Workplace Companionship: วิธีสร้าง “พันธมิตร” ในที่ทำงาน

Workplace Companionship: วิธีสร้าง “พันธมิตร” ในที่ทำงาน

ผลสำรวจจาก Totaljobs เผยว่า กว่า 60% ของผู้ถูกสำรวจยอมรับว่ามีศัตรูในที่ทำงาน (Work enemy) เพราะโลกการทำงานเต็มไปด้วยการแข่งขันชิงดีชิงเด่น ใครทำพลาดก็รอโดนซ้ำ ใครตำแหน่งหลุดก็รอโดนเสียบ 

แถมหลายครั้ง…หน้าที่ความรับผิดชอบทำให้เราต้องมาร่วมงานกับคนเหล่านี้

แต่จะดีกว่าไหม? ถ้าเราหันมาสร้าง “พันธมิตร” กับคนอื่นในที่ทำงาน

  • เปลี่ยนคนที่ไม่ชอบขี้หน้าคุณ…ให้รู้จักเคารพนับถือซะบ้าง
  • เปลี่ยนคู่แข่ง…ให้เป็นเพื่อนร่วมทีม
  • เปลี่ยนศัตรู…ให้เป็นมิตร

1. Give > Take

Adam Grant ผู้เขียนหนังสือ Give and Take กล่าวว่า มันเป็นเรื่องยากมากที่คุณจะเป็นผู้รับก่อนเป็นผู้ให้…ฉากหน้าคนสำเร็จที่เราเห็นว่าเค้าได้รับสิ่งต่างๆ ราวกับ “โชคดี” แท้จริงแล้วเบื้องหลังเคยเป็นผู้ให้มาก่อนทั้งนั้น 

แทบไม่มีคนสำเร็จระดับโลกคนไหนเลยที่ “รับก่อนให้” 

Co-founders หลายคนต้องผ่านช่วงเวลาล้มเหลวเรื่องครอบครัวหรือมีปัญหาสุขภาพ เพราะทุ่มเท “ให้” เวลา-แรงกาย-แรงใจ-สมอง กับการปั้นองค์กรให้เติบใหญ่ในช่วงตั้งไข่

ในชีวิตประจำวันการทำงาน เช่น ถ้าเพื่อนร่วมทีมยังทำโปรเจ็คท์ที่ต้องรับผิดชอบไม่เสร็จ ให้คุณลองอาสาลงแรงไปช่วย อยู่ดึกดื่นสัปดาห์นึงเต็มๆ ช่วงเวลาที่ไม่นานนี้ก็สามารถ “ซื้อใจ” อีกฝ่ายได้ไม่ยาก

เขายังกระตุ้นให้พนักงานทำ “Five-Minute Favor” ให้ความช่วยเหลือกันไปมาในเรื่องง่ายๆ ที่ใช้ต้นทุนต่ำและใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที 

  • ให้…ฟีดแบคอย่างตรงไปตรงมา
  • ให้…ความรู้เชิงลึกฉบับย่อ
  • ให้…ช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ
  • ให้…ช่วยชงกาแฟมาให้

เค้ายังเสริมว่าการให้อย่างบริสุทธิ์ใจ ยังช่วยให้พนักงานมีความ Empathy รู้สึกเข้าใจถึงกันและกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือและความสุขในการทำงานเรื่องอื่นๆ

2. ถามขอความช่วยเหลือ  (The Ben Franklin Effect)

เวลาพูดว่าสร้างพันธมิตร คนมักนึกถึงการแสดงออกถึงความแข็งแกร่ง-ความสามารถให้อีกฝ่ายยอมรับ พอบอกว่าให้ไปขอความช่วยเหลืออีกฝ่าย…จึงฟังดูค่อนข้างย้อนแย้ง?

แต่ขอในที่นี้คือ “ขอคำแนะนำ” จากอีกฝ่ายที่ต้องการ “องค์ความรู้เชิงลึก” หรือเรื่องที่อีกฝ่ายเก่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว 

การขอลักษณะนี้ นอกจากจะไม่ทำให้เราดูแย่แล้ว อีกฝ่ายยังรู้สึกว่า “เหมือนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ” ซึ่งเป็นอารมณ์ทางบวก

เช่นอีกฝ่ายเป็น HR แล้วสอบถามว่า…อาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ สำหรับเด็กจบใหม่ยุคนี้เป็นอย่างไร? HR ก็อาจส่ง “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa มาให้คุณเพื่อจะได้เห็นภาพ >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

และนี่ยังเป็นเทคนิคทางจิตวิทยาที่ใช้ได้ผลมากกว่าที่คิด มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “The Ben Franklin Effect” 

ซึ่งเป็นเทคนิคที่ Benjamin Franklin หนึ่งในวีรบุรุษผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกาใช้ทำงานกับคนที่ไม่ค่อยลงรอยหรือมีความคิดเห็นทางการเมืองขั้วตรงข้ามกัน สมมติให้คนๆ นั้นชื่อ “Trump”

แต่ Benjamin รู้ว่าทุกคนต่างเป็นชาวอเมริกันผู้รักชาติ แม้มีมุมมองไม่ลงรอยกัน แต่สำคัญที่สุดคือต้องสามัคคีกันไว้ จึงคิดหาวิธี “ผูกมิตร” อันชาญฉลาด

แทนที่ Benjamin จะเข้าไปกระชากอกพูดคุยซึ่งๆ หน้า หรือหาวิธีเอาคืนทำลายล้าง Trump แต่เขากลับเดินเข้าไป “ขอยืมหนังสือ” จาก Trump ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นคนรักการอ่าน และมีหนังสือดีหายากอยู่ในครอบครองเพียบ

ด้วยความที่ Trump เป็นผู้หลงใหลการอ่าน เมื่อมีคนมาขอยืม (แม้จะเป็นคนที่ไม่ชอบขี้หน้า) แต่ก็ใจอ่อน…ยินดีให้ยืมในที่สุด

เมื่อ Benjamin อ่านจบ เขาก็ส่งหนังสือไปคืน Trump พร้อมเขียนจดหมายแสดงความคิดเห็นและไม่ลืมที่จะ “ขอบคุณ” Trump

Benjamin ทำแบบนี้อยู่หลายครั้ง ขอยืม-อ่านจบ-ส่งคืน-ขอบคุณ

ปรากฎว่า หลังๆ เมื่อทั้งคู่เจอหน้ากันในหลายโอกาส หัวข้อที่พูดคุยกันมักเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับหนังสือที่ได้ยืมไป ทั้งคู่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลากหลายเรื่องราวนอกเหนือจากการเมือง 

และสุดท้ายเรียกว่า…กลายมาเป็น “มิตรสหาย” ที่เคารพให้เกียรติต่อกันในที่สุด (แม้จะไม่เห็นด้วยทางการเมืองไปเสียทุกเรื่องก็ตาม)

3. รู้เขา-รู้เรา 

ปรัชญาซุนวูของจีนกล่าวไว้ว่า รู้เขา-รู้เรา…รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง

แม้เราไม่ต้องไปรบกับใคร ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้

ลอง “สืบประวัติ” (Research) อีกฝ่ายอย่างละเอียด จำเป็นต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าเป็นคนอย่างไร / ประวัติที่มา / ชอบ-ไม่ชอบอะไร / เก่ง-ด้อยเรื่องไหน / งานอดิเรก / ความฝัน วิสัยทัศน์ / เป้าหมายคืออะไร ฯลฯ

(จากตัวอย่าง Benjamin Franklin เขาก็สืบมาว่า Trump เป็นผู้รักการอ่าน และใช้ประเด็นนี้ในการเริ่มต้นบทสนทนา)

เช่น ถ้าคุณมารู้ว่าเพื่อนร่วมทีมเป็น “Introvert” จ๋า คุณอาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเข้าหา / น้ำเสียงที่ใช้พูดคุย / ระยะห่างการสนทนา

คุณอาจพูดคุยด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลสุภาพขึ้น เว้นระยะห่างขึ้น โทรคุยผ่านมือถือหรือการพิมพ์ในแชทต่างๆ

ถ้าคุณรู้มาว่าเพื่อนร่วมทีมเป็น “Data guy” 

ก่อนจะเข้าหาหรือโน้มน้าวใจเรื่องใด ก็อาจต้องทำการบ้านหนักเพื่อหาข้อมูล “ตัวเลข” มาสนับสนุน

นอกจากนี้การสืบประวัติ ยังเพื่อต้องการค้นหาสิ่งที่เป็นหรือคิดเหมือนกัน (Things in common) ก่อนจะใช้เรื่องนั้น เป็นตัวเปิดประเด็นเจาะกำแพง

เช่น พบว่า “จบมาจากโรงเรียนเดียวกัน” ก็อาจใช้สายใยความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องเป็นตัวเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์นั่นเอง

รู้เขา-รู้เรา…ชนะใจทุกครั้งไป

4. สร้างข้อผูกมัดที่ต้องทำงานร่วมกัน

แทนที่จะเดินหนีออกห่างหรือหาทางโจมตีใส่กัน ลองหาโปรเจ็คท์บางอย่างและกระโจนลงไปทำร่วมกันเลย สร้าง “ข้อผูกมัด” บางอย่างที่ทุกคนต้องมา “ลงเรือลำเดียวกัน” 

สถานการณ์นี้ดีอย่างตรงที่…ถ้าขัดขากันเอง มีโอกาสสูงที่ผลงานทั้งหมดจะแย่ลง (เข้าเนื้อตัวเอง) จึงบังคับให้ทุกคนต้องร่วมมือกัน

โดยใช้เวลาที่อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องทำงานร่วมกัน (ถูกบังคับต้องให้ความร่วมมือแก่กัน) ในการแสดงความสามารถ-ความจริงใจของคุณให้อีกฝ่ายรับรู้ ซึ่งจะไปสู่การ “ยอมรับ” ระหว่างกันในที่สุด

นอกจากจะรู้สึกประสบความสำเร็จที่ได้เปลี่ยนศัตรูเป็นมิตรสหายแล้ว ยังเป็นผลดีต่อโปรเจ็คท์ร่วมที่ได้รับมอบหมายด้วยในที่สุด

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ จะได้ทำงานอย่างมีความสุขในทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง