องพิเศษ คนที่มีความสุขล้นกับเรื่องเล็กๆ ได้คือคนที่โชคดี
…หัดอยู่กับปัจจุบัน เพราะนั่นคือสิ่งเดียวที่เรามี อดีตผ่านมาแล้วแก้ไขไม่ได้ อนาคตยังมาไม่ถึง…และเมื่อมาถึงก็เป็นปัจจุบันอยู่ดี
การอยู่กับปัจจุบันขณะ ทำให้เราเข้าสู่ Flow State ภาวะที่จิตจดจ่อกับงานได้ดี Hayao Miyazaki ผู้สร้างอนิเมะขึ้นหิ้งของญี่ปุ่นบอกว่า “รางวัลในการทำงานของผม ไม่ใช่เงินทองหรือถ้วยรางวัล…แต่คือการได้ทำงานในตัวมันเองต่างหาก”
.
.
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ พร้อมมีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
อ้างอิง
- https://www.investopedia.com/terms/k/kaizen.asp#:~:text=Kaizen%20is%20a%20Japanese%20term,operations%20and%20involve%20all%20employees.&text=The%20concept%20of%20kaizen%20encompasses%20a%20wide%20range%20of%20ideas.
- https://www.financialexpress.com/archive/kodawarikomakai-japanese-uniqueness-means-business/1259977/
- https://medium.com/mistletoe-intern-life/kodawari-31cc4692c922
- https://www.rethinkglobal.info/ikigai-business-purpose/
- https://japanintercultural.com/free-resources/articles/hajimemashite-the-chance-of-a-lifetime/
- https://www.process.st/genchi-genbutsu/
- https://www.economist.com/news/2009/10/13/genchi-genbutsu