Deep Focus: 5 วิธีโฟกัส สู่ผลงานอันเป็นเลิศ

Deep Focus: 5 วิธีโฟกัส สู่ผลงานอันเป็นเลิศ

งานอันยิ่งใหญ่ที่สำเร็จลุล่วงด้วยดีล้วนมาจากพลานุภาพของการ “โฟกัส” จดจ่อมีสมาธิอย่างที่สุด คือช่วงที่สมองแล่นเฟ้นศักยภาพการทำงานออกมาได้มากที่สุด 

และนี่ยังเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีของการ “ทำน้อยให้ได้มาก” นำไปสู่ชีวิตที่สมดุลขึ้นและผลงานอันเป็นเลิศ

ไม่เกินจริงเลยหากจะบอกว่า เมื่อเราควบคุมการโฟกัสให้มีประสิทธิภาพได้…ผลงานย่อมออกมาดี ตามไปพบกับ “5 วิธีโฟกัส สู่ผลงานอันเป็นเลิศ” กัน

1. นอน

Michael Breus แพทย์เชี่ยวชาญด้านการนอนเผยว่า สมาธิจดจ่อในการทำงานจะลดน้อยถอยลงอย่างมากเมื่อคนเราขาดการนอนหลับที่เพียงพอ เพราะเส้นใยประสาทในสมองจะเชื่อมประสานถึงกันช้าลงเนื่องมาจากความเหนื่อยล้า

ดูเหมือนว่าถ้าอยากโฟกัสจนงานออกมาดี…เราต้องย้อนกลับไปสู่พื้นฐานของร่างกายมนุษย์นั่นคือการนอน เพราะการตื่นมา “หัวแล่น” ตีโจทย์แตก คิดอะไรก็ออก ครีเอทีวิตี้มาเต็ม ล้วนคือผลพลอยได้จากการนอนหลับที่มีคุณภาพ!

Bill Gates / Jeff Bezos / Jack Ma / Warren Buffet / Richard Branson…คนเก่งหลายคนบนโลกใบนี้ล้วนเป็น “นักนอน” ตัวยง นอนเต็มอิ่มอย่างพอเพียงวันละ 6-8 ชม.

ขอให้ความสำคัญที่ตัวเลข 6-8 ชั่วโมง/วัน ห้ามน้อยเกินกว่านี้ แม้บางคนอาจมองว่านอนน้อยลงกว่าเดิมแค่วันละ 1-2 ชั่วโมง ไม่น่าจะแตกต่างอะไรมาก แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น 

อย่างแรก เรารู้สึกได้ชัดเจนเลยว่า นอนน้อยลงกว่าเดิม 1-2 ชั่วโมงมีผลต่อการดำเนินชีวิตวันนั้นของเรามากๆ เราจะเบลอๆ มึนๆ ไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วมอยากทำอะไร

นอกจากนี้ The Journal of Sleep Research วารสารชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์การนอน เผยผลสำรวจที่ทดลองในผู้ใหญ่กว่า 44,000 คน ระยะเวลากว่า 13 ปี พบว่า คนที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมง/วัน มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าคนที่นอนวันละ 6-7 ชั่วโมง ถึง 65%!!

วิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า นอนไม่เพียงพอไม่ได้ส่งผลแค่ประสิทธิภาพการโฟกัสงาน…แต่ส่งผลถึง “ชีวิต” ของเราได้เลย

2. ทำสมาธิ 

ต่อเนื่องจากข้อเมื่อกี้ เมื่อนอนเต็มอิ่มแล้ว หลังตื่นนอนให้นั่งสมาธิอย่างน้อย 5 นาที หายใจเข้าออกช้าๆ ไม่ฟุ้งซ่าน ฝึกจิตให้อยู่กับ “ปัจจุบันขณะ” นี่เป็นวิธีที่ช่วยให้เราเข้าสู่สภาวะ “Flow State” จิตเราจะจดจ่อกับเรื่องตรงหน้าอย่างมีสมาธิเต็มที่

ที่สำคัญคือ สภาวะนี้จะ ‘อยู่ติดตัวเรา’ ไปอีกซักพัก จึงควรใช้เป็นโอกาสทองในการเลือกทำงานที่ “ใช้ความคิด” มากที่สุดภายใน 2-3 ชม.แรก สมองจะแจ่มใสทำงานเต็มที่ ความคิดสร้างสรรค์พรั่งพรู

ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จมากมายถึงกับบอกว่า เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงใน Flow State นี้ เค้าทำงานได้ดีเทียบเท่ากับทั้งวันที่เหลือด้วยซ้ำ!

กลับมาที่ทัศนคติการนั่งสมาธิซึ่งหลายคนมองข้ามคิดว่าเอาเวลาไปนอนจริงๆจังๆ ไปเลยดีกว่า ให้เปรียบเทียบว่า…เราเข้าฟิตเนสเพื่อออกกำลังกายร่างกาย การนั่งสมาธิก็เหมือน “ออกกำลังกายสมอง” และจิตวิญญาณของเรา ซึ่งเป็นตัวสั่งการร่างกายอีกทีหนึ่งนั่นเอง

นักคิด-นักประวัติศาสตร์ระดับโลกอย่างคุณ Yuval Noah Harari บอกว่า เขาจะเขียนหนังสือแห่งยุคอย่าง Sapiens ทั้ง 3 เล่ม(ตอนนี้แปลไปแล้วมากกว่า 50 ภาษาทั่วโลก) ไม่ได้เลย หากปราศจากการ “นั่งสมาธิ” 

เขาทำทุกวันๆ ละ 2 ชั่วโมงอย่างต่ำ (เช้า 1 ชม. เย็น 1 ชม.) ซึ่งเขาฝึกฝนมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว นอกจากนี้ ทุกปีเขาจะปลีกวิเวกไปฝึกสมาธิในพื้นที่ห่างไกลเป็นเวลา 2 เดือนเต็ม

เขาได้เดินทางสำรวจลึกเข้าไปในใจตัวเอง ขบคิด ตกผลึก กลั่นกรองออกมาเป็นผลงานอันเลอค่าผ่านตัวอักษรบนกระดาษ เขาถึงกับอุทิศบทนึงเต็มๆ ในหนังสือ อธิบายเกี่ยวกับเรื่องราวการทำสมาธิของเขา 

ทั้งนี้ทั้งนั้น การทำสมาธิไม่ได้หมายถึงการนั่งสมาธิเท่านั้น แต่สอดแทรกไปอยู่ใน “วิถีชีวิต” ของเราได้หลายเรื่อง อ่านหนังสือก็ฝึกสมาธิได้ / ทานข้าวก็ฝึกสมาธิได้ / เล่นโยคะก็ฝึกสมาธิได้ / เดินสวนสาธารณะก็เป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่งได้เช่นกัน (ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ) ประเด็นขอแค่จิตเราต้องอยู่กับ “ปัจจุบันขณะ”

3. To-Do List 

ข้อดีของ To-Do List คือเรา “ไม่ต้องเสียเวลาคิด” เพราะคิดมาล่วงหน้าแล้ว เน้นเนื้อๆ มาถึงโฟกัสเข้าประเด็นลุยงานที่สำคัญได้เลย เป็นเหมือนเครื่องช่วยเตือนสติเราว่า ไม่ว่าวันนั้นจะมีเรื่องวุ่นวายอะไร คุณจะไม่ถูกดึงความสนใจจนตกขบวน

นอกจากนี้ To-Do List เป็นตัว “ช่วยจำ” ชั้นดี บ่อยครั้งความทรงจำของมนุษย์เราไม่แน่นอน เรารู้ลึกๆ ในใจว่าจะต้องทำอะไรซักอย่างแน่ๆ แต่นึกเท่าไรก็นึกไม่ออก แต่พอมองลิสท์รายการ 1-2-3-4 ที่ต้องทำแล้วก็ร้องอ่อเลย

To-Do List จะยิ่งมีประสิทธิภาพเข้าไปอีกเมื่อเรา “เรียงลำดับความสำคัญ” ของเรื่องที่ต้องทำ และขอให้เจาะลึกรายละเอียดอีกหน่อย บางงานสำคัญจริงแต่ไม่รีบด่วน ขณะที่บางงานสำคัญน้อยกว่าแต่เร่งด่วนกว่า

และรู้สึกเหมือนกันไหม? เมื่อเราทำได้ครบตาม To-Do List ทุกข้อ จะรู้สึกภารกิจสำเร็จลุล่วง มีความสุข นี่คือมนตร์เสน่ห์อย่างหนึ่งของ To-Do List 

แถมเริ่มได้ง่ายมาก ยุคนี้มีแอปที่ช่วยเราทำ To-Do List เพียบจนนับไม่หมด เช่น Todoist แอปที่ใช้งานง่าย ตอบโจทย์การทำงานในชีวิตประจำวันครบ และเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดียอื่นๆ ได้ราบรื่น (ผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านคนแล้ว) หรือเราจะใช้ควบคู่ร่วมกับแอปบริหารจัดการงานก็ได้เหมือนกัน เช่น Trello

4. ตัดสิ่งรบกวน 

เราอยู่ในโลกที่ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง มีเรื่องเย้ายวนใจ-หลอกล่อใจเราอยู่ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ถ้าเราปล่อยใจไปกับมันทุกเรื่อง บอกเลยว่าวันนั้นของคุณไม่เป็นการเป็นงานแน่ เพราะไม่ใช่เรื่องทุกเรื่องที่จะเป็นเรื่องสำคัญ

ผลวิจัยมากมายระบุว่า การที่เราโฟกัสเรื่องใดอยู่ และมีสิ่งรบกวนมาแทรกคั่นกลาง จนทำให้เราหลุดโฟกัส…การจะกลับมา “โฟกัสใหม่” ใช้เวลาและพลังงานสูงมาก สิ่งรบกวนเหล่านี้คือผู้ร้ายตัวดีที่ขัดขวางผลงานของเรานั่นเอง

เราห้ามโลกภายนอกไม่ได้ แต่เราห้ามตัวเองได้ วิธีแรกที่ช่วยได้มากคือต้อง “กำหนด” ให้ได้ก่อนว่าอะไรคือสิ่งรบกวน?

  • ไถฟีด FB เพื่อติดตามแบรนด์คู่แข่ง…อาจไม่ใช่สิ่งรบกวน
  • ไถฟีด FB เพื่อวิเคราะห์โฆษณา…อาจไม่ใช่สิ่งรบกวน
  • แต่ไถฟีด FB เพื่อดูของกินไปเรื่อยเปื่อย…อาจเป็นสิ่งรบกวน

เมื่อกำหนดได้แล้ว จึงค่อย “ตัด” สิ่งรบกวนเหล่านี้ออกไปให้เหลือน้อยที่สุด และเอาเวลาไปโฟกัสกับเรื่องสำคัญ ข้อสำคัญ คือ อย่าหาข้ออ้างให้ตัวเอง ต้องตั้งเป้าเลยว่าจะเข้า social media ไหน เพื่อทำอะไร เมื่อทำสิ่งนั้นเสร็จแล้ว ก็ต้องออกจาก social media ทันที

ตัวอย่างใกล้ตัวคือการใช้ “แอป” ผลสำรวจพบว่า เฉลี่ยแล้วคนเราใช้แอปมากถึง 9 แอป/วัน (ใช่ FB เป็นหนึ่งในนั้น) แต่เรารู้ดีว่า เราไม่จำเป็นต้องมีทุกแอป…มีแค่บางแอปเท่านั้นที่สำคัญจริงๆ กับเรา จุดนี้เราสามารถ “ใช้แอปเพื่อมาลดการใช้แอป” ได้เหมือนกัน

อย่างเช่น แอป Offtime จะบันทึกการใช้แอปทุกอย่างบนมือถือคุณ แสดงผลได้หลายรูปแบบและเข้าใจง่ายมาก แอปพวกนี้ทำให้เรา “เห็นภาพ” แปลงออกมาเป็นตัวเลขชัดๆ จนคุณอาจตกใจว่า…นี่เราใช้แอปนานขนาดนี้เลยเหรอเนี่ย?!! เมื่อรู้ตัวเลขชัดเจนก็นำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ได้

5. ฝึกสรุป+เขียนมันออกมา 

รู้หรือไม่? การเขียนเป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง จิตเราจะปิดกั้นสิ่งรอบข้างและโฟกัสไปที่ตัวอักษร (ไม่ว่าจะพิมพ์หรือเขียน) คนที่เขียนบ่อยๆ จะรู้ดีว่าบางครั้งเวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน เพราะสมองโฟกัสไปที่การขบคิดและการเขียน (อยู่ใน Flow State)

นอกจากนี้ ระหว่างสิ่งที่จำอยู่ในสมอง VS. สิ่งที่เห็นตรงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างหลังจะมีแรงจูงใจ “กระตุ้น” ให้คนเราเกิดการกระทำมากกว่า ในแง่จิตวิทยา มันเหมือนเราได้ยอมรับไปแล้วว่าเราต้องทำ หลักฐานอยู่ตรงหน้ากับตา (เรื่องนี้ยังใช้ได้กับการ “เซ็น” เอกสารต่างๆ เช่นกัน)

การฝึกเขียนไม่เพียงช่วยฝึกสมาธิ แต่ยังฝึกตรรกะการใช้เหตุผล การเล่าเรื่อง การอธิบายให้ถูกจริตกลุ่มเป้าหมาย…ล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นของยุคนี้ทั้งสิ้น

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa ได้เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ และหลงรักกับการทำงานในทุกๆ วัน! >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง