Uniqlo ปั้นองค์กรอย่างไร? สู่เป้าหมายแบรนด์เสื้อผ้าเบอร์ 1 ของโลก

Uniqlo ปั้นองค์กรอย่างไร? สู่เป้าหมายแบรนด์เสื้อผ้าเบอร์ 1 ของโลก
  • Uniqlo มีมูลค่าตลาดกว่า 3.2 ล้านล้านบาท
  • มีสาขาครอบคลุมทั่วโลกกว่า 2,280 สาขา
  • อย่างน้อยทุกคนต้องมีเสื้อผ้า Uniqlo สักชิ้น

จากจุดเริ่มต้นของผู้ก่อตั้งที่ฝันแค่อยากจะมีสาขาทั่วญี่ปุ่นก็พอแล้ว กลายเป็นอาณาจักรแบรนด์เสื้อผ้าระดับโลก…Uniqlo มีวิธีปั้นองค์กรอย่างไร?

ร้านขายเสื้อผ้าแห่งเมืองอูเบะ

Tadashi Yanai เติบโตมากับธุรกิจร้านตัดเสื้อผ้าเล็กๆ ของตระกูลที่มีนามว่า Ogori Shoji ในเมืองอูเบะ จังหวัดยามากุจิ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1949 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่แบรนด์ “Uniqlo” แบบปัจจุบันนั้น พึ่งจะมาก่อตั้งในปี 1988 โดยคุณ Tadashi Yanai หลังจากที่เขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาพอสมควร ใครจะไปรู้ว่าการต่อยอดจากธุรกิจครอบครัวเล็กๆ นี้ ต่อมาจะกลายเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งโลกแฟชั่นในอนาคต

Uniqlo ย่อมาจาก Unique Clothing แต่ตอนจดทะเบียนชื่อ ดันเขียนผิดจาก C เป็น Q แต่สุดท้ายพบว่ากลับมีเอกลักษณ์ดี

ทศวรรษแรกของการก่อตั้งยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีอะไรหวือหวานัก แต่จุดเปลี่ยนคือปี 1997 ได้โอบกอดกลยุทธ์การปั้นธุรกิจมาจาก GAP แบรนด์แฟชั่นระดับโลกตอนนั้น ด้วยกลยุทธ์ SPA (Specialty Retailer of Private Label Apparel) เน้นการใช้ต้นทุนต่ำ แต่สินค้าที่ผลิตออกมามีคุณภาพสูง และเป็นการขายภายใต้แบรนด์ตัวเอง พร้อมกับบรรยากาศร้านที่มีเอกลักษณ์น่าดึงดูด

กลยุทธ์นี้ทำให้ Uniqlo เติบโตก้าวกระโดด

ปี 1998 เปิดสาขาแรกที่โตเกียว

ปี 2001 มีกว่า 500 สาขาทั่วญี่ปุ่น พร้อมเติบโตไปต่างประเทศ

ปี 2002 เปิดสาขาแรกที่ เซี่ยงไฮ้ และ ลอนดอน

ปี 2005 เปิดสาขาแรกที่ นิวยอร์ค / ฮ่องกง / โซล

(ปี 2011 เปิด Uniqlo สาขาแรกในไทยที่ centralwOrld)

ยอดขายเติบโตอย่างน่าประทับใจมาโดยตลอดและในปี 2007 ได้ตั้งเป้าขึ้นเป็น Top5 แบรนด์แฟชั่นของโลก เคียงบ่าเคียงไหล่ GAP / H&M / ZARA ที่ครั้งหนึ่งเคยมองขึ้นไปเป็นแรงบันดาลใจ 

Lifewear

Uniqlo จะเน้นเสื้อผ้าที่เรียบง่าย สวมใส่ได้ทุกวันในชีวิตประจำวัน ลวดลายจะไม่แฟชั่นหวือหวานัก ราคากลางๆ สมเหตุสมผล (แต่ไม่ถูก) และมาพร้อมเทคโนโลยีทันสมัยมาตรฐานสินค้าที่ได้รับการควบคุมแบบญี่ปุ่น

ซึ่งแตกต่างจากคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเราเดินเข้าร้าน ZARA หรือ H&M จะพบว่า

  • ZARA – เน้นแฟชั่น เอาสิ่งที่อยู่ในกระแสมาผลิตขายอย่างรวดเร็ว ราคาสูงกว่าคู่แข่งเล็กน้อย
  • H&M – เน้นขายสินค้าหลากหลายครอบคลุมทุกเพศทุกวัย ในราคาย่อมเยากว่าแบรนด์คู่แข่ง

Lifewear ยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของแบรนด์ที่ต้องการ “Made For All” เป็นเสื้อผ้าสำหรับมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้

บริการอันเป็นเลิศในแบบญี่ปุ่น

ชื่อเสียงเรื่องงานบริการของ Uniqlo ได้รับคำชมในหลายภูมิภาคทั่วโลก เนื่องมาจากการเทรนด์พนักงานภายใต้ “Omotenashi” หรือจิตวิญญาณการบริการแบบญี่ปุ่น พนักงานบริการด้วยใจ สุดความสามารถที่สุด ไม่ได้แค่ “ทำตามหน้าที่” ไปอย่างนั้น

ลูกค้าหลายคนถึงกับบอกว่า ได้รับบริการหลายอย่างไม่ต่างจากเวลาเข้าร้านแฟชั่นหรูเลย

  • ธนบัตรหรือบัตรเครดิตจะถูกส่งคืนให้ลูกค้า “สองมือ”
  • สก๊อตเทปบนถุงเวลาซื้อเสร็จ จะถูกแปะครึ่งหนึ่งเพื่อให้ดึงออกง่าย 
  • พูดต้อนรับลูกค้าด้วยน้ำเสียงชัดถ้อยชัดคำและพร้อมเพรียง
  • ในประเทศที่มีระบบอาวุโส เวลาพนักงานเดินผ่านลูกค้าสูงวัย จะก้มหัวโค้งผ่านเล็กน้อย

Uniqlo จริงจังเรื่องบริการมากถึงกับเคยออกแคมเปญ “เล่าเรื่องแย่ๆ ที่มีต่อ Uniqlo รับไปเลย 1 ล้านเยน” บริษัทได้รับรู้เรื่องข้อบกพร่องมากมาย ก่อนนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น

เพราะต้องไม่ลืมว่า Uniqlo มีพนักงานในบริษัทกว่า 30,000 คน โดยสัดส่วนพนักงานที่เยอะที่สุดก็คือ พนักงานที่ประจำอยู่หน้าร้าน นั่นเอง

ดีไซน์ร้านอันพิถีพิถัน

หน้าร้าน Uniqlo สะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ดีที่สุด เป็นพื้นที่ที่แสดงทั้งศาสตร์และศิลป์ในเวลาเดียวกัน

บรรยากาศและกลิ่นอายมาในคอนเซ็ปท์ “Minimal” มีความเรียบง่าย / เน้นโทนไม้ / ทุกอย่างดูเป็นระเบียบเรียบร้อย / เป็นบรรยากาศเชื้อเชิญให้ลูกค้าเดินได้สบาย

มีการออกแบบ Physical Service Design ที่ลูกค้าสามารถเดินลึกเข้าไปในร้านและกวาดตามองหาสินค้าหรือไอเท็มโปรโมชั่นตอนนั้นได้อย่างง่ายดาย

เราจะเห็นว่า Pattern การออกแบบร้านนี้เหมือนกันหมดแทบทุกสาขาทั่วโลก (อาจมีข้อยกเว้นบ้างสาขาใหญ่ เช่นที่ Fifth Avenue นิวยอร์ค จะมีความอลังการขึ้น)

นอกจากนี้ พนักงานยังได้รับ “อำนาจ” ในการออกแบบคิดสร้างสรรค์ Mix & Match เสื้อผ้าที่จะเอาไปใส่โชว์บนหุ่นของร้าน 

นวัตกรรมแห่งยุค

มองเผินๆ Uniqlo ขายเสื้อผ้าบ้านๆ ทั่วไป แต่เบื้องหลังกลับเต็มไปด้วย
“เทคโนโลยี” ด้านสิ่งทอแห่งยุคเสมอมา เช่น 

  • ปี 1994 เปิดตัว Fleece  
  • ปี 2003 เปิดตัว HEATTECH 
  • ปี 2008 เปิดตัว AIRism 
  • ปี 2009 เปิดตัว Ultra Light Down 

โดยเฉพาะ AIRism ที่ได้รับความนิยมในเมืองไทยมาก เพราะเป็นเมืองร้อน สวมใส่สบาย อากาศถ่ายเทง่าย ระงับกลิ่นอับ

Uniqlo ยังเป็นเจ้าแรกที่ใช้เส้นใยรูปตัว C พิเศษ เก็บความอบอุ่นได้ดี ทำให้เสื้อ Fleece ของ Uniqlo มีความอบอุ่นกว่าแบรนด์ทั่วไปถึง 1.5 องศาเซลเซียส

Uniqlo ไม่ได้ลองผิดลองถูกขึ้นมาเอง แต่ได้จับมือกับ “พาร์ทเนอร์ธุรกิจเชี่ยวชาญ” มากมาย เช่น บริษัท Toray เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาคาร์บอนไฟเบอร์ที่ใช้ในเครื่องบิน Dreamliner ของ Boeing (เบื้องหลังความสำเร็จของเสื้อผ้า Fleece)

คุณ Tadashi Yanai ยังเคยเปิดเผยว่า “บางครั้งผมไม่ได้มอง Uniqlo เป็นบริษัทเสื้อผ้าด้วยซ้ำ…แต่มองว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยีต่างหาก” (เขามี Steve Jobs เป็นไอดอล)

Collaborator

นอกจากนี้ ยังได้จับมือกับนักออกแบบชั้นนำตลอดทุกยุคสมัย เราจะเห็น Uniqlo ออก Collection น่าสนใจอยู่เป็นทุกระยะ 

ปี 2009 จับมือกับ Jil Sander (+J Collection)

ปี 2012 จับมือกับ UNDERCOVER (UU Collection)

ปี 2018 จับมือกับ Alexander Wang (Alexander Wang’s Airism Collection)

ปี 2019 จับมือกับ KAWS (KAWS x UNIQLO UT)

ทั้งหมดนี้ สร้างสีสันให้แบรนด์ดูสดใหม่อยู่เสมอ และได้ความจงรักภักดีและยอดขายจากฐานแฟนคลับของดีไซเนอร์ที่มีอยู่ทั่วโลก

ตามทันทุกการใช้เทคโนโลยี

ปี 2017 บริษัทประกาศอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าสู่ Digital Transformation โดยร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในแต่ละจุดของ Supply Chain

ร่วมมือกับ Google และ Accenture ในเรื่อง Big Data-AI เก็บรวบรวมข้อมูล / ศึกษาพฤติกรรมลูกค้า / วิเคราะห์เทรนด์สินค้า ข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ จะถูกนำไปใช้ในการวางแผนปล่อยผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น

ร่วมมือกับ Daifuku เพื่อพัฒนาระบบเก็บคลังสินค้าอัตโนมัติ เพิ่มประสิทธิภาพการกระจายสินค้าของบริษัทได้ในอนาคต

รวมไปถึงการเข้าสู่ E-commerce โดยในปี 2020 ยอดขายออนไลน์คิดเป็นสัดส่วน 15% ของยอดขายทั้งหมดเลยทีเดียว (Uniqlo ตั้งเป้ายอดขายออนไลน์เติบโตปีละ 30%)

Uniqlo Manager Candidate

Uniqlo มีขั้นตอนรับสมัครคัดเลือกที่เข้มงวดมากโดยเฉพาะโครงการ Uniqlo Manager Candidate (UMC) ผู้บริหารฝึกหัดที่จะกลายเป็นผู้บริหารร้านสาขาจริงในอนาคตอันรวดเร็ว

โครงการนี้มีขั้นตอนคือ: ปฐมนิเทศน์ – ทำข้อสอบ – สัมภาษณ์ – ฝึกงานจริง – สัมภาษณ์รอบสุดท้าย

ในวันปฐมนิเทศน์จะเรียกแคนดิเดตทุกคนมารวมกัน “ผู้บริหารใหญ่สุด” ของแต่ละประเทศ จะเป็นคนออกมากล่าวทักทายและเล่าถึงวิสัยทัศน์ของ Uniqlo ด้วยตัวเอง!! บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญกับการหาคนเก่งมาก

ยังมี Career Path วาดผังเส้นทางการเติบโตได้อย่างชัดเจน เช่น 

  • ถัดจากตำแหน่งนี้ จะขึ้นไปเป็นตำแหน่งอะไร 
  • เมื่ออยู่ตำแหน่งนี้แล้ว มีทางเลือก 2 ทางในการไปต่อ
  • ตำแหน่งนี้ต้องประจำต่างประเทศกี่ปี
  • หรือต้องอยู่ตำแหน่งนี้ขั้นต่ำประมาณกี่ปี

คนที่ผ่านจนได้รับการว่าจ้าง ต้องไม่ใช่แค่มีแบคกราวน์ที่ดีพอ ต้องไม่ใช่แค่มีทักษะความสามารถเหมาะสมกับงาน แต่ต้องมีวัฒนธรรมหรือทัศนคติการทำงานในแบบ Uniqlo ด้วย 

นอกจากนี้ ตำแหน่งสูงอย่างผู้จัดการสาขาหรือภูมิภาค จะต้องบินไปอบรมที่ญี่ปุ่นเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเข้าใจวิธีการทำงานและปรับมาตรฐานให้สูงอยู่เสมอ

.

.

ทั้งหมดนี้คือกระดูกสันหลังของ Uniqlo ก็ว่าได้ที่ทำให้บริษัทเติบโตอย่างแข็งแกร่งมาทุกวันนี้ 

เคาะรายได้ในปี 2019 ไปกว่า 2,290,000 ล้านเยน เตรียมขึ้นแท่นสู่แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นเบอร์ 1 ของโลก!!

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ จะได้ทำงานอย่างมีความสุขในทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง