- Brand Consistency – เสมอต้นเสมอปลาย ก่อน-หลังเลือกตั้ง
- Brand Transparency – โชว์ความสุจริตโปร่งใสผ่าน FB LIVE
- Brand Citizenship – พูดคุยกับคนทุกอาชีพอย่างเป็นกันเอง
จากกิจกรรมตลอดการหาเสียงและการทำงานในทุกวันเมื่อเป็นผู้ว่ากทม. มาวันนี้ “อ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ได้กลายมาเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในมุมการตลาดและในฐานะผู้นำองค์กรที่เราควรเรียนรู้ไว้
อ.ชัชชาติมาเกี่ยวข้องยังไงกับการบริหารองค์กร?
แม้การเป็นผู้ว่ากทม.จะแตกต่างจาก CEO บริษัท เพราะประชาชนไม่ใช่พนักงาน เพราะเงินเดือน CEO ไม่ได้มาจากภาษีพนักงาน และเพราะเราไม่ได้วัดคุณค่าของคนจาก Performance ที่ทำได้เสมอไป
แต่ผู้ว่ากทม.ภายใต้การนำของ อ.ชัชชาติ กลับสะท้อนภาพภาวะ “ความเป็นผู้นำ” ที่น่าประทับใจ (จนแม้แต่ในแวดวงนักธุรกิจยังให้การชื่นชม)
ถ้าอย่างนั้น เราลองมาวิเคราะห์ อ.ชัชชาติ ในมุมการตลาดและแกะรอยภาวะความเป็นผู้นำของเค้าดูกัน บอกเลยว่าน่าสนใจจนใช้เป็น Role Model ได้เลย!
Brand Consistency
อ.ชัชชาติยังคง “เสมอต้นเสมอปลาย” ตื่นมาทำงานแต่เช้าตรู่ เลิกดึกดื่น แถมทำงานโดยที่ไม่มีวันหยุด 7 วัน/สัปดาห์
และบุคลิกความ “เข้าถึงได้” เป็นกันเองยังคงเฉิดฉายทุกวัน เดินไปไหน ใครขอถ่ายรูป ให้ไปร่วมถ่ายด้วยไม่เคยปฏิเสธ
Image Cr. bit.ly/3A3XZKi
เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ “ก่อนเลือกตั้ง” เมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว อ.ชัชชาติพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถรักษาความต่อเนื่องสม่ำเสมอของแคมเปญ บุคลิกนิสัย และคุณภาพการทำงาน
ไม่ต่างจากแบรนด์ที่มี Brand Consistency ผ่านไปกี่ปีก็ยัง “สม่ำเสมอ” ในด้านคุณภาพสินค้า / การสื่อสาร / จุดยืนของแบรนด์
The Outlaw – นักเปลี่ยนแปลง
ในการวิเคราะห์บุคลิกตัวตนของแบรนด์ หรือ Brand Archetype ชัดเจนมากว่าอ.ชัชชาติอยู่ในประเภท The Outlaw หรือ “ผู้สร้างเปลี่ยนแปลง”
ระหว่างหาเสียงดีเบต อ.ชัชชาติบอกอยู่เสมอว่าพร้อมเป็น “ผู้นำแห่งความหวัง” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแก่คนกรุงเทพ
The Outlaw จะไม่สยบยอมต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ง่ายๆ พวกเค้ามีความหวังและอุดมการณ์ที่แรงกล้า พร้อมกล้าสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อยกระดับไปสู่ “มาตรฐานใหม่” ที่ดีกว่าเดิม
การที่ อ.ชัชชาติ วิ่งสวนและเดินฟุตบาทเพื่อสัมผัสปัญหาแต่เช้าตรู่ / เซอไพรส์ลงพื้นที่เขตโดยไม่แจ้งล่วงหน้าทุกวันอาทิตย์ / ตลอดจนการ FB LIVE ในห้องทำงานที่ออฟฟิศ
ถือเป็นการทำงานที่แตกต่างและเป็นกิจกรรมที่ใช้ Energy สูงมากๆ แถมชวน “เรียกแขก” ล่อแหลมต่อการเกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ (เช่น “เอาแต่วิ่ง…ไม่ยอมทำงาน!”) แต่เค้าก็ยังยืนหยัดเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ
อ.ชัชชาติยังมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาเมืองกรุงเทพให้เป็น “เมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน”
และไม่ใช่แค่เชิงกายภาพ แต่รวมถึง “Mindset” ของคนกรุงเทพด้วย
- “พวกเราต้องมาช่วยกันนะ”
- “พวกเราคือเจ้าของเงิน”
- “เฮ้ย ผมเดินคนเดียวไม่ได้นะ แต่เราต้องเดินไปด้วยกัน”
คือประโยคติดปากที่อ.ชัชชาติพูดอยู่เสมอ
Social Listening
แบรนด์ที่รู้ปัญหาลูกค้าอย่างแท้จริงมักคือแบรนด์ที่เปิดใจรับฟังเสียงของลูกค้า และนั่นคือสิ่งที่ อ.ชัชชาติ ทำอยู่จนเป็นนิสัย
ในเชิงระบบภาพใหญ่ อ.ชัชชาติมีการทำ Social Listening ผ่านแอป Traffy Fondue ที่เปิดให้ประชาชนแจ้งรายละเอียดปัญหามาไว้ในระบบอย่างเปิดเผยและโปร่งใส
ในระดับนิสัยส่วนตัว เรายังได้ยินอ.ชัชชาติบอกผ่าน FB LIVE อยู่ประจำว่า…
- “พวกคุณเถียงผมได้นะ”
- “ผมอาจจะผิดก็ได้นะ”
- “ไม่ต้องเชื่อที่ผมพูดทุกคำนะ”
เป็นการลดอีโก้ตัวเองลง ตัวเองอาจจะเป็นฝ่ายผิดก็ได้ และพร้อมเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย
Crisis Management
หลังดำรงตำแหน่ง วิกฤติที่เด่นชัดที่สุดคือ ปัญหา “น้ำท่วม”
แต่ทุกครั้งที่ฝนถล่มกรุง เราจะเห็นอ.ชัชชาติแสตนด์บายอยู่ที่ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม และเฝ้าตรวจสอบใกล้ชิดจนถึงดึกดื่นผ่าน FB LIVE พร้อมแจ้งทุกหน่วยงานให้บริการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่
Image Cr. bit.ly/3STeoKh
แม้สุดท้ายน้ำจะท่วมหลายพื้นที่ ผู้คนได้รับความเดือดร้อน อ.ชัชชาติก็จะออกมาขอโทษอย่างจริงใจไม่มีข้ออ้างแก้ตัว พร้อมรับปากปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป
Result over Background
อ.ชัชชาติมีประวัติการศึกษาดีเลิสมาโดยตลอด
- จบวิศวะจุฬา เกียรตินิยมอันดับ 1
- ป.โทด้านวิศวกรรมโครงสร้างที่ MIT
- ต่อป.เอก วิศวกรรมโครงสร้างอีกที่ UIUC
เรียกได้ว่า แบคกราวน์ด้านการศึกษาของอ.ชัชชาติ สามารถเป็น Intellectual class ปัญญาชนชั้นนำของเมืองไทยได้สบายๆ )และนำโปรไฟล์ตรงนี้มา “เคลม” เป็นจุดขายโปรโมทตัวเองได้อย่างน่าเชื่อถือสุดๆ (ยังมีสถานะอาจารย์มหาวิทยาลัยและ CEO บริษัทเอกชนอีก)
แต่อ.ชัชชาติไม่เคยทำ… และเมื่อมีใครพูดถึงข้อได้เปรียบจุดนี้(ที่เหนือกว่าคู่แข่งชัดเจน) อ.ชัชชาติกลับบอกปัดและให้วัดกันที่ “ผลงาน”
Positive Attitude
ครั้งหนึ่งระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง สื่อมวลชนถามว่า ถ้าอ.ลงเลือกตั้งแล้วแพ้…จะทำยังไงต่อ? อ.ชัชชาติตอบกลับอย่างจริงใจว่า “โลกขาดคุณได้…อย่าสำคัญตัวเองเกินไป…ถ้าแพ้ ผมก็คงกลับไปทำธุรกิจแหล่ะมั้ง”
นี่คือทัศนคติที่แตกต่างและไม่ค่อยได้ยินจากคู่แข่งในตลาด เป็นการมองโลกในแง่ดีและสมจริง(จนชนะใจผู้คน)
อ.ชัชชาติยังไม่เคยพูดจา “โจมตี” ใครเลย(แม้จะทำได้อย่างสมเหตุสมผล) แต่กลับเรียกร้องให้เกิดความสามัคคี โฟกัสที่ปัจจุบันและอนาคต…แทนอดีตที่กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว
เราไม่ได้ต้องการผู้นำที่ Toxic แต่ต้องการผู้นำที่สร้างแรงยันดาลใจและพร้อมเป็นความหวังในทุกๆ วัน
Brand Transparency
ความโปร่งใสสุจริตถูกพิสูจน์ได้ง่ายๆ เพราะ อ.ชัชชาติ โชว์ FB LIVE อยู่ทุกวันตลอดการทำง่าน ผู้คนเห็นปัญหาหน้างาน เห็นการถกเถียงความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมา เห็นว่าเม็ดเงินภาษีของตนถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่าหรือไม่
อ.ชัชชาติเปิดเผยชี้แจงทรัพย์สินทุกอย่างตามกฎหมาย เป็นลายลักษณ์อักษรและตรวจสอบย้อนหลังได้ พร้อมคำอธิบายต่างๆ นานาเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวและกับบุคคลสำคัญอื่นๆ อย่างตรงไปตรงมาแบบไม่มีความลับ
Personal Branding
ในแง่ของ “รูปลักษณ์ร่างกาย” อ.ชัชชาติสะท้อนถึงผู้นำยุคใหม่ที่มีหุ่นฟิตเปรี๊ยะ แข็งแรงบึกบึน กล้ามเป็นมัด
ในวัยเลข 5 อ.ชัชชาติยังออกไปวิ่งทุกเช้ากว่า 10 กม. ด้วยความเร็วระดับ Pace 4 นอกจากจะเป็นการโปรโมทกระแสรักสุขภาพในตัวแล้ว ยังสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนด้วยว่า พวกเค้าจะได้ผู้นำที่มีสุขภาพแข็งแรงสู้งานจนครบวาระได้
Personal Branding ของอ.ชัชชาติยังเกี่ยวข้องกับเรื่องน่าประทับใจอื่นๆ ทุกอย่างรวมกัน จนนำไปสู่การ “ซื้อคน…ก่อนซื้อสินค้า”
หรือกรณีนี้ก็คือ “ซื้อชัชชาติ…ก่อนซื้อนโยบาย”
Storytelling
มีเรื่องเล่าที่อ.ชัชชาติเคยบอกว่า สาเหตุที่เขาต้องมีวินัยในการออกกำลังกายอย่างหนักทุกวัน เพราะต้องการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและอยู่กับลูกไปนานๆ (แสนปิติ สิทธิ์พันธุ์ ลูกชายคนเดียวของอ.ชัชชาติเกิดมาพร้อมปัญหาทางการได้ยิน)
Image Cr. bit.ly/3PyN68Z
นี่คือ Storytelling ที่ “ซื้อใจ” ประชาชนอย่างล้นหลามเมื่อได้รู้ความจริง
เรายังเห็น “แรงจูงใจที่ไม่ใช่ตัวเงิน” (ไม่ได้ทำเพื่อเงิน) จากการทำงานของอ.ชัชชาติอยู่บ่อยๆ ซึ่งกระตุ้นอารมณ์และชนะใจผู้คน
Brand Citizenship
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อ.ชัชชาติบรรลุ Brand Citizenship ได้คือนิสัย “ติดดิน” อ.ชัชชาติยังคงมีไลฟ์สไตล์ที่ไม่ต่างจากคนทั่วไปนัก เดินฟุตบาท / วิ่งสวน / โหนรถเมล์ได้ / ขึ้นรถไฟฟ้าได้ / ไปไหนมาไหนไม่ต้องมีคนนำขบวน
ปฏิบัติตัวเหมือนเป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่ง มีทักทายสวัสดีประชาชนระหว่างทาง ใครๆ ก็โบกมือทักทายได้ / วิ่งมาขอเซลฟี่ได้ / เดินมาแจ้งปัญหาได้ เป็นความ Mass ที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้
เท่านั้นยังไม่พอ เราเห็นอยู่บ่อยๆ ว่าอ.ชัชชาติมักพูดคุยและร่วมโต๊ะทานข้าวกับประชาชน “ทุกอาชีพ” อย่างเป็นกันเองไม่ต่างจากคนธรรมดาคนหนึ่ง
อ.ชัชชาติยังออกโรงปกป้อง “คนกวาดถนน” ผ่านสื่อมวลชนขนานใหญ่ กรณีที่ชี้แจงปัญหาเชิงลึกต่างๆ เป็นการสะท้อนว่าผู้มีอำนาจอย่างเค้าพร้อมอยู่เคัยงข้างประชาชน
Image Cr. bit.ly/3A76hRu
จาก Brand Citizenship มีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่ Brand Love ในที่สุด…เป็นที่รักของประชาชน คนส่วนใหญ่ยินดีให้การสนับสนุนและพร้อมให้อภัยเมื่อทำผิดพลาด
Brand Love ไม่ใช่สิ่งที่แบรนด์หรือผู้นำทุกคนจะสามารถทำได้ง่ายๆ เพราะต้องประกอบด้วยหลายปัจจัยพร้อมกันและต่อเนื่องนานพอ…แต่ Brand Love กำลังเกิดขึ้นกับ อ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์แล้ว
.
ถึงทุกวันนี้ “ชัชชาติโมเดล” ได้มีอิทธิพลต่อภาวะความเป็นผู้นำในหลายอุตสาหกรรมที่บรรดาเจ้าของกิจการ ซีอีโอ หรือผู้บริหารระดับสูงสามารถเรียนรู้ใช้เป็นแบบอย่างได้
แต่เราจะเห็นว่าอ.ชัชชาติทำได้ทุกข้อที่กล่าวมาอย่างเป็น “ธรรมชาติ” เพราะมันมาจากตัวตนที่แท้จริงจาก “ข้างใน” นั่นเอง
ถ้าข้างในดีมากพอแล้ว “ข้างนอก” ก็เป็นเพียงผลลัพธ์ที่ตามมา
.
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
อ้างอิง