Deep-Rooted Memory: เทคนิคการ “จำ” ให้ฝังแน่นในหัว

Deep-Rooted Memory: เทคนิคการ “จำ” ให้ฝังแน่นในหัว
  • ตัวเลข GDP ต่อหัว / ค่าแรงขั้นต่ำ / หนี้สินครัวเรือน
  • Tax haven คืออะไร? มีกฎเกณฑ์เงื่อนไขอย่างไร?
  • คำศัพท์ mischievous / ostentatious / surreptitious
  • ประวัติศาสตร์ / ข้อกฎหมาย / กฎเกณฑ์ใหม่ๆ

มีข้อมูลเกิดใหม่ในโลกธุรกิจแทบจะรายชั่วโมง(หรือนาที) ของเก่ายังไม่ทันรวบรวมได้หมด ของใหม่ก็เข้ามารอแล้ว

นอกจากต้องทำความเข้าใจแล้ว ความสามารถด้านการ “จำ” ที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นอีกทักษะที่ต้องมีไปแล้วในยุคนี้

จำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำได้ยืนยาว…และจำได้เร็ว!

ขอแนะนำให้รู้จักเคล็ดลับการจำแบบ “Deep-Rooted Memory” ฝังแน่นในสมองที่น่าสนใจไม่น้อยและปฏิบัติกันในโลกธุรกิจ

1. ปล่อย มากกว่า รับ (Output > Input)

มายาคติที่หลายคนเข้าใจผิดคือ อยากจำได้ฝังหัวต้องตั้งหน้าตั้งตาจำแต่สิ่งที่รับ (Input) เข้ามา แต่วิธีที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าเวิร์คกว่าคือ รับมาเท่าไรต้องปล่อย (Output) ออกไปมากขึ้นเท่านั้น

  • 50% ของข้อมูลใหม่ที่รับเข้ามาจะถูกลืมใน 1 ชม.
  • 70% ของข้อมูลใหม่ที่รับเข้ามาจะถูกลืมใน 1 วัน
  • 90% ของข้อมูลใหม่ที่รับเข้ามาจะถูกลืมใน 1 สัปดาห์

แต่งานวิจัยจาก Cambridge University ใช้เครื่องสแกนสมอง (MRI) ในผู้ทดลอง ผลลัพธ์คือ เมื่อเรียกความทรงจำที่เฉพาะเจาะจงซ้ำๆ อย่างน้อย “4 รอบ” เส้นใยสมองจะประสานเชื่อมกันแน่นขึ้น และความทรงจำดังกล่าวจะเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ

ระหว่างการปล่อย Output ยังเป็นการ “ทบทวน” ซ้ำๆ ไปในตัว นี่จึงเป็นเหตุผลที่นักพูดมืออาชีพกล่าวว่า คนที่ได้ประโยชน์จากการบรรยายนั้นไม่ใช่ผู้ฟัง…แต่คือตัวผู้พูดเอง เพราะเค้าต้องเรียนรู้เนื้อหามหาศาล ก่อนจำ ย่อย แล้วปล่อยออกมาให้ผู้ฟัง

นอกจากนี้ การจดโน๊ตต่างๆ แนะนำให้ “เขียน” แทนการพิมพ์ ซึ่งช่วยการจดจำได้ดีกว่า เนื่องจากการเขียนจะไปกระตุ้นระบบ Reticular Activating System (RAS) ที่ควบคุมการตื่นตัวของสมองและร่างกาย

ประยุกต์ใช้กับการทำงานได้อย่างไร?

เราสามารถริเริ่ม “วัฒนธรรมการสอนงาน” แก่คนอื่นๆ ทั้งลูกน้องหรือคนที่ยังใหม่ในเรื่องนั้นๆ เป็นวัฒนธรรมการแบ่งปัน ช่วยให้คนอื่นและตัวเราเก่งขึ้นได้

หลายองค์กรสมัยใหม่จัดทำ Morning Talk ทุกเช้า โดยนอกจากจะอัพเดทการงานของแต่ละคนแล้ว ยังต้อง “แชร์” ความรู้ที่ตัวเองมีหรือได้รับมาใหม่ๆ แก่เพื่อนร่วมทีม 

เช่น Graphic Designer เจอโปรแกรม Photoshop ใหม่ที่ใช้งานง่ายมากๆ ก็อาจแชร์สอนให้ทีมได้ทดลองได้ไปด้วยกัน

2. ใส่อารมณ์ลงไป

คนเราไม่ได้แค่ใช้สมองในการจำแต่ใส่ “อารมณ์” ลงไปในการจดจำเหตุการณ์เรื่องราวนั้นด้วย

ยิ่งข้อมูล / เรื่องราว / เหตุการณ์นั้น กระตุ้นอารมณ์เราได้มากเท่าไร…ยิ่งจำฝังหัวมากเท่านั้น

ประยุกต์ใช้กับการทำงานได้อย่างไร?

จากเดิมที่ดูรายงานตัวเลขกำไร-ขาดทุนเป็นเพียงแค่ “ตัวเลขดิบ” อันไร้จิตวิญญาณ ลองเปลี่ยนมามองภาพถึง “ผลกระทบ” ที่ตามมาดูอาจมอบอารมณ์บางอย่างให้แก่เราได้

เช่น บริษัทยอดขายลดลง จนขาดทุนเพิ่มขึ้นทุกเดือนๆ จากปัญหาโควิด-19 ที่ยากจะควบคุม นั่นอาจหมายถึง

  • จำนวนลูกค้าที่เราช่วยเค้าแก้ปัญหาได้น้อยลง
  • หรือสินค้าบริการเราไม่ตอบโจทย์เค้าอีกต่อไป
  • หรือพนักงานบางคนที่ต้องถูกไล่ออก แล้วเค้าจะหาเลี้ยงครอบครัวอย่างไรต่อไป?

ประเด็นนี้ไม่ได้ช่วยเรื่องการจดจำ แต่ฝึกให้เรามี Empathyในการเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย…อีกหนึ่งทักษะสำคัญแห่งยุคนี้เลย

3. อยากจำเยอะ…ต้องนอนเยอะๆ

นี่เป็นเคล็ดลับที่มักถูกมองข้าม (Undervalued) 

Matthew Walker นักวิทยาศาสตร์สมองได้ทำการทดลองแบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม 

  • กลุ่มแรก จดจำคำศัพท์ใหม่ๆ แล้ว “อดหลับอดนอน” พยายามนั่งท่องทั้งคืน
  • กลุ่มสอง แค่ “ทบทวนก่อนนอน” พอเหมาะแล้วให้นอนหลับ 7-8 ชม.

เช้าวันต่อมา ผลปรากฎว่า กลุ่มสองมีประสิทธิภาพการจำที่ดีกว่ากลุ่มแรกมาก!!

เขาเปรียบเปรยอย่างเรียบง่ายว่า ไม่ต่างจากตอนขับรถ เวลาเรา “เหยียบคันเร่ง” เราต้องยกขาออก “ผ่อน” เพื่อให้เครื่องยนต์เปลี่ยนเกียร์ ถึงจะเร่งความเร็วไปต่อได้ 

การนอนเปรียบได้กับการ “ผ่อนขา” นั้นๆ เรารับข้อมูลใหม่มาแล้วก็นอน(ผ่อนขา) เพื่อให้จดจำฝังแน่น ก่อนรับข้อมูลใหม่ต่อไป

เขายังเสริมต่อว่า เวลาเรียนรู้สิ่งใหม่แล้ว “งีบกลางวัน” เพียง 45-60 นาที สามารถเพิ่มการจดจำของสมองได้ถึง 500%

นอกจากนี้ กระบวนการหนึ่งของสมองเวลานอนคือ ทำการ “ลืม” (หรือลบทิ้ง) ข้อมูลที่ไม่จำเป็น และเอาพื้นที่ว่างตรงนั้นไปมอบให้กับข้อมูลที่จำเป็นแทน

ต้องไม่ลืมว่า แต่ละวันเรารับข้อมูลมหาศาล (สมองมนุษย์เราเก็บข้อมูลได้สูงถึง 2.5 ล้านกิกะไบต์) ไม่ใช่ทุกเรื่องที่สำคัญจริงๆ

ดังนั้นก่อนนอน เราต้องบอกสมองเราว่า สิ่งไหนคือ “สิ่งสำคัญ” เพื่อที่สมองจะลบเรื่องอื่นและเก็บสิ่งสำคัญนี้ไว้แทน (ไม่จำเป็นต้องนึกคิดรายละเอียด เอาแค่ “หัวข้อ” ก็เพียงพอแล้ว)

ประยุกต์ใช้กับการทำงานได้อย่างไร?

สำหรับชีวิตส่วนตัว เราควรปรับเวลาการนอนให้ได้คืนละ 7-8 ชม. เพื่อการจดจำของสมองและฟื้นฟูร่างกายพร้อมวันต่อไป

ด้านการทำงาน วัฒนธรรมองค์กรควรอนุญาตให้พนักงานงีบกลางวันได้ เรื่องนี้อาจฟังดูสุดโต่ง แต่ Google ได้เริ่มแล้วที่สำนักงานใหญ่ โดยสร้าง “ห้องนอน” ที่มืดและเงียบสนิทอยู่ติดกับห้องทำงานในออฟฟิศ พนักงานอยากงีบก็ทำได้เลย

4. ออกกำลังกาย(เบาๆ)

นักวิจัยจาก National Institute on Aging ที่สหรัฐอเมริการะบุว่า การออกกำลังกายช่วยการหมุนเวียนของออกซิเจนสู่เม็ดเลือดและเข้าสู่สมองในที่สุด เรื่องนี้สอดคล้องกับการทดลองในหนู ลิง และสัตว์ต่างๆ ซึ่งให้ผลลัพธ์ไปในทำนองเดียวกัน

นักวิจัยกลุ่มนี้ได้ทำการทดลองพบว่า การออกกำลังกาย(เบาๆ) อย่างน้อยเพียง 15 นาที ก็สามารถพบเห็นพัฒนาการด้านสมองและการจดจำอย่างมีนัยยะได้แล้ว

ประยุกต์ใช้กับการทำงานได้อย่างไร?

บริษัทญี่ปุ่นจะทำสิ่งที่เรียกว่า “Rajio Taiso” หรือวอร์มอัพร่างกายก่อนเริ่มทำงานในทุกเช้าแต่ละวัน ทุกคนออกมายืนรวมกันและทำกันอย่างพร้อมเพรียงในพนักงาน “ทุกระดับ” (ได้ร่างกายแล้วยังได้เสริมสร้างสปิริตความเป็นทีม)

ผู้นำองค์กรควรสร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน พนักงานที่เครียดและเหนื่อยล้ากับการนั่งในโต๊ะทำงาน อาจได้รับสิทธิ์ในการเดินออกไปข้างนอกเพื่อผ่อนคลาย ไม่เน้นวิธีการแต่เน้นผลลัพธ์

CEO ระดับโลกหลายคนก็ใช้ Walking Meeting เดินไป-คุยงานไป ในชีวิตประจำวัน หรือ สำนักงานใหญ่ Apple ที่สร้างเป็น “วงกลม” และมีทางเดินที่สามารถเดินวนไปต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด ก็มีเรื่องนี้เป็นเหตุผลเบื้องหลังเช่นกัน

5. Focus

ยิ่งโฟกัสมากเท่าไร ยิ่งจำฝังแน่นได้มากเท่านั้น สมองจะ “ล็อคเป้า” และขจัดสิ่งรบกวนอื่นไม่ให้เข้ามา

เฉลี่ยแล้ว คนเรานึกคิดเรื่องโน่นนี่มากถึง 6,200 เรื่อง/วัน ซึ่งแน่นอน ไม่ใช่ทุกเรื่องที่สำคัญและเราอยากจะใส่ใจกับมัน การโฟกัสอาจหมายถึงแค่ 6 เรื่องที่สำคัญที่สุดที่ควรค่าแก่การจำในวันนั้น

ประยุกต์ใช้กับการทำงานได้อย่างไร?

แต่ก่อนจะโฟกัสได้ต้องบอกลา Multi-tasking การทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันซึ่งหลายฝ่ายพิสูจน์แล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพเท่า Single tasking ทำงานเพียงงานเดียว

เราควรเรียงลำดับความสำคัญ (Prioritization) ของงาน แล้วลงมือทำ “ทีละงาน” ให้เสร็จก่อนไปต่องานถัดไป

อย่างไรก็ตามมี “ข้อยกเว้น” อยู่บ้างถ้า Multi-tasking นั้นๆ มีความ “เชื่อมโยง” กัน กรณีนี้กลับยิ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจดจำ 

เช่น วิเคราะห์การสร้าง Branding ของแบรนด์หนึ่ง

  • Marketing strategy
  • PR budget
  • Consumer behavior
  • Crisis management

ทุกประเด็นล้วนเกี่ยวข้องกับการสร้างแบรนด์อย่างแยกกันไม่ขาด กรณีนี้จะจำได้ดียิ่งขึ้น

6. Visualization

สมองคนวิวัฒนาการมาให้จำเป็นภาพได้ดีกว่าตัวหนังสือ ยุคโบราณกาล ก่อนที่เราจะคิดค้นตัวเลขอารบิก มนุษย์ใช้ภาพต่างๆ แทนตัวเลขสิ่งของมีค่าด้วยซ้ำ

การจำเป็นภาพยังเปรียบเสมือนการทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็น “รูปธรรม” เช่นถ้าอยากเข้าใจ

  • ความเหลื่อมล้ำ…ให้นึกถึงบ้านเศรษฐีที่อยู่ติดสลัม
  • สถาปัตยกรรม Art Deco….ให้นึกถึงตึก Chrysler Building
  • ศัพท์ Unicorn ในวงการสตาร์ทอัพ…ให้นึกถึงบริษัท Grab

ประยุกต์ใช้กับการทำงานได้อย่างไร?

เวลาทำงานอะไรให้จัดระเบียบความคิดโดยการวาด “Mind Mapping” ลงกระดานให้ทุกคนได้นึกภาพออก

หรือทีมดีไซเนอร์ขององค์กรควรมีส่วนร่วมในการย่อยข้อมูลต่างๆ ออกมาเป็น Data Visualization ให้พนักงานบริษัทเข้าใจง่าย

7. Mnemonics

เป็นเทคนิคช่วยจำข้อมูลเยอะๆ ที่ได้รับความนิยมในสากล มักเป็นการหาแพทเทิร์นและสร้าง “คำย่อ” ที่จำง่ายกว่าออกมา

เช่น SWOT ที่ใช้ในการตลาดพื้นฐาน ก็มาจาก Strengths – Weaknesses – Opportunities – Threats

ประยุกต์ใช้กับการทำงานได้อย่างไร?

หาจุดเชื่อมของเรื่องต่างๆ แล้วสร้างคำย่อ(ที่จำง่าย)ออกมา

เช่น เด็กจบใหม่ขอคำปรึกษาเรื่องการ “พรีเซนต์งาน” คุณอาจแนะนำไปว่าเทคนิคคือ “PRESENT”

  • P – Prepare (เตรียมตัว)
  • R – Rehearse (ซ้อมบ่อยๆ)
  • E – Energy (ฮึดสู้ มีไฟ มีพลังงาน)
  • S – Summarize (สรุปย่อยออกมา)
  • E – Expect Q&A (คิดไว้เลยต้องมีคนถามจี้)
  • N – Natural flow (ธรรมชาติเป็นตัวของตัวเอง)
  • T – Tell a story (อธิบายแบบเล่าเรื่องราว)

และทั้งหมดนี้คือเทคนิค Deep-Rooted Memory ที่ช่วยให้จำแน่นฝังลึกเข้าในหัวอีกนานแสนนาน

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง