- Xiaomi ผงาดเป็นผู้นำตลาดในเวลาแค่ 10 ปี
- รายได้ 1.3 ล้านล้านบาท กำไร 192,000 ล้านบาท
- ในชีวิตประจำวันของเรา เริ่มมีสินค้า Xiaomi เข้ามาแล้ว
Xiaomi มีวิธีปั้นองค์กรอย่างไร? สู่นวัตกรรมไฮเทคในราคาแสนเป็นมิตร
กรุงปักกิ่ง 2010
Xiaomi ก่อตั้งขึ้นในกรุงปักกิ่ง เมื่อปี 2010 นี้เอง โดยคุณ Lei Jun และเพื่อนระดับหัวกะทิอีก 6 คน
โดยผู้ก่อตั้งอย่างคุณ Lei Jun มีความฝันที่เปิดเผยต่อสาธารณชนว่า เค้ามี Steve Jobs เป็นไอดอล ประทับใจความเก่งที่สร้าง “สมาร์ตโฟน” จนพลิกวงการเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว
เขาจึงมีความฝันมาตั้งแต่นั้นว่า อยากสร้างสมาร์ตโฟนที่ดีติดท็อปโลก…เพียงแต่มาในราคาที่ผู้คนส่วนใหญ่ “เข้าถึงได้” (Financially accessible)
Lei Jun จึงทาบทามเพื่อน 6 คนที่ทำงานอยู่บริษัทเทคโนโลนีชั้นนำของอเมริกา เช่น Google ให้มาร่วมทีม เรียกได้ว่า กลุ่มคนที่มาปั้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นคือ Tech Elites ตัวท็อปของเมืองจีนทั้งสิ้น
- ปี 2011 เปิดตัวสมาร์ตโฟนแรก “Xiaomi Mi1”
- ปี 2014 มีสัดส่วนยอดขายสมาร์ตโฟนสูงที่สุดในจีน และคิดเป็น 94% ของรายได้ทั้งหมดบริษัท
- ปี 2015 เริ่มต้นแตกไลน์สินค้าเครื่องใช้ภายในบ้าน
เมื่อถึงปี 2020 ภายใน 1 ทศวรรษ Xiaomi กลายเป็นแบรนด์ระดับโลก พร้อมพนักงานทั่วโลกกว่า 22,000 คน
- ปี 2017 รายได้ 517,000 ล้านบาท
- ปี 2018 รายได้ 790,000 ล้านบาท
- ปี 2019 รายได้ 920,000 ล้านบาท
- ปี 2020 รายได้ 1,300,000 ล้านบาท
จำนวนสมาร์ทโฟนที่ขายได้
- ปี 2017 : 91 ล้านเครื่อง
- ปี 2018 : 118 ล้านเครื่อง
- ปี 2019 : 124 ล้านเครื่อง
- ปี 2020 : 146 ล้านเครื่อง
ระบบ MIUI ในเครือตัวเอง มีผู้ใช้งานกว่า 450 ล้านคน/เดือน
Branding
Xiaomi เปิดตัวอัตลักษณ์แบรนด์อย่าง “Mi” สีส้มสดใส เรียบง่ายโมเดิร์น ย่อมาจาก “Mobile internet” และอีกนัยคือ “Mission Impossible”
สีประจำแบรนด์คือ “สีส้ม” สะท้อนความรู้สึกใหม่ / ความคิดสร้างสรรค์ / กระปรี้กระเปร่า / เป็นกันเองเข้าถึงได้ ซึ่งตรงตามจริงกับสิ่งที่ผู้บริโภคสัมผัสได้จากสินค้าและบริการ
Xiaomi ยังได้สร้างฐานแฟนลูกค้าผู้จงรักภักดี อย่างเช่น “Mi Fan Festival” ที่เปิดตัวสินค้าใหม่ โปรโมชั่นพิเศษก่อนใคร และใช้เป็นพื้นที่รับสมัครงานเช่นกัน
นอกจากนี้หน้าร้านตัวเองอย่าง “Mi Store” ยังถูกออกแบบให้ดูโมเดิร์น สว่าง เรียบง่าย (นักวิเคราะห์บอกมีกลิ่นอายของ “Apple Store”)
สากกะเบือยันเรือรบ
Xiaomi สร้างความสำเร็จและโตมาจากสมาร์ตโฟนก็จริง แต่ต่อมาบริษัทสร้าง “นวัตกรรม” ด้านเทคโนโลยีชนิดที่เรียกว่าสากกะเบือยันเรือรบอย่างแท้จริง
ไม้จิ้มฟัน / นาฬิกาไฮเทค / กระเป๋าเดินทาง / รองเท้าวิ่ง / หูฟัง / ทีวี / ตู้เย็น / พัดลม / กาต้มน้ำ / เครื่องชงกาแฟ / เครื่องวัดความดัน / เครื่องดูดฝุ่น / เครื่องปรับอากาศ / เครื่องซักผ้า / เครื่องนวดหน้า / บริการสินเชื่อ / ปริ้นเตอร์ / สกู๊ตเตอร์ / รถยนต์ / รถเข็นเด็ก / โดรน…และอีกมากมาย ฯลฯ
เพราะ Xiaomi มองตัวเองเป็นบริษัทเทคโนโลยี และเทคโนโลยีสามารถนำไปผนวกเข้ากับ “อะไรก็ได้” ตามแต่จินตนาการและเท่าที่เทคโนโลยีไปถึง เราจึงเห็นนวัตกรรมที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจาก Xiaomi
และเบื้องหลังที่ทำให้ Xiaomi มีผลิตภัณฑ์มากมายขนาดนี้ได้ ก็มาจากบริษัทที่ Xiaomi ไปเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับบริษัทต่างๆ
บริษัทเหล่านั้นไม่ได้แค่รับจ้างผลิต (OEM) และแปะแบรนด์ แต่ Xiaomi จะเข้าไปถือหุ้นด้วยเสมอ เกิดการสื่อสารภายในองค์กรและเกิด “Xiaomi Model” เป็นไปในทำนองเดียวกัน แถมอนาคตยังจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้วย เช่น
- Roborock – บริษัทผลิตหุ่นยนต์ทำความสะอาด
- Yunmai – บริษัทเชี่ยวชาญเซนเซอร์ที่ใช้ในบ้านอัจฉริยะ
- Huami – บริษัทผู้พัฒนานาฬิกาข้อมืออัจฉริยะ
- Yueli – บริษัทผลิตแปรงหวีผมไฮเทค
- QiCYCLE – บริษัทผลิตจักรยานพกพาดีไซน์เก๋
- Fiu – บริษัทผลิตถ้วยที่เข้ากับสรีระมนุษย์ (Ergonomic cup)
บริษัทเหล่านี้ ไม่ใช่บริษัทเล็กๆ โนเนมเสมอไป บางบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น Nasdaq ของอเมริกาเลยทีเดียว
โดย Xiaomi ได้ร่วมพาร์ทเนอร์กับบริษัทเหล่านี้มากกว่า 100 บริษัทเข้าไปแล้ว ไม่แปลกเลยทำไมถึงมีผลิตภัณฑ์มากมายภายใต้แบรนด์เยอะขนาดนี้
ที่สำคัญ ทั้งหมดมาในคุณภาพดี / ดีไซน์สวยโมเดิร์น / และราคาที่ชวนควักกระเป๋าตังค์จ่าย
ราคาเป็นมิตร
สินค้าส่วนใหญ่ของ Xiaomi “ถูกกว่าท้องตลาด” อย่างชัดเจน เช่น
- เครื่องฟอกอากาศ Xiaomi ราคาราว 7,000 บาท VS. เครื่องฟอกอากาศ Sharp ราคาราว 9,500 บาทหูฟัง Xiaomi ราคาราว 2,600 บาท VS. หูฟังไร้สาย Apple ราคาราว 9,500 บาท
- สายรัดข้อมือ Xiaomi ราคาราว 1,300 บาท VS. สายรัดข้อมือ Garmin ราคาราว 5,600 บาท
เรื่องนี้มาจากปรัชญาการดำเนินธุรกิจตั้งแต่แรกว่า ทุกสินค้าของ Xiaomi ผู้คนต้องเข้าถึงได้ พอมีกำลังซื้อไหว รู้สึก “คุ้มค่า” ต่อเม็ดเงินที่เสียไป
Xiaomi อาศัยประโยชน์การผลิตจากในประเทศจีนเองที่ต้นทุนถูก และเป็นคำมั่นของ CEO ที่บอกต่อนักลงทุนว่า จะรักษาอัตรากำไรสุทธิบริษัทไม่ให้เกิน 5% เพราะต้องการชนะใจลูกค้า (ขณะที่ Apple อยู่ที่ราว 22%)
Xiaomi พิสูจน์แล้วว่า “ถูกและดี” มีอยู่จริง จนเกิดปรากฏการณ์ที่เริ่มเห็นแล้ว เช่น
- ลูกค้าบางคน เริ่มใช้สมาร์ตโฟน Xiaomi แทน Apple
- ลูกค้าบางคน เริ่มใช้เครื่องซักผ้า Xiaomi แทน Samsung
- ลูกค้าบางคน เริ่มใช้ทีวี Xiaomi แทน Sony
- ลูกค้าบางคน เริ่มใช้เครื่องฟอกอากาศ Xiaomi แทน Sharp
- ลูกค้าบางคน เริ่มใช้ที่หนีบผม Xiaomi แทน Dyson
ถึงวันนี้ Xiaomi ไม่ใช่แบรนด์กิ๊กก๊อกอีกต่อไป แต่ขึ้นแท่นแบรนด์ “ระดับโลก” ที่สื่อถึงคุณภาพและราคาที่คุ้มค่า
และดูเหมือนว่า Xiaomi พร้อมแล้วที่จะก้าวสู่อนาคตต่อไป อย่างเช่นต้นปี 2021 บริษัทประกาศจะลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาทในรถยนต์ไฟฟ้า และกลางปี 2021 ได้เข้าซื้อ Deepmotion บริษัทพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ
ในทุกยุคสมัย ย่อมมีบริษัทเกิดใหม่ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำ ดูเหมือนว่าในยุคนี้บริษัทนั้นจะชื่อว่า Xiaomi
.
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
อ้างอิง