McDonald’s ปั้นองค์กรอย่างไร? สู่เชนร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก

McDonald’s ปั้นองค์กรอย่างไร? สู่เชนร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • McDonald’s เป็นเชนร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • มีมูลค่าบริษัทกว่า 3.8 ล้านล้านบาท
  • มีสาขากว่า 39,200 สาขา ใน 118 ประเทศทั่วโลก

และเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำในวัยเด็กของผู้คนทั่วโลก 

น่าสนใจว่า…McDonald’s ปั้นองค์กรอย่างไร?

จุดเริ่มต้นจากสองพี่น้อง McDonald

McDonald’s ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1948 ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยสองพี่น้อง Richard และ Maurice McDonald ซึ่งเป็นที่มาของชื่อแบรนด์นั่นเอง โดยในตอนแรกชื่อว่า “Bar-B-Que McDonald’s” ให้บริการแบบ Drive-Thru ขับรถมาซื้อเท่านั้น 

ก่อนที่ต่อมา จะปรับเปลี่ยนให้นั่งทานในร้าน โดยมี “แฮมเบอร์เกอร์” เป็นเมนูหลัก สองพี่น้องออกแบบระบบการผลิตที่รวดเร็ว โดยลูกค้าสามารถ “ยืนรอ” บริเวณแคชเชียร์หลังจากสั่งเพื่อรับสินค้าในอีกไม่กี่นาทีได้เลย วิธีนี้เพิ่มยอดขายได้อย่างน่าประทับใจ 

ถึงตอนนี้ McDonald’s ได้นิยามประเภทร้านอาหารขึ้นมาใหม่นั่นคือ Quick Service Restaurant (QSR) เนื่องจากลูกค้าสามารถบริการตัวเองได้ในหลายขั้นตอน จึงไม่ต้องจ้างพนักงานมากมายมาคอยบริการ ลดต้นทุนได้เยอะ

อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างเป็นแค่ธุรกิจครอบครัว ไม่ได้มีความฝันอยากขยายสาขาไปทั่วโลกแต่อย่างใด  

จุดเปลี่ยนเพราะเซลล์แมน

ในปี 1954 เซลล์แมนวัยกลางคนคนหนึ่งนามว่า Ray Kroc พึ่งได้มีโอกาสมาสัมผัสร้าน McDonald’s และประทับใจกับโมเดลธุรกิจนี้ เขาเห็นถึงศักยภาพจึงติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์เพื่อขยายไปทั่วประเทศ โดยวางระบบการทำงานโดยที่สองพี่น้องเจ้าของจะได้ส่วนแบ่งโดยแทบไม่ต้องทำอะไรเลย

Image Cr. bit.ly/3uzSFtX

McDonald’s เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นระหว่างทาง สุดท้ายทำให้ Ray Kroc ซื้อกิจการ McDonald’s จากสองพี่น้องมาเป็นของตัวเองทั้งหมด

McDonald’s เข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์คในปี 1965 ระดมทุนทรัพย์ก่อนขยายสาขาไปทั่วอเมริกาได้สำเร็จตามที่คิด ทศวรรษนั้น McDonald’s ก็มีสาขาแตะ 1,000 สาขาแล้ว 

ด้วยรูปแบบร้านอาหารนี้ถูกใจผู้บริโภคเป็นวงกว้าง แถมรสชาติก็ถูกปากและราคาไม่แพง จึงมีลูกค้าหมุนเวียนมาซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง

โตด้วยแฟรนไชส์

Ray Kroc สร้างการเติบโตให้แมคโดนัลด์ด้วยระบบแฟรนไชส์ ประสบความสำเร็จล้นหลามจนเป็นตัวอย่างที่ถูกบรรจุอยู่ในหนังสือเรียนด้านการตลาดทุกที่ทั่วโลกก็ว่าได้

เมื่อถึงปี 1988 McDonald’s ก็มีครบ 10,000 สาขาเป็นที่เรียบร้อย และเติบโตเร็วที่สุดในยุค 1990s ประเมินว่า เปิดสาขาใหม่ทุกๆ 5 ชั่วโมงซักแห่งบนโลกใบนี้!!

ถึงปัจจุบัน แมคโดนัลด์เป็นเชนร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ในแง่มูลค่าบริษัท) มีสาขา 39,200 สาขาทั่วโลก มีการวิเคราะห์ว่า เมื่อรวมสาขาทั่วโลก McDonald’s ขายแฮมเบอร์เกอร์ได้ถึง 75 ชิ้น/วินาที เลยทีเดียว

จำนวนสาขา McDonald’s ในประเทศต่างๆ

สหรัฐอเมริกา 14,400 สาขา

ญี่ปุ่น 2,975 สาขา

จีน 2,390 สาขา

เยอรมนี 1,470 สาขา

แคนาดา 1,450 สาขา

โดยกว่า 93% ของสาขา McDonald’s ทั่วโลกเป็นแฟรนไชส์ (Franchisee) ที่เหลือตัวบริษัทเป็นคนดำเนินการเอง

บริษัทอสังหาริมทรัพย์

สิ่งที่น่าตกใจและหลายคนมองข้ามคือ เนื้อแท้แล้ว McDonald’s มีความเป็น “บริษัทอสังหาริมทรัพย์”

ในงบบัญชีส่วน Property and Equipment ของ McDonald’s เมื่อปี 2019 ระบุสูงถึง 39,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หากเปรียบเทียบในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้ว McDonald’s จะขึ้นแท่นเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก!!

Top5 บริษัทผู้ถืออสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

1st: Wheelock & Company ทรัพย์สิน 75,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

2nd: New World ทรัพย์สิน 64,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

3rd: Henderson ทรัพย์สิน 58,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

4th: Prologus ทรัพย์สิน 40,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

5th: McDonald’s ทรัพย์สิน 39,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

รายได้ของ McDonald’s ปี 2019 

64% มาจากค่าเช่า

35% มาจากค่าตอบแทน (Royalties) 

1% มาจากค่าจิปาถะอื่นๆ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ เวลาบริษัท McDonald’s จะขายแฟรนไชส์ให้ใคร จะเป็นเจ้าของที่ดิน-พื้นที่ร้านนั้นด้วย คือถือครองที่ดิน / อาคาร / สัญญาเช่าระยะยาวไว้เอง

…ก่อนจะเก็บทั้งค่าเช่า / ส่วนแบ่งรายได้ / อุปกรณ์ และค่าจิปาถะต่างๆ ต่อจากผู้ซื้อแฟรนไชส์อีกทีหนึ่ง!! 

เวทมนตร์ของ “M”

โลโก้ McDonald’s ที่เป็นตัว “M” โค้งมนถูกออกแบบขึ้นในปี 1962 ซึ่งเป็นต้นแบบที่ถูกปรับโฉมผ่านกาลเวลามาถึงทุกวันนี้ โลโก้นี้เป็นแบบอย่างแก่บริษัทรุ่นหลังมากมาย เพราะความเรียบง่ายแต่ทรงพลัง (และจำง่าย!) 

ในการตกแต่งร้าน โดยเฉพาะสาขาแบบ Standalone โลโก้ “M” นี้จะถูกติดตั้งอยู่จุดสูงที่สุดของตัวร้านเสมอ รวมถึงทุกมุมทั้งภายนอกและภายในของร้าน แม้ดูฟุ่มเฟือย(กว่าแบรนด์อื่นทั่วไป) แต่ก็เพื่อสะกดทุกสายตาของผู้คนนั่นเอง

Mascot 

ตัวตลกที่ถูกตั้งชื่อว่า Ronald McDonald ปรากฎขึ้นครั้งแรกในปี 1963 จุดประสงค์หลักเพื่อเข้าไปอยู่ในใจของเด็กๆ

มาสคอตนี้ประจำอยู่หน้าร้านทุกที่ทั่วโลก และทำการ Adaptation ปรับแต่งให้เหมาะสมกับแต่ละวัฒนธรรม เช่น ที่เมืองไทย Ronald McDonald อาจอยู่ในท่า “ไหว้” พนมมือซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลกจนนักท่องเที่ยวต้องถ่ายรูปเก็บภาพกัน 

ในบางประเทศที่มีวัฒนธรรมมาสคอตแข็งแกร่งอย่างญี่ปุ่น Ronald McDonald ถูกใช้ในงานโฆษณามากมายเพื่อภาพจำที่ดีของแบรนด์

นอกจากนี้ในช่วงโควิด-19 ในรอบปีที่ผ่านมา ก็มีการนำ “หน้ากากอนามัย” ไปใส่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์

Image Cr. bit.ly/3vWw1fY

Localization

McDonald’s มีบรรดาแฮมเบอร์เกอร์เป็นเมนูมาตรฐานทุกที่อยู่แล้ว แต่ก็ไม่วาย “ปรับให้เข้ากับท้องถิ่น” (Localization) ในแต่ละสถานที่ โดยออกเมนูพิเศษทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ของหวานเฉพาะตัว เช่น

  • ญี่ปุ่น มีเมนูปลา
  • อินเดีย มีเมนูแกง
  • ไทย มีเมนูกะเพรา
  • อิตาลี มีเมนูพิซซ่า
  • ฝรั่งเศส มีเมนูมาการอง

เพื่อให้ถูกปากผู้บริโภคในแต่ละประเทศ ซึ่งเราอาจไม่พบเจอเมนูในประเทศ A ที่ประเทศ B เลย…ไม่เจอเมนูแกงที่ฝรั่งเศส หรือ ไม่เจอเมนูมาการองที่อินเดีย เป็นต้น

Image Cr. bit.ly/33uwlGr

นอกจากนี้ยังรวมถึง “สถาปัตยกรรม” ตัวร้าน เช่นถ้าอยู่ในย่านเมืองเก่า จะออกแบบให้ “เคารพ” สถานที่ สีสันไม่ฉูดฉาด ไม่เด่นเกินหน้าเกินตา หรือบางสาขาอาจทำให้ “กลมกลืน” กับประวัติศาสตร์ย่านนั้นไปเลย 

เช่น McDonald’s สาขาที่ Galleria Vittoria Emanuele ย่านช็อปปิ้งเก่าแก่ของเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ที่ออกแบบให้คลาสสิกหรูหราสอดคล้องกับสถานที่ ทำให้ McDonald’s ยังคงได้รับการยอมรับระดับหนึ่ง

Prime Location

ต้องไม่ใช่แค่อยู่ในทำเลที่ดี…แต่เป็น “ทำเลที่ดีที่สุด” เท่านั้น!! ด้วยขนาดบริษัทที่ใหญ่มาก จึงมีงบทุ่มไม่อั้นเพื่อยึดครองทำเลที่ดีที่สุด เมื่อเราไปเยือนสาขาไหนก็ตามทั่วโลก จะเห็น McDonald’s ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่มีทราฟฟิกสูงอยู่เสมอ กรณีนี้อาจพูดได้ว่า ทำเลดีที่สุด…มีชัยไปกว่าครึ่ง

รสชาติถูกปาก

แม้ McDonald’s มีภาพลักษณ์เป็นอาหารฟาสต์ฟู้ด (บางคนใช้คำแรงว่า “อาหารขยะ”) แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารสชาติ “ถูกปาก” ผู้คนทั่วโลก โดยสามารถสืบย้อนไปสมัยก่อนได้ว่า McDonald’s คิดค้นเมนูใหม่ออกมาอยู่เสมอ หลายอย่างถูกปากลูกค้ามาถึงทุกวันนี้ เช่น 

  • ปี 1968 เปิดตัว Big Mac
  • ปี 1973 เปิดตัว Egg McMuffin
  • ปี 1979 เปิดตัว Happy Meals
  • ปี 1983 เปิดตัว Chicken McNuggets

และปัจจุบัน ก็ปรับปรุงเมนูให้เป็นมิตรต่อสุขภาพมากขึ้น(ตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์) เช่นปี 2017 เปิดตัว McVegan เนื้อแฮมเบอร์เกอร์ที่ทำจากพืช

Always Young

สิ่งที่หลายคนมองข้ามคือ McDonald’s ถือเป็นแบรนด์เก่าแก่ที่มีอายุกว่า 73 ปี…ในบางอุตสาหกรรม อายุแบรนด์ที่มากขนาดนี้สามารถถูกหยิบยกมาใช้เคลมความร่ำรวยของประวัติศาสตร์แบรนด์ได้สบาย

แต่ McDonald’s ไม่เคยทำอย่างนั้นเลย แต่ทำทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงการเอ่ยถึง “ความแก่” ของตัวเอง เพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับภาพลักษณ์แบรนด์ที่ต้องการคงความสดใหม่อยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ “สีเหลือง” สีประจำของแบรนด์ (Colour Identity) ตั้งใจสื่อถึง “มิตรภาพ” ที่เข้ากับคนได้ทุกเพศทุกวัย เป็นสีที่ดูสนุกสนาน อ่อนเยาว์ สบายๆ เป็นกันเอง

McDonald’s ยังทุ่มงบโฆษณามหาศาลเพื่อรักษาภาพลักษณ์นี้อยู่

ปี 2020 McDonald’s ใช้งบโฆษณาทั่วโลกไปกว่า 20,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ความที่ McDonald’s ขยายสาขาครอบคลุมไปทั่วโลก เยอะถึงขนาดมีการคิดค้น “Big Mac Index” ขึ้นมาซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดค่าเงินระหว่างประเทศ โดยมีสินค้าอย่าง Big Mac ซึ่งวางขายอยู่ทุกสาขาเป็นตัวกลางในการเปรียบเทียบเพื่อสะท้อนค่าครองชีพของเมืองหรือประเทศนั้นๆ สื่อถึงการแผ่อิทธิพลกว้างใหญ่ไพศาลสู่วงการเศรษฐศาสตร์

McDonald’s เดินทางมาเกินครึ่งศตวรรษแล้ว ไม่แปลกถ้าจะบอกว่ามันเป็นตัวแทนในการขับเคลื่อนระบบทุนนิยม เป็นแม่แบบโมเดลธุรกิจให้แก่คนรุ่นหลัง และมอบอาหารเรียบง่ายที่รสชาติถูกปากในราคาที่เข้าถึงได้ 

ที่สำคัญ มันครองใจ “เด็กทั่วโลก” ชนิดอยู่หมัดที่จะโตมาเพื่อเป็นลูกค้าในอนาคตต่อไป

ดูเหมือนว่า McDonald’s คงจะอยู่คู่กับโลกเราไปอีกซักพัก

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…คุณอาจเหมาะกับองค์กรแบบ McDonald’s โดยไม่รู้ตัวก็ได้นะ >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง