- ตื่นมาเขียน…ก่อนไปทำอย่างอื่นต่อ
- เขียนไปเรื่อย…ปล่อยใจไปกับมัน
- ยิ่งมีความลับ…ยิ่งต้องเขียนมันออกมา
ทั้งหมดนี้คือเทคนิคการ “เขียน” ในสไตล์ที่แตกต่างกัน แต่ย้อนกลับมาช่วยอัพเกรดการทำงานอย่างเหลือเชื่อ และไม่แน่นะ พอรู้ตัวอีกที…ชีวิตคุณก็เปลี่ยนก้าวหน้าไปมากบ้าง
ทำไมการเขียนถึงช่วยเราได้มากขนาดนี้
แม้การเขียนจะเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าทำได้ง่ายดายราวกับไม่ต้องใช้สมองคิดเลย แต่กระบวนการทำงานของสมองที่แท้จริงคือ ในแต่ละวินาทีที่เราเขียน สมองต้องโฟกัส อยู่กับปัจจุบัน(ถ้าหลุดเมื่อไร ก็คือเขียนผิด)
การเขียนยังเป็นการ “จบครบลูป” ของ Input-Output กล่าวคือ อ่าน-เขียน จะสัมพันธ์กันโดยตรง
- Input = อ่าน
- Output = เขียน
ยิ่งเราอ่านเยอะ ยิ่งมีแนวโน้มเขียนเก่ง และการเขียนจะเป็นการนำ Input จากการอ่านมาย่อยตกผลึกเป็นงานเขียน ในกระบวนการนี้ สมองเราจึงได้ “ทบทวน” เนื้อหาที่ได้รับรู้ไป(โดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ) ซึ่งจะยิ่งสร้างการจดจำและความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นไปอีก
แล้วมีเทคนิคการเขียนอะไรบ้างที่ช่วยการทำงานและชีวิตของเรา?
Morning Pages
คือการตื่นขึ้นมาแล้วสิ่งแรกที่ทำคือการ “เขียน” ด้วยเวลาสั้นๆ แค่ราว 5-10 นาที โดยจะเป็นบทความสั้นๆ / เป้าหมายของวันนี้ / สิ่งที่อยู่ในใจก็ได้ทั้งนั้น
เป็นเทคนิค “เอาชนะแรงต้าน” ยามเช้าตรู่ที่เรามักขี้เกียจทำอะไร เป็นการชนะใจตัวเองเล็กๆ เหมือนเป็นความสำเร็จแรกของวันก่อนขึ้นไประดับที่ใหญ่ขึ้น เพราะเราใช้ Morning Pages เพื่อเป็น “บันได” สู่กิจวัตรดีๆ อย่างอื่นต่างหาก เมื่อเขียนเสร็จ คุณอาจไปกำลังกายต่อ หรืออ่านหนังสือ หรือคิดวิเคราะห์หาไอเดียใหม่ๆ
Morning Pages ยังเป็นวิธีรวบรวมไอเดียชั้นเลิศ เพราะเช้าๆ หลังตื่นนอน หัวเรามักแล่น คิดอะไรก็คิดออก
Morning Pages แนะนำให้เขียนด้วย “มือ” เพราะเป็นการฝึกกล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้โดยตรงกว่าการพิมพ์ เรื่องนี้มีผลวิจัยสนับสนุนที่สแกนสมองระหว่างคนที่กำลังเขียนด้วย มือ vs. พิมพ์ พบว่าคนที่เขียนด้วยมือ สมองมีการทำงานที่มากกว่า กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้ดีกว่า เพราะมันไปกระตุ้นระบบตื่นตัวในร่างกายของเราที่เรียกว่า Reticular Activating System (RAS)
การเขียนด้วยมือยังเป็นวิธีที่ J.K. Rowling ใช้เมื่อเขียน Harry Potter
เขียนหลังเลิกงาน
เป็นเทคนิค “ทบทวน” ผลลัพธ์การทำงานแบบวันต่อวัน ซึ่งมักเป็นการ “เดินทางภายในใจ” ของตัวเราเอง
เปิดโอกาสให้คุณได้ขบคิด ได้ค้นหา ได้ตกผลึก คุณอาจพบว่าตัวเอง…
- คิดผิด…เมื่อได้เขียน
- ความคิดช่างตื้นเขิน…เมื่อได้เขียน
- ตรรกะบิดเบี้ยว…เมื่อได้เขียน
แต่เทคนิคนี้ไม่จำกัดแค่เรื่องงานอย่างเดียว แต่รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์กับคนในออฟฟิศ ร้านป้าข้าวแกงหน้าออฟฟิศ หรือมื้อเที่ยงที่กินไปอร่อยไหม เป็นการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นแบบภาพรวมก็ได้
Freewriting
ตามชื่อเลย คือเขียนอะไรก็ได้ออกมาตอนนั้นแบบฟรีสไตล์ คิดอะไรออก ก็เขียนออกมาแบบนั้นเลย โดยจะเป็นคีเวิร์ดคำเดี่ยวๆ หรือประโยคสั้นๆ ก็ได้ทั้งนั้น
โดยช่วงแรกมักเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานหรือสิ่งที่อยู่่ตรงหน้าเรา ณ ตอนนั้น ก่อนจะสุ่มขยายไปเรื่องอื่นโดยไม่มีแพทเทิร์นเลยก็ว่าได้
- “งานเข้า ลูกค้าแคนเซิล ยอดขายหาย”
- “วันนี้หัวหน้ากลับเร็ว บรรยากาศออฟฟิศเลยสบายขึ้น”
- “ฝนตกหนัก น้ำท่วม เข้าบ้านลำบาก ไปนัดสาย”
- “เที่ยวญี่ปุ่น กินซอฟต์ครีมฮอกไกโด ซูชิอร่อยๆ”
- “มีคาเฟ่เปิดใหม่แถวออฟฟิศ มาร์เก็ตติ้งครีเอทีฟมาก”
ประโยชน์ของเทคนิคนี้ดูจะเป็นการ “ระบาย” ความเครียดหรือสิ่งที่อยู่ในใจและปล่อยมันออกมา และยังเป็นการมีสติ “รู้ใจตัวเอง” ด้วยว่าแท้จริงแล้วเรามีแนวโน้มคิดเรื่องอะไรบ้างกันแน่
เขียนเลียนแบบสไตล์คนนั้น
นี่คือเทคนิคสร้าง Empathy หรือความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นว่าเค้าคิดและรู้สึกยังไง เพราะผลลัพธ์การเขียนก็สะท้อนตัวตนและความคิดของคนเขียนอย่างเลี่ยงไม่ได้ และเป็นการกระโดดออกจาก Comfort Zone ของตัวเองได้เป็นอย่างดี
เช่น ถ้าเจอบทความธุรกิจเชิงลึก คุณอาจลองท้าทายตัวเองด้วยการเลียนแบบสไตล์การเขียนบทความนั้นมาทั้งดุ้น ระหว่างทางคุณอาจค้นพบว่า เป็นการบีบบังคับตัวเองให้…
- ขัดเกลาความคิดตัวเองให้เฉียบคมขึ้น
- ตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ มากขึ้น
- หาตัวเลขข้อมูลที่นาเชื่อถือมากขึ้น
ในทางกลับกัน ถ้าคุณเจอบทความครีเอทีฟที่ตัวหนังสือน้อยๆ แต่มีความหมายลึกซึ้งกินใจ การเลียนแบบสไตล์การเขียนนี้ อาจบังคับให้คุณต้องเฟ้นหาความคิดสร้างสรรค์ในตัวเองหรือการสรุปย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่ายในประโยคเดียว ซึ่งเป็นทักษะที่ต่างจากบทความก่อนหน้า
Proactive Writing
หรือการเขียนไปด้วยระหว่าง…คิด-อ่าน-ทำ ซึ่งทำให้เราจดจำเรื่องนั้นได้ดีกว่า เช่น อ่านหนังสือไปด้วยแต่จดลงหน้าหนังสือไปเลยหรือจดใส่กระดาษ (หรืออย่างน้อยพิมพ์ในมือถือก็ยังดี)
Proactive Writing ประยุกต์ใช้ได้เยอะมากๆ คุณอาจกำลังเดินเล่นแล้วจู่ๆ เกิดไอเดียแว่บขึ้นมา ก็ทำการจดหรือพิมพ์โน๊ตลงมือถือ หรือระหว่างทำงานอะไรอยู่แล้วจดเรื่องราวสำคัญของงานนั้นๆ ณ ตอนนั้น เช่น ผล Focus Group จากลูกค้าไม่เป็นไปตามคาด
Unsent Letter
บางครั้งชีวิตของเราเจอเรื่องที่ยากลำบาก และยากยิ่งกว่าเมื่อเราไม่สามารถเล่าระบายให้ใครฟังได้ (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม) มันคือความกลัว ความบกพร่อง มันคือ “ปม” ที่ฝังอยู่ลึกๆ ในใจคุณ และมีเพียงคุณคนเดียวเท่านั้นที่รู้
Unsent Letter คือทางออก นี่คือวิธี “ระบายความในใจ” ที่ดีที่สุด เป็นส่วนตัวที่สุด ลับสุดยอดที่สุด เพราะคนเดียวในโลกที่ได้อ่านได้รับรู้คือตัวคุณเอง
Unsent Letter มีความคล้ายกับ “ไดอารี่ของ Anne Frank” ที่โด่งดังไปทั่วโลกมาถึงปัจจุบัน เพราะบอกเล่าความโศกเศร้า / โกรธ / คับแค้นใจ / เสียใจ…ทุกเรื่องของความทุกข์ระหว่างหลบซ่อนตัวในบ้านช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของเด็กสาวตัวเล็กๆ คนหนึ่ง เธอใช้การเขียนไดอารี่นี้เป็นวิธี “เยียวยาจิตใจ” โดยไม่มีใครรู้เลยในตอนนั้น เพราะโลกรับรู้ก็หลังจากที่เธอได้เสียชีวิตไปแล้ว (หลังมีการค้นพบไดอารี่เล่มนี้)
ในกรณีที่คุณอยากเก็บเป็นความลับ เมื่อทำ Unsent Letter เสร็จ ต้องอย่าลืม “ทำลายหลักฐาน” ทิ้งซะ ฉีกขยี้กระดาษจนประกอบกันไม่ได้อีกหรือนำเข้าเครื่องทำลายกระดาษ ถ้าพิมพ์ ก็ต้องลบทุกบรรทัดและทำให้ย้อนหลังกลับมาใหม่ไม่ได้อีก
เราจะเห็นว่าการเขียนมีหลายรูปแบบ แต่สิ่งสำคัญที่สุดอาจไม่ใช่ประสิทธิภาพการเขียน แต่เป็นวินัยเขียนอย่างสม่ำเสมอจนตกผลึกกลายเป็น นิสัยรักการเขียน (Writing habit) ในที่สุด
เมื่อทำจนติดเป็นนิสัยแล้ว เราจะทำมันได้ตลอดไป…
.
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
อ้างอิง