ลดคน VS. ลดเงิน แบบไหนคือทางที่ใช่?

ลดคน VS. ลดเงิน แบบไหนคือทางที่ใช่?

ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ หลายบริษัทถูกบังคับให้ต้องตัดสินใจระหว่าง “ลดคน หรือ ลดเงิน”

2 ทางเลือกนี้ให้ผลลัพธ์หนึ่งที่เหมือนกัน คือ “ลดต้นทุน” บริษัทได้จริง

แต่ผลกระทบด้านอื่นที่ตามมากลับแตกต่างกันไปคนละทาง

และบริบทสถานการณ์รอบด้าน (Context) ก็สำคัญไม่น้อย

บริษัท A ปลดคนออก เพราะเหมาะสมต่อสถานะทางการเงินของบริษัทที่สุด

ขณะที่บริษัท B ลดเงินเดือน เพราะก็เหมาะสมต่อสถานการณ์บริษัทที่สุดเช่นกัน

ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก…เราควรตัดสินใจเลือกแบบไหนดี?

ลดคน

Ben Horowitz ผู้ก่อตั้ง Opsware และผู้เขียนหนังสือแนวพัฒนาองค์กรที่สมจริงที่สุดแห่งยุคอย่าง The Hard Thing About Hard Things กล่าวจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า 

หลายครั้ง สภาวะเศรษฐกิจภายนอกมีอำนาจเหนือกว่าองค์กรของคุณมาก…คุณต้องเล่นตามเกม! ดังนั้น มันขึ้นอยู่กับว่าบริษัทคุณอยู่ในช่วงเวลา ‘Wartime’ (วิกฤติเศรษฐกิจ, บ้านกำลังไฟไหม้) หรือ ‘Peacetime’ (โตระเบิด, บ้านกำลังต่อเติมใหม่)

Peacetime ไม่ใช่ปัญหาเลย ธุรกิจคุณอาจโตระเบิดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำด้วยซ้ำ

แต่ Wartime ต่างหากที่ยากลำบากที่สุด บริษัทเขาเคยยืนอยู่ขอบเหวว่าจะไปรอดหรือไม่รอด ต้องทำใจเด็ดขาดไล่คนเก่าแก่(แต่ Performance ธรรมดา) ที่อยู่มาเป็นสิบปีออกให้หมด “เจ็บแต่จบ” เหลือเฉพาะกลุ่มคนเก่ง Top Talents เท่านั้น (ซึ่งช่วยให้บริษัทพลิกฟื้นขึ้นมาได้จริงๆ)

นี่เป็นเวลาอันดีในการปรับขนาดองค์กร ลดต้นทุนเกิน และได้วิเคราะห์ Performance ของพนักงานจริงๆ

.

อย่างไรก็ตาม การไล่พนักงานออกต้องจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย ผู้มีอำนาจต้องคำนวณดีๆ ว่าถ้าเอาเงินชดเชยก้อนนั้นมา Reskill-Upskill พนักงาน(ที่มีแววพัฒนาต่อได้) เพื่อเพิ่ม Productivity จะคุ้มค่ากว่าหรือไม่ 

นอกจากนี้ คนที่ถูกไล่ออกไป(แต่มีศักยภาพพัฒนาได้) อนาคตอาจย้ายไปเสริมทัพให้บริษัทคู่แข่ง นั่นคือคุณต้องไปไฟท์กับเขาอีกรอบ 

อนาคตเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น บริษัทคุณก็ต้องเสียงบประมาณในการเฟ้นหาคนเก่งใหม่ ฝึกอบรม ทดลองงาน ปรับจูนการทำงานให้ตรงกัน ซึ่งอาจมีต้นทุนสูงกว่าการรักษาคนเก่งให้อยู่แต่แรกเสียอีก

การไล่ออกยังกระทบต่อจิตใจ คนเก่งที่รอดอยู่ต่อก็อาจรู้สึกว่าเมื่อไรจะเป็น ‘รายต่อไป’ บางคนเริ่มมองหาที่ใหม่สำรอง บางคนกลัวความผิดพลาดจนไม่กล้าเสี่ยงอะไรใหม่ๆ ล้วนส่งผลถึงบรรยากาศการทำงานไม่มากก็น้อย

ลดเงิน

ใช้ได้ดีกับการ ‘รักษาพนักงานฝีมือดี’ และเหมาะกับสถานการณ์ที่บริษัทค่อนข้างแน่ใจแล้วว่าผลประกอบการจะกลับมาดีในเร็ววัน (ภายใน 1 ปี)

ผลสำรวจมากมายเผยว่า ในช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ พนักงานส่วนใหญ่ ‘ยินดี’ ที่จะถูกปรับลดเงินเดือน(งานเท่าเดิมหรือมากกว่า)…แทนที่การถูกให้ออก

การลดเงินเดือนจะเวิร์คที่สุด ถ้าผู้บริหาร-ผู้นำองค์กร ยอมลด(จนถึงไม่เอา)เงินเดือนตัวเองพร้อมๆ กับพนักงานทุกคน เป็นการ “เสียสละร่วมกัน” (Shared Sacrifice) แสดงความเป็นผู้นำลงเรือลำเดียวกัน เมื่อวิกฤติผ่านไปแล้ว พนักงานมีแนวโน้มจงรักภักดีต่อองค์กรมากขึ้น

Kits van Heyningen ผู้ร่วมก่อตั้ง KVH Industries บริษัทด้านเทคโนโลยีระบบนำทาง แชร์ประสบการณ์ส่วนตัวว่า ค่ำคืนหลังประกาศร่วมถูกตัดเงินเดือนกับพนักงาน วันต่อมาคือ “วันทำงานที่ดีที่สุดในชีวิตเขา” จากกำลังใจและแรงสนับสนุนที่ได้จากพนักงาน พวกเขารู้สึกว่ามีผู้นำที่ล่มหัวจมท้ายด้วยกัน (ไม่ใช่มีอะไรเตะทิ้งสถานเดียว) ปรากฏว่าทุกคนขยันเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพดีขึ้น จงรักภักดีองค์กรมากขึ้น

The Conference Board ทำการสำรวจพบว่าบริษัทมหาชนกว่า 537 แห่งในสหรัฐอเมริกา ลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาดใหม่ๆ

การลดเงินเดือนผู้บริหารถือเป็นทางเลือกที่น่าพิจารณา โดยเฉพาะในประเทศที่ช่องว่างเงินเดือนระหว่างผู้บริหารระดับสูงและพนักงานทั่วไปห่างกันลิบลับอย่างสหรัฐอเมริกา 

ผลสำรวจจาก The Economic Policy Institute (EPI) เผยว่า CEO ในบริษัทอเมริกันได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่าคนทำงานทั่วไปถึง 320 เท่า!

แต่จุดที่ต้องระวังในระยะยาวคือ พนักงานที่ไม่ได้ทำเงินหรือไม่ได้มี Performance เข้าเป้าตามที่กำหนดก็จะอยู่กับคุณต่อไป รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่ไม่รู้จะกลับมาดีเมื่อไร

ไม่ว่าทางไหนก็เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากจริงๆ เพราะมันไม่ใช่แค่ชีวิตคน 1 คน แต่รวมถึงครอบครัวคนรอบตัวเค้าด้วย 

หลายบริษัทจึงพยายามเสนอทางเลือกอื่นที่ประนีประนอมมากขึ้น อาทิเช่น เกษียณก่อนครบวาระ (Early Retirement) / โครงการลาหยุดยาว 6 เดือน / โครงการลาออกโดยสมัครใจ

.

ไม่ว่าจะถูกลดเงินหรือถูกปลดออก ที่สำคัญไม่แพ้กันคือเราต้องรู้ว่าเราอยากทำงานในสายอาชีพอะไร? ลองไปทำแบบ “แบบประเมินอาชีพ” ฟรีจาก CareerVisa เพื่อค้นหาตัวเองและสายอาชีพที่ชอบ ได้ที่นี่ >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

อ้างอิง