จะดีแค่ไหน? ถ้าความ “ครีเอทีฟ” ของเรา(ที่หลายคนอิจฉา) ถูกถ่ายทอดไปยังคนอื่นได้ โดยเฉพาะกับเพื่อนร่วมทีม…ถ้าทุกคนเก่งงานและมีหัวครีเอทีฟด้วย ก็พร้อมกอดคอกันเติบโตก้าวกระโดดไปด้วยกัน
จู่ๆ คนเราครีเอทีฟได้ยังไง?
มนุษย์เราแตกต่างกัน เราเกิดมาพร้อม “พันธุกรรม” บางอย่างในตัวที่ทำให้เราสนใจหรือ “เก่ง” เรื่องต่างๆ โดยไม่ต้องทำอะไรมากเลย (มีหัวด้านนี้) บางคนเกิดมาพร้อมพรสวรรค์ด้านกีฬา / บางคนเก่งภาษา / บางคนเก่งดนตรี / บางคนเก่งวิเคราะห์ / บางคนเก่งตัวเลข
แต่ดูเหมือนว่าน้อยคนที่จู่ๆ จะมีหัวด้าน “ครีเอทีฟ” เพราะต้องมี “กลไก” บางอย่างไปกระตุ้น ต้องได้รับการสอน ต้องได้รับการฝึกเพื่อเฟ้นมันออกมา
จะดีแค่ไหน? ถ้ามี “Workshop” ที่ทำกันในทีม ใช้งบน้อย เริ่มได้ง่ายๆ เริ่มได้ทันที ประยุกต์กับอุตสาหกรรมไหนก็ได้ แถมเป็นเวิร์คชอปที่ Business School ชั้นนำต่างๆ ของของโลกให้ความไว้วางใจในการนำไปใช้ด้วย!
เราตามไปดูกัน…
Worst-Best Scenario
นี่คือเทคนิคกระตุ้นความครีเอทีฟที่ใช้ในคณะบริหารธุรกิจที่ Stanford University เริ่มแรกจะทำการกำหนดหัวข้อเรื่องขึ้นมาก่อน จากนั้น แบ่งคนออกเป็น 2 ทีมใหญ่ด้วยกัน ได้แก่ ทีม Best และ ทีม Worst
- ทีม Best เขียน The best idea ขึ้นมา
- ทีม Worst เขียน The worst idea ขึ้นมา
พร้อมให้เหตุผลประกอบว่าทำไมไอเดียนี้ถึงดี-ไม่ดี
ประเด็นอยู่ตรงนี้ ต่อจากนั้น Worst-Best Idea เหล่านี้จะถูก “สลับข้างกัน”
- ทีม Best จะได้รับ Worst idea จากอีกฝั่ง
- ทีม Worst จะได้รับ Best idea จากอีกฝั่ง
ก่อนที่ทั้ง 2 ทีม จะต้องพยายาม “พลิกแพลง” (โดยมีหตุผลประกอบ)
- เปลี่ยนจาก Worst เป็น Best idea
- เปลี่ยนจาก Best เป็น Worst idea
เช่น Worst idea ในการ “ประหยัดพลังงาน” คือ พนักงานจะไดรับ “โควต้า” ที่จำกัดในการใช้พลังงาน ถ้าใครใช้เกินจะถูกคิดเงินเพิ่ม…ก่อนถูกพลิกแพลงเป็น Best idea โดยทุกอย่างยงคงเหมือนเดิม ยกเว้นแต่ว่า ถ้าพนักงาน “เหลือ” พลังงาน(ใช้น้อยกว่าโควต้า)จะได้รับเงินเพิ่ม และสามารขาย “เครดิตพลังงาน” (แลกกับเงิน) แก่สมาชิกทีมคนอื่นได้ด้วย!
การทดลองในหลายคลาสพบว่า Best-Worst Idea มันไม่ได้แย่-ไม่ได้ดีอย่างที่คิดขนาดนั้นเสมอไป เราสามารถพลิกไอเดียที่ฟังดูแย่และไม่น่าเวิร์คให้กลายเป็นไอเดียที่บรรเจิดสุดครีเอทีฟในที่สุด…ขอแค่เวลาและกึ๋นมันสมองในการคิดกับทีมซะหน่อย
มองมุมกลับ
สมมติว่าในคลาสสอนความคิดสร้างสรรค์ อาจารย์มอบซองจดหมายที่ภายในมีเงิน 100 บาทให้นักศึกษานำเงินจำนวนนี้ไปใช้หาเงินให้ได้มากที่สุดภายในเวลา 5 วัน ก่อนต้องขึ้นพรีเซนท์หน้าชั้นเรียนเป็นเวลา 5 นาทีถึงผลลัพธ์ที่ได้
ปกติแล้ว ใครก็ตามที่ได้ยินเรื่องนี้จะโฟกัสไปที่เงินทุน 100 บาทและเวลา 5 วันในการหาเงิน แต่เทคนิคมองมุมกลับ(ซึ่งเวิร์คมากถ้าระดมสมองช่วยกันคิดในทีม) บอกเราให้ค้นหา “สารตั้งต้น” ซะก่อน จากกรณีนี้ตัวอย่างเช่น “เวลาพรีเซนท์ 5 นาที”
จากเวลาพรีเซนท์ที่เป็น “ปลายทาง” ของโปรเจคท์นี้ จะสามารถเป็น “ต้นทาง” การเริ่มต้นทำงานได้ยังไง? เราอาจไปดีลกับบริษัทจัดหางานเพื่อให้มา “โฆษณา” (Advertising airtime) หาคนทำงานในช่วงเวลา 5 นาทีนี้ก็ได้! โดยบริษัทจัดหางานต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่โฆษณาตรงนี้เป็นค่าตอบแทนนั่นเอง
มอง…ให้เห็น
ใส่ใจรายละเอียด (Pay attention) ในสิ่งที่ “ถ้ามองแบบผิวเผินจะมองไม่เห็น” เช่น เวลาเดินเข้าร้านค้าแห่งหนึ่ง กลิ่นให้อารมณ์แบบไหน / เสียงเพลงที่เปิดเป็นยังไง / ผิวสัมผัสวัสดุในร้านล่ะ / แล้วสีที่เค้าใช้ล่ะ / จนถึงการปฏิบัติของพนักงานในร้าน
วิธีนี้ใช้ได้ผลมากๆ กับงานด้าน “บริการ” (Hospitality) ซึ่งต้องสัมผัสกับผู้คนโดยตรง และเป็นผู้คนที่มีความเซนซิทีฟอ่อนไหวเพราะอยู่ในช่วงท่องเที่ยวผ่อนคลาย
เป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์ได้ดีกว่าที่คิด เช่น คุณ Pay attention ร้านเสื้อผ้าคู่แข่งแบรนด์หนึ่งจนพบว่า มีการนำ “นายแบบ-นางแบบ” มาเทคแคร์ลูกค้าภายในร้าน (เช่น Abercrombie & Fitch) ซึ่งนอกจากจะน่าดึงดูดสายตาแล้ว ยังโชว์เสื้อผ้าของแบรนด์บนเรือนร่างไปในตัวด้วย
รวมร่างไอเดีย
นี่คือเทคนิคที่ให้สมาชิกทีมช่วยกัน “เติมคำในช่องว่าง” ดังนี้
- ไอเดียเหมือน…
- เพราะ…
- ดังนั้น…
เช่น
- ไอเดียเหมือน…เด็กทารกลูกตัวเอง
- เพราะ…ใครๆ ก็คิดว่าลูกตัวเองน่ารัก(ความจริงอาจไม่ใช่)
- ดังนั้น…อย่าอคติกับไอเดียตัวเองจนเกินไป
- ไอเดียเหมือน…ช็อกโกแลต
- เพราะ…เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ชอบ
- ดังนั้น…ต้องเสิร์ฟให้คนกินบ่อยๆ
- ไอเดียเหมือน…ใยแมงมุม
- เพราะ…มันแข็งแรงกว่าที่คุณคิด
- ดังนั้น…อย่ามองข้ามมันไปเด็ดขาด
- ไอเดียเหมือน…วาฟเฟิล
- เพราะ…มันอร่อยที่สุดตอนร้อนๆ
- ดังนั้น…ต้องคิดไอเดียให้สดใหม่อยู่เสมอ(ไม่ยึดติด)
การรวมร่างไอเดีย(ที่ภายนอกดูแปลกพิสดาร)เข้าด้วยกัน คุณอาจพบว่ามันเป็นไอเดียที่น่าสนใจกว่าที่คิด ได้ฉุกคิดเรื่องต่างๆ หรือนำไปสู่ไอเดียใหม่ๆ ที่มองข้ามมาตลอด
จากตัวอย่าง Workshop สุดครีเอทีฟเหล่านี้ เราจะพบว่า…แม้เราอาจไม่ใช่คนมีหัวครีเอทีฟแต่กำเนิด แต่ถ้ารู้จักใช้กลไกและการระดมสมองกับทีมช่วยกันคิดแบบมีกึ๋น ไอเดียครีเอทีฟสุดบรรเจิดก็เกิดขึ้นได้แน่นอน!
.
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
อ้างอิง
- หนังสือ What I Wish I Knew When I Was 20 โดย Tina Seelig
- https://www.creativityatwork.com/12-ways-to-enhance-creativity-and-collaboration-in-teams/
- https://rebelsguidetopm.com/5-ways-to-boost-your-teams-creativity/
- https://hbr.org/2022/03/3-exercises-to-boost-your-teams-creativity