Devil’s Advocate: ตกผลึกความคิดด้วยการ “เล่นบทโหด”

Devil’s Advocate: ตกผลึกความคิดด้วยการ “เล่นบทโหด”
  • รอบตัวมีแต่ลูกน้องคอยเลีย เห็นดีเห็นงามทุกเรื่อง
  • เด็กใหม่ไม่กล้าขัดใจผู้บริหารที่จมปลักกับความคิดเดิมๆ
  • บางคนลุกขึ้นมาโต้แย้ง ก็โดนกลั่นแกล้ง ถูกกดดันให้ออก

ยอมรับความจริงเถอะว่า หลายครั้งเราเรียนรู้จาก…คำวิจารณ์ มากกว่า คำชม

แต่กลไกและวัฒนธรรมองค์กรบางอย่างอาจปิดกั้นไม่ให้พนักงานกล้าแสดงออกคำวิจารณ์เหล่านั้น ซึ่งทำให้ผู้บริหารมีมุมมองคับแคบแค่ไม่กี่อย่าง อยู่ในโลกทัศน์ของตัวเอง และอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้

แต่ข่าวดีคือ หนึ่งในวิธีแก้ที่นิยมใช้กันในหมู่ผู้บริหารคือ “Devil’s Advocate”

Devil’s Advocate ตกผลึกความคิดด้วยการเล่นบทโหด 

Devil’s Advocate คือ การแต่งตั้งบุคคลหนึ่งที่เก่งด้านการใช้ตรรกะเหตุผล ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ทั้งที่ปรึกษาส่วนตัว / เลขาฯ ส่วนตัว / นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ 

แม้คนนี้จะเห็นด้วยกับไอเดียของคุณเป็นทุนเดิม แต่เขาต้องสวมบทบาทเป็นฝ่ายตรงข้าม และพยายามทุกวิถีทางเพื่อหาเหตุผลมา “โต้แย้ง” ไอเดียความคิดของคุณในทุกมิติ!! หรือพูดง่ายๆ ให้ “เล่นบทโหด” นั่นเอง

จริตการทำงานของ Devil’s Advocate จึงต้องมีความดื้อรั้น “กัดไม่ปล่อย” ถามจี้ไม่หยุด เปิดประเด็นถกเถียงอย่างต่อเนื่อง ไม่ยอมให้ไอเดียคุณผ่านไปได้ง่ายๆ…อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดจะกระทำอยู่ภายใต้หลักการเหตุผล และแน่นอน…คนที่ได้รับการแต่งตั้งจะไม่มีผลกระทบเสียหายตามมา

Lindred Greer ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรจาก Stanford University แนะนำว่า เทคนิค Devil’s Advocate จะยิ่งกระตือรือร้นถ้าเพิ่ม ”แรงจูงใจ” (Incentive) เข้าไป เช่น ถ้าสามารถหาหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุนมา “หักล้าง” ได้สำเร็จในที่สุด ก็รับเงินโบนัสก้อนโตไปเลย ยกตัวอย่างเช่น 

  • โต้แย้งการลดใช้หลอดพลาสติกของบริษัท เพราะมองว่าทำไมต้องมีหลอดแต่แรก? ทำไมไม่ยกเลิกหลอดไปเลย แล้วออกแบบถ้วยเครื่องดื่มเย็นให้ยกดื่มได้แทน? (แบบที่ Starbucks ทำ)
  • คัดค้านการเซ็นสัญญากับซัพพลายเออร์เจ้าใหม่ เพราะไปสืบเสาะหาข้อมูลจนเจอว่า มีซัพพลายเออร์รายหนึ่งที่ให้วัตถุดิบคุณภาพเกรดเดียวกันแต่ราคาถูกกว่า 20%
  • เมื่อผู้บริหารเพิกเฉยต่อสินค้าใหม่ของคู่แข่งที่ Disrupt วงการเพราะตัวเองยังคงมีส่วนแบ่งตลาดทิ้งห่างเบอร์ 2 อยู่ แต่ Devil’s Advocate เปิดฉากโต้เถียงให้รีบทุ่มงบ R&D พัฒนาสินค้าใหม่มาสู้ มิเช่นนั้น อาจกลายเป็นเหมือน Nokia ในอนาคตได้

ถึงตรงนี้เราจะเห็นว่า Devil’s Advocate ช่วยขัดเกลาไอเดียความคิดนั้นให้ “ตกผลึก” ได้มากขึ้น มองเห็นจุดอ่อนที่ถูกมองข้าม ให้มุมมองใหม่ที่ไม่เคยรู้ ลดอดคติส่วนตัว ไม่ทำให้เราหวือหวาไปกับความผิวเผินฉากหน้า

ทำ Devil’s Advocate ให้ยิ่งเวิร์คขึ้น

สร้าง “เงื่อนไข” ในการทำ Devil’s Advocate ขึ้นมา เช่น จะต้องพยายามโต้แย้งให้ได้ “3 ครั้งเป็นอย่างต่ำ” ซึ่งอาจมาในรูปแบบการถาม Why ต่อเนื่องกัน 3 ครั้ง

  • Why คนไม่ค่อยรู้จักสินค้า? เพราะ ไม่ค่อยทำแคมเปญ 
  • Why ไม่ทำแคมเปญ? เพราะ งบประมาณไม่พอ 
  • Why งบไม่พอ? น้อยเกินไปเหรอ? เพราะ งบไม่ได้น้อยเกิน แต่เพราะใช้กับเรื่องอื่นไปจนหมดแล้ว

เมื่อจี้ถามถึงตรงนี้ จะนำเราไปสู่ประเด็นใหม่อย่าง Budget Allocation นั่นเอง

หมั่นตั้งคำถามยากๆ (Tough question) ที่ท้าทายให้เราลองคิดในมุมมองใหม่ๆ เช่น “ถ้าไม่เป็นแบบนี้…แล้วจะเป็นแบบอื่นยังไงได้บ้าง?”

ศาสตราจารย์ Lindred Greer ยังแนะนำว่า Devil’s Advocate ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการอบรมพัฒนาบุคคลชั้นดี เช่น ให้ผู้เข้าคอร์สเรียนเสนอไอเดียน่าสนใจขึ้นมา ก่อนจะ Reverse หาเหตุผลย้อนกลับมาโต้แย้งไอเดียตัวเอง เปิดมุมมองที่กว้างขึ้นแก่ผู้เรียนและช่วยให้เค้าระลึกอยู่เสมอว่า “ตัวเองก็คิดผิดได้”

ผู้ทำหน้าที่ Devil’s Advocate ต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า กำลังวิพากษ์วิจารณ์ “ไอเดีย” ของอีกฝ่าย…ไม่ใช่ “ตัวบุคคล” ทัศนคตินี้จะช่วยให้โฟกัสที่ปัญหาและลดความขัดแย้งที่บานปลายกลายเป็นความบาดหมางส่วนตัวระหว่างกันได้

นอกจากนี้ทุกการโต้แข้งต้องถูกทำโดยมีข้อมูลตัวเลข / หลักฐาน / แหล่งที่มา สนับสนุนอยู่เบื้องหลังเสมอ

ขณะเดียวกัน ผู้บริหารที่เข้าร่วมเทคนิคนี้ (ถูก Devil’s Advocate วิพากษ์วิจารณ์จัดหนัก) ก็จะต้องพยายามละทิ้งอีโก้ เปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ควบคุมอารมณ์ตัวเอง ไม่เอามาเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะ Devil’s Advocate จะกัดไม่ปล่อย ซึ่งย่อมมีกระทบกระทั่งทั้งด้านเหตุผลและจิตใจบ้างเป็นธรรมดา

สุดท้าย เมื่อการโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์อันเข้มข้นเดินทางมาไกลมากพอแล้ว…ก็ถึงเวลาหยุด เมื่อไอเดียใหม่ๆ ที่ได้มา “ตอบโจทย์” ที่ตั้งไว้ได้แล้วนั่นเอง 

ต้องไม่ลืมว่า จุดประสงค์ของ Devil’s Advocate ไม่ใช่การด้อยค่าหรือ “ปัดทิ้ง” โปรเจคท์นั้นๆ แต่เป็นการถกเถียงเพื่อหามุมมองใหม่ๆ กล่าวคือ สุดท้ายโปรเจคท์นั้นอาจยังคงดำเนินต่อไป เพียงแต่มาพร้อมรายละเอียดกลยุทธ์ที่ “รอบคอบ” มากกว่าเดิมเท่านั้นเอง

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะ “หางาน” อะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ ”Resume” แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง