Disney ปั้นองค์กรอย่างไร? สู่โลกจินตนาการที่มีอยู่จริง

Disney ปั้นองค์กรอย่างไร? สู่โลกจินตนาการที่มีอยู่จริง
  • Walt Disney มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 9.6 ล้านล้านบาท
  • ปี 2019 เคาะรายได้รวม 2.1 ล้านล้านบาท
  • มอบความบันเทิงและโลกจินตนาการแก่ผู้คนทั่วโลก

ทุกวันนี้เวลาเรานึกถึง Disney เรามักนึกถึง “ความสุข” ผ่านความทรงจำที่ได้รับจากสวนสนุกและจักรวาลสื่อบันเทิงของค่าย

แต่เบื้องหลังเส้นทางการเติบโตกลับเต็มไปด้วยอุปสรรคตรงข้ามกับฉากหน้าที่เราเห็น กว่าจะมีวันนี้ Disney ผ่านอะไรมาไม่น้อย…

Walt Disney

The Walt Disney Company ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1923 โดยสองพี่น้อง Walt และ Roy Disney แต่ย้อนกลับไปในวัยเด็ก เส้นทางไม่เคยเรียบง่ายเลย

แม้จะมีพรสวรรค์และความหลงใหลในการวาดรูปการ์ตูนมาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่พวกเขาเกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างขัดสน ต้องย้ายถิ่นฐานอยู่หลายครั้ง แถมต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากินหลังเลิกเรียนอยู่เสมอ 

เมื่อเป็นวัยรุ่นก็ต้องไปเข้าร่วมช่วยเหลือในสภากาชาดให้กับทหารอเมริกันช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 พอเข้าสู่วัยทำงานกลับพบเจอแต่อุปสรรคชวนท้อ

  • ร่วมหุ้นกับพาร์ทเนอร์เปิดบริษัท Iwerks-Disney Commercial Artists แต่ด้วยความที่ยังหนุ่มและขาดประสบการณ์ด้านธุรกิจโดยสิ้นเชิง หาลูกค้าไม่ได้ รายได้ไม่เข้า ทำได้ไม่นานก็ต้องปิดตัวลง 
  • เข้าทำงานที่ Kansas City Film Ad เป็นเวลา 2 ปีเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เส้นทางขรุขระตลอดทางจนสุดท้ายก็ถูกไล่ออก โดยหัวหน้าลงความเห็นว่า “ไร้ซึ่งจินตนาการไปหน่อย”
  • ต่อมาเปิดบริษัท Laugh-O-Gram Film เน้นผลิตการ์ตูนสั้นอิงนิยายสำหรับเด็ก แต่ทำได้ไม่นานก็เจ๊งไม่เป็นท่าอีก 
  • สุดท้ายตัดสินใจเดินทางไป Los Angeles ศูนย์กลางของอุตสาหกรรมบันเทิง และเปิดบริษัทที่ชื่อว่า “Disney Brothers Studio” (ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Walt Disney Studios) ซึ่งได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ

ซึ่งคาแรคเตอร์ตัวแรกที่ครองใจเด็กทั่วโลกและสร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทจนเป็นประตูสู่โอกาสต่อไปก็คือ “Mickey Mouse” ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจมาจากหนูที่พบเห็นจากโรงรถที่บ้าน (แรงบันดาลใจอยู่รอบตัว!) Mickey Mouse ยังเป็นอนิเมชั่นเคลื่อนไหวยุคแรกๆ ของโลกเช่นกัน

ตัวอย่างอนิเมชั่นของ Disney

  • ปี 1928 กำเนิด Mickey Mouse
  • ปี 1938 กำเนิด Snow White
  • ปี 1950 กำเนิด Cinderella
  • ปี 1973 กำเนิด Robin Hood
  • ปี 1994 กำเนิด Lion King
  • ปี 1999 กำเนิด Tarzan

กำเนิดดินแดนเทพนิยาย

พอมาถึงยุค 1950s สิ่งที่มีอยู่ในมือตอนนี้คือบรรดาการ์ตูนภาพสวย คาแรคเตอร์ในดวงใจของเหล่าเด็กน้อย และเรื่องราวที่เติมเต็มจินตนาการ 

และมนุษย์เราสุดท้ายแล้วก็ต้องการกายภาพสิ่งที่จับต้องได้ องค์ประกอบที่มีอยู่จึงหลอมรวมเกิดเป็นดินแดนแห่งเทพนิยายที่มีชื่อว่า “Disneyland” ดิสนีย์แลนด์แห่งแรกของโลกเปิดตัวขึ้นเมื่อปี 1955 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นี่คือจุดเริ่มต้นของดินแดนแห่งเทพนิยายที่จะขยายดินแดนไปทั่วโลกในอีกหลายทศวรรษต่อมา

Disneyland ถูกออกแบบโดยยึด Customer-oriented เป็นหัวใจตั้งแต่ความคิดนี้ยังอยู่ในหัวของคุณ Walt Disney แล้ว เขาได้แรงบันดาลใจมาจากการไปเที่ยวตามสวนสนุกต่างๆ กับลูกสาว และวาดฝันอยากจะสร้างพื้นที่ให้ “ครอบครัว” ทุกเพศ-ทุกวัยมาใช้เวลาร่วมกันได้อย่างมีความสุข

การออกแบบภายในสวนนั้น ตรงกลางเป็น Main Street ทางเดินทอดยาวที่มีปราสาทอยู่ฉากหลัง โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากปราสาท Neuschwanstein Castle ที่ประเทศเยอรมนี ให้กลิ่นอายความยิ่งใหญ่ สวยงาม คลาสสิก (และแฝงด้วยเวทมนตร์) 

และมีการออกแบบที่คำนึงลูกค้าผู้มาเที่ยวสวน เวลามองไปรอบๆ 360 องศา จะแทบไม่เห็นตึกรามบ้านช่อง อาคารภายนอกสวนเลย…Disneyland ทุกที่บนโลกจะมีคอนเซปท์ลักษณะนี้เหมือนกันหมด

นอกจากนี้ Disneyland แต่ละสถานที่ทั่วโลกล้วนเป็นโปรเจคท์ขนาดใหญ่และได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองที่ดึงดูดเม็ดเงินมหาศาล ถึงขนาดที่พื้นที่เมืองรอบด้านต้องปรับสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องตาม เช่น มีสัญลักษณ์ตัวคาแรคเตอร์ก่อนเข้าพื้นที่ดิสนีย์แลนด์ หรือ กฎห้ามบินเหนือบริเวณพื้นที่เพื่อไม่ให้เสียงรบกวน

ถึงปัจจุบัน ทั่วโลกมี Disneyland อยู่ทั้งหมด 6 แห่ง

  • ปี 1955 Disneyland California 
  • ปี 1971 Disneyland Florida
  • ปี 1983 Tokyo Disneyland
  • ปี 1992 Disneyland Paris
  • ปี 2005 Hong Kong Disneyland
  • ปี 2016 Shanghai Disneyland

ปี 2019 Disneyland ทั่วโลกต้อนรับผู้เข้าชมกว่า 155 ล้านคน

ลูกหลานตระกูล Disney เองเคยกล่าวว่า “Disneyland จะไม่มีวันเสร็จสมบูรณ์ มันจะเติบโตต่อไปตราบใดที่ยังมีจินตนาการหลงเหลืออยู่บนโลกใบนี้”

Critical Questions

Walt Disney ยังเป็น “นักตั้งคำถาม” ตัวยง ไม่ใช่แค่กับตัวเองแต่กับทีมงานทุกคน

โดยปกติ ช่วงเริ่มแรกของงานโปรเจคท์ใดๆ เขามักตั้งคำถามว่า

  • “ถ้ามันเป็นแบบนี้…แล้วทำไมจะเป็นแบบอื่นไม่ได้ล่ะ?”
  • “ถ้ามันไม่เป็นแบบนี้…จะเป็นแบบไหนอีกได้บ้าง?”

ลักษณะคำถามไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อกีดกันหรือต่อต้าน แต่เป็นการลองท้าทายชุดความคิดเดิมๆ ขยายไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ

และแน่นอน จากการกระทำในวันนี้ที่ถูกกล่าวหาว่า “ไร้ซึ่งจินตนาการ” Walt Disney ไม่เคยปฏิบัติเยี่ยงนี้กับพนักงานคนอื่นเลย เขารู้ดีว่าทุกคน “มีของ” แค่อาจต้องใช้เวลาขัดเกลาและจังหวะที่ใช่

License

มี Disneyland เพียง 2 แห่งในสหรัฐอเมริกา แต่ที่ขยายไปทั่วโลกได้เพราะการขาย “ลิขสิทธิ์” ไปทั่วโลก 

เช่น ขายลิขสิทธิ์ 100% ให้ Oriental Land Company บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่นำไปสร้าง “Tokyo Disneyland” ในปี 1983 จนประสบความสำเร็จใหญ่หลวง (และนำไปพัฒนาต่อเป็น “Tokyo DisneySea” แห่งแรกและแห่งเดียวของโลก)

ความสำเร็จตลาดนอกประเทศแห่งแรกอย่างญี่ปุ่น เป็นโมเดลที่ถูกนำไปใช้กับที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ลิขสิทธิ์ลักษณะนี้ (Walt Disney Company ไม่ได้ถือหุ้นเต็มจำนวน) ยังเกิดขึ้นอีกหลายแห่งทั่วโลก เช่น Hong Kong Disneyland และ Shanghai Disneyland

Diversification

เวลาเราพูดถึง “Disney” คนส่วนใหญ่มักติดภาพสวนสนุก Disneyland ตามเมืองใหญ่ๆ ของโลก แต่อันที่จริงแล้ว บริษัทยังทำธุรกิจอื่นอีกมาก เช่น ธุรกิจเครือข่ายมีเดีย (Media networks) เช่น ESPN, ABC, Disney Channel, Hulu และอีกมากมาย 

แถมปัจจุบัน “รายได้หลัก” ของบริษัทก็ไม่ได้มาจากสวนสนุกแล้ว โดยสัดส่วนรายได้ธุรกิจต่างๆ ของ Disney

  • 40% Media networks (เช่น ESPN)
  • 22% Parks, experiences and products (เช่น Disneyland)
  • 14% Studios entertainment (เช่น Marvel Studios)
  • 24% Direct-to-consumer (เช่น Disney+) 

เหตุผลหนึ่งที่มีธุรกิจหลากหลายขนาดนี้เนื่องมาจากการ “เข้าซื้อ” (Acquisition) กิจการอื่นมาไว้ในเครือ เช่น

  • ปี 1995 เข้าซื้อ ESPN มูลค่า $19 billion
  • ปี 2006 เข้าซื้อ Pixar มูลค่า $7.4 billion
  • ปี 2009 เข้าซื้อ Marvel มูลค่า $4 billion
  • ปี 2012 เข้าซื้อ Lucasfilm มูลค่า $4.06 billion
  • ปี 2019 เข้าซื้อ 20th Century Fox มูลค่า $71.3 billion

ปรับตัวต่อเนื่อง

Netflix ยังคงเป็นผู้นำ Video Streaming ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่และมีแต่จะยิ่งเข้มข้นขึ้นในอนาคต

ทาง Disney เล็งเห็นโอกาสนี้เช่นกันและไม่รอจนสายเกินไปที่จะปรับตัว (แม้จะช้าไปหน่อย) จากเดิมที่ผลิตคอนเทน์ป้อน Netflix ก็ได้ยุติลงและหันมาสร้าง “Disney+” แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเอง 

เปิดตัวพฤศจิกายน 2019 และมีผู้สมัครใช้งาน 10 ล้านคนทันทีในวันแรก ก่อนจะก้าวกระโดดมาถึง 100 ล้านคน ณ ปัจจุบันปี 2021 (สูงกว่าที่คาดการณ์ตอนแรกที่ 60-90 ล้านคนภายในปี 2024)

Disney+ มี Content แม่เหล็กที่ดึงดูดผู้ชมทั่วโลก อย่าง Marvel, Star Wars และ Pixar ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ยากจะลอกเลียนแบบได้

นอกจากนี้ยังมี “Exclusive Content” (หาชมได้เฉพาะที่ Disney+) ที่มีสัดส่วนสูงถึง 89% เป็นสัดส่วนสูงที่สุดในบรรดาแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง และคอนเทนต์บางตัวที่ Disney+ มีเรียกได้ว่าเป็นระดับมหากาพย์ที่แพลตฟอร์มอื่นไม่มี เช่น Avengers: Endgame ใช้งบสร้างสูงถึง 10,680 ล้านบาท

การรุกตลาดนี้เต็มตัวยังได้อานิสงส์จากวิกฤติโควิด-19 ที่ยิ่งเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้อยู่บ้านและนั่งชมแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมากขึ้น (และมาชดเชยกับรายได้สวนสนุกที่ลดลงไป).

.

.

ถึงปัจจุบัน เราอาจเรียกได้ว่า “อาณาจักร Disney” ยิ่งใหญ่กว่า Disneyland ไปแล้ว 

แต่ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรูปแบบไหนก็ตาม Disney ยังคงสานต่อภารกิจเดิมได้อย่างไม่เสื่อมคลาย นั่นคือส่งมอบ “ความสุขและโลกแห่งจินตนาการ” ให้แก่ผู้คนทั่วโลก

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง