บทเรียน Storytelling จาก 2020 Tokyo Olympic

บทเรียน Storytelling จาก 2020 Tokyo Olympic

23 กรกฎาคม 2021 ทั่วโลกได้สัมผัสพิธีเปิดงานกีฬาอันยิ่งใหญ่ 2020 Tokyo Olympic

นี่อาจเป็นการจัดโอลิมปิกท่ามกลางสถานการณ์ที่วิกฤติที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ก็ว่าได้ แต่ท่ามกลางโรคภัยระบาดและความโศกเศร้า ญี่ปุ่นได้มอบ “ความหวัง” ผ่านการจัดโอลิมปิก 

Image Cr. bit.ly/3x6xNLB

และเมื่อเราสังเกตให้ลึก จะพบว่าการจัดพิธีเปิดและความละเมียดละไมต่างๆ ตลอดทั้งเกม แฝงไปด้วย ”Storytelling” เรื่องราวอันงดงามที่บีบคั้นน้ำตาใครหลายคน

คบเพลิงแห่งความหวัง

ทุกพิธีเปิดโอลิมปิก สปอร์ตไลท์ทั่วโลกจะฉายไปยัง “ผู้ถือคบเพลิง” ซึ่งปีนี้ก็คือคุณ Naomi Osaka ลูกครึ่งญี่ปุ่น-เฮติ เธอคือตัวอย่างของคนที่ถูกเหยียดในสังคมเนื่องจากความแตกต่างทางเชื้อชาติและสีผิว แต่เธอเลือกที่จะพิสูจน์ความสำเร็จให้ทุกคนเห็น และได้จุดประกายความเท่าเทียมทางเชื้อชาติในญี่ปุ่นขึ้นมาใหม่

Image Cr. bit.ly/3BJiprZ

และคบเพลิงไม่ได้เริ่มวิ่งจากโตเกียว…แต่เริ่มวิ่งจากเมือง “ฟุคุชิมะ” ภูมิภาคโทโฮคุ ที่ที่เกิดแผ่นดินไหว / คลื่นสึนามิ / วิกฤตินิวเคลียร์ เมื่อปี 2011

และคนที่ “ส่งคบเพลิง” ให้ Naomi Osaka ก็คือ “เยาวชนผู้รอดชีวิต” ในพื้นที่ประสบภัยที่บัดนี้เติบโตขึ้นแล้ว พวกเค้าต้องใช้เวลาวิ่งถึง “120 วัน” ผ่าน 859 จุดพัก ผู้ร่วมวิ่งทั้งหมดกว่า 10,000 คน

Image Cr. nbcnews.to/3kZC4hp

ตัวคบเพลิงยังถูกตั้งชื่อว่า “The Hope Light” แสงสว่างแห่งความหวัง สื่อถึงความหวังในการรื้อฟื้นพัฒนาเมืองและจิตวิญญาณของผู้คนขึ้นมาใหม่จากที่ต้องเกือบล่มสลายไป 10 ปีที่แล้วจากภัยพิบัติครั้งใหญ่

(ทั้งนี้ ก็ยังไม่วายให้เกียรติประชาชนตลอดเส้นทาง มีออกกฎว่าห้ามส่งเสียงดังและเว้นระยะห่างกันตลอดเส้นทาง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19)

.

.

ดีไซน์ได้แรงบันดาลใจมาจาก “ดอกซากุระ” ดอกไม้ประจำชาติญี่ปุ่นและที่ชาวโลกรู้จักเป็นอย่างดี

“วัสดุ” ที่ใช้ทำคบเพลิงมาจากของเสียการก่อสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราว (Temporary housing) ซึ่งใช้ภายหลังเกิดเหตุการณ์ 311 แผ่นดินไหวและสึนามิในวันที่ 11 มีนาคม 2011

คบเพลิงนี้น้ำหนักเบาแต่แข็งแรงมากๆ วิธีการผลิตใช้เทคโนโลยีเดียวกับการผลิตรถไฟ “ชินคันเซ็น” 

ดอกไม้จากภูมิภาค

ช่อดอกไม้ที่ถูกมอบเพื่อความยินดีแก่นักกีฬา ล้วนถูกปลูกใน 3 จังหวัดประสบภัย

  1. ดอกไลเซนทรัส (Eustoma): มาจากจังหวัดฟุกุชิม่า ชาวเมืองหันมาปลูกดอกไม้นี้มากขึ้นหลังภัยพิบัติ จากสภาพพื้นที่ที่หลายฝ่ายคิดว่าไม่น่าจะปลูกอะไรได้อีก…ไลเซนทรัสกลับเบ่งบานขึ้นมาในที่สุด
  1. ดอกทานตะวัน (Sunflower): มาจากจังหวัดมิยะงิ ชาวเมืองที่สูญเสียจะปลูกไว้บนภูเขาสูง อนาคตถ้าเกิดสึนามิอีก เด็กๆ จะสังเกตได้ง่ายและวิ่งขึ้นภูเขาหนีน้ำได้ทัน
  1. ดอกหรีด (Gentiana): มาจากจังหวัดอิวาเตะ สีน้ำเงินของดอกสะท้อนสัญลักษณ์โตเกียวโอลิมปิก

Image Cr. bit.ly/3i3jL94

ภูมิภาคโทโฮคุถูกให้ความสำคัญขนาดนี้ เพราะ 10 ปีที่แล้วได้รับผลกระทบมากที่สุด 20,000 กว่าชีวิตต้องถูกสังเวย และผู้คนนับล้านต้องประสบความทุกข์ยากลำบาก 

  • การวิ่งคบเพลิงเป็นการจุดไฟแห่งความฝัน-รื้อฟื้นความหวังของคนในภูมิภาคขึ้นมาใหม่
  • ดอกไม้ส่งข้อความไปยังผู้คนในภูมิภาคว่า พวกเค้าได้มีส่วนร่วมในงานระดับโลกเช่นนี้ และแม้แต่ดอกไม้ยังกลับมาผลิบานใหม่…ทุกคนเองก็ต้องทำได้

และย้ำเตือนคนญี่ปุ่นให้ไม่ลืมภยันตรายของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี ขณะเดียวก็เป็นการ “ขอบคุณ” ชาวโลกที่ได้มอบความช่วยเหลือและกำลังใจทุกทิศทางมาโดยตลอด

มาสคอตแห่งอนาคต

  • Miraitowa คือชื่อมาสคอตประจำ…โตเกียวโอลิมปิก
  • Someity คือชื่อมาสคอตประจำ…โตเกียวพาราลิมปิก

Miraitowa มาจากภาษาญี่ปุ่น สื่อว่าโอลิมปิกเกมครั้งนี้จะปูทางไปสู่อนาคตของคนทุกคน ในจัดงานนี้แฝงไปด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเทคโนโลยีล้ำหน้า

Someity เป็นการเล่นคำมาจาก “So Mighty” สื่อว่าความแข็งแกร่งทางร่างกายและจิตใจของนักกีฬาพาราลิมปิก ที่เอาชนะอุปสรรคและข้อจำกัดมากมาย

Image Cr. bit.ly/3l0qtyI

นอกจากนี้ มาสคอตทั้งคู่ถูกโหวตเลือกโดย “เด็กประถม” ทั่วประเทศ เพื่อสื่อว่า “เด็กคืออนาคตของชาติ” พวกเค้าจะเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นผู้บริหารประเทศในที่สุด การให้มีส่วนร่วม(และเป็นประชาธิปไตย) ตั้งแต่เยาว์วัยกับงานยิ่งใหญ่ขนาดนี้…คือจุดเริ่มต้นที่ดี

ต้นไม้ที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

โลโก้โอลิมปิกวงกลม 5 ห่วงทำด้วยไม้ และไม่ใช่ไม้ธรรมดา แต่เป็นไม้ที่ “นักกีฬาโอลิมปิกรุ่นก่อน” ปลูกไว้ตั้งแต่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกครั้งแรกเมื่อปี 1964 หรือกว่า 57 ปีที่แล้ว!!

Image Cr. bit.ly/3f1BtrH

กระบวนการทำไม้ทั้ง 5 ห่วง เป็นไปตามขั้นตอนแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมที่เรียกว่า Yosegi-zaiku 【寄木細工】 มีอายุเก่าแก่สืบย้อนไปไกลถึงยุคเอโดะหลายร้อยปีที่แล้ว สะท้อนถึงความรุ่มรวยทางมรดกวัฒนธรรมของชาติ (Tradition & Heritage)

และต้นไม้ที่ถูกตัด จะถูก “ปลูกทดแทน” เต็มจำนวน ตามแนวคิดเกษตรกรรมฟื้นฟู (Regenerative agriculture) ที่เป็นมาตรฐานการทำเกษตรกรรมในญี่ปุ่นไปแล้ว

Soft Culture

ญี่ปุ่นได้บุกเบิกส่งออกวัฒนธรรม J-Pop มาหลายทศวรรษแล้ว มันได้เข้าไปอยู่ในดวงใจ(และเป็นส่วนหนึ่งของวัยเด็ก) ของผู้คนทั่วโลก ญี่ปุ่นรู้ดีว่านี่คือจุดแข็งแตกต่างที่ยากจะลอกเลียนแบบได้ Soft Culture นี้จึงถูกนำเสนอในงานโอลิมปิกด้วย เช่น

  • ป้ายชื่อประเทศตอนเดินขบวนมีลายเส้นแบบการ์ตูน “มังงะ”
  • เพลงเดินขบวนพาเหรดนักกีฬามาจาก “เกมญี่ปุ่น” ชื่อดัง เช่น Final Fantasy / Dragon Quest / Sonic the Hedgehog

Olympic Village Plaza

หมู่บ้านนักกีฬาคืออีกสถานที่ที่นักกีฬาจะสัมผัสได้ถึง Storytelling อันลุ่มลึกของญี่ปุ่น 

โครงสร้างอาคาร มีการใช้ “ไม้” กว่า 40,000 ชิ้นถูกผลิตด้วยกรรมวิธีแบบญี่ปุ่น ที่สำคัญ นำเข้าภายในประเทศมาจาก 63 แห่งทั่วประเทศ 

Image Cr. bit.ly/3ybwPin

และสลักชื่อแหล่งที่มา “ทุกไม้” เมื่อโอลิมปิกจบลง ไม้ทุกชิ้นจะถูกส่งคืนไปแต่ละเมือง-แต่ละแหล่งที่มา เป็นไปตามคอนเซปท์การจัดงานแบบ “ยั่งยืน” (Sustainability) ลดความสูญเปล่าให้น้อยที่สุด (Zero waste)

Image Cr. bit.ly/3y7s7lz

ส่วนของ “เตียงนอน” กว่า 18,000 เตียงถูกทำจากกระดาษแข็ง “รีไซเคิล” ทั้งหมด และจำนวนนี้กว่า 8,000 เตียงจะถูกปัดฝุ่นนำมาใช้ใหม่ในพาราลิมปิกที่จะถึงถัดไป

Pictogram

แม้ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่ใครที่ชมพิธีเปิดเสร็จ จะต้องรู้จักคำว่า “Pictogram” หรือ แผนภูมิรูปภาพประจำการแข่งขัน ซึ่งญี่ปุ่นคิดค้นขึ้นเป็นชาติแรกตั้งแต่ปี 1964 (ครั้งที่ตัวเองจัดโอลิมปิกครั้งแรก) และเป็นมาตรฐานที่ใช้กันเรื่อยมาในโอลิมปิก

Pictogram เป็น Universal language ใครๆ ก็เข้าใจได้ง่าย แม้จะไม่เข้าใจภาษากัน และเป็นการโชว์ความครีเอทีฟของชาวญี่ปุ่นที่มักเก่งในการสื่อสารผ่าน “รูปภาพ” (อานิสงส์จากตัวอักษร “คันจิ” ที่เลียนรูปลักษณ์จริงจากธรรมชาติ)

Pictogram ถูกนำเสนอผ่านโชว์การแสดงของ 2 นักแสดงละครใบ้แถวหน้าของญี่ปุ่น (คุณ Masatomi Yoshida และคุณ Hitoshi Ono) ที่แสดงท่วงท่าเป็นกีฬาทั้งหมด 50 ชนิด

ไฮไลท์คือ ไม่ใช่โชว์ Pictogram รูปที่ “เคยทำมา” ในอดีต แต่เป็น Pictogram “เวอร์ชั่นใหม่” ลวดลายใหม่ ทันสมัยขึ้น เข้ากับยุคสมัยขึ้น 

Image Cr. on.today.com/2V997ES

ที่สำคัญ เป็นแสดงโชว์แบบ “Long take” สดๆ ยาวๆ ต่อเนื่องนานหลายนาทีจนครบ 50 ชนิดกีฬา และช็อตเด็ดที่ไม่คาดคิดคือ มีความ “ผิดพลาด” เกิดขึ้น (รับไม้แบดมินตันพลาด) แต่กลายเป็นว่า…กลับได้ใจผู้ชมทั่วโลกเข้าไปใหญ่!! ต่างกล่าวชมถึงความ “สมจริง”

จากขยะโลหะสู่เหรียญรางวัล

เหรียญรางวัลทั้งหมด 5,000 เหรียญ (ทอง-เงิน-ทองแดง) เป็นงาน “รีไซเคิล 100%” ทำจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และมือถือเก่าที่คนญี่ปุ่นบริจาคมาให้กว่า 6.2 ล้านเครื่อง น้ำหนักกว่า 78,000 ตัน 

Image Cr. bit.ly/3rCjfCe

เรื่องนี้บ่งบอกได้ถึง

  • การมีส่วนร่วมของประชาชน 
  • ประสิทธิภาพของภาครัฐในการประสานงาน (และความไว้วางใจที่ประชาชนมีให้)
  • การพัฒนาแบบยั่งยืน ไร้ของเสีย

บริษัทประยุกต์ใช้ได้อย่างไร?

ชัดเจนมากว่า เสน่ห์ความเป็นญี่ปุ่น คือการ “ใส่ใจรายละเอียด” ในทุกเศษเสี้ยวของขั้นตอนที่คนทั่วไปอาจมองข้าม

และดูเหมือนว่า พวกเค้าจะไม่ได้สนใจคิดตั้งต้นว่า “จะสร้าง Storytelling ที่ดีได้อย่างไร?” เพราะนั่นเป็นแค่ปลายทาง แต่ต้นทาง…เริ่มต้นจากการค้นหาคุณค่าอันลึกซึ้งและความหมายอันงดงาม(ที่มากกว่าแค่เปลือก) 

ทุกอย่างจึงดูมีที่มาที่ไป / มีคุณค่า / มีความหมาย / มีเรื่องราวอันงดงามอย่างน่าอัศจรรย์

เมื่อมีแนวคิดอันยอดเยี่ยมแต่แรก…การประดิษฐ์ Storytelling เป็นผลพลอยได้ที่ตามมา

พิธีเปิดก็มี Storytelling จัดเต็มขนาดนี้แล้ว…สิ้นสุดพิธีปิดการแข่งขัน Tokyo Olympic ในวันที่ 8 สิงหาคม 2021 เราคงจะได้เห็น Storytelling ที่ตราตรึงใจกันอีกแน่นอน

Image Cr. bit.ly/3x6ksTA

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

Original Image Cr. on.today.com/3kXs8Vx

อ้างอิง