Defective Marketing: เพราะไม่เป๊ะ จึงปังระเบิด

Defective Marketing: เพราะไม่เป๊ะ จึงปังระเบิด
  • เชลฟ์สินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตไม่เป็นระเบียบ
  • โฆษณาที่ทำให้อยากดูต่อแล้วจากไป
  • คุกกี้ที่รูปทรงไม่กลมเป๊ะ
  • เก้าอี้ที่มีที่วางแขนเพียงข้างเดียว

บางครั้ง ความไม่สมบูรณ์แบบเหล่านี้ กลับทำให้แบรนด์ดูมีเสน่ห์ ดึงดูดความสนใจจากลูกค้า จนนำไปสู่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นได้ 

ขอต้อนรับให้รู้จักกับ “Defective Marketing”

Defective Marketing เพราะไม่เป๊ะ…จึงปังระเบิด

Defective Marketing คือเทคนิคการตลาดนอกกระแสหลัก โดยโอบกอดแนวคิดที่ว่าความ “ไม่ครบองค์ประกอบ” กลับทำให้แบรนด์หรือสินค้าเป็นที่รู้จัก น่าค้นหา อยากลองใช้มากขึ้น นำไปสู่โอกาสทำยอดขายที่มากขึ้น

บางครั้ง..ความป้ำๆ เป๋อๆ ก็ทำให้แบรนด์ดูมีเสน่ห์ มีความเป็นมนุษย์ (Humane) 

เราลองไปดูตัวอย่างกัน

วางสินค้าในเชลฟ์ “ไม่เป็นระเบียบ” 

การออกแบบเชลฟ์วางสินค้าในร้านให้ “ไม่เนี้ยบ 100%” เป็นตัวอย่างที่สะท้อน Defective Marketing ได้ชัดเจนมาก แถมลองเอาไปทำได้ง่ายๆ เลย

  • มันควรจะวางแบบนี้…แต่กลับถูกวางอีกแบบนึง
  • แล้วทำไมมันถึงถูกวางอีกแบบนึง? งั้นเดินไปหยิบดูหน่อยดีกว่า

เมื่อได้รับความสนใจจากลูกค้าซึ่งเป็นด่านแรก ก็เปิดประตูสู่โอกาสการทำยอดขายได้ถัดไป

โดยตัวอย่างของการวางสินค้าอันแสนจะเป็นระเบียบสุดเนี้ยบคงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากบรรดา “แบรนด์ญี่ปุ่น” ที่กลายเป็นมาตรฐานทั่วประเทศไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม มีบางแบรนด์ที่เริ่ม “เอียน” กับความระเบียบเรียบร้อยนี้ และอยากทดลองอะไรใหม่ๆ ดู หนึ่งในนั้นคือ “Kinseiken Daigahara” แบรนด์ร้านขนมญี่ปุ่นพรีเมียมชื่อดังในจังหวัดยามานาชิ ประเทศญี่ปุ่น ที่ทดลองวางผลิตภัณฑ์แบบไม่เต็มชั้น บ้างก็เล่นขั้นบันได บ้างก็แหว่งไปด้านนึง 

พร้อมกับโพสรูปและใส่แคปชั่นบรรยายแนวคิดเบื้องหลังนี้ลงไป ปรากฎว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากโลกโซเชียล หลังจากนั้น ผลิตภัณฑ์ที่แหว่งขาดหายไปไม่ได้มาจากความตั้งใจ…แต่เพราะลูกค้าหยิบกว้านซื้อไปต่างหาก

Image Cr. bit.ly/3BsiKzh

อาหารรูปร่างไม่เป๊ะ

นักจิตวิทยาทดลองถามผู้คนกว่า 600 คนว่าจะเลือกอันไหนระหว่างคุกกี้ 2 ที่รสชาติเดียวกัน ใช้วัสดุเหมือนกัน…แต่ต่างแค่ “รูปทรง” 

  1. คุกกี้ที่ได้รูปกลม 100%
  2. คุกกี้ที่ไม่กลมเป๊ะ มีแหว่ง-นูนบ้างเล็กน้อย

ปรากฎว่า ผู้คนเลือกแบบ 2 มากกว่า โดยให้เหตุผลว่า แบบแรกเหมือนมาจากโรงงาน แต่แบบ 2 มันดูสมจริง เหมือนเป็นของแฮนด์เมด และ…ดูไม่สมบูรณ์แบบ

ทำให้อยากแล้วจากไป

พบเจอได้มากเป็นพิเศษในงานโฆษณาหรือทีเซอร์ภาพยนตร์ต่างๆ ซึ่งจะมีองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งขาดหายไปเสมอ

เปิดเรื่อง 🡺 เจอปัญหา 🡺 เจอวิกฤติ 🡺 เจอทางแก้ 🡺 กำลังจะแก้…แต่ดันตัดจบ!! (รอไปดูต่อได้ในโฆษณาชุดต่อไป) 

กรณีนี้อาจสร้างความเคลือบแคลงใจอยู่บ้างให้กับผู้ชม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พวกเค้ามีแนวโน้มสูงที่จะไปบอกต่อ “ปากต่อปาก” (Word-of-Mouth) กับเพื่อนฝูงจนเกิดเป็นไวรัลได้ในที่สุด

ความผิดพลาด 

บางครั้งแบรนด์ “ตั้งใจพลาด” เพื่อเรียกกระแสให้ทัวร์มาลง เราอาจพบเจอได้ตามโซเชียลมีเดีย เช่น Influencers ไปรีวิวคาเฟ่เปิดใหม่แล้วตั้งใจบอก “ราคาผิด” คลาดเคลื่อนจากความจริงเล็กน้อย

การวางหมากแห่งความผิดพลาดนี้ มีแนวคิดมาจาก “Cunningham’s Law” ที่ว่าการมอบคำตอบที่มีข้อผิดพลาดชัดเจน ผู้คนจะจับผิดได้และนำไปสู่การถกเถียงหาคำตอบที่ถูกต้องในที่สุด

ในทางจิตวิทยา คนเรามักให้ความสนใจกับการ “แก้ไขสิ่งที่ผิด” มากกว่าการหาคำตอบอันชาญฉลาด โดยทั่วไป การแก้ไขให้ถูก ง่ายกว่า การคิดเริ่มจากศูนย์ เพราะมีพื้นฐานตรรกะมานำเสนอให้เราอยู่บ้างแล้วนั่นเอง

Asymmetry 

Defective Marketing ยังสามารถสอดแทรกลงไปถึงระดับงานออกแบบแต่แรกได้เลย ที่เห็นได้ชัดคือ “ความไม่สมมาตร” ซึ่งนิยมใช้กันในเฟอร์นิเจอร์ / สถาปัตยกรรม / งานดีไซน์ต่างๆ เช่น

Alegre Design เป็นสตูดิโอออกแบบผลิตภัณฑ์จากสเปน ใช้แนวคิดนี้และเปิดตัว “EGO Armchair” โต๊ะนั่งอันมีเอกลักษณ์ที่เตะตาทุกคนเพราะมี “ที่วางขาเพียงข้างเดียว”

โดยให้เหตุผลด้านความเก๋ เท่ เป็นเอกลักษณ์ (ชาร์จราคาพรีเมียมได้) และสอดคล้องกับพฤติกรรมคนที่สุดท้ายแล้ววางแขนเพียงข้างเดียว (เช่น อ่านหนังสือ) ซึ่งช่วยลดทรัพยากรที่นำมาผลิตสร้าง

Image Cr. bit.ly/3eG2AIR

เห็นไหม? บางครั้งคนเราไม่ได้ต้องการความสมบูรณ์แบบ 100% เสมอไป ความขาดๆเกินๆ ป้ำๆเป๋อๆ เหล่านี้ ก็สร้างเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์และทำให้ผู้คนสนใจอยากลองใช้ในที่สุด

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง